Archive

Author Archive

3G พลิกโฉมการสื่อสารไร้สายของไทย คนกรุงกว่าร้อยละ 89 มีแผนใช้งานในอนาคต

August 15th, 2011 No comments

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจุบัน การสื่อสารโทรคมนาคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคใหม่ นอกเหนือจากการสื่อสารในรูปแบบเสียงแล้ว การสื่อสารในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการสื่อสารที่เน้นข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งภาพและเสียงหรือที่เรียกกันว่ามัลติมีเดียมากยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการในการสื่อสารของยุคนี้ คือ ความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูล ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 3G (Third Generation)

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายหลักได้มีการเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม (HSPA) มาตั้งแต่ปี 2552 โดยจำกัดขอบเขตในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความคุ้นเคยและได้ทดลองใช้งานบริการ 3G มาก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz จะต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2554 และการประมูลน่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงกลางปี 2555 เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เริ่มทยอยเปิดตัวให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะพลิกโฉมการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการการใช้งานบริการ 3G และบริการเสริมด้านข้อมูลต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

 ผลสำรวจความต้องการใช้บริการ 3G…คนกรุงมีแผนใช้ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5

การเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมตั้งแต่ปี 2552 นับได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความคุ้นเคยในหมู่ผู้บริโภคในการใช้งานบริการ 3G นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และกำหนดยุทธวิธีการทำตลาดในช่วงระยะถัดไปที่จะมีการทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูล หรือแม้แต่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ในระยะที่ผ่านมา พบประเด็นต่างๆ ดังนี้

 คนกรุงเทพฯกำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ร้อยละ 36.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่มีแผนจะใช้งานในอนาคตมีถึงร้อยละ 89.5

จากการสอบถามถึงการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 36.6 กำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ในช่วงที่การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 54.4 ให้ข้อมูลว่ายังไม่เคยใช้งานบริการ 3G มาก่อน โดยมีเหตุผลหลัก คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนไม่รองรับระบบ 3G คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.5 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีแผนที่จะใช้งานบริการ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 85.2 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวจะเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ยังไม่เคยใช้งานบริการ 3G อีกว่า พื้นที่ให้บริการ 3G ยังไม่ครอบคลุม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.3 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก การเปิดให้บริการ 3G ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังคงเป็นลักษณะการทดสอบให้บริการ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักมีแผนที่จะเปิดให้บริการ 3G ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ภายในสิ้นปี 2554 นี้ และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 3 ปี ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ให้บริการ 3G มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังไม่เคยใช้บริการ 3G มีแผนที่จะใช้บริการในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้บริการในปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G รวมไปถึงผู้ให้บริการเสริมด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

 ร้อยละ 80 ของผู้ใช้งานบริการ 3G ในปัจจุบัน ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปัจจุบัน การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานบริการ 3G สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หลากหลาย ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เน็ตบุ๊ค แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คผ่านแอร์การ์ด 3G จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯราวร้อยละ 80 ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีสัดส่วนการใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 84.8 ของผู้ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในการถือครองสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการพัฒนาบริการเสริมทางด้านข้อมูลใหม่ๆในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทแท็บเล็ต ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานบริการ 3G ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวถึงร้อยละ 13.0 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจาก ฟังก์ชั่นการทำงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า ขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ และสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ประกอบกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 ผลสำรวจบริการด้านข้อมูล…คนกรุงต้องการช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เน้นมัลติมีเดีย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 บริการด้านข้อมูลมีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 24.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล ในขณะที่ปี 2554 บริการด้านข้อมูลมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงสนับสนุนจากการทยอยเปิดตัวการให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ประกอบกับการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม ซึ่งจะมีส่วนผลักดันการใช้งานบริการด้านข้อมูลให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น โดยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.8 ของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯต่อบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 71.6) รองลงมาคือ ชมทีวีออนไลน์ (ร้อยละ 64.7) บริโภคข่าวสาร (ร้อยละ 59.3) และฟังเพลงออนไลน์ (ร้อยละ 54.7) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานเครือข่าย 3G เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ในการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง ทั้งนี้ เพื่อการอัพเดทข้อมูลกิจกรรมที่ตนทำอยู่ให้แก่เครือข่ายเพื่อนฝูง หรือเพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว รวมไปถึงการบริโภคข่าวสารในรูปแบบมัลติมีเดีย ซึ่งบริการกลุ่มนี้ค่อนข้างเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่บริการที่ค่อนข้างมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ธนาคารบนมือถือ การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะมีผู้สนใจในสัดส่วนที่น้อยกว่า

เมื่อพิจารณาความต้องการใช้งานบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G แยกตามช่วงอายุ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี มีความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ และบริการเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจบริการด้านข่าวสารเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น แต่ก็มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56.1

สำหรับกลุ่มที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 ถึง 44 ปี ให้ความสนใจกับบริการด้านข้อมูลทุกประเภท และมีสัดส่วนปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น ยกเว้น บริการที่เกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจสูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น สำหรับกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 44 ปี ให้ความสนใจใช้บริการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร และธนาคารบนมือถือในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น และไม่ค่อยให้ความสนใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการมากนัก

 ผลสำรวจบริการด้านความบันเทิงออนไลน์…คนกรุงต้องการบริการที่มีคอนเทนต์หลากหลาย

ปัจจุบัน การบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น มักจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม โดยบริการเหล่านี้รวมเรียกว่า โมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Mobile Entertainment) สำหรับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา บริการดังกล่าวมักมีข้อจำกัดจากความเร็วของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งอยู่ระหว่าง 80 ถึง 200 กิโลบิตต่อวินาที ทำให้คุณภาพการให้บริการไม่ค่อยเป็นที่พอใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดให้บริการ 3G ในช่วงครึ่งหลังของปี ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ให้มีทั้งคุณภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อน จึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคต่อลักษณะเนื้อหาและการชำระเงินในการใช้บริการความบันเทิงแบบออนไลน์บนระบบ 3G โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 ผู้บริโภคสนใจชมภาพยนตร์มากที่สุด และอยากจะจ่ายรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการไม่อั้น

บริการทีวีออนไลน์เป็นบริการลักษณะมัลติมีเดียซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการให้บริการดังกล่าว คือ ขนาดของข้อมูลมักจะใหญ่ ทำให้ความเร็วของโครงข่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดถึงคุณภาพของการให้บริการ โดยความเร็วขั้นต่ำที่พอจะเปิดให้บริการแบบออนไลน์ คือ 64 ถึง 80 กิโลบิตต่อวินาที จึงทำให้มีผู้ให้บริการบางรายเปิดให้บริการดังกล่าวบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปจากการที่ต้องรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับอรรถรสของการชมที่ได้รับ ทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมไม่ค่อยสูงนัก ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ 3G จะมีส่วนช่วยผลักดันให้คุณภาพของการให้บริการดีขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลที่ลดลง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้บริการดังกล่าวขยายตัวยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับรายการทีวีออนไลน์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการชม พบว่า มีผู้ต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.6 รองลงมาคือ รายการข่าวและมิวสิกวีดีโอ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราวร้อยละ 52 และเมื่อสอบถามถึงรูปแบบการชำระค่าชมรายการที่ต้องการจะเลือกชำระ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราวร้อยละ 50 เลือกที่จะชำระแบบรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการแบบไม่อั้น ในขณะที่การจ่ายรายเดือนเพื่อชมหลายช่องรายการตามที่กำหนดไว้แบบไม่อั้น ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่านั้น กลับมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดคือร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยากจะเลือกชมทีวีเฉพาะประเภทรายการที่ตนโปรดปรานจริงๆ และพร้อมที่จะจ่ายเฉพาะช่องรายการที่ชอบ เพื่อสามารถรับชมได้แบบไม่จำกัดในรอบเดือนนั้น

 ผู้บริโภคราวร้อยละ 30.5 ชอบเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้และซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบ

ธุรกิจเพลงดิจิทัลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของไทยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สืบเนื่องจาก ความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สายยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้ธุรกิจเพลงดังกล่าวถูกจำกัดอยู่แต่เพลงที่ได้รับการตัดต่อความยาวประมาณ 30 ถึง 60 วินาที เพื่อนำมาใช้เป็นเพลงในบริการเสียงรอสาย หรือติดตั้งเป็นเพลงเสียงเรียกเข้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถ้าเป็นเพลงฉบับเต็มก็จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนก่อนแล้วฟังแบบออฟไลน์ สำหรับธุรกิจบริการฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงและเก็บเพลงไว้บนอินเทอร์เน็ตได้นั้น ยังคงถูกจำกัดอยู่แต่บนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการ 3G จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริการดังกล่าวได้

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับลักษณะการชำระค่าบริการฟังเพลงออนไลน์ที่ผู้บริโภคต้องการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการชำระเป็นรายเพลงและเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้ เป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.5 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงที่มักจะเลือกเฉพาะเพลงที่ชอบจริงๆ จากความหลากหลายที่นำเสนอโดยค่ายต่างๆ โดยไม่อยากจะชำระแบบรายเดือน ซึ่งโดยรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายโดยเปรียบเทียบที่สูงกว่า ถ้าจำนวนเพลงที่ตนชื่นชอบมีไม่มากนัก

 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและราคาของเกมออนไลน์มากกว่าแหล่งพัฒนาเกม

ลักษณะของรูปแบบธุรกิจเกมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การขายเกมโดยให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดเกมที่ต้องการมาไว้ที่อุปกรณ์คลื่อนที่ก่อนแล้วเล่นแบบออฟไลน์ ไม่ได้เล่นกันแบบออนไลน์เหมือนเกมออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีขนาดเกมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สาย อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไปเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G

จากการสอบถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมออนไลน์บนระบบ 3G พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 58 ต้องการเกมออนไลน์ที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเกม ได้แก่ ต้องเป็นเกมต่างประเทศมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 7.8 และชื่อเสียงบริษัทเกมมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 13.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเนื้อหา และราคาเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาเป็นลำดับรองลงมา

บทสรุป
การเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมของผู้ให้บริการเอกชนรายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการสื่อสารไร้สายของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริการด้านข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯเกี่ยวกับการใช้บริการ 3G ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เปิดทดสอบการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ในเขตกรุงเทพฯมีผู้ที่กำลังใช้บริการ 3G อยู่ราวร้อยละ 36.6 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการ 3G ในปัจจุบันส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เน็ตบุ๊ค และแท็บเล็ต ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานเลยมีอยู่ราวร้อยละ 54.4 อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งาน 3G ในปัจจุบันราวร้อยละ 89.5 มีแผนที่จะใช้งานในอนาคต สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G และเครื่องลูกข่าย/ตัวเครื่อง รวมถึงผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการเสริมหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

ความต้องการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ประกอบกับกระแสการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนจะมีส่วนผลักดันให้บริการด้านข้อมูลมีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนราว 20.8 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้งานบริการเสริมด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ชมทีวีออนไลน์ บริโภคข่าวสาร และฟังเพลงออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ของผู้บริโภค ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลในปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่อยู่ในลักษณะความบันเทิงแบบออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการด้านความบันเทิงแบบออนไลน์ หรือโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์บนระบบ 3G ในอนาคต ซึ่งจากแบบสอบถาม พบว่า ผู้ที่ต้องการใช้บริการทีวีออนไลน์ มีความต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด รองลงมาเป็น ข่าว มิวสิกวีดีโอ ละคร เป็นต้น และส่วนใหญ่อยากใช้บริการแบบรายเดือน โดยสามารถชมเฉพาะช่องประเภทรายการที่ตนโปรดปรานได้แบบไม่อั้น ซึ่งแตกต่างจากบริการฟังเพลงออนไลน์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการความหลากหลายของเพลง โดยสามารถเลือกได้จากหลายๆค่าย และต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบจริงๆ ในขณะที่บริการเกมออนไลน์นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเกมที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก

จากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความบันเทิงรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถสร้างความบันเทิงแบบพกพาได้ทุกที่ทุกเวลา และยังพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการ เพื่อสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตนชื่นชอบได้จากคลังคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่จะเข้ามาพัฒนาบริการด้านความบันเทิงบนช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากช่องทางให้บริการความบันเทิงแบบดั้งเดิมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใช้เวลากับอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น และฐานผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายสื่อสาร (Coverage) ที่มีโอกาสขยายออกไปกว้างขึ้นในอนาคต อาจเป็นทิศทางที่ธุรกิจต่างๆต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาด และโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น

——————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

View :4593
Categories: Article, Smartphone Tags:

เนชั่น จับมืออินเทล ชวนคอไอทีสนทนาเรื่องเทคโนโลยีในอนาคต….NForum: NForum: Beyond Speed & Connected World: What’s Next?

August 3rd, 2011 No comments

เสาร์นี้ บ่ายโมงครึ่งเป็นต้นไป เนชั่น จับมืออินเทล ชวนคอไอทีสนทนาเรื่องเทคโนโลยีในอนาคต….

• เทรนด์ของเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการใ​นการทำงานและไลฟสไตล์ของคนใ​นปัจจุบัน
• การพัฒนาของเทคโนโลยีและพีซ​ีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและทิศทางในอนาค​ต
• เทคโนโลยีล้ำสมัยของอินเทลท​ี่มีในปัจจุบัน
• แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีในอ​นาคต

ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่….

คุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ร่วมงานกับอินเทลมาตั้งแต่ต้นปี 2539 ในตำแหน่งผู้จัดการ-อินเทลอาคิเทคเจอร์ ประจำสำนักงานประเทศไทย โดยรับผิดชอบการเผยแพร่กลยุทธ์และเทคโนโลยีของอินเทล ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้ ทั้งในกลุ่มองค์กรธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไปโดยตรง ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการในปัจจุบัน

คุณพาที สารสิน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด
(ปริญญาตรี บริหารธุรกิจและวิทยาการคอมพิวเตอร์ จาก Clark University มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ปริญญาโท สื่อสารมวลชน (ภาพยนตร์และวิดีทัศน์) จาก มหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา)

คุณสมเถา สุจริตกุล
ใช้นามปากกาว่า SP Somtow ในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีกลิ่นอายเป็นเอเซีย ผลงานของสมเถาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ และได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมายในต่างประเทศ ผลงานที่สำคัญได้แก่ “มาริสาราตี” Jasmine Nights, Aquilard กับ Absent Thee From Felicity Awhile (ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล John W.Campbell และรางวัล Hugo), Starship&Haiku (ได้รับรางวัล Locus Award), เรื่องสั้น The Dust (ได้รับรางวัล Edmund Hamilton Memorial Award ในปี 2525), เรื่องสั้นชุด Inquestor เรื่องศูนย์การค้าในอวกาศ Mallworld, ชุด Aquiiad, นวนิยายเรื่อง Starship&Haiku, รวมเรื่องสั้นชุด Fire From The Wine-Dark Sea, นวนิยายเรื่อง The Darkling Wind (ติดอันดับ Locus Bestseller)

คุณสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ค้าส่งอุปกรณ์ไอทีรายใหญ่ของไทย

ผู้ดำเนินรายการในงานนี้ก็ได้แก่ …..

1. วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง (@worawisut)
ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Marketing Hub’ คอลัมน์นิสต์ประจำ Bangkokbiznews.com และผู้ก่อตั้งเว็บ Appreview.in.th (@appreview)

2. ภิรดี พิทยาธิคุณ (@NuPink)
ทีมกองบรรณาธิการของเว็บ Thumbsup.in.th (@thumbsupTH)

ผู้สนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการเสวนาที่น่าสนใจครั้งนี้ได้ที่นี่
https://spreadsheets.google.com/spreadsheet/viewform?formkey=dDM3cmV0WTRmeEQxVHhRMGNrajdiVlE6MA

View :3014

อินเทลร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกสานต่อนวัตกรรมคอมพิวเตอร์จากปัจจุบันสู่อนาคต

July 29th, 2011 No comments


อินเทลร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่บริษัทมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวงการไอทีตั้งแต่ยุคของคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเครื่องแรกไปจนถึงยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์และยุครุ่งเรืองของแท็บเบล็ต

ในขณะที่เรากำลังฉลองช่วงเวลาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่นี้ การทำความเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอิทธิพลสูงเพียงใดต่อชีวิตประจำวันในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมานั้นนับเป็นสิ่งที่ยากทีเดียว ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส และราคาของคอมพิวเตอร์ถูกลงมากอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรังสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมากอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นของ “สิ่งเร้นลับหลังม่านดำ”

ก่อนที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปี 2524 ผู้สนใจคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มที่มีความสนใจในเทคโนโลยี ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่สนใจนำไปใช้ในกิจกรรมอดิเรกของตน และกระหายที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการใช้งาน องค์ประกอบต่างๆ และพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไอบีเอ็มได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าว โดยการสร้างมาตรฐานสากลขึ้นมาในวงการอุตสาหกรรม และผลักดันการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ออกมาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกในวงกว้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมองว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือชนิดหนึ่งและไม่ใช่ของเล่นอีกต่อไป
ไอบีเอ็มเปิดตัวพีซีเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2524 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของยุคแห่งการหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของคอมพิวเตอร์ และก้าวสู่ยุคของการพัฒนาอย่างแท้จริง เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกของไอบีเอ็มใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น อินเทล 8086 เป็น “สมอง” ภายในคอมพิวเตอร์

การแปรสภาพของเครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง
ระบบประมวลผลผ่านการแปรสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปีอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มแรกเป็นอย่างไร จอภาพที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นจอโมโนโครมที่แสดงตัวอักษรและตัวเลขสีเขียวเรืองแสงออกมา แม้ว่าในช่วงแรกๆ มีการจำหน่ายจอสีด้วยเช่นกัน แต่จอสีมีการใช้ในแวดวงที่จำกัดและมีราคาค่อนข้างสูงมาก ในยุคนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ไม่คล่องตัวมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการแสดงผลแบบกราฟฟิกและไม่มีเมาส์สำหรับใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ในยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ถึง ในขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไมโครโปรเซสเซอร์ชั้นยอดอย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ทั้งสามรุ่น คือ อินเทล คอร์ ไอ5 ไอ7 และ ไอ3 ทีมีพลังสมรรถนะในการประมวลผลที่ดีเยี่ยมกว่าสมัยก่อนมาก รวมทั้งยังประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมาย (ขึ้นอยู่กับรุ่นของโปรเซสเซอร์) อาทิ Intel® Quick Sync, Intel® Wireless Display 2.0, Intel® Turbo Boost Technology 2.0 และเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดอื่นๆ อีกหลากหลาย

ในปัจจุบัน เราสามารถเพลิดเพลินกับภาพกราฟฟิกที่มีความละเอียดสูง สร้างวิดีโอหรือภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดาย ดาวน์โหลดข้อมูลได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแตกต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง

เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกมีราคาราวๆ 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 91,000 บาท) หรือราคาสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยในขณะนั้นประมาณ 10 เท่า ปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.75 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทย และในอนาคตราคาอาจจะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ

ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์จำนวน 10,000 เครื่อง ถือเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลแล้ว จอห์น มาร์คอฟ นักเขียนของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ผู้เขียนบทความชื่อ “มองย้อนหลังพีซีเครื่องแรกของฉัน” ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 เล่าว่า ไอบีเอ็มคาดว่าจะจำหน่ายคอมพิวเตอร์ได้ 240,000 เครื่องภายในเวลา 5 ปี แต่ปรากฏว่าไอบีเอ็มได้รับยอดสั่งซื้อจำนวนนี้ภายในเดือนแรกเท่านั้น ปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์กว่าหนึ่งล้านเครื่องต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลาไม่นานในช่วงชีวิตของเรา

เครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มรุ่นแรก และ “เครื่องเลียนแบบ” ที่ปรากฏตามมาในช่วงต้นปี 2525 ถูกผู้คนมองว่าเป็นแค่ “เครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง” หรือ “เครื่องคิดเลขชั้นดีกว่าปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์เหล่านี้ยังทำงานได้อย่างจำกัด แต่ในปัจจุบัน คุณสมบัติต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ได้ขยายขอบเขตออกไปถึงระดับที่ผู้คนในยุคก่อนหน้านี้ไม่เคยจินตนาการว่าจะทำได้มาก่อน คอมพิวเตอร์สามารถทำหน้าที่เป็นโทรศัพท์ ไปรษณีย์ โรงภาพยนตร์ คลังจัดเก็บข้อมูล และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของเราไปแล้ว

วันนี้และอนาคต

กอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทลตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในปี 2508 ว่า ความจุของโปรเซสเซอร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกๆ 18 เดือน ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่เพิ่มเป็นทวีคูณภายในช่วงเวลาสั้นๆ คำพูดดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็น “กฎของมัวร์” และแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นจริงมาจนถึงทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับผู้บริโภคมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้ในการส่งคนไปดวงจันทร์เสียอีก และวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็มิได้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้นหลังจากผ่านไปแล้ว 30 ปี

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในสามทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวิธีการที่ผู้คนสื่อสาร ทำงาน ศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความสุขใส่ตัว ในขณะที่วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับโปรเซสเซอร์ของอินเทลจะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการจัดการงานต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ผู้คนในช่วงหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้านี้คาดไม่ถึงว่าจะทำได้”

ปัจจุบันระบบประมวลผลมีการแปลงสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก จากยุคที่เป็นแค่เครื่องพิมพ์ดีดซึ่งมีจอเรืองแสง ไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้งานร่วมกับพีซีได้ สมาร์ทโฟน กระทั่งมาถึงยุคของแท็บเบล็ต คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และยังคงทวีความแข็งแกร่งไปทั่วโลก วิสัยทัศน์ของอินเทลในอนาคตอันใกล้นี้คือ การนำรูปแบบการใช้งานแนวใหม่มาใช้ ซึ่งมาในรูปของคอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่อย่าง Ultrabook นั่นเอง คอมพิวเตอร์ชนิดนี้จะให้ประสิทธิภาพและคุณสมบัติต่างๆ ของโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ในปัจจุบันไปผสมผสานกับคุณสมบัติต่างๆ ของแท็บเบล็ต เพื่อให้มีรูปแบบการใช้งานที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยดีไซน์ของเครื่องที่บางมาก (บางไม่ถึง 20 มม.) น้ำหนักเบาและดูเรียบหรู ในราคาทั่วไปที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,900 บาท) นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคแต่ละรายสามารถเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือขณะอยู่บนท้องถนนก็ตาม


นอกจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะใช้เป็นระบบประมวลผลข้อมูล เพื่อความบันเทิง หรือใช้ระบบสื่อสารก็ตาม โดยใช้เทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการอย่าง Wi-Di (Wireless Display) ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และทีวีได้ และสมาชิกในบ้านทุกคนสามารถหันมาใช้เวลาอันมีค่าร่วมกันได้มากขึ้น ใน “ยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์ที่บ้านจะได้รับการใช้งานมากขึ้น และผู้บริโภคจะกลายเป็นศูนย์กลางเพื่อกำหนดประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ที่ปลายนิ้วในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อินเทลคาดหวังว่าการก้าวกระโดดของประสิทธิภาพในครั้งต่อไปจะทำให้ระบบประมวลผลก้าวไปสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับคำสั่งที่เป็นเสียงพูดและตอบสนองได้ในทันทีเป็นต้น

เราได้เดินทางมาไกลมาก นับตั้งแต่ยุคที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาที่ผู้คนต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบันที่ไลฟ์สไตล์และความต้องการต่างๆ ของผู้คนได้กลายเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับเทคโนโลยีไปแล้ว ระบบประมวลผลส่วนบุคคลได้กลายมามีความเป็นส่วนบุคคลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

View :3895
Categories: Technology Tags: ,

กฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว: ได้เวลาที่จะสะสางแล้วหรือยัง?

July 28th, 2011 No comments

โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อต่างๆ มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัท DTAC ว่ามีลักษณะของการถือหุ้นแทนหรือไม่ และมีบทความจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับปรุงนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดมากขึ้นดังเช่นในต่างประเทศซึ่งมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง อำนาจในการควบคุมบริษัทในทางปฏิบัติ ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องการลงทุนของคนต่างด้าวมิใช่เพียงเรื่องของนิยามของคนต่างด้าวเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อบทของกฎหมายในภาพรวมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราควรที่จะมีการแก้นิยามของ “คนต่างด้าว” พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ และอย่างไรดังนี้

ประการแรก นิยามของ “คนต่างด้าว” ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบันที่มีความหละหลวมนั้นมิได้เกิดจากความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ร่างกฎหมาย หากแต่เกิดจากเจตนาของรัฐบาลที่จะผ่อนปรน กฎ กติกาในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวเพื่อที่จะรักษาและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อประมาณสองทศวรรษมาแล้ว

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ไทยประกาศใช้เพื่อจำกัดสิทธิการลงทุนของต่างชาติฉบับแรก ประกาศฯดังกล่าว ได้จำกัดสัดส่วนหุ้นส่วนคนต่างด้าวในธุรกิจในบัญชีแนบท้ายกฎหมายไว้ไม่เกินร้อยละ 49 สำหรับธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีแนบท้าย (ก)–(ค) บัญชีดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและบริการบางประเภทที่เกี่ยวโยงกับการประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรม หัตถกรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ฯลฯ โดยความแตกต่างระหว่างบัญชีแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามอยู่เดิมจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย และ วิธีการและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวรายใหม่จะสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามเหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือ บัญชี (ค) นั้นห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทโดยไม่ระบุสาขา ข้อจำกัดดังกล่าวยังคงปรากฏอยูในบัญชี 3 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้ในข้อ 3 ของประกาศฯ ว่า หมายถึง “ นิติบุคคล ซึ่งทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว “ ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้สอบสวน บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ บริษัท เอบีบี อาเซีย อาบราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 49 และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน เอเซีย อาบราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยอีกร้อยละ 49 อีกชั้นหนึ่งทำให้มีสัดส่วนของทุนรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 74 เกินกว่ากึ่งหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวเนื่องจากทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ[1]

สืบเนื่องจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีของบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลไทยในหลายลำดับชั้นของการถือหุ้นและพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่มีสัญชาติเป็นคนต่างด้าวหากนับรวมการถือหุ้นทางอ้อมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต่างด้าวมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าหากมีการตีความคำจำกัดความของคำว่า “ทุน” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 โดยให้ยกเลิกบทนิยามของคำว่า `คนต่างด้าว’ ในข้อ 3(1) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คนต่างด้าว” หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น’ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ ชั้นเดียวโดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นคนไทยกับต่างชาติที่ร้อยละ 49:51 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้กลับไปเหมือนกับนิยามที่กำหนดใน ปว. 281 ย่อมหมายถึงการปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศดังเช่นนโยบายของคณะปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขนิยามของคนต่างด้าว และคงจะยิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ นิยามของคนต่างด้าวในต่างประเทศมีความรัดกุมกว่าประเทศไทย หากแต่ประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าวเพียงไม่กี่สาขา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุก “สาขาบริการ” ในขณะที่ประเทศอื่นมักจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในสาขาบริการหลักๆ เช่น การธนาคาร การขนส่ง การสื่อสาร เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า จีน เวียดนาม กลับมีข้อกำหนดสัดส่วนทุนต่างชาติ “ขั้นต่ำ” ไม่ใช่ “ขั้นสูง” เพราะเขาต้องการดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ หากแต่มีการกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าไทย ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 20 และมีนิยามของคนต่างด้าวที่ค่อนข้างรัดกุม หากแต่กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Federal Communication Commission หรือ FCC) สามารถอนุญาตให้บริษัทต่างชาติประกอบกิจการได้หากเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งต่างจากในกรณีของกฎหมายไทยที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาบางแห่งยังมีการร่างประกาศที่จะทำให้นิยามของคนต่างด้าวสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนมีความเข้มขึ้นเพื่อที่ป้องกันมิให้บริษัทต่างชาติเข้ามา “ฮุบ’ บริษัทไทย หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าหากต่างชาติที่ให้บริการแก่ประชาชนคนไทยอยู่นั้นต้องถอนทุนไปทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดแล้ว คนไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ครั้นจะหันไปพึ่งพากฎหมายป้องกันการผูกขาดของเราก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 12 ปี

ผู้เขียนมองไม่เห็นว่า การห้ามธุรกิจต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทแบบครอบจักรวาลที่เป็นอยู่นั้นเป็นผลดีอย่างไรต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทย เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราห้ามเปรอะไปหมดทำให้เราก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะมีธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากในหลากหลายสาขา รวมถึงบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงจำนวนมากแถวพัทยาที่เป็นของคนต่างด้าวที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนแบบ “ปากว่า ตาขยิบ” ของไทย คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยบางกลุ่มที่พอใจที่จะเห็นคู่แข่งต่างชาติถูกกีดกันในการประกอบธุรกิจ และพร้อมที่จะงัดกฎหมายนี้ออกมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางธุรกิจกับคู่แข่งที่มีหุ้นส่วนต่างชาติ เพราะหากปราศจากการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายอำนาจทางธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดภายในประเทศได้ง่ายดายขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะทบทวนบัญชี 3 ของกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ“ธุรกิจไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน” หากภาคบริการของไทยยังคงไม่พร้อมที่จะแข่งขันหลังจากเวลาเนิ่นนานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีนับจากที่มี ปว. 281 ในปี พ.ศ. 2515 เราก็คงต้องเลิกพูดกันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะภาคบริการจะเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำให้เราล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

ผู้เขียนเห็นว่า บัญชีสามควรให้การคุ้มครองแก่ ธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเท่านั้น มิใช่ส่งเสริมให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางตลาดสูงเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมและผู้บริโภคไทย จากการผูกขาดตลาด ประเทศไทยจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ หากนโยบายของภาครัฐยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคบริการที่สำคัญของประเทศ

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความกล้าหาญที่จะเข้ามารื้อกฎหมายฉบับนี้เพื่อปฏิรูปให้ภาคบริการของประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับภาคการผลิตของเราที่เติบโตแข็งแกร่งจากทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และจากแรงกดดันของการแข่งขันจากทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายที่กีดกันคู่แข่งจากต่างชาติแต่อย่างใด.

——————————————————————————–

[1] บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เลขเสร็จ 332/2535) เรื่อง ความหมายของคนต่างด้าว ตามข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ 2515 (กรณีบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด)

View :2601

เด็กไทยพิชิตชัย 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง คอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก

July 28th, 2011 No comments

สุดยอดเยาวชนหัวกะทิ 78 ชาติประชันสมองเต็มศักยภาพ เด็กไทยคว้าอันดับที่ 14 ของโลก

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประธานในพิธีปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 เปิดเผยว่าการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปีนี้ ณ โรงแรมรอยัล คลีฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ระหว่างวันที่ 22 – 29 กรกฎาคม 2554 เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนในการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตลอดจนการจัดหลักสูตรของประเทศให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามเป้าหมายของการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในครั้งนี้

ประธานกรรมการสสวท.ได้แสดงความยินดีกับนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทุกคนรวมทั้งขอให้มีความมุ่งมั่นพยายามฝึกฝนต่อไป โดยตลอดระยะการจัดงาน 1 สัปดาห์เชื่อว่าเยาวชนผู้ร่วมงานทุกคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นทั้งด้านการเขียนโปรแกรมและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ ก่อเกิดความประทับใจในประเทศไทย

ด้านรศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 กล่าวว่า การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยภาพรวมตลอดการจัดงานประกอบด้วยการสอบแข่งขันแก้ปัญหาโจทย์ การประชุม นิทรรศการ ที่พัก อาหาร ทัศนศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานด้วยดี

การจัดงานแข่งขันครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วมแข่งทั้งหมด 78 ประเทศ ประเทศเข้าสังเกตการณ์ 2 ประเทศ หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีมรวม 151 คน นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 306 คน visitors 68 คน มีผู้ส่งผลงานเพื่อนำเสนอในการประชุม 14 เรื่อง นิทรรศการผลงานชนะเลิศการประกวดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 30 ผลงาน

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 23 นี้ Mr.GENNADY KOROTKEVICH ผู้แทนเยาวชนจากประเทศเบลารุสทำคะแนนการสอบรวมกัน 2 วันสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือได้คะแนนเต็ม 600 คะแนน อันดับสองคือผู้แทนเยาวชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนทำได้ 599 คะแนน อันดับสามคือผู้แทนเยาวชนจากประเทศรัสเซียและบราซิลทำได้ 598 คะแนน

สำหรับทีมผู้แทนประเทศไทยสามารถคว้าชัยชนะ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง โดยนายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้รับเหรียญทอง ทำคะแนนได้ 524 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 14 โลก นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทองทำได้ 483 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 24 ของโลก สำหรับนายวิชชากร กมลพรวิจิตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. ได้รับเหรียญเงิน และนายลภนชัย จิรชูพันธ์ ได้รับเหรียญทองแดง

ทั้งนี้ประเทศที่ทำคะแนนสอบได้เป็นอันดับที่ 14 ของโลกมีจำนวนสามประเทศคือ ประเทศไทย ญี่ปุ่น และโครเอเชีย นายพศิน มนูรังษี ผู้แทนประเทศไทยซึ่งปีที่แล้วได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก (IOI 2010) จากแคนาดา และปีนี้พิชิตเหรียญทองอีกครั้งตามคาดหมายยอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ด้วยคะแนน 524 คะแนนซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตั้งใจทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถให้สมกับที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยและเพื่อชื่อเสียงของประเทศ คิดว่าการที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ ส่วนการสอนคอมพิวเตอร์ให้น่าสนใจนั้นถ้าลองทำในรูปแบบโปรแกรมการทำงานของหุ่นยนต์เด็กๆก็จะสนใจมากขึ้น อนาคตตั้งใจศึกษาต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานพัฒนาด้านการศึกษาหรืองานวิจัยทางด้านนี้ต่อไป

นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ เผยว่าดีใจที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้เพราะถือเป็นครั้งแรกของตนที่ได้เข้าร่วมคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ส่วนในปีหน้าก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้เป็นผู้แทนไปแข่งที่ประเทศอิตาลี พร้อมกันนี้ก็เห็นว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์สำคัญต่อชีวิตและมีบทบาทสูงในสังคมปัจจุบัน การมีความรู้ด้านนี้ช่วยให้ทันเหตุการณ์ รู้เท่าทัน และป้องกันตนเองจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ด้วย อนาคตตั้งใจทำงานที่ได้ใช้ความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาประเทศไทย

ขณะที่นายวิชชากร กมลพรวิจิตร กล่าวว่าดีใจที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปีนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมเข้าแข่งขัน ที่ผ่านมามีการเตรียมตัวและฝึกฝนการแก้โจทย์คอมพิวเตอร์มาเป็นอย่างดี โดยปีหน้าก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด เมื่อตอนเป็นเด็กสนใจการเขียนโปรแกรม จึงชอบสะสมหนังสือด้านนี้และทดลองเขียนโปรแกรมเล่นๆ พัฒนาและใส่ใจศึกษามาโดยตลอด คิดว่าการแข่งขันโอลิมปิกช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ที่สนใจและมีความสามารถได้รับโอกาสแสดงศักยภาพในเวทีนานาชาติ

ด้านนายลภนชัย จิรชูพันธ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ อนาคตตั้งใจทำตามความฝันโดยจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาเอก สำหรับผมโครงการโอลิมปิกเป็นโครงการที่ดีเพราะส่งเสริมเด็กไทยให้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป็นโครงการที่ให้โอกาสแก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษในวิชาต่างๆ ได้แสดงความสามารถของตนออกมาอย่างเต็มที่ สำหรับอนาคตอยากเป็นนักวิจัยหรือเป็นโปรแกรมเมอร์ควบคู่กับเป็นอาจารย์ ถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่เพราะปัจจุบันบ้านเรายังขาดนักวิจัยในด้านนี้อยู่มากครับ

View :2619

รำลึก ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

July 28th, 2011 No comments

อพท. ประสานแนวคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับ 3 องค์กร จัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ ศร ศิลปบรรเลง” เพื่อเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทางดนตรีไทยให้เมืองอัมพวา เมืองแห่งวัฒนธรรมและศูนย์กลางดนตรีไทย ด้วยแนวคิดการจัดการการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า “อพท. ร่วมกับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เทศบาลตำบลอัมพวา และองค์การบริหารส่วนตำบลสวนหลวง ดำเนินการจัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้ถือกำเนิดที่อัมพวาและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่น ทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ

จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศเมืองวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางของดนตรีไทย สร้างความมั่นคงทางจิตวิญญาณของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับชาวสมุทรสงคราม โดยมุ่งหวังให้เป็นโครงการนำร่องในการจัดมหกรรมดนตรีไทยประจำปีของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยการสืบทอดมรดกความเป็นศูนย์กลางทางดนตรีไทยในอดีตที่เชื่อมโยงสู่บรรยากาศของเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบัน และเพื่อจุดประกายการพัฒนาดนตรีไทยในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้มีรากฐานอันมั่นคง ทั้งเป็นต้นแบบให้เกิดการวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรีในระดับอื่นๆ ต่อไป

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้มีฝีมือทางระนาดเอกดีเยี่ยม นับตั้งแต่วัยเยาว์จนได้รับคัดเลือกเข้าไปถวายงานดนตรีแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕ ที่วังบูรพาภิรมย์พระนคร และได้สร้างคุณูปการทางดนตรีไทย อันเป็นที่ประจักษ์มาตลอดระยะเวลา ๕ แผ่นดิน โดยเป็นทั้งศิลปินดนตรี ดุริยกวี และครูสอนดนตรีไทยให้แก่บุคคลทุกระดับชั้น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลแห่งตำนานดนตรีไทยที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้เมื่อถึงแก่กรรมก็ยังปรากฏผลงานการประพันธ์เพลงที่แพร่หลาย และการจัดกิจกรรมดนตรีที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ ตรงกับวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลดนตรี “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา” โดยงานนี้นับได้ว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ของคนในวงการดนตรีไทย เพื่อร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งมีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิการประชันดนตรี ปี่พาทย์เสภา มหาดุริยางค์พิเศษ ระนาด ๑๓๐ ราง การแสดงดนตรีของศิลปินระดับปรมาจารย์ อาทิ วงฟองน้ำ วงชัยยุทธ์ โตสง่า ฯลฯ รวมไปถึงพิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมบันเทิง และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าดนตรีไทยแก่สาธารณชน

ทั้งนี้ อพท. คาดหวังว่างานดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีให้กับเมืองอัมพวาอย่างต่อเนื่องไปทุกปี ที่สำคัญการจัดงานนี้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม นั่นคือ การสร้างสรรค์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือทุนทางวัฒนธรรม โดยหยิบยกเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ ศิลปะท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน วิถีความเป็นชุมชน วรรณกรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ความงดงามของฝีมือช่าง และอื่นๆ มาจัดการให้เกิดความน่าสนใจสอดคล้องตามคุณค่าของชุมชนหรือเมือง และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ตรงผ่านการเรียนรู้นั้น เช่น การได้มาเรียนรู้เรื่องดนตรีไทยเป็นเวลา ๒ วัน ๑ คืน ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยพักบ้านดนตรีแบบโฮมสเตย์ หรืออาจะเป็นการมาศึกษาเรียนรู้เรื่องความเป็นมาของศิลปินเอกด้านดนตรีไทย ประเภทเครื่องสี ตี เป่าของไทย สักประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง โดยมีโอกาสได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีไทยนั้นจากครูผู้สอนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งและน่าประทับใจ” ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กล่าวอธิบาย

จึงนับได้ว่างาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เป็นเทศกาลดนตรีไทยครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ประกอบด้วยกิจกรรมที่มีคุณค่า การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของศิลปดนตรีไทยให้ปรากฏแก่สาธารณชน โดยใช้ ๓ พื้นที่หลักในเขตอัมพวาเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ได้แก่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. ๒) โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และบ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฏีทอง ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๕-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้

—–

ตารางรวมกิจกรรม “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑”

วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๙.๐๐–๒๑.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงบอยไทย บางกอกไซโลโฟน โดย ชัยยุทธ โตสง่า ศิลปินศิลปาธร ประจำปี ๒๕๕๓ พร้อมด้วยดารารับเชิญ คนระนาดเอก ได้แก่ ครูปู บุญสร้าง เรืองนนท์ ร่วมบรรเลงเพลงภารตะนฤมิตร แหลม สมฤกษ์ ฉายแสง ร่วมบรรเลงเพลงเดี่ยวอาหนู และป้อม กองปราบ ประสิทธิ์ สิทธิชัย มาในเพลง “ดวล”

วันเสาร์ ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒
๐๖.๐๐–๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า ปี่พาทย์วงไทยบรรเลง
๐๘.๓๐-๐๙.๓๐ น. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บูรพาจารย์ทางดนตรีไทย มโหรีวงกอไผ่ บรรเลงประกอบพิธี
๐๙.๓๐–๑๐.๓๐ น. ปาฐกถาเกียรติยศ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีของแผ่นดิน” โดย ศ.ระพี สาคริก
๑๑.๐๐-๑๗.๓๐ น. การบรรเลงถวายมือ “ช่อดอกไม้ดนตรี สุนทรีย์บูชาครู” จากนักดนตรีสายศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะฯ จำนวน ๑๑ วง โหมโรงกลางวันโดยวงปี่พาทย์วงที่ ๑
๑. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร วงศิษย์ครูมนตรี ตราโมท
๒. วงศิษย์ครูถวิล อรรถกฤษณ์
๓. วงจรรย์นาฏย์
๔. วงศิษย์ครูโองการ กลีบชื่น
๕. วงศิษย์ครูรวม พรหมบุรี
๖. วงศิษย์ครูแสวง – ครูนิภา อภัยวงศ์
๗. วงศิษย์ครูพินิจ ฉายสุวรรณ
๘. วงศิษย์ครูน้ำว้า ร่มโพธิ์ทอง
๙. วงศิษย์ครูสมภพ ขำประเสริฐ
๑๐. วงศิษย์ครูประสิทธิ์ ถาวร
๑๑. วงศิษย์ครูเพชร จรรย์นาฏย์

ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
๑๔.๐๐-๑๘.๐๐ น. “สมานฉันท์ดนตรีไทยชัยพัฒนา” โดยสถาบันการศึกษาและวงดนตรีรับเชิญ จำนวน ๕ วง ได้แก่ วงคำหวาน วงพระพิรุณ วงแสนแสบ วงณัฐพนชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วงโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

ณ เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒
๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงฟองน้ำ
๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงสไบ
๑๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. เพลงครูคู่สมัย : ขุนอิน ออฟ บีท สยาม
๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. เสวนา “ย้อนรอยภาพยนตร์โหมโรง” โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ขุนอิน โตสง่า และ โอ อนุชิต
๒๐.๐๐-๒๑.๔๕ น. ฉายภาพยนตร์ “โหมโรง”

ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๑ วงศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง – ไชยชนะ เต๊ะอ้วน (ระนาดเอก) วงศิษย์ผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ – มีกิจ อินทรพิพัฒน์ (ระนาดเอก)
๒๑.๐๐-๒๔.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๒ วงกอไผ่ – ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ (ระนาดเอก) วงลายไทย – ธนาเศรษฐ์ อภิจิรนนท์ชัย (ระนาดเอก)

วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร. ๒
๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า – ปี่พาทย์วงลูกศิษย์และหลานศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. – พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
– พิธีกรอ่านโองการ โดย พันโทเสนาะ หลวงสุนทร และ ผู้ช่วยพิธีกร โดย ครูฉลาก โพธิ์สามต้น
– บรรเลงหน้าพาทย์โดย วงลูกศิษย์และหลานศิษย์ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)
๑๑.๓๐-๑๕.๐๐ น. – พิธีครอบครูดนตรีไทย
– การบรรเลงถวายมือ โดย ๑) “วงมหาดุริยางค์เยาวชนสมุทรสงคราม” บรรเลงเพลงบุหลันลอยเลื่อน และ แสนคำนึง ๒) “วงมหาดุริยางค์ระนาด ๑๓๐ ราง” เป็นการชุมนุมนักระนาดเอกทั่วประเทศ บรรเลงทางเดี่ยวเพลงอาหนู เพื่อแสดงความสามัคคีบูชาครู ๓) สิ้นสุดมหกรรมดนตรีฯ ครั้งนี้ ด้วย การบรรเลง และ ขับร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมิ่งมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พระพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒

View :3268

เด็กอัจฉริยะคว้าคะแนนเต็มคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2011 สูงสุดอันดับ 1 ของโลก

July 28th, 2011 No comments


Gennady Korotkevich หลังออกจากห้องสอบในวันที่ ๒๖ ก.ค. ๕๔ Gennady Korotkevich ขณะกำลังสอบแข่งขันวันที่สอง วันที่ ๒๖ ก.ค.๕๔

Gennady Korotkevich ผู้แทนเยาวชนจากประเทศเบราลุส ทำคะแนนจากการสอบรวมกัน ๒ วันสูงสุดเป็นอันดับ ๑ ของโลก คือ ได้คะแนนเต็ม ๖๐๐ คะแนนในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

—-

นาทีระทึกใจของเยาวชนในสนามชิงชัยคอมพิวเตอร์โอลิมปิกวันสุดท้าย

เยาวชนคนเก่งจากนานาประเทศตั้งใจทำข้อสอบเก็บคะแนนวันสุดท้ายอย่างเต็มที่ ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

ทั้งนี้ หลังจากสอบ ผลปรากฎว่า นายพศิน มนูรังษี ทำคะแนนจากการสอบรวมกัน 2 วันสูงเป็น อันดับที่ 14 ของโลกคือ 524 คะแนน นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ ได้คะแนน 483 คะแนนคิดเป็นอันดับที่ 24 นายวิชชากร กมลพรวิจิตร ได้ 381 คะแนน และนายลภนชัย จิรชูพันธ์ ได้ 288 คะแนน

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

—-

ผู้เข้าแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่อายุน้อยสุด


เอ็ดเวิร์ด กริกอร์ยาน (Eduad Grigoryan) อายุ ๑๓ ปี ผู้แทนจากประเทศอาร์เมเนีย เป็นผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุน้อยที่สุดในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

View :4007

นโยบายการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ใครควรเป็นผู้กำหนด?

July 28th, 2011 No comments

By ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในการประชุมของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) รักษาการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ…. โดยให้มีการเพิ่มเติมข้อความในส่วนของการเกริ่นนำของร่างประกาศว่าเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มิใช่เป็นการเร่งรัดดำเนินการในห้วงระยะเวลาปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เขียนยิ่งมีข้อสงสัยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเร่งรัดของ รักษาการ กสทช. ชุดนี้ก่อนที่จะหมดวาระในเวลาเพียงอีกเดือนกว่าๆ หรือไม่

ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนดังเช่นของ กรณี พ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ (สืบเนื่องจากการที่บริษัท True Move ขอให้มีการตรวจสอบว่าบริษัท DTAC เป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่) หากแต่จะเป็น กฏ กติกาที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เนื่องจากประกาศดังกล่าวได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวจากอำนาจในการควบคุมบริษัท (corporate control) โดยพิจารณาจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น สิทธิในการออกเสียง แหล่งที่มาของเงินทุน การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาบริหาร การโอนราคา ฯลฯ ในการรับฟังความคิดเห็นนั้น (ซึ่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ลงในเว็บไซต์ ต้องขอ) ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมากกว่า 1 รายได้ทักท้วงว่า นิยามของคำว่า ”อำนาจในการควบคุม” ในร่างประกาศฯ ดังกล่าวกว้างเกินไป ชี้วัดได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการตีความ นอกจากนั้นแล้ว การประเมินว่าคนต่างด้าวมีอำนาจในการควบคุมเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของอำนาจการควบคุมโดยรวมของกิจการนั้นยิ่งไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎ กติการในการกำกับดูแลธุรกิจที่มีความคลุมเครือและให้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวางแก่หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้ ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นในประเทศไทยนั้น เป็นปัจจัยที่ทำลายภาคธุรกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนต้องเสียเวลาและเงินตราในการวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจเพื่อให้มีการตีความที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือเป็นโทษต่อคู่แข่งมากกว่าที่จะใช้เวลาในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ข้อ 3 ของร่างประกาศดังกล่าวระบุไว้ว่า “ … คณะกรรมการอาจพิจารณายกเว้นการบังคับใช้ประกาศนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน แก่การครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทั่วในทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหมาะสมเป็นรายกรณีไป” กสท. ได้ท้วงติงว่าข้อความนี้ให้อำนาจแห่งดุลยพินิจแก่หน่วยงานกำกับดูแลโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส แต่การชี้แจงของสำนักงาน กสทช. เพียงระบุว่า “ผู้ประกอบการที่ดำเนินการแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางธุรกิจ ซึ่งก็เป็นหลักที่ยอมรับได้อย่างเป็นสากลและมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด” ผู้เขียนอาจไม่ฉลาดพอ เพราะต้องยอมรับว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าที่ สำนักงาน กสทช. กล่าวมาได้ตอบข้อข้องใจของ กสท. อย่างไร

ในลักษณะเดียวกัน DTAC ก็ได้หยิบยกประเด็นว่า หากการครอบงำอำนาจในการควบคุมบริษัทของคนต่างด้าวนั้นเป็นไปโดยถูกกฎหมาย (ไม่มีนอมินี) และเกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้นไทยที่อาจขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมจึงไว้วางใจให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเป็นผู้บริการจัดการก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่เสียหาย ทั้งนี้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่ได้ห้ามต่างชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในบริษัทไทยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม นิยามของคนต่างด้าวในกฎหมายดังกล่าวที่จงใจดูการถือหุ้นชั้นเดียวในการกำหนดสัญชาติของบริษัทนั้นสะท้อนชัดเจนว่ากฎหมายต้องการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นผู้ควบคุมนิติบุคคลไทยได้โดยการถือหุ้นทางอ้อมเพียงแต่ในการถือหุ้นในแต่ละลำดับชั้นนั้น ผู้ถือหุ้นข้างมากต้องเป็นคนไทย ในประเด็นนี้ข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้บริษัทควรที่จะมีอิสระในการกำหนดโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทเอง แต่ในบางบริษัท “กรรมการมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ถือหุ้นเป็นพิเศษจนไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทแต่เลือกที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแทน” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่หรืออำนาจที่จะมาตัดสินใจว่ากรรมการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่หรือ และ ผลประโยชน์ของบริษัทมิใช่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือ ? แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า ประกาศฯ ดังกล่าวมีความจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย

เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านเศรษฐกิจที่พิจารณาเรื่องการประมูลคลื่น 3G ได้ตั้งคำถามเดียวกันว่า กทช. มีแนวนโยบายและเหตุผลอย่างไรในการนำเสนอร่างประกาศซึ่งเป็นการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ในช่วงเวลาที่ กทช. ต้องการจะชักจูงให้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลคลื่น 3 G จากการทำ Road show ในหลายประเทศ

อนึ่ง ข้อ 5 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล พ.ศ. 2549 กำหนดให้ กทช. ต้องดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ในกรณีที่มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจควบคุม หรือกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ผู้ประกอบการแต่ละราย ตลอดจนผลดีผลเสียต่อผู้บริโภคคนไทย ผู้เขียนได้พยายามติดต่อ สำนักงาน กสทช. เป็นเวลาเกือบ 2 วันเพื่อที่จะได้มาซึ่งรายงานดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากมีการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างเจ้าหน้าที่หลายส่วนโดยอ้างว่า ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่อยู่ไปประชุม ทั้งๆ ที่ระเบียบข้อ 5 ดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า การเสนอร่างประกาศฯ ต่อคณะกรรมการฯ ต้องแนบรายงานการประเมินผลกระทบไปด้วยทุกครั้ง เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้มีบุคคลคนเดียวที่รับผิดชอบหรือรับรู้หรือ ? ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รายงานดังกล่าวจะต้องปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลโดยไม่ต้องร้องขอ (และไม่ได้) เช่นนี้

ผู้เขียนคิดว่า แม้ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบของ สำนักงาน กสทช. และตามกฎหมายแล้ว แต่ กสทช. ยังไม่สามารถชี้แจงประเด็นหรือปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของประกาศฯ เพื่อคลายข้อกังวลต่างๆ ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบของร่างประกาศฯ ดังกล่าวต่อสภาพการแข่งขันในตลาดและต่อเศรษฐกิจไทยตามที่กำหนดในระเบียบของ สำนักงาน กสทช. เอง ทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการในการออกประกาศฯ ดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดข้อครหาว่าเป็นการเร่งรัดเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น

สุดท้าย ผู้เขียนมีความเห็นว่า การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นประเด็นทางนโยบายที่มีความสำคัญระดับประเทศมิใช่เป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาจะเข้ามาใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจโดยไร้หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ชัดเจน โปร่งใส และปราศจากข้อมูลและหลักฐานของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ได้เวลาหรือยังที่ธุรกิจและประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการรับรู้ที่มาที่ไปของกฎ ระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ?

View :2032

นโยบายแจก tablet: รัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัดก่อน

July 19th, 2011 No comments


แหล่งข่าวจากวงการศึกษาให้ความเห็นต่อกรณีนโยบายแจกtablet แก่เด็กนักเรียน 800,000คนว่างงานเป็นนโยบายที่ทำจริงได้ยาก และไม่เห็นด้วย แทนที่จะทำหว่านทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลลองทำเป็นโครงการนำร่องดูสักประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียน ที่ในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้วก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการก่อน. หากได้ผลดีค่อยขยายขนาดโครงการ

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 โรง มีครูอยู่ 600,000 คน มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ป.1-ม.6 มากถึง 12 ล้านคนซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่มาก หากจะแจก tablet ให้เด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีการเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนในการเรียนด้วยเครื่องมือที่เป็น tablet คาดว่าจะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะเป็นการเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์

ครูเองทุกวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องการสอน เด็กเองก็ต้องปรับตัวในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียนรู้ ซึ่งอุปกรณ์ tablet นั้นเหมาะกับการอ่านมากกว่าเขียน หากจะแจก tablet ให้แจก netbook หรือ notebook จะมีประโยชน์กว่า นอกจากนี้การเตรียมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook, courseware) ต้องใช้เวลาและต้องมีแผนการปรับปรุงหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม มากกว่านี้ ไม่ใช่จะเอาหนังสือเรียนที่มีอยู่มาแปลงเป็นดิจิตอลไฟล์แต่นั้น ไหนจะระบบการเรียนการสอน การประเมินผล การวัดผล ที่จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมโรงเรียนระดับประถมทั่วประเทศ โรงเรียนที่มีการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ อาทิ โรงเรียนประจำอำเภอ และโรงเรียนประจำจังกวัดเท่านั้น

ทางออกที่อยากนำเสนอคือรัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัด 1,000-2,000 โรงเรียนก่อน

View :4344

ทรู ผนึกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อบรม “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่น 14 สร้างสรรค์คุณภาพคนข่าวยุคใหม่

July 14th, 2011 No comments


บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ (นั่งกลาง) ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ และหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร และประชาสัมพันธ์การตลาด กลุ่มทรู ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดย นาย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (นั่งกลาง) นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่14 ประจำปี 2554  ให้คณะนิสิต นักศึกษาจากภาควิชาวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน จำนวนกว่า 80 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมเรียนรู้ทักษะ และฝึกฝนความเป็นบุคลากรคนข่าวจากนักข่าวรุ่นพี่ ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จริงแบบมืออาชีพ พร้อมฝึกปฏิบัติการทำหนังสือพิมพ์เสมือนจริง ก่อนเข้าสู่สนามสื่อในสังคมอย่างมีคุณภาพ ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ เมื่อเร็วๆ นี้
 
“ในวันเปิดการอบรมนี้ คณะนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 80 คน ได้เรียนรู้ถึงการควบคุมระบบโครงข่ายการสื่อสารที่ครบวงจรของทรู เพื่อให้บริการออกมาได้เต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล  พร้อมดำเนินการแก้ไขได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ“นักข่าวพิราบน้อย” ระหว่างวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา อ.เมือง      จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนมืออาชีพทุกสำนักพิมพ์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ข้อมูลกับนิสิต นักศึกษาได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะจริงตลอดระยะเวลา 4 วันเต็มของการอบรม”
 
ข้อมูลโครงการ “นักข่าวพิราบน้อย”
“นักข่าวพิราบน้อย” เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เพื่อมุ่งส่งเสริม และสนับสนุนวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เป็นสาขาอาชีพที่ทรงเกียรติ และควรค่าแห่งความภาคภูมิใจสำหรับเยาวชนที่ศึกษาในศาสตร์วิชาวารสารศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรคนสำคัญของการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ โดยจะมีกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาที่ศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเข้ามาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการทำหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีเวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาแต่ละสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจัดส่งผลงานหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการผลิตผลงานในการประกวด “รางวัลพิราบน้อย” ที่จัดขึ้นในช่วงต้นมีนาคมของทุกปี

View :2813