Home > Internet, Mobile Phone, Software > จับตา “ตลาดสมาร์ทโฟน” แข่งดุและเดือด

จับตา “ตลาดสมาร์ทโฟน” แข่งดุและเดือด

การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือระหว่างแพลตฟอร์มไอโฟน () ซึ่งก็คือ iOS และแอนด์ดรอยด์ () จนฝุ่นตลบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากมองให้ดีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้นผลประโยชน์น่าจะตกอยู่กับผู้ใช้งาน แต่หากเครื่องโทรศัพท์สมาร์โฟน () ดีโดยลำพังก็คงไม่สามารถส่งให้กระแสสมาร์ทโฟนแรงได้ขนาดนี้ แต่เพราะรูปแบบการทำธุรกิจของสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนจากการ “สินค้า” (Product) มาสู่การขาย “บริการ” (Service) ต่างหากคือ จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้การตอบรับสมาร์ทโฟนถึงได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเยี่ยงนี้

เริ่มจากการปฏิวัติรูปแบบการขายเครื่องโทรศัพท์ของสตีฟ จ๊อบ ที่เปลี่ยนจากการขายสินค้าคือเครื่องโทรศัพท์มาเป็นการขายบริการคือแอพพลิเคชั่นจำนวนมหาศาลที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานในทุกรูปแบบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ แม่บ้าน นักบริหาร เป็นต้นคุณก็จะเจอแอพพลิเคชั่นที่ตรงกับความต้องการของคุณอย่างแน่นอน เพราะในตลาดแอพพลิเคชั่น () ได้เตรียมแอพพลิเคชั่นไว้รอการใช้งานมากถึงกว่า 200,000 รายการ ซึ่งจำนวนแอพพลิเคชั่นก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การใส่นวัตกรรมบริการ (Service Innovation) เข้ามาในสินค้าของแอปเปิลเป็นตัวกระตุ้นให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็เดินตาม เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจของสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์มแอนด์ดรอยด์ (Android) ที่ทีตลาดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “มาร์เก็ต” () นั้นละหม้ายคล้ายคลึงกับตลาดแอพพลิเคชั่นของ iPhone ที่ชื่อว่า (iTune) สิ่งที่ต้องแข่งขันกันนอกจากจะพยายามพัฒนาเครื่องโทรศัพท์ของตนให้มีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นล้ำกว่าแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองค่ายคงจะต้องแข่งขันกันสร้าง “บริการ” หรือแอพพลิเคชั่นให้มากพอและตรงใจพอกับความต้องการของปริมาณลูกค้าที่ครอบครองเครื่องสมาร์ทโฟนนั่นเอง และนี่คือ โอกาสการตลาดของเหล่านักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ….

หมอจิม แห่ง “จิมมี่ ซอฟต์แวร์” () บริษัทนักพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์พกพาสัญชาติไทย ให้มุมมองไว้ว่า ปรากฏการณ์การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนเป็นโอกาสแนๆ สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะช่วงนี้คือช่วงขาขึ้นของตลาดสมาร์ทโฟน ไม่เพียงแค่แพลตฟอร์มของ Android และ iPhone เท่านั้น แต่ยังมีอีกแพลตฟอร์มที่น่าจับตาอย่างยิ่งนั่นคือ ที่คาดว่าน่าจะออกมาสร้างกระแสในตลาดราวปลายปี 2553 นี้

iPhone คือ “เจ้าตลาด”
Android คือ “ผู้ท้าชิง”

คุณหมอจิมวิเคราะห์ให้ฟังว่า จุดดีของ iPhone คือ เป็นตลาดเปิด ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของแอพพลิเคชั่นมักจะได้รับการอนุมัติให้ขายได้ โดยระยะเวลาในการอนุมัติเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นโอกาสเปิดสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยอย่างมาก แต่จุดเสีย คือ iPhone เป็นแพลตฟอร์มที่มีแอพพลิเคชั่นเยอะมาก คู่แข่งขันในตลาดค่อนข้างมากทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจะต้องเบียดแทรกเข้าไปในอยู่ท่ามกลาง 200,000 กว่าแอพพลิเคชั่น

ในขณะที่ Android เน้นการตลาดคนละรูปแบบ คือ ตลาดสำหรับแอพพลิเคชั่นค่อนข้างปิดอย่างน้อยที่สุดในประเทศไทย เราไม่สามารถสมัครเอาแอพพลิเคชั่นไปฝากขายใน “Market” ได้ เพราะแอพพลิเคชั่นใน “Market” เน้น Free App มากกว่า ซึ่งเป็นการยากมากกว่าที่แอพพลิเคชั่นของไทยจะได้ค่าโฆษณา เพราะต้องมี Content ที่คนสนใจ ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ของ “Market” ยังเป็นฟรีแอพพลิเคชั่น ซึ่งรายได้สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากโมเดลนี้จะมาจากค่าโฆษณาที่ขึ้นอยู่ในตัวแอพพลคิชั่น ในขณะที่แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ของ iPhone คือแอพพลิเคชั่นเสียเงินดังนั้นรายได้จะมาจากการขายแอพพลิเคชั่นโดยตรง ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะได้รายได้ 70 เปอร์เซ็นต์

“ณ ตอนนี้ จำนวนเครื่องโทรศัพท์บนแพลตฟอร์ม iOS ยังสูงกว่า Android แต่อัตราการขยายตัวของ Android สูงกว่า iOS ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า (หรืออาจจะเร็วกว่านั้น) จำนวนเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็น Android น่าจะแซง iOS แต่ทั้งนี้กระแสของ Apple ยังคงเร็วและแรงเพราะหากพูดถึงแพลตฟอร์ม iOS ต้องนับรวมทั้ง iPhone, iPod Touch และ iPad ทำให้ขนาดตลาดของ iOS จะค่อนข้างใหญ่ เจ้าของคอนเทนต์เจ้าใหญ่กระโดดลงมาเล่นมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน iOS เอง ทำให้ให้ตลาดนี้ยิ่งเติบโตและน่าสนใจ และคาดกันว่าจะเข้ามาเบียดตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค คือคาดว่าตลาดสมาร์ทโฟนจะเข้ามาเบียดตลาดพีซีอย่างแน่นอนในอนาคต แต่ตรงนี้คือน่านน้ำใหม่ที่สดใสกว่าของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เพราะเดิมพัฒนาซอฟต์แวร์บนพีซี ก็ถูกจำกัดแต่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่พอเป็นสมาร์ทโฟน อาทิ iOS พัฒนาเสร็จส่งเข้าไปที่ iTune ซึ่งตลาดใหญ่กว่า เพราไปทั่วโลก รอแค่ 2 อาทิตย์ก็ขายได้แล้ว ความง่ายของตลาดเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนา แต่ในขณะเดียกวันความง่ายของการเข้าถึงตลาดก็เป็นการนำพาคู่แข่งมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน”

Windows Phone 7 คือ “ตัวแปร”

สำหรับ Windows Phone 7 นั้น หมอจิม บอกว่า มีโอกาสสูงที่จุด Peak ของ Windows Phone 7 น่าจะอยู่ราวเดือนธันวาคม 2553 นี้ ที่จะได้เห็นการสู้กันระหว่าง Windows Phone 7 กับ iOS ซึ่งไมโครซอฟท์ใช้กลยุทธ์ด้วยการทุ่มทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Windows Live และxBox ซึ่งเป็นโปรดักส์ที่ประสบความสำเร็จมาสู้กับ iPhone ทำให้โอกาสที่ Windows Phone 7 จะมีสูง เพราะราว 60 เปอร์เซ็นต์ของตลาด iPhone อยู่ที่เกม ฉะนั้นการที่ไมโครซอฟท์เอา xBox มาอยู่ใน Windows Phone 7 เพื่อต่อกรกับ iPhone นั้นก็ค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ

“ตลาดสมาร์ทโฟนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นสนามการต่อสู้ของ 3 แพลตฟอร์มนี้ คือ Windows Phone 7, iOS และ Android  ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคใหม่ของสมาร์ทโฟน ตอนนี้มันเหมือนช่วงตลาดพีซีช่วงที่เปลี่ยนจาก DOS มาเป็น Windows ฉะนั้นเวลาพูดถึงตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมันจะยังเบลอๆ เพราะมีการอ้างตัวเลขจากเจ้าตลาดเดิม คือ โนเกีย แต่หากจะนับเฉพาะตลาดสมาร์ทโฟนตามรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีตลาดแอพพลิเคชั่นรองรับการใช้งานแล้ว ปัจจุบันสัดส่วนตลาดหลักของสมาร์ทโฟนในตลาดอเมริกา คือราว 45 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นของ iOS ในขณะที่ราว 15-20 เปอร์เซ็นต์เป็นของ Android ในขณะที่สัดส่วนของ Windows Phone 7 ยังไม่มี ซึ่งตลาดรวมสมาร์ทโฟนทั้ง 3 แลพตฟอร์มจะเติบโตขึ้นเบียดส่วนแบ่งตลาดบนของโนเกีย ส่วน BlackBerry นั้นน่าจะเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) จะไม่ได้มาแข่งกับ 3 แพลตฟอร์มนี้”

แต่ส่วนแบ่งการตลาดโลก ณ ปัจจุบัน โนเกียยังเป็นเจ้าตลาดอยู่ รองลงมาคือ iOS ตามด้วย BlackBerry และ Android ซึ่ง Android น่าจับตามมากเพราะอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็ว เนื่องจากมีผู้ผลิตเครื่องหลายราย

สำหรับ Windows Mobile 6.5 นั้น ปัจจุบันยังมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม Windows Mobile 6.5 ซึ่งจะเป็นคนละตลาดกับ Windows Phone 7 ตลาดในส่วนนี้จะ “Flat Growth” เรียกว่า “ไม่ตายแต่ไม่โต” เพราะจะถูกจำกัดการใช้งานกับแอพพลิเคชั่นเฉพาะเชิงธุรกิจเท่านั้น เท่ากับว่า สำหรับค่ายไมโครซอฟท์จะมี 2 แพลคฟอร์มของสมาร์ทโฟน คือ  Windows Mobile 6.5 กับ Windows Phone 7 ซึ่งในงาน NIX ไมโครซอฟท์กล่าวว่าจะยังคงรักษาสถานะของทั้ง 2 OS นี้เอาไว้

สำหรับเจ้าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโลกอย่างโนเกียนั้น นับว่ากำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะตลาดสมาร์ทโฟนในอดีตกับปัจจุบันกำลังเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจอย่างสิ้นเชิง หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังเลื่อนเข้าสู่ตลาดคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดมหึมาหากเทียบกับตลาดสมาร์ทโฟนในอดีตที่ฐานลูกค้าใหญ่คือภาคธุรกิจ ซึ่งตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้เป็นเพราะตลาดสมาร์ทโฟนได้สร้างให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) นั่นคือ การเกิดขึ้นของตลาดแอพพลิเคชั่น (App Store/ App Market) ขนาดใหญ่ ซึ่งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) ของตลาดสมาร์ทโฟนสำหรับคอนซูเมอร์นั้นมีขนาดมหึมามากกว่าระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) ของตลาดสมาร์ทโฟนสำหรับธุรกิจ

Developers “ตัวแปร” ชัยชนะในสนามสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ดี การจะประสบความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟนได้นั้น ผู้ผลิตจะต้องดึงดูดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มาพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อนตลาดแอพพลิเคชั่นให้ตนเอง ซึ่งหากประเมินขุมกำลังกันแล้วนับว่า iPhone ยังคงเป็นต่อ Android และ Windows Phone 7 อยู่ เพราะ iPhone เน้นที่แอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเงิน (Paid Apps) ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์อยากจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อน iPhone มากกว่า แต่ Android เพิ่งเริ่มและแอพพลิเคชั่นส่วนมากยังเป็นของฟรี (Free Apps) ในขณะที่ Windows Phone 7 มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เคยพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อน xBox อยู่ในมือแล้วจำนวนมากทำให้ค่อนข้างจะได้เปรียบในเรื่องนี้

“โนเกียพยายามเอา Symbian มาทำเป็นโอพ่นซอร์สหวังว่าจะได้รับความนิยมเหมือนกับ Android และโนเกียยังจับมือกับอินเทลออก MeeGo (Mobile Linux Platform) และปลายปีจะออก MeeGo มาสู้กับ iPad ก็นับว่าเดินมาในทางเดียวกัน คือ มีตลาดแอพพลิเคชั่น แต่ต้องอย่าลืมว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์เองก็มีอยู่จำกัด ซึ่งแพลตฟอร์มไหนสามารถให้โอกาสและผลตอบแทนที่เร็วกว่าเขาก็จะไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับแพลตฟอร์มนั้น ซึ่งในปัจจุบันก็คือ iOS กับ Android”

สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เองนั้นแม้ว่าตลาดในปัจจุบันจะค่อนข้างเปิด แต่ทว่าการที่ตลาดเปิดตลาดง่ายก็นำมาซึ่งคู่แข่งจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่น iOS ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นบน iTune มากกว่า 200,000 ชิ้น และในแต่ละวันมีแอพพลิเคชั่นใหม่เข้ามาขายบน iTune ราว 400 แอพพลิเคชั่นต่อวัน อายุเฉลี่ยของแอพพลิเคชั่น (App Lifecycle) บน iTune อยู่ที่ราว 1 เดือน หมายความว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ดีแม้ว่าโมเดลตลาดแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ทว่าโมเดลตลาดแอพพลิเคชั่นก็เป็นโมเดลที่เปิดโอกาสความสำเร็จให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก เพราะว่าหากแอพพลิเคชั่นไหน “เข้าตา” หรือ “โดนใจ” ผู้ใช้งานแล้วสามารถสร้างจำนวนการดาวน์โหลดได้มหาศาลก็จะสามารถสร้างได้รายได้ให้กับนักพัฒนารายนั้นได้อย่างมากเช่นเดียวกัน

“ข้อดีของรูปแบบธุรกิจนี้ คือ เหมือนตลาดหนังตลาดเพลง ที่หากผลงานชิ้นไหนโดนหรือฮิต โอกาสสร้างรายได้มหาศาลก็มี ซึ่งความยากเชิงเทคโนโลยีนั้นไม่ยาก แต่ยากตรงเรื่องความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าซึ่งอยู่ในคนละวัฒนธรรมกับเรา ตลาดใหญ่ของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของ iTune นั้นอยู่ในตลาดอเมริกา ที่ตกเฉลี่ยแล้วจะมีการดาวน์โหลด 15,000-20,000 ดาวน์โหลดต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสูงสุดในไทย คือ 40 ดาวน์โหลดต่อวัน ขนาดตลาดแตกต่างกันมาก”

“ฉะนั้น การออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นจะต้องทำเป็นสากล ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่โดนใจตลาดไม่จำเป็นต้องเป็นต้องเป็นแอพพลิเคชั่นขนาดใหญ่ แต่ต้องถูกใจตลาด เพราะตลาดนี้เป็นตลาดคอนซูเมอร์ล้วนๆ ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นรวมเสียงตด ที่ชื่อ iFarp มียอดดาวน์โหลดวันละ 15,000 ดาวน์โหลดต่อวัน” หมอจิมกล่วาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

View :4004
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.