Home > Article > 12 เทรนด์ สูตรสำเร็จของธุรกิจยุคโลกไร้พรมแดน

12 เทรนด์ สูตรสำเร็จของธุรกิจยุคโลกไร้พรมแดน

ฟูจิตสึเผยรายงานพิเศษ บทวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญทางธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต

ฟูจิตสึ ผู้ให้บริการด้านไอทีรายใหญ่อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และอันดับสามของโลก ได้รวบรวมแนวคิดและวิสัยทัศน์ทางด้านเทคโนโลยีเพื่อองค์กรธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก นำเสนอแนวโน้ม 12 ประการที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไว้ในรายงานพิเศษ “Technology Perspectives A thought-provoking look at key forces of change” ดังนี้

1. ยุคแห่งข้อมูลเชิงลึกแบบฉับพลัน ผ่าน “ คลาวด์ – HPC”

ในโลกของยุคข้อมูลข่าวสารนั้นความรวดเร็วในการเข้าถึงและความสามารถในการรวบรวมสารสนเทศจากรอบด้าน ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าระบบต่างๆจะมีความซับซ้อนมากขึ้นทั้งในแง่ของระบบและการพัฒนาการของการเชื่อต่อถึงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งความต้องการข้อมูลเชิงลึกแบบฉับพลัน ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมด้านการประมวลผลรูปแบบใหม่ ขณะที่บทบาทของไคลเอ็ต/เซิร์ฟเวอร์ที่กำลังโดดเด่นมากว่า 30 ปี กำลังจะหายไป บทบาทสำคัญจะตกอยู่ที่ระบบคลาวด์ ระบบประมวลผลสมรรถนะสูง (HPC – High-Performance Computing) ระบบวิเคราะห์เชิงลึก และลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติระหว่างเครื่องจักรกลด้วยกันโดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้ามาดูและสั่งการแต่เป็นการนำเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาเสริมชีวิตประจำวันได้อย่างน่าสนใจ

2. ธุรกิจไร้พรมแดน “เชื่อมต่อแบบไร้ขีด”

ธุรกิจไร้พรมแดนมอบช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าให้แก่ธุรกิจในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดเล็กสามารถให้บริการโซลูชั่นแก่ธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกได้โดยไม่ติดข้อจำกัด ก่อให้เกิดโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย คลาวด์จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของบริการยุคใหม่ ภายใต้ความยืดหยุ่นที่มากขึ้นแก่ผู้บริโภค

3. เทคโนโลยีเพื่อมนุษย์ “Human Centric”

ระบบประมวลผลที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางถือเป็นการพัฒนาการอันยิ่งใหญ่แห่งยุคศตวรรษที่ 21 มีแนวคิดหลักอยู่ที่การสร้างสรรค์แนวทางการทำงานของระบบไอทีให้ผสานกลืนกับรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถือเป็นการต่อยอดจากยุคที่มีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง และเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ครั้งยื่งใหญ่อีกครั้ง โดยจะเข้ามาเปลี่ยนลักษณะการบริโภคและการดำเนินชีวิตของผู้คนให้มีความสะดวกขึ้น การนำเสนอสิ่งต่างๆ แก่ผู้บริโภคจะสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคนมากขึ้น อันเป็นผลมากจากความชาญฉลาดของระบบ ที่สามารถจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริโภคแต่ละคนได้อย่างละเอียด

4. ยุคแห่งสารสนเทศ ไม่ใช่เทคโนโลยี “Data Center not only Technology”

ในอนาคต สารสนเทศจะกลายเป็นทรัพย์สินใหม่ที่ช่วยสร้างสรรค์พัฒนาธุรกิจ ในการแข่งขันทางธุรกิจ ผู้ชนะคือผู้ที่ดึงประโยชน์ออกมาจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายรอบข้างได้มากที่สุด ภายใต้อุปสรรคของปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นที่ต้องเผชิญบนโลกนี้ถึง 5,000 ล้านกิกะไบต์ในทุกๆ 2 วันและมากขึ้นเรื่อยๆ ยุคต่อไปถือเป็นยุคแห่งการแข่งขันด้านข้อมูลข่าวสาร แข่งกันมากขึ้นเพื่อให้เข้าใจลูกค้าได้ดีกว่าเดิม องค์กรที่ไม่สามารถดึงประโยชน์จากสารสนเทศออกมาใช้งานได้จะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังและขาดความแข็งแกร่งในการแข่งขันกับคู่แข่ง

5. โลกแห่งการเชื่อมต่อ “Internet of Thing”

เหมือนว่าทุกสสารของโลกนี้สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ภายใต้นิยามว่า Internet of Thing หรือสิ่งที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ในอนาคตการโต้ตอบแบบอัตโนมัติระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์จะมีเพิ่มมากขึ้นจนสามารถทำงานได้เองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ในอนาคตจะถูกสร้างขึ้นโดยจักรกลที่มีความสามารถที่ใกล้เคียงมนุษย์ไปทุกขณะ

6. รูปแบบทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป “Cloud Changing”

การดำเนินธุรกิจในยุคใหม่ แต่ละบริษัทมีอิสระในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่โลกเวอร์ช่วลที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นแรงผลักดันสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ ปัญหาการติดตั้งที่ซับซ้อนมีการลงทุนค่าฮารด์แวร์อย่างมหาศาลเริ่มหมดไปด้วยแนวคิดของคลาวด์ และจะเริ่มเห็นผู้ให้บริการโซลูชั่นต่างนำเสนอแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ในลักษณะทีมีความเฉพาะเจาะจงในฟังก์ชั่นการทำงานมากขึ้น และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ บางครั้งลูกค้าก็กลับเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นได้เช่นเดียวกัน

7. ปัจจัยจากโลกภายนอก “Crowdsourcing or co-creation”

ในอีก 5 ปีข้างหน้า เส้นแบ่งกั้นระหว่างองค์กร ผู้บริโภค และซัพพลายเออร์ จะลดลงจนแทบนิยามไม่ได้ ด้วยแนวคิดใหม่อย่าง คราวด์ซอร์สซิ่ง (crowdsourcing) หรือ โค-ครีเอชั่น (co-creation) ธุรกิจต้องหันมามองปัจจัยภายนอกมากกว่าเดิม องค์กรไม่สามารถที่จะยืนหยัดอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหมือนเมื่อก่อนได้อีกต่อไป รวมไปถึงเรื่องของระบบความปลอดภัยที่ต้องไม่ใช่เรื่องการครอบครอง ควบคุม แต่ต้องมองถึงการปกป้องบุคคลและสารสนเทศมากขึ้นกว่าเดิม

8. ปฏิบัติการแห่งการมอบทางเลือก “Way to Success”

ปัจจุบันแนวคิดของการให้พนักงานใช้อุปกรณ์ดิจิตอลส่วนตัวในที่ทำงานกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งบริษัทเองก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านซอร์ฟแวร์ไปได้พอสมควร แต่จะมีปัญหาอุปสรรคในดเนการควบคุมการใช้งานและปัญหาการรั่วไหลและความปลอดภัยต่างๆ ดังนั้นการให้พนักงานใช้เหมือนกันหมดไม่ไช่ทางออกที่เหมาะสมในอนาคตแต่ควรให้พนักงานเลือกอุปกรณ์ที่พึงพอใจได้เอง อย่างไรก็ดีหากวางแผนอย่างเหมาะสม ก็สามารถเปลี่ยนบทบาทของเทคโนโลยีที่สร้างปัญหาเรื่องความปลอดภัย ให้กลายเป็นคำตอบที่ต้องการได้ไม่ยาก โดยอาศัยเทคโนโลยีคลาวด์ เวอร์ช่วลไลเซชั่น หรือซอฟต์แวร์เชิงบริการ หลักการสำคัญคือ ควรรู้ว่าใครต้องการอะไร และจับคู่ทางเลือกให้เหมาะสมที่สุดกับผู้ใช้แต่ละคน

9. ปฏิวัติรูปแบบการทำงานในยุคโซเชียลมีเดีย “Social Media”

ยุคปัจจุบันทุกคนต่างกลายเป็นผู้เสพติดโซเซียลมีเดีย และได้ปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจลักษณะเดิมให้ยากต่อการควบคุมและหลายองค์กรต่างขยาดกับการขยับตัวเข้าหาสื่อดังกล่าว แต่ต้องไม่ลืมว่าพลังของโซเชียลมีเดีย คือ พลังแห่งการเชื่อมต่อ และหากใช้อย่างเหมาะสม ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างดี ที่ต้องตระหนักไว้ก็คือ ยุคแห่งการดำเนินธุรกิจจะก้าวเข้าสู่การข้ามเส้นแบ่งบทบาทของผู้คนที่เป็นไปอย่างอิสระบนโลกโซเชียลมีเดียที่นับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

10. ขุมพลังแห่งฝูงชน “Power of Human”

โลกที่ทุกส่วนเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างสะดวกบนโลกออนไลน์ และผู้คนทั่วโลกจะมีส่วนช่วยกันสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเรื่องการทำงานร่วมกับฝูงชนบนโลกออนไลน์ กำลังกลายเป็นเป็นมิติใหม่ที่จะช่วยสร้างจุดแข็งให้แก่บริษัท ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรและผู้บริโภค ในแบบที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ และยังเปิดมิติใหม่ที่ช่วยให้องค์กรเข้าถึงบริการ หรือองค์ความรู้ที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจตนเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย

11. โครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนไป “Flexible organization”

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ในยุคอนาคตแนวคิดที่จะรวบทุกสิ่งไว้ในมืออาจไม่ไช่ทางออกที่ดี และไม่สำคัญเท่าการบริหารจัดการห่วงโซ่แห่งคุณค่าของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เหมือนเดิมไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภครูปแบบใดก็ตาม ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องมองรูปแบบการดำเนินกิจการใหม่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่สุด และเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานด้านสารสนเทศกลายเป็นเรื่องสำคัญในยุคระบบนิเวศน์แบบดิจิตอลที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน รูปแบบการดำเนินกิจการลักษณะเดิมๆจะไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป

12. สิ้นมนตร์ขลังแห่งโลกโมบาย “ Mobility Life”

ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับบริการบนระบบคลาวด์ผ่านอุปกรณ์พกพามากขึ้น และเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการใช้งานครั้งใหญ่ เมื่อผสานกับหลากหลายทางเลือกด้านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ทั้ง 3G, 4G หรือแม้แต่ 5G ที่เริ่มมีการพูดถึง ก็จะเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงให้มากกว่าเดิม โลกโมบายจะกลายเป็นสิ่งสามัญขั้นพื้นฐานสำหรับองค์กรธุรกิจ และผู้บริโภคทั่วไป เราจะได้เห็นอุปกรณ์หลากหลายที่ทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างราบรื่น รวดเร็วขึ้น ทั้งในการประมวลผลและการเชื่อมต่อ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยชั้นสูง และการเชื่อมต่อกับคลาวด์ ซึ่งทั้งหมดจะฝังกลบยุคแห่งพีซี และนำเราก้าวเข้าสู่โลกโมบายอย่างแท้จริง

View :5689
Categories: Article Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.