Home > Article > ธุรกิจ E-Commerce ปี’56…คาดเติบโตร้อยละ 25-30

ธุรกิจ E-Commerce ปี’56…คาดเติบโตร้อยละ 25-30

ความก้าวหน้าของระบบไร้สาย 3G บนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ประกอบกับการซื้อขายออนไลน์ หรือ E-Commerce ผ่านอุปกรณ์ไอทีแบบเดิมอย่างคอมพิวเตอร์ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของความสะดวกสบายในการพกพาและการใช้งาน ผลักดันให้การซื้อขายออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “M-Commerce” กลายเป็นช่องทางใหม่ที่มาแรง และน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยหนุนการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ในระยะต่อจากนี้ไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจ E-Commerce ในปี 2556 น่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนสำคัญต่างๆ ดังนี้

การเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz หนุนยุค E-Commerce บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้มีส่วนสร้างความพร้อมในด้านโครงข่ายการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง ซึ่งเมื่อประกอบกับความนิยมในอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีสมรรถนะสูงอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการผลักดันกิจกรรมการตลาดและการจับจ่ายสินค้าและบริการออนไลน์ให้เข้าสู่ยุค M-Commerce โดยนักการตลาดสามารถประยุกต์ใช้ช่องทางดังกล่าว ในการดึงดูดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

พฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมการทำกิจกรรมออนไลน์และความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัย พฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มีความเคยชินกับการทำกิจกรรมต่างๆ ออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น การท่องอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น โดยสามารถดูได้จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของการใช้บริการด้านข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคโดยในปี 2555 มีการเติบโตของมูลค่าการใช้บริการด้านข้อมูลสูงถึงร้อยละ 44.1 คิดเป็นมูลค่า 50,800 ล้านบาท

สำหรับในปี 2556 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการใช้บริการด้านข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่น่าจะขยายตัวราวร้อยละ 39.7-47.5 คิดเป็นมูลค่า 70,900-74,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ความนิยมในกิจกรรมออนไลน์ของผู้บริโภค ประกอบกับความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยในการสั่งซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งความเชื่อมั่นในตัวผู้ประกอบการ ความเชื่อมั่นในระบบการชำระเงิน และการเก็บรักษาข้อมูลต่างๆ ก็น่าจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น

การสร้างช่องทางการตลาดและออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ต่างพัฒนาและเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่อำนวยความสะดวกผู้บริโภคในการค้นหา ตรวจสอบข้อมูลโปรโมชั่น พร้อมทั้งชำระค่าสินค้าและบริการแบบครบวงจร นอกจากนี้ ในด้านการชำระเงินสำหรับบริการซื้อขายออนไลน์ สถาบันการเงินต่างๆ ได้พัฒนาระบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ พร้อมทั้งออกโปรโมชั่นทางการตลาดเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ โดยผู้บริโภคจะได้รับส่วนลดเมื่อชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น

จากแนวโน้มและปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 มูลค่าตลาดธุรกิจ E-Commerce จะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 25 ถึง 30 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.32 ถึง 1.35 แสนล้านบาท โดยสินค้าที่น่าจะมีการจับจ่ายมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก อาทิ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) เครื่องสำอาง และอาหารเสริม เป็นต้น

การประยุกต์ 3G กับ E-Commerce …ช่องทางการตลาดยุคใหม่ของผู้ประกอบการ

ระบบสื่อสารไร้สาย 3G บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ นอกจากจะถูกใช้เป็นช่องทางสำหรับผู้ประกอบการในการให้บริการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์แล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถประยุกต์ใช้ความสามารถของอุปกรณ์เคลื่อนที่ในการทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการประกอบกิจกรรมเชิงธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยตัวอย่างการประยุกต์ใช้ที่มักพบเห็นในปัจจุบันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น เชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อทำการตลาด และสร้างฐานลูกค้า จากจำนวนผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับระยะเวลาที่ผู้บริโภคอยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์แต่ละวันก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่สามารถกระทำได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำการตลาด อาทิ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงและรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง การสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เป็นต้น

การทำการตลาดผ่านระบบระบุพิกัดสถานที่บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยผู้บริโภคสามารถรับทราบถึงข้อมูลของร้านค้าในบริเวณที่ตนอยู่ รวมไปถึงโปรโมชั่นที่น่าสนใจ และสามารถเลือกเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ หรือหาเส้นทางไปยังร้านค้าดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี รูปแบบการดำเนินธุรกิจ E-Commerce ผ่านเครื่องมือต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายที่มักเป็นกลุ่มขนาดเล็กและส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น ทำให้เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบางประเภทที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น อาทิ สินค้าแฟชั่นวัยรุ่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม (อาหารเสริม เครื่องสำอาง) แต่ถึงกระนั้น ด้วยเทคโนโลยีทางด้านไอทีที่ถูกพัฒนาให้มีการใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งยังมีราคาไม่สูงนัก ประกอบกับไลฟ์สไตล์ที่เป็นแบบสังคมเมืองและกระจายออกสู่ต่างจังหวัด (Urbanization) ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้ฐานลูกค้า E-Commerce ขยายตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้า

การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการ E-Commerce

การทำธุรกิจบริการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ยังมีข้อพึงคำนึงอยู่บางประการที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ ดังนี้

การบริหารจัดการระบบส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ E-Commerce ผู้ประกอบการควรมีการเตรียมระบบจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว ตรงเวลา และสามารถตรวจสอบสถานะได้โดยลูกค้า โดยผู้ประกอบการอาจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการที่ให้บริการรับจัดส่งสินค้าตามบ้านซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบจัดส่งสินค้าอยู่ก่อนแล้ว

ระบบชำระเงินที่น่าเชื่อถือ นับได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญอีกประการที่จะสร้างความไว้วางใจแก่ลูกค้าในการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าออนไลน์ โดยทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่น่าจะสะดวกและลดขั้นตอนการพัฒนาระบบการชำระเงินเอง คือ การเลือกใช้ระบบที่พัฒนาโดยสถาบันการเงิน ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้งานง่าย ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ จำเป็นต้องเตรียมพัฒนาแอพพลิเคชั่นจากมุมมองการใช้งานของผู้บริโภค เช่น ความสะดวกในการค้นหารายละเอียดสินค้าและบริการ ข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจ และข้อมูลโปรโมชั่นที่น่าสนใจ เป็นต้น โดยแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาต้องใช้งานง่ายและไม่ซับซ้อน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจ E-Commerce ของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ซึ่งนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถใช้เป็นช่องทางเสริมในการทำรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการสร้างรายได้ผ่านช่องทางหลัก หรือในขณะเดียวกัน การเริ่มต้นทำธุรกิจผ่านช่องทาง E-Commerce น่าจะตอบโจทย์ได้ดีสำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินลงทุน เนื่องจากมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจแบบมีหน้าร้าน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคหรือปัจจัยเสี่ยงบางประการที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคที่เคยซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้บริโภคมักมีความกังวล ได้แก่ คุณภาพของสินค้าไม่ตรงกับที่ระบุ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความซื่อตรงของผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถสร้างความเชื่อมั่นและขจัดข้อกังวลดังกล่าวไปได้ ก็น่าจะมีส่วนผลักดันให้ผู้บริโภคไว้วางใจ จนเกิดการบอกต่อ และหันมาสนใจใช้บริการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น

View :6051
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.