“ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส”: “คำตอบ” ของการลงทุนซอฟต์แวร์สำหรับ SME

June 1st, 2010 No comments

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่ผู้ประกอบการต่างต้องพึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Techonology:IT) หรือไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจที่ต้องพึงมีอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการยังคงต้องจับจ้องและลงทุนกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นำมาซึ่งช่องว่างของการแข่งขันระหว่างผู้มีความสามารถในการลงทุนและเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้กับผู้ที่ไม่สามารถซึ่งส่วนมากล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี (Small and Medium Enterprise: SME) ที่โดนแรงกดดันจากสองทาง นั่นคือ แรงกดดันที่ต้องการยกระดับคุณภาพการแข่งขันด้วยการใช้ไอที ในขณะที่การที่จะมีไอทีใช้สำหรับเอสเอ็มอีดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ “ต้นทุน” ที่ต้องคิดหนัก

ทว่าปัญหาเหล่านี้ของเอสเอ็มอีดูจะมีทีท่าคลีคลายไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องเพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส(Open Source Software) ที่เข้ามาเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ ซึ่งกระแสของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทยนั้นมีมานานหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านนี้ที่กระแสการตื่นตัวต่อการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทยมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างหันมาลงทุนในระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สกันอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเริ่มเห็นผล

โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์”: ถูกกว่า…แต่ไม่ฟรี

แต่บรรดาเอสเอ็มอีเองกลับเป็นกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะเอสเอ็มอียังคงขาดความรู้ความเข้าใจในการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เอสเอ็มอีส่วนมากยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส คือ “ของฟรี” ดังนั้นหากบริษัทของตนจะลงทุนในซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนอกจากไม่ตรงความจริงแล้วยังนำมาซึ่งปัญหาในการเริ่มทดลองใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในบรรดาเอสเอ็มอีหัวก้าวหน้าที่ลงทุนกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีการวางแผนการลงทุนในระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ที่ชัดเจน

ดนุพล สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอซ์ โซลูชั่น จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ และในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการโอเพ่นซอร์ส (BOSS) สังกัดสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์เสียก่อนว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สนั้นมีค่าใช้งานแต่ต่ำกว่าเนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าไลเซ่นส์ทุกๆ ไลเซ่นส์ ในทุกๆ ปี จากนั้นเอสเอ็มอีจะต้องถามตัวเองก่อนว่าตนเองนั้นต้องการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรเป็นหลัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไล่เซ่นส์ หรือเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจ

“ที่ผ่านมาผู้ใช้เองยังไม่มีความรู้มากนักจึงนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้เพื่อทดแทนซอฟต์แวร์เดิม อาทิ เอา Open Office มาแทน Microsoft Office เลยทันทีโดยมิได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในองค์กรและไม่ได้วางแผนการลงทุนในระบบไอทีในระยะยาวไว้ ทำให้พอใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปได้สักระยะหนึ่งจึงเกิดปัญหา”

ดนุพลกล่าวว่า เริ่มต้นเอสเอ็มอีจะต้องตรวจสอบความต้องการขององค์กรว่าต้องการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปใช้ในกระบวนการทำงานใด และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจน

ปัจจุบันซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับระบบงานขององค์กรธุรกิจในทุกระดับของการทำงาน ได้แก่ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อาทิ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ระดับของการสื่อสาร (Communication) อาทิ ระบบ Collaboration ระบบ IP Phone และระบบ Voice over IP; และระดับระบบงานด้านธุรกิจ (Business Applications) อาทิ ระบบอีอาร์พี (ERP: Enterprise Resource Planning) ระบบ Document Management และระบบบริหารจัดการข้อมูล Content Management System (CMS)

“ปัจจุบันระบบงานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่กำลังได้รับความนิยมมากได้แก่ ระบบอีอาร์พี ระบบ Open Office และระบบบริหารจัดการข้อมูล (CMS: Content Management System) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นระบบซอฟต์แวร์ระดับระบบงานด้านธุรกิจ” ดนุพลกล่าว

โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์”: ลดค่าใช้จ่าย ….ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์:

ขณะที่สัมพันธ์ ระรื่นรมย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพนซอร์ส ดิเวลอปเมนต์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ที่มีประสบการณ์ในการดูแลโครงการระดับประเทศอย่างลินุกซ์ทะเลและออฟฟิศทะเล  และเป็นผู้พัฒนาซีดีรวมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สบนวินโดวส์ที่ชื่อว่า “จันทรา” (Chantra) ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า (SIPA: Software Industry Promotion Agency) กล่าวว่า การใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในองค์กรขนาดใหญ่กับในองค์กรขนาดกลางและเล็กนั้นจะมีความแตกต่างกัน องค์กรขนาดใหญ่จะมีแรงจูงใจในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อลดต้นทุนค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ ในขณะที่องค์กรขนาดกลางและเล็กจะมีแรงจูงใจในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อลดการละเมิดซอฟต์แวร์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่มีการพัฒนาแบบเปิด และไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำไปใช้งาน จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์กับองค์กร ไม่ว่าจะเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์และอัพเกรดระบบ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาความยุ่งยากของค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์และความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ลดปัญหาในเรื่องไวรัสและช่องโหว่ของโปรแกรม และลดปัญหาความขึ้นกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพียงรายเดียวที่มีอำนาจในการตัดสิน ใจอนาคตการใช้งานไอทีขององค์กร

“ต้นทุนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส จะอยู่เพียงแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนซอฟต์แวร์ทั้งหมดหากใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ในขนาดของระบบและจำนวนผู้ใช้งานที่เท่ากัน โดยต้นทุนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะเป็นต้นทุนค่าพัฒนา ปรับปรุง ติดตั้ง และดูแลระบบ รวมถึงการฝึกอบรมการใช้งาน” สัมพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานทั้งองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางและเล็กได้แก่ โอเพ่นออฟฟิศ (OpenOffice.org) ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์ออฟฟิศที่มีความสามารถและการใช้งานใกล้เคียงกับ Microsoft Office ทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์มทั้ง Windows, Linux, Mac OS X ฯลฯ OpenOffice.org ประกอบด้วยโปรแกรมคือ OpenOffice.org Writer (แทน Word), OpenOffice.org Calc (แทน Excel), OpenOffice.org Impress (แทน PowerPoint) และ OpenOffice.org Base (แทน Access) จึงสามารถใช้ทดแทน Microsoft Office ได้ในงานส่วนใหญ่

“เมื่อองค์กรสนใจที่จะเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org เราสามารถช่วยให้การดำเนินการง่ายขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดสินใจ วางแผนกระบวนการ ออกแบบนโยบาย ทำโครงการนำร่อง อบรมพนักงาน และ support ทำให้การเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org เป็นเรื่องง่ายสำหรับองค์กรทุกขนาด” สัมพันธ์กล่าว

บ.ซอฟต์แวร์รวมตัวตั้งชมรมให้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส:

ปัจจุบัน มีบริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สอยู่เป็นจำนวนมาก และบริษทเหล่านี้เริ่มรวมตัวกันเพื่อนำเสนอบริการระบบงานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับลูกค้า ดนุพล กล่าวว่า การรวมตัวกันของบริษัทซอฟต์แวร์ด้านโอเพ่นซอร์สในนาม ชมรมผู้ประกอบการโอเพ่นซอร์ส (BOSS) สังกัดสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (http://www.oss-business.com) นี้เพื่อเป็นแหล่งรวมของผู้ให้บริการและเพื่อให้ลูกค้าสามารถไว้วางใจว่าจะได้รับการบริการด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่มีคุณภาพในจำนวนที่มากพอที่จะให้บริการได้ ซึ่งภายในชมรมฯ จะประกอบด้วยบริษัทซอฟต์แวร์ที่พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส 10 ราย ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในแต่ละด้าน ได้แก่ ลีนุกซ์ ระบบอีอาร์พี Open Office และ ระบบ CMS เป็นต้น

“เราได้ให้บริการพัฒนา ติดตั้ง ดูแลระบบ และฝึกอบรมการใช้งานให้กับลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก การให้บริการของบริษัทในชมรมฯ นั้นจะเน้นการร่วมกันให้บริการเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยในแต่ละทีมที่ให้บริการลูกค้าจะประกอบด้วยบริษัทที่ความเชี่ยวชาญในซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สคนละด้านกันแต่ร่วมกันให้บริการ ภายในสิ้นปีนี้ทางชมรมฯตั้งเป้าว่าเราจะเพิ่มจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์สมาชิกอีก 10 ราย ทั้งนี้เพื่อขยายศักยภาพในการให้บริการลูกค้าที่นับวันจะมีความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก” ดนุพลกว่า

พันธกิจของชมรมฯ อายุปีเศษแห่งนี้ คือการมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ให้สามารถมีทางเลือกในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพของการทำงานที่ดีขึ้น ในขณะที่มีผู้ให้บริการที่มีความรู้ในหลายด้านและ เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ชมรมฯ ยังตั้งเป้าว่าจะให้การฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดการใช้งานระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในองค์กร ฉะนั้น หากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กรายใดมีความสนใจอยากหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ก็สามารถมาเริ่มต้นที่ชมรมฯ นี้ได้ทันที

ดังนั้น หากจะใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้เต็มที่ เอสเอ็มอีจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สนั้น เป็นซอฟต์แวร์ที่ “ฟรี” จริงแต่เฉพาะ ค่าลิขสิทธิ์ หรือค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ (Software License) แต่มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบให้ตรงตามความต้องการในการใช้งานขององค์กรนั้นๆ (Customization) การติดตั้งและดูแลระบบ (Implementation and Maintenance) ให้กับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ว่าจะใช้ระบบอะไรบ้าง อย่างไร

View :3347
Categories: Software Tags: , ,

เก็บตกงานจิบน้ำชา 1/2553 ของชมรมผู้สื่อข่าวสารเทคโนโลยีสารเทศ (ITPC; Information Technology Press Club) ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการ ใช้ Social Media”

May 18th, 2010 No comments

กระแสการเมืองที่ร้อนแรงผนวกกับการเข้ามาใช้สื่อสังคมอย่าง Social Media โดยเฉพาะทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างเข้มข้นของสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งนักข่าวหนังสือพิมพ์ นักข่าววิทยุ และนักข่าวโทรทัศน์ในการรายงายข่าวอย่างฉับไวจากพื้นที่ และแม้ว่าทวิตเตอร์จะทำให้ผู้ใช้เครือข่ายสังคมสามารถบริโภคข้อมูลข่าวสารที่สดทันต่อเหตุการณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อสารมวลชนประเภทอื่น แต่อีกด้านของความเร็วที่ทวิตเตอร์มีให้นั้นก่อให้เกิดช่องว่างของโอกาสผิดพลาดของการสื่อสาร ทั้งความผิดพลาดเรื่องข้อมูลที่เร็วเกินไปจนขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อความที่สั้นที่ขาดบริบทจนบางครั้งสื่อผิดความหมาย การส่งต่อข้อความที่สามารถส่งต่อกันไปอย่างรวดเร็วมากเหมือนการแพร่ของไวรัส (Viral Effect) นำมาซึ่งปัญหาในกรณีที่ข้อมูลที่ถูกสื่อสารต่อๆ กันไป เป็นข้อมูลเท็จ เป็นข่าวปล่อย ข่าวลือ ที่ยังการขาดตรวจสอบ ดังนั้น ในฐานสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าวสารจะต้องวางบทบาทและกำหนดกรอบกติกาในการใช้สื่อใหม่นี้เพื่อการรายงานข่าวอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุดและเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด…

งานจิบน้ำชา 1/2553 ของชมรมผู้สื่อข่าวสารเทคโนโลยีสารเทศ (ITPC; Information Technology Press Club) ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media”

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่มาของกิจกรรมเสวนา “จิบน้ำชา” ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media” ของชมรมผู้สื่อข่าวสายไอที ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) และอาจารย์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย ร่วมแสดงมุมมองต่อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media”

“Social Media” ไม่ใช่แค่ทวิตเตอร์:

ประเดิมเวทีด้วยการให้คำนิยามของ Social Media ให้ตรงกันเสียก่อน ซึ่งดร.มานะ บอกว่า Social Media ที่เข้ามามีบทบาทในฐานะสื่อใหม่ แท้จริงแล้ว Social Media คือสื่อดิจิตอลที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคมที่ใช้ในการสื่อสารเหมือนสื่อประเภทอื่นๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แต่ทว่า Social Media สามารถมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับผู้รับสารได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและแชร์ข้อมูลข่าวสารทั้งข้อความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวระหว่างกันภายในเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนไทย คือ จะมีลักษณะของการผสมผสานของสื่อ (Convergent Media) มากขึ้นเรื่อยๆ

Social Media จะแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ตรงที่มันมีลักษณะของการสื่อสาร 2 ทาง (2-way communication) ซึ่ง Social Media มีมากกว่าแค่ Facebook และ Twitter ทั้งนี้ Social Media มีตั้งแต่ Blog, Micro-Blog อาทิ ทวิตเตอร์ Social Networking อาทิ Facebook และ Hi5,Online VDO อาทิ Youtube, Photo Sharing, Wiki อาทิ Wikipedia, Bookmarking และ Cloud Sourcing แม้แต่เว็บ Pantip.com เองก็ถือเป็น Social Media

“ทั้งนี้ลักษณะเด่นและเสน่ห์ของ Social Media คือ “การมีส่วนร่วม” เพราะผู้เสพสื่อหรือผู้รับสารสามารถกลายเป็นผู้ส่งสารได้ในเวลาเดียวกัน” ดร.มานะ

ในขณะที่พี่อดิศักดิ์ มองว่า Social Media คือ Web2.0 และเครือเนชั่นเองก็มองว่าสื่อใหม่นี้จะเข้ามาคุกคามอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่รอช้าที่กระโจนเข้าใส่ก่อนตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้วด้วยการเปิดเว็บบล็อก wwww.oknation.net ขึ้นมาเพื่อเป็นสังคมของนักข่าวพลเมือง (Citizen Reporter) โดยกำหนดให้คนบนเว็บบล็อกแห่งนี้ต้องมีตัวตนจริง เพื่อความน่าเชื่อถือ ปัจจุบัน wwww.oknation.net มีสมาชิกราว 60,000 คน และจะมีคนเข้ามาเขียนเรื่องทุกๆ นาที เฉลี่ย 1.5 นาทีต่อ 1 เรื่อง และมีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 100,000 รายต่อวัน (Unique IP)

จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมา เครือเนชั่นเริ่มเข้ามาจับทวิตเตอร์อย่างเอาจริงเอาจัง โดยกำหนดเป็นนโยบายของบริษัทให้นักข่าวและผู้มีส่วนร่วมในการกระบวนการผลิตข่าวราว 300 คน ต้องใช้ทวิตเตอร์ในการทำข่าว และกำหนดเป็นเป็นหนึ่งในมาตรการการประเมินผลงานขององค์กรด้วย และเพื่อเชื่อมโยงระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ไปด้วยกัน เพราะจาก 300 คนที่มี Followers รวมกันทั้งสิ้นราว 160,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะซ้ำกันอยู่ราวครั้งหนึ่ง

“นโยบายของเครือเนชั่นมีนโยบาย ให้นักข่าวใช้ทวิตเตอร์เพื่อแสดงตัวตนของความเป็นนักข่าวในภาคสนาม ใช้เพื่อสร้าง Personal Brand ของตัวนักข่าวเอง เนื่องจากมองว่าความน่าเชื่อถือของข่าวขึ้นอยู่กับนักข่าวภาคสนาม ดังนั้น เนชั่นจึงให้นักข่าวมีบทบาทในการสื่อสารกับผู้รับสารของแต่ละคนเองได้โดยตรงผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันใน Top20 ของทวิตเตอร์ที่ถูก Mention มากที่สุด 10 รายเป็นคนของเนชั่น” พี่อดิศักดิ์

นักข่าว ควร หรือ ไม่ควร แยก Twitter Account:

มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า “นักข่าว” ที่ใช้ทวิตเตอร์นั้น ควรหรือไม่ที่จะต้องมีชื่อผู้ใช้งาน (Twitter Account) แยกจากกันระหว่างบทบาทของนักข่าวและบทบาทของบุคคลธรรมดา ในประเด็นนี้มีการมองต่างมุมระหว่างพี่อดิศักดิ์ จากเนชั่น และพี่ประสงค์ นายกสมาคมนักข่าวฯ โดยพี่อดิศักดิ์มองว่า เนชั่นไม่มองว่านักข่าวจำเป็นที่จะต้องแยก Twitter Account ทั้งนี้เพราะเนชั่นมองว่านักข่าวสามารถใช้ทวิตเตอร์รายงานข่าวได้และสามรถใช้ทวิตเตอร์เดียวกันนี้แสดงความคิดเห็นได้ในฐานะ “ความคิดเห็นส่วนตัว”

“เนชั่นต้องการให้ตัวตนของนักข่าวบนโลกทวิตเตอร์นั้นเป็นคนธรรมดาที่ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เวลางาน นักข่าวประจำที่ราชประสงค์ก็รายงานข่าวเข้ามา แต่นอกเวลางาน คุณจะไปกินข้าว ช้อปปิ้ง แล้วทวีตก็เป็นเรื่องส่วนตัว ผมว่าคนผ่านเข้ารับรู้ได้ว่าอันไหนงาน อันไหนส่วนตัว และไม่ได้เห็นว่าการใช้ Twitter Account เดียวแล้วจะทำให้การรายงานข่าวของนักข่าวขาดความน่าเชื่อถือ” พี่อดิศักดิ์

เนชั่นจึงกำหนดแนวทางการใช้ Social Media ขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบในการทำงานให้นักข่าวในเครือซึ่งกรอบนี้อยู่ระหว่างการร่างยังไม่แล้วเสร็จ แต่สาระสำคัญของกรอบนี้คือ นักข่าวจะต้องยึดถือเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความเป็นธรรมในการรายงานข่าว เป็นหัวใจสำคัญในการใช้ Social Media เช่นเดียวกับสื่อทุกประเภทในเครือเนชั่น สำหรับการใช้ทวิตเตอร์ซึ่งมีความรวดเร็วในการสื่อสารมากนั้นนักข่าวจะต้องมีความรอบครอบต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่จะสื่อสารอกไปนั้นเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นส่วนตัวทำได้แต่ด้วยถ้อยคำที่ไม่ส่อเสียด หยาบคาย และข้อมูลที่จะสื่อสารอกไปต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักปกติของการทำหน้าที่สื่อมวลชน

แต่พี่ประสงค์มองต่าง พี่ประสงค์บอกว่า โดยส่วนตัวแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์แต่เห็นว่านักข่าวควรแยกบทบาทเรื่องงานแลเรื่องส่วนตัวบนโลกทวิตเตอร์ด้วยการแยก Twitter Account เหมือนดังเช่นสำนักข่าวรอยเตอร์ทำ ทั้งนี้เพื่อความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในการรายงายข่าว ซึ่งจะทำให้นักข่าวสามรถทำงานได้ง่ายขึ้น

“เวลางานก็ใช้ Twitter Account ของสำนักข่าว ข้อความทีทวีตไปก็เป็น ข้อเท็จจริง ไม่ควรทวีตความห็นส่วนตัว หรือเรื่องส่วนตัว นอกเวลางาน หรือหากอยากจะทวีแสดงความคิดเห็นก็ควรทำในอีก Twitter Account หนึ่ง และควรเป็น Twitter Account ที่ระบุตัวตนที่แท้จริงด้วย เพื่อความรับผิดชอบต้อข้อความที่สื่อสารออกไป” พี่ประสงค์

โดยพี่ประสงค์มองว่า คนรุ่นใหม่อาจจะขาดความรับผิดชอบต่อข้อความที่ตนองสื่อสาร โดยมักนิยมจะใช้นามแฝงเวลาอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่เฉพาะเพียงแต่ทวิตเตอร์เท่านั้น ซึ่งการไม่มีตัวตนทำให้คนเหล่านี้สามารถที่จะสื่อสารโดยขาดความรับผิดชอบต่อข้อความของตนเอง ทำให้สังคมเกิดปัญหา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจริยธรรมของผู้ใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งนับวันจะมีน้อยลงทุกที ด้วยค่านิยมสมัยใหม่ที่มักใช้นามแฝงเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบต่อข้อความที่สื่อสารออกไป ดังนั้น นักข่าว ในฐานะสื่อสารมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความที่สื่อออกไป โดยจะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน และต้องแยกบทบาทเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกันผ่าน่บนโลกออนไลน์ ไม่เฉพาะเพ Twitter Account คนละชื่อกัน

ความรับผิดชอบอยู่ที่ใคร นักข่าว หรือ องค์กรข่าว”:

ต่อประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากว่า นักข่าว” หรือ “องค์กรข่าว” ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความที่ได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง Social Media ก็มีการมองต่างกันเล็กน้อย โดยพี่ประสงค์มองว่า นักข่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความที่ตนเองทวีตไปโดยตรง เพราะถือว่าการรายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์นั้นมิได้ผ่านกระบวนการทำข่าวแบบดั้งเดิมที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากกองบรรณาธิการ ทำให้แทนที่จะมีความรับผิดชอบร่วมของกองบรรณาธิการต่อข้อความหรือข่าวที่นำเสนอออกไป ตัวนักข่าวเองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความข่าวนั้นๆ

ในขณะที่พี่อดิศักดิ์ มองต่างโดยเห็นว่า เนื่องจากเนชั่นได้กำหนดเป็นนโยบายชัดเจนว่าให้นักข่าวภาคสนามสามารถรายงานข่าวสดตรงจากพื้นที่ผ่านช่องทางทวิตเตอร์ได้นั้น ดังนั้นหากเกิดกรณีข้อความหรือข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อน ตัวนักข่าวจะมิใช่ผู้รับผิดชอบต่อข้อความนั้นเพียงผู้เดียว แต่องค์กรจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่

กรอบจริยธรรมการใช้ Social Media ของสื่อมวลชน:

สำหรับแนวทางของกรอบจริยธรรมของการใช้ Social Media ของสื่อมวลชนนั้น วงเสวนามีแนวคิดไปในทางเดียวกันนั่นคือ สื่อมวลชนจะต้องยึดหลักจริยธรรมสื่อวิชาชีพในการใช้สื่อใหม่อย่าง Social Media ทุกประการเพียงแต่อาจจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาในลักษณะของข้อควรระวัง เพราะ Social Media มีความต่างจากสื่อดั้งเดิม ในเรื่องของความเร็ว การสื่อสารสองทาง และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ซึ่งเป็นข้อความสั้นเพียง 140 ตัวอักษร มีโอกาสมากที่จะกลายเป็นการสื่อสารที่ผิดความหมาย หรือถูกตีความผิดไปจากความหมายที่ต้องการจะสื่อ หรือถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะข้อความเพียง140 ตัวอักษรของทวิตเตอร์นั้นไม่เพียงพอต่อการใส่บริบทของเรื่องราว ซึ่งอาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย แม้ว่าพี่อดิศักดิ์จะบอกว่า ผู้ที่จะทวีตข้อความยาวๆ นั้นสามารถทำได้ผ่านการทวีตอย่างต่อเนื่องกัน อย่างคุณ แคน สารริกา (@can_nw) เป็นต้น

ด้านดร.มานะเสริมว่า เนื่องจาก Social Media เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยและสำหรับวงการสื่อมวลชนไทย ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับปรุงไปด้วยกัน แต่ก็มีข้อควรระวังของประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงอยู่ 4 ประเด็นนั่น คือ ประเด็นแรก เรื่องความรวดเร็วกับความถูกต้อง นักข่าวจะต้องสมดุลสองสิ่งนี้อย่างไร เนื่องจากทุนคนแข่งกันเร็ว แต่บางครั้งความรวดเร็วของข้อมูลที่สื่ออกไปขาดการตรวจสอบ ซึ่งธรรมชาติจากแตกต่างจากสื่อเก่าที่ต้องผ่านการตรวจสอบของกระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการแต่ช้า

“การสื่อข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ที่มีความเร็วในระดับทันทีทันใดและแพร่กระจายรวดเร็วมากยิ่งต้องระวัง ยิ่งคุณเป็นนักข่าว ข้อมูลที่คุณสื่ออกไปคนที่เขาตามคุณอยู่เขาจะเชื่อคุณโดยทันทีว่าจริง ซึ่งตรงนี้อันตราย แต่หากข้อมูลมันไม่จริง จะมีคนตรวจสอบคุณทันที และความน่าเชื่อถือของคุณก็จะลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักข่าวที่ใช้ทวิตเตอร์จะต้องเรียนรู้และปรับปรุงต่อไป แต่ที่สำคัญ เมื่อคุณสื่อข้อความที่ผิดออกไป คุณอย่าช้าที่จะขอโทษ ซึ่งหากเป็นสื่อเก่าหากมีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนสื่อมักจะทำเงียบๆ แล้วปล่อยมันเลยหายไป แต่กับสื่อใหม่คุณจะทำแบบนี้ไม่ได้”

ประเด็นต่อมาคือ เรื่องของความเป็นส่วนตัวกับความเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสำหรับคนทำข่าวและคนใช้ Social Media ในเมืองไทย เพราะหลายคนมักคิดว่า Social Media คือพื้นที่ส่วนตัว แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ดังนั้น นักข่าวและผู้ใช้งาน Social Media จะต้องเรียนรู้ธรรมชาติข้อนี้ของสื่อใหม่นี้ โดยเฉพาะนักข่าว เนื่องจากคนที่เขามาตามคุณเขามาตามคุณเพราะคุณเป็นนักข่าว ยิ่งหากคุณมีชื่อ Twitter Account ต่อท้ายด้วยชื่อสำนักข่าวของคุณด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังให้มาก เมื่อนักข่าวเรียนรู้ว่าพื้นที่บน Social Media เป็นพื้นที่สาธารณะคุณก็จะสามารถใช้มันอย่างเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ การใช้ข้อความสั้นอย่างทวิตเตอร์เพื่อแสดงทัศนะ หรือนำเสนอเรื่องราวที่ต้องอาศัยบริบทนั้นสามารถทำได้ผ่านการใช้สื่ออื่นช่วย อาทิ กรณีของคุณสุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) ที่มักจะใช้ทวิตเตอร์รายงานข้อเท็จจริง แต่หากมีความคิดเห็นเพิ่มเติม คุณสุทธิชัยจะใช้บล็อกส่วนตัวเป็นช่องทางการนำเสนอโดยใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการบอกว่าหากให้อยากอ่านความเห็น บทวิพากษ์ วิจารณ์ สามารถตามไปอ่านได้ที่บล็อก

ประเด็นต่อมา คือ เรื่องของ “จุดยืนของนักข่าว กับจุดยืนขององค์กร” ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสื่อสาธารณะ ดังนั้น นักข่าวจะต้องแยกบทบาทเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกันให้ชัดเจน เพราะหากไม่ชัดเจนแล้วจะเกิดปัญหา อาทิ การแสดงความคิดเห็น หรือารมณ์ส่วนตัวต่อข่าวการเมืองผ่าน Social Media ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอาจก่อให้เกิดประเด็นปัญหาตามมาเรื่องความเข้าใจผิดของผู้รับสารว่าความคิดเห็นที่คุณแสดงออกมานั้น เป็นจุดยืนของนักข่าวหรือเป็นจุดยืนขององค์กรข่าว ดังนั้น นักข่าวจะต้องระวังในจุดนี้ด้วย

และประการสุดท้าย คือ ประเด็นเรื่องการแบ่งปันข้อมูลกับการละเมิดข้อมูล เมื่อ Social Media เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถส่งต่อข้อความ ทั้งข้อความตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวได้อย่าง่ายดายและรวดเร็ว สิ่งที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหาตามมาก็คือ “สิทธิ” ความเป็นเจ้าของในข้อมูลนั้น และการละเมิดสิทธิด้วยการส่งต่อข้อมูลหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เกิดเป็นกรณีความกันขึ้นแต่เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่นักข่าวและผู้ใช้ Social Media ทุกคนจะต้องเรียนรู้และระมัดระวัง

สุดท้ายวงเสวนาก็จบลงตรงความเห็นร่วมกันว่านักข่าวที่ต้องใช้สื่อใหม่อย่าง Social Media นี้จะต้องระมัดระวังเฉกเช่นเดียวกับการใช้สื่อเก่า และควรเอาแนวทางปฏิบัติ กรอบการทำงาน และจริยธรรมที่นักข่าวมีและใช้อยู่กับการทำงานบนสื่อดั้งเดิม มาปรับใช้กับสื่อใหม่นี้โดยอาศัยการเรียนรู้ลองผิดลองถูกอย่างระมัดระวัง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อจะให้ความสำคัญกับ Social Media ผ่านการทำกรอบการทำงาน (เพิ่มเติมจากกรอบปฏิบัติเดิมที่มีอยู่) และทางสมาคมนักข่าวฯ เองก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะดำเนินการผ่านทางชมรมผู้สื่อข่าวสายไอทีต่อไปในอนาคต…

View :2882

Top 10 SLOWEST Loading Websites Of The Fortune 500

May 13th, 2010 No comments

Top 10 SLOWEST Loading Websites Of The Fortune 500: http://huffingtonpost.com/2010/05/11/worst-website-load-times_n_571889.html

View :1920
Categories: Internet Tags:

คลาวด์ คอมพิวติ้ง: พลิกรูปแบบกบริการซอฟต์แวร์กับโอกาสของ SME ไทย

May 10th, 2010 No comments

คงไม่ปฏิเสธว่าในบรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจอย่างเต็มที่มากนัก ทั้งนี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ ข้อจำกัดเรื่องเงินทุน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาหากบริษัทใดต้องการใช้ระบบไอทีนั้นจะต้องลงทุนซื้อระบบมาติดตั้งเองทั้งหมด ข้อจำกัดนี้กำลงถูกทำลายลงโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)

ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งนั้นเกิดจากแนวคิดของการนำระบบซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นต่างๆ ไว้ที่เครื่องแม่ข่ายกลาง จากนั้นก็อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถล็อกอินเข้ามาในระบบเพื่อใช้งานระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จากที่บริษัทของตน ซึ่งคลาวด์ คอมพิวติ้ง ยิ่งเป็นที่สนใจอย่างมากในแวดวงธุรกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา เพราะคลาวด์ คอมพิวติ้ง คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจที่ต้องการใช้งานระบบไอทีได้มีทางเลือกในการเช่าใช้ระบบแทนที่จะต้องลงทุนซื้อระบบ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ

นอกจากนี้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ยังช่วยให้ผู้ประกอบการที่แม้จะไม่เคยมีระบบไอทีใช้มาก่อนเลยก็สามารถเริ่มต้นใช้งานระบบไอทีได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมี มีเพียงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้าไปสู่ระบบแอพพลิเคชั่นของตนที่ฝากไว้บนคลาวด์ คอมพิวติ้งเท่านั้น

และหลังจากเริ่มต้นใช้งานแล้ว คลาวด์ คอมพิวติ้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจไปตามปกติ โดยมีระบบไอทีเป็นตัวช่วยหลักโดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเท่านั้น แต่ผู้ใช้ยังไม่ต้องกังวลถึงภาระค่าดูแลระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ และการอัพเกรดระบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องเหล่านี้จะถูกยกให้เป็นภาระของผู้ให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing Services) ซึ่งรายละเอียดของบริการจะมีความแตกต่างกันขึ้นกับความต้องการใช้งานผู้ใช้ว่าต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ระบบใดบ้าง

ทั้งนี้ ด้วยบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เป็นการให้บริการแบบเช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเลือกใช้บริการเฉพาะระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับการประกอบธุรกิจของตน เป็นรายประเภทและรายโมดุลของซอฟต์แวร์ไป ค่าใช้บริการก็จะแปรผันตามประเภทและปริมาณของระบบซอฟต์แวร์ที่เช่าใช้ คือใช้เท่าไหนจ่ายเท่านั้น (Pay per Use) โดยผู้ใช้จะต้องชำระค่าใช้บริการซอฟต์แวร์แบบรายเดือน หรือรายปี

เมื่อลักษณะการให้บริการใช้ระบบซอฟต์แวร์บนแพลตฟอร์มของคลาวด์ คอมพิวติ้งเป็นดังนี้ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดควบคู่กันกับ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ก็คือรูปแบบบริการซอฟต์แวร์แบบใหม่ที่ไม่ใช่การขายขาด แต่เป็นการให้เช่าใช้ซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกกันว่า Software as a Service (SaaS) ซึ่งตามโมเดลนี้ซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจาก “สินค้า” ที่ต้องถูกซื้อ เป็น “บริการ” ที่ต้องจ่ายค่าใช้บริการตามที่ใช้งานจริง SaaS เป็นรูปแบบธุรกิจการให้บริการซอฟต์แวร์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งทั้ง SaaS และคลาวด์ คอมพิวติ้ง นั้นส่งผลดีต่อทั้งผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นโมดูลๆ (Module By Module) เพื่อให้บริการลูกค้าเฉพาะบางโมดูลได้ โดยที่ไม่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในขณะที่ผู้ใช้บริการก็สามารถเลือกใช้เฉพาะซอฟต์แวร์โมดูลที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ทั้งระบบ ที่สำคัญลูกค้าไม่ต้อง “ซื้อ” แต่เปลี่ยนมาจ่าย “ค่าเช่าใช้” ซอฟต์แวร์โมดูลที่ตนเองใช้งานเท่านั้น

ปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จำนวนมากเริ่มให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ให้กับลูกค้าในประเทศไทย อาทิ ออราเคิล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) และซันไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมากหันมาให้บริการระบบซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าผ่านรูปแบบ SaaS มากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ธุรกิจไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่จะสามารถเข้าถึงระบบไอทีขนาดใหญ่และระบบซอฟต์แวร์ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานได้ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง เชื่อแน่ว่าในปีนี้จะมีการขยายตัวของบริการคลาวด์ คอมพิวติ้งและ SaaS อย่างมาก และอานิสงค์ของการเติบโตดังกล่าวจะตกเป็นของเอสเอ็มอีไทยนั่นเอง…

View :2794

iPad … ใครว่าฆ่าหนังสือพิมพ์….?

May 7th, 2010 1 comment

หากจะกล่าวว่าหลงใหล iPad ตั้งแต่แรกเห็นตอนสตีฟ จ๊อบถือและโชว์ในดูผ่านจอทีวีในงานเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็คงจะไม่เกินจริงเกินไปนัก เพราะโดยส่วนตัวแล้วระยะหลังมานี้จะชอบการอ่านบนจอ LCD มากขึ้น เนื่องเพราะความงกกลัวเปลืองหมึกต้องมานั่งพริน กอปรกับในปัจจุบันมีเรื่องราวข่าวสารมากมายรอการอ่านอย่างรวดเร็วมากต่อวัน เพราะฉะนั้นการปรับนิสัยให้คุ้นชินกับการอ่านบนวัสดุสะท้อนแสงแทนการอ่านบนกระดาษจะช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นเยอะ บวกกับระยะหลังมานี้ต้องออนไลน์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และ iPhone มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันด้วยแล้ว ยิ่งต้องการอุปกรณ์ที่คิดว่าใช่และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองค่อนข้างมาก

จนวันหนึ่งได้มีโอกาสมาสัมผัสกับเจ้า iPad ด้วยความบังเอิญผสมตั้งใจ เลยได้มีโอกาสลองใช้ ก็พบว่าความรู้สึกแรกที่มีต่อเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้มิได้เกินจริง หรือ มิใช่เรื่องของกระแสนิยมแต่อย่างใด แต่ชอบเพราะมัน “ตรง” ใจ “ตรง” ความต้องการอย่างมากนั่นเอง

ด้วยความเป็นคนข่าวจึงชอบติดตามข่าวสารจากสื่อทั้งไทยและเทศโดยเฉพาะข่าวเทคโนโลยี แต่ช่วงนี้เนื่องจากการข่าวการเมืองในประเทศร้อนแรงเหลือเกินจึงอดไม่ได้ที่จะติดตามหาข่าวสารการเมืองไทยในสายตาสื่อนอกเพื่อดูว่าเขามองและคิดกับเราอย่างไร และ iPad ให้การท่องเว็บเป็นไปอย่างสนุกสนานและสะดวกสบายมาก แต่ขอบอกก่อนนะว่า เป็นการท่องเว็บผ่าน WiFi อยู่ที่บ้าน ด้วยรูปทรงที่เป็นเหมือนกระดานชนวน ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่นใด (ทั้งเมาส์ คีย์บอร์ด หรือปากกา) นอกจากปลายนิ้วของเราเอง ทำให้การใช้งาน iPad เป็นไปด้วยความสะดวก แต่เริ่มตั้งค่า WiFi จากนั้นทุกครั้งที่เปิดสัญญาญเราท์เตอร์ที่บ้าน เจ้า iPad ก็จะออนไลน์เองอัตโนมัติ สะดวก สบายอย่างมาก

จอใหญ่…สัมผัสใหม่…ประสบการณ์ใหม่….เร้าใจกว่า!!!

หน้าจอใหญ่ถึง 9.7 นิ้ว ทำให้การอ่านหรือการมองจอเป็นไปอย่างสบายตามากกว่าบน iPhone มาก (เห็นว่า iPad เท่ากับ iPhone 4 เครื่องมาเรียงต่อกัน) ดังนั้นประสบการณ์การมองจอใหญ่ๆ แล้วมามองจอเล็กนั้น รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด อีกอย่าง เนื่องจากจอ iPad นั้นเป็นจอสี LCD ทำให้จอมันเคลียร์ใสกิ๊ก แลดูสวยดี (แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านบนจอ LCD) แต่ข้อเสียประการหนนึ่งของจอแบบนี้คือ ไม่สามารถนำไปใช้งานในที่ที่มีแสงแดดที่ไม่ต้องจ้ามาก (แค่นั่งอยู่ใต้ชายคา) จอก็จะสะท้อนแสงอย่างมาก จนจอ LCD กลายเป็นกระจกส่องหน้าเราดีๆ นี่เอง คือมองเห็นข้อความ รูปภาพที่อยู่ในจอ แต่จะมีแสงสะท้อนมาก ทำให้ต้องแยกประสาทตาอย่างมาก ทำให้อ่านนานแล้วจะมึนศีรษะได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในที่โล่งแจ้ง

ประสบการณ์การท่องเว็บผ่าน iPad อาจจะไม่ราบรื่น สนุกสนานได้อรรถรสเท่าโน๊ตบุ๊คก็ตรงที่ iPad ไม่มี Flash ทำให้เวลาเข้าเว็บที่มี Flash แล้วเหมือนเว็บมันเสีย จึงพลอยทำให้คนเข้าเสียอารมณ์ไปด้วย แต่เว็บหนึ่งที่เข้ก่อนเลยก็คือ Google โอเคไม่มีปัญหา (เสียดkยอยู่อย่างเดียวคือไม่สามารถพิมพ์คำค้นภาษาไทยได้นั่นเอง)

แต่ทั้งนี้นั้น การท่องเว็บด้วย Safari บนหน้าจอ LCD ขนาด 9.7 นิ้วก็เป็นอีกประสบการณ์ที่น่าประทับใจ รู้สึกแปลกตาเมื่อมองเว็บของหนังสือพิมพ์ The Nation บน iPad

ไม่ว่าจะมองในแนวตั้งหรือตะแคงจอมองในแนวนอน ก็จะเห็นว่าเว็บธรรมดาที่เห็นจนคุ้นตาบนจอคอมพิวเตอร์ ก็ดูสวยมากขึ้นเมื่ออยู่บน iPad

ท่องโลกแอพฯ ที่ชอบ…(แอพฯข่าวนั่นเอง) บน iPad:

อย่างไรก็ดี เมื่อใช้ iPad แล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากจะลองมากคือ แอพพลิเคชั่นที่มีมากมายมหาศาลบน iTune ดังนั้นแทนที่จะนั่งท่องเว็บ ผ่าน Safari ก็หันไปลองแอพพลิเคชั่นบน iPad แทน โดยจะเน้นที่แอพพลิเคชั่นของข่าวเป็นหลัก ทั้งของสำนักข่าว ของหนังสือพิมพ์เอง และของผู้รวบรวมและให้บริการข่าว (News Aggregators) ก็พบว่า จอใหญ่กว่า ทำให้การนำเสนอของผู้ให้บริการข่าวนั้นแตกต่างออกจากเดิม และเท่าที่ควานหาแออพลิเคชั่นจากทุกมุมของ iTune for iPad ก็พบว่าแต่ละค่ายก็มีมุมมองในการนำเสนอ “รูปแบบของการนำเสนอข่าว” ที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่จะไปดูในแต่ละราย ที่แน่ๆ รูปแบบที่นำเสนอบน iPad และบน iPhone นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ….

เิริ่มที่ตัวสำนักข่าวก่อนเลย … จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีสำนักข่าวหลายรายเริ่มมีบริการข่าวบน iPad กันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีบริการข่าวบน iPhone มาก่อนทั้งนั้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ารูปแบบการนำเสนอเนื้อหาของสำนักข่าวเดียวกันมีความแตกต่างกันมากเมื่ออยู่บน iPhone และ iPad

เริ่มกันที่ USA Today ที่มีบริการทั้งบน iPhone และบน iPad แต่จะเห็นได้ชัดเจนวิธีการนำเสนอนั้นต่างกันสิ้นเชิง จอใหญ่ก็ได้เปรียบอยู่หลายขุมจริงๆ

  • USA Today เวอร์ชั่น iPad

USA Today on iPadUSA Today เวอร์ชั่น iPad

  • USA Today เวอร์ชั่น iPhone
  • USA Today for iPhone (Display on iPad)

  • Reuters เวอร์ชั่น iPad

Reuters on iPad

  • Reuters เวอร์ชั่น iPhone
  • Reuters for iPhone (Display on iPad)

    จะเห็นความแตกต่างของการนำเสนอเนื้อหาบน iPad และ บน iPhone ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าพอมาอยู่บนจอขนาดใหญ่แล้ว ทำให้หน้าตาของนหังสือพิมพ์ออนไลน์น่าอ่านมากขึ้น และให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับว่าเรากำลังอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษอยู่ เพราะการนำเสนอของหนังสือพิมพ์บนจอ iPad ยังคงกลิ่นอายของการจัดหน้าสไตล์ดั้งเดิมอยู่ เพราะในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ คุณจะได้เห็นหัวข้อข่าวต่างๆ รวดเร็วเพียงแค่ผ่านสายตาในแวบแรก เช่นนี้….

  • The Wall Street Journal เวอร์ชั่น iPad

The Wall Street Journal on iPad

  • The New York Times (Editor’s Choice) เวอร์ชั่น iPad

The New York Times (Editor's Choice) on iPad

  • BBC News เวอร์ชั่น iPad

BBC News on iPad

ทั้งนี้ ข้อดีของการนำเสนอข่าวบน iPad นั้นคือ มีความลึกในการนำเสนอมากกว่า แทนที่ผู้อ่านจะต้องนั่งพลิกเปลี่ยนหน้ากระดาษ แค่เอานิ้วจิ้มไปที่หัวข้อข่าว หรือคอลัมน์ หรือรูปภาพ แม้กระทั่งบนวีดีโอ เท่านั้นหน้าข่าวนั้นๆ ก็จะป็อบอัพขึ้นมาให้อ่านกันอย่างเต็มๆ ทันที ซึ่งบางค่ายก็ออกแบบมาให้เิปิดหน้าใหม่ แต่บางรายก็ใช้หน้าเดิม ซึ่งรูปแบบจะเหมือนการตั้งค่าเว็บ template นั่นแล จะเลือกวิธีการนำเสนอข้อมูลอย่าไรขึ้นกับสไตล์ของแต่ละสำนักข่าว

ข้อดีอย่างหนึ่งของบริการข่าวบน iPad คือ นอกจากจะเก็บเงินค่าแอพพลิเคชั่นได้แล้ว ยังสามารถขายโฆษณาได้ด้วย เนื่องจากโครงสร้างของการนำเสนอนั้นมีหน้าตาคล้ายหนังสือพิมพ์ นั่นคือ มีพื้นที่มากพอที่จะมีโฆษณาที่แลดูสวยงามได้ …

ลองมาดูการเิดินเนื้อหากันบ้าง พอจิ้มตรงเนื้อข่าว หน้าข่าวนั้นก็จะขึ้นมาให้อ่านแบบเต็มๆ กัน

iPad จึงเหมาะแก่การอ่านหนังสือพิมพ์อย่างมาก ….

  • BBBC News

  • Reuters

มาดูข่าวเฉพาะทางกันบ้าง นั่นคือ ข่าวหุ้นและการเงิน คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Bloomberg ซึ่งหน้าแรกของแอพพลิเคชั่น Bloomberg บน iPad นั้นออกแบบได้สวยงามน่าดูชมจริงๆ

Bloomberg on iPad

หน้าต่อมาของ Bloomberg ก็สวยใช่หยอก เนื่องพราะข่าวที่นำเสนอจะเป็นข่าวสารทางการเงินและข่าวหุ้นเป็นหลัก ฉะนั้น การนำเสนอข่าวประเภทนี้ให้อ่านเข้าใจง่ายย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนอด้วยกราฟดังนี้

การนำเสนอของ Bloomberg บน iPad สวยมาก

มาดูที่สำนักข่าวเอพีกันบ้างดีกว่า…สำนักข่าว AP มาแปลกเพราะแทนที่จะนำเสนอในรูปแบบหนังสือพิมพ์ กลับนำเสนอแบบเหมือนโน้ตแปะไว้…พอจิ้มเข้าไปก็เจอกับข่าวและรูปสวยเมื่อดูบนจอ iPad

และเหมือนเช่นเคย แทบทุกเว็บข่าวจะสามารถให้เราแชร์เรื่องไปยังเพื่อนของเราที่ Facebook และ Twitter ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย เพียงแต่คุณอาจจะต้องผูกบัญชีกันก่อนในครั้งแรกเท่านั้น ในครั้งต่อไปเพียงกดปุ่ม ‘share’ เท่านั้นก็ส่งได้เลย..

และอีกหนึ่งคุณภาพจากสำนักข่าว AP ก็คือ รูปภาพ…ภาพข่าวของที่นี่สวยดี ลองมาดูกัน ภาพข่าวของ AP บน iPad นั้นมีให้เลือกมากพอๆ กับบนเว็บ แต่เวลา display แล้วมันจะแลดูสวยกว่า (ไม่รู้คิดไปเองไหม) ลองดูเอาละกันนะคะ

สำหรับ ChinaDaily แม้จะมีบริการข่าวทั้งบน iPhone และ iPad แต่รูปแบบของการนำเสนอข่าวยังคงเหมือนกัน คือเน้น ข้อความมากกว่ารูปภาพ (นี่เท่ากับว่าไม่ได้ใช้ศักยภาพและประโยชน์จากเจ้า iPad ได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นนะเนี่ย) ทำให้หน้าตาบริการข่าวแลดูเหมือนหน้าของทวิตเตอร์ไปซะงั้น….

ซึ่งข้อดีของ iPad (และ iPhone) คือ คุณสามารถขยายข้อความขึ้นมาจนใหญ่พอที่คุณจะอ่านสะดวก

นอกจากเว็บของสำนักข่าวเองแล้ว ปัจจุบันคนยังนิยมเสพข่าวจากผู้ให้บริการรวบรวมข่าว (News Aggregators) ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีผู้ใ้ห้บริการหลายรายมากขึ้นทั้งบน iPhone และบน iPad ดูเหมือนว่าเหล่า News Aggregators นี้จะไวกว่าสำนักข่าวเองเสียอีก…

นี่คือตัวอย่างบริการข่าวบน iPad ของบรรดา News Aggregators….

อีกราย…

News Aggregators อีกราย…แต่อ่านไ่ม่ออก…. จะเห็นว่าการจัดวางหน้านั้นจะคล้ายๆ กันหมด…ทั้งนี้ เชื่ออว่าในอนาคตคงจะได้เห็นการจัดหน้าที่ฉีกแนวออกไปบ้าง ตอนนี้อาจเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น

และอีกราย… Daily News มีบริการทั้งบน  iPhone และบน  iPad

ข้อดีของการใช้บริการรวบรวมข่าวก็คือ คุณสามารถอ่านข่าวได้จากหนังสือพิมพ์มากกว่าหนึ่งฉบับ ประหยัดเวลา…

นอกจากข่าวแล้วภาพข่าวยังเป็นสินค้าหนึ่งที่สำนักข่าวสามารถทำเงินจากมันได้ และยิ่งได้อุปกรณ์ในการดูภาพสวยๆ อย่าง iPad ช่วยทำให้ภาพข่าวสวยขึ้นอย่างมาก…ไม่เชื่อลองดูด้วยตาคุณเอง…

ยังมีสำนักข่าวและ News Aggregators อีกหลายรายที่มีบริการบน iPhone แล้วแต่ัยังไม่มีเวอร์ชั่น iPad (ณ ตอนที่ทดสอบอยู่นี้ แต่ตอนนี้มีหลายรายแล้วทยอยมีเวอร์ชั่น iPad อาทิ Mashable เป็นต้น)

นี่คือตัวอย่างของบริการข่าวที่มีให้บริการแล้วบน iPhone แต่ยังไม่มีบน iPad เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงได้เห็นอย่างแน่นอน…

หน้าตาของการนำเสนอข่าวบน iPad นั้นสวยงาม น่าอ่านจริงๆ เสียดายตรงที่ยังไม่สะดวกนักหากนำ iPad ไปใช้นอกสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณ WiFi แต่ปัญหานั้นคงหมดไปเมื่อใช้รุ่น iPad 3G

สรุปคือ โดยส่วนตัวมองเว่า iPad นั้นเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเอาไว้บริโภคข้อมูลข่าวสาร แค่เฉพาะจากสื่อกระแสหลักอย่างเดียวที่เล่ามาให้ฟังนี้ก็ทำให้คุณเพลิดเพลินหายเข้าไปในจอเกือบสิบนิ้วนี้ได้นานทีเดียว โชคดีที่แบตเตอร์รี่ของ iPad นี้ใช้ได้นานกว่า iPhone ค่อนข้างมาก คืออยู่ได้ทั้งวันเต็มๆ สบายๆ แต่เวลาชาร์จต้องเสียเวลามากกว่าตอนชาร์จ iPhone  และสิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือ ตอนเสียบ iPad เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อซิงคน์ข้อมูลจะไม่มีการชาร์จเกิดขึ้น ไม่เหมือน  iPhone แม้ว่า ณ ปัจจุบันเราจะยังไม่สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นตรงจาก iPad เราต้องดาวน์โหลดผ่านคอมพิวเตอร์ (ซึ่งความสะดวกจะน้อยลงไปบา้าง) แต่ก็เชื่อแน่ว่าหากใครที่ใช้ iPhone อยู่แล้วรับรองไม่หลงรัก หรือไม่ชอบ iPad เห็นจะเป็นการพูดไม่จริง …

View :5398
Categories: Technology Tags: , ,

“เกรซ ออฟ อาร์ท”….ผู้ผลิตอัญมณีไทย ใช้ไอทีเป็นตัวหนุน..เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

April 30th, 2010 No comments

ด้วยความเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่มีรายได้หลักจากการรับจ้างผลิตสินค้าอัญมณีตามความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ ครั้นเมื่อสภาพตลาดอัญมณีโลกเริ่มเปลี่ยนและมีคู่แข่งที่เป็นผู้รับจ้างผลิตจากจีนเข้ามาแย่งลูกค้าด้วยกลยุทธ์ราคาที่ต่ำกว่า  ทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีไทยอย่าง บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัด ต้องปรับกระบวนท่าทางธุรกิจอย่างมากจนกระทั่งกลับมาแข่งขันในตลาดอัญมณีโลกได้อย่างสง่างามอีกครั้งหนึ่ง…ซึ่งเบื้อหลังของความสำเร็จครั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที (IT: Information Technology) มีบทบาทอย่างมาก…..

จากคำบอกเล่าของผู้บริหารวัย 27 ปีอย่าง ธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและส่งออก ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาบริหารกิจการพบว่า บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีไทยขนาดกลางโดนแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงจนรายได้ถดถอยต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจจาการรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มาเป็นการออกแบบเครื่องประดับด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของตนเองแล้วนำไปเสนอขายให้ลูกค้าแทน ซึ่งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวธันยพรเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้บริษัทพอจะมียอดสั่งซื้อเข้ามาทดแทนส่วนที่หายไป

ไอที…ตัวช่วยสำคัญในกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนไป

เมื่อปรับทิศธุรกิจจากการผลิตในลักษณะ Mass Production มาสู่การผลิตที่เน้นดีไซน์ (Design-based Production) ทำให้ประบวนการทำงานในขั้นตอนของการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน รวมถึงปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องบริหารจัดการ ทำให้ธันยพรต้องมองหาตัวช่วยนั่นก็คือระบบไอที ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ระบบการผลิตที่เป็นหัวใจของธุรกิจ บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบไอทีที่เธอนำมาใช้ ก็คือ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรหรืออีอาร์พี (ERP: Enterprise Resource Planning) ระบบดังกล่าวได้เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ตั้งแต่การบริหารจัดการระบบสต็อกวัตถุดิบ ไปจนถึงระหว่างกระบวนการผลิตที่ขั้นตอนการผลิต

“ตอนแรกที่หันมาเน้นงานดีไซน์ เพียงแค่ต้องการให้บริษัทมีงาน มีคำสั่งซื้อเข้ามา หลังจากที่ลูกค้าเริ่มหนีไปหาคู่แข่งที่ราคาต่ำกว่า พอเรามาทำชิ้นงานดีไซน์ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากลูกค้าอีกกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ของเราเลย ยอดสั่งซื้อเข้าหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมาย จนเราคิดว่าเราต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในบริษัทด้วยการนำเอาระบบไอทีเข้ามาใช้”

เนื่องจากเดิมตอนที่บริษัทยังรับจ้างผลิตในปริมาณมาก แบบของเครื่องประดับจะมีไม่มาก ทำให้การเตรียมวัตถุดิบและการผลิตเป็นไปอย่างไม่ซับซ้อน คือ ผลิตปริมาณมากในจำนวนแบบที่น้อย อาทิ ผลิต 10 แบบๆ ละ 1,000 ชิ้น เปลี่ยนเป็นผลิตแบบละไม่กี่ชิ้น แต่จำนวนแบบเพิ่มขึ้นตามการออกแบบของดีไซน์เนอร์ อาทิ ออร์เดอร์ละ 30-40 แบบๆ ละ 5-6 ชิ้น ดังนั้น และในแต่ละแบบก็จะมีความซับซ้อนของชิ้นงานมากขึ้นมากเพราะเป็นงานดีไซน์ การทำงานของกระบวนการผลิตจึงเริ่มมีขั้นตอนมากขึ้นและมีความหลากหลายของวัตถุดิบมากขึ้น วัตถุดิบที่ใช้มีปริมาณของชนิดเพิ่มมากขึ้น

“อย่างเมื่อก่อนแหวนหนึ่งวงใช้พลอยอย่างมาก 10 เม็ด ออร์เดอร์เข้ามา 1,000 ชิ้น ก็เตรียมพลอยแค่ 10,000 เม็ด แต่พอเป็นงานแฟชั่น อาทิ กำไลบางชิ้นต้องใช้พลอยถึง 1,000 เม็ด คละกัน 10 สี 10 ไซน์ ช่างที่ต้องเตรียมวัตถุดิบ เดิมใช้วิธีเขียนลงกระดาษ แล้วไปเบิกของมาผลิต ก็ทำงานยากขึ้นและช้าลง”

ด้วยระบบ ERP บริษัทสามารถมีระบบบริหารทรัพยากรในการผลิตซึ่งก็คือวัตถุดิบที่อยู่มากกว่า 10,000 ชนิด ได้แก่เพชร พลอย และหิน ในขนาด สีและเฉด รูปร่าง และคุณภาพ ที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอีอาร์พีนี้ช่วยให้ บริษัทสามารถเห็นสถานะของสต็อกแบบเรียลไทม์ ทำให้รู้ว่าวัตถุดิบตัวไหนที่ต้องสั่งเพิ่มบ้าง หรือต้องเตรียมสั่งเพิ่มเมื่อใด เมื่อระบบคอมพิวเตอร์คำนวณให้จากปริมาณออร์เดอร์ที่เข้ามา

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรามีวัตถุดิบชนิดใดบ้างเหลืออยู่ในสต็อกในปริมาณเท่าใด เราก็ไม่รู้เพราะว่าไม่ได้ตรวจสอบ เราก็สั่งเพิ่มเข้ามา ผิดบ้าง ถูกบ้าง ทำให้สต็อกวัตถุดิบของเราบางชนิดก็บวม บางชนิดก็ขาด ปัจจุบันระบบจะคำนวณให้เราทันทีเลยว่าเหลือสต็อกอย่างละเท่าไร เพราะทุกครั้งที่แต่และแผนกเบิกวัตถุดิบไประบบจะทำการตัดสต็อกให้ทันที”

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังเข้ามาช่วยตรวจสอบอัตราการสูญเสียของวัตถุดิบในระหว่างการผลิต ซึ่งแต่เดิมนั้น ผู้บริหารไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่ามีปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบต่อออร์เดอร์หนึ่งๆ เป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างจดบันทึกลงกระดาษของแต่ละส่วนงานและไม่มีการตรวจสอบย้อนกลับและตรวจสอบข้ามส่วนงาน เนื่องจากต้องใช้เวลามาก  ปัจจุบันระบบอีอาร์พีนี้ช่วยให้ผู้บริการรู้ได้ทันทีว่าในแต่ละออร์เดอร์นั้นมีปริมาณการสูญเสียมากน้อยเพียงใด

โครงการ ECIT…โอกาสของ SME ไทยได้ใช้ไอที

อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มี “โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี สารสนเทศ” หรือ ECIT (Enhancing SMEs Competitiveness through IT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดอาจจะยังไม่มีตัวช่วยสำคัญ ธันยพร ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเธอมองหาระบบไอทีที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความสามารถในการผลิตของบริษัทแต่ทว่าระบบไอทีที่เธอพบนั้นมีราคาค่อนข้างแพงและมีความสามารถในการรองรับความยืดหยุ่นต่ำ เธอจึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนระบบไอที จนกระทั่งเธอพบกับโครงการ ECIT ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้ค่อนข้างครบเธอจึงตัดสินในเข้าร่วมโครงการเมื่อปีที่ผ่านมาโดยใช้ระบบอีอาร์พีที่ชื่อว่า Double M JeGe’++ 2 ซึ่งเป็นของบริษัทผู้ให้บริการคือ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด

อภิรักษ์ เชียงเจริญ กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า โปรแกรม ERP สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสามารถตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้นได้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการบริหารทรัพยากรของบริษัท ลำดับการรับออร์เดอร์ลูกค้า การวางแผน และควบคุมกระบวนการผลิต การประเมินราคา การคำนวณวัตถุดิบก่อนผลิต ไปจนถึงการส่งมอบและติดตามผล ที่สำคัญจะทำให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมวัตถุดิบสูญเสียที่ใช้ในการผลิตได้อย่าง แม่นยำ ควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างถูกต้อง

คุณสมบัติเด่นของโปรแกรม Double M JeGe’++ 2 คือ ใช้งานง่ายด้วยเมนูในการเรียกใช้งานได้ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ราคาเหมาะสมซึ่งถูกกว่าซอฟต์แวร์แบบเดียวกับจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตอัญมณีไทยกล้าลงทุน

บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดเป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงสามารถใช้บริการซอฟต์แวร์ของไทยที่คัดเลือกโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ลดการจัดซื้อเครื่องแม่ข่าย ลดการจ้างพนักงานดูแลด้านระบบไอที ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนบาท ที่ผ่านมาบริษัทสามารถใช้ซอฟต์แวร์ได้ฟรีในระยะเวลา 1 ปี โดยในปีต่อไปจะเสียค่าเช่ารายเดือนพร้อมบำรุงรักษาเองเพราะระบบ ERP ภายใต้โครงการ ECIT นั้นใช้แนวความคิดการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านระบบ ASP (Application Service Provider) หรือการใช้โปรแกรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ธันยพรกล่าวว่า โครงการ ECIT เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งในปีนี้บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ท จำกัดจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าเช่าใช้ซอฟต์แวร์และค่าดูแลระบบเองก็ตาม เธอบอกว่านับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างมากเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้นำมาซึ่งประสิทธิภาพของการผลิตที่ดีอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน Grace of Art ไม่เพียงแต่ได้ออร์เดอร์จากลูกค้าในต่างประเทศกลับมาอย่างล้นหลาม แต่ยังได้เปิดตลาดใหม่ในประเทศด้วยแบรนด์สินค้าของตนเอง ได้แก่ Sandy และ Ta Tiara อีกด้วย

ธันยพร กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ที่การส่งออกอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากตลาดในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ และรายได้โดยรวมมีการเติบโตราว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องมา 2 ปีหลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้นงานดีไซน์ เธอยอมรับว่าหากไม่มีระบบไอทีซึ่งเป็นผู้ช่วยสำคัญแล้วเธอคงไม่สามารถฝ่าวิกฤติธุรกิจมาได้อย่างเช่นในปัจจุบัน……

View :3851

“การตลาดออนไลน์แบบ 360 องศา” …เคล็ดลับความสำเร็จของ SME อย่าง“เมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ”

April 9th, 2010 No comments

แม้ว่าโรงแรมเมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ (MetroPoint Bangkok) จะเป็นโรงแรมน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียงปีเศษแต่ทว่าผลการดำเนินธุรกิจของโรงแรมแห่งนี้ฝีมือไม่น้องเลย เมื่ออัตราเข้าพักในปีแรกสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์และโรงแรมยังตั้งเป้าว่าจะเพิ่มยอดเข้าพักของปีนี้ไว้ที่ 90 เปอร์เซ็นต์

โรงแรมเมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ (MetroPoint Bangkok) เพิ่งเริ่มให้บริการเดือนมกราคม 2552 เป็นโรงแรมขนาดกลางที่เน้นกลุ่มลูกค้าชาวเอเชีย อาทิ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น ที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ก็มีบริการลูกค้าคนไทยและลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ได้เดินทางมากับคณะทัวร์ (Free Independent Traveler) โดยสัดส่วนของลูกค้าประเภทนี้มีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยในปีแรกของการดำเนินงาน โรงแรมแห่งนี้สามารถสร้างอัตราการเข้าพักได้สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้งบประมาณทางการตลาดจำนวนไม่มาก ทั้งนี้เป็นเพราะโรงแรมแห่งนี้ใช้การตลาดออนไลน์เป็นเรือธงหลักนั่นเอง…

Online Marketing: หัวหอกการตลาดของธุรกิจอสเอ็มอี

เกษม เทียนทองดี กรรมการบริหารวัย 29 ปีเศษของโรงแรมเมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ (MetroPoint Bangkok) เล่าให้ฟังว่า ตนเริ่มธุรกิจโรงแรมจากการได้รับช่วงต่อจากครอบครัวที่ต้องการนำพื้นที่ว่างในซอยลาดพร้าว 130 มาสร้างเป็นโรงแรม แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจโรงแรมมาก่อนเลย แต่ด้วยความที่เกษมเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในฐานะผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลของลูกค้าบนอินเทอร์เน็ต (Internet/Web Hosting Service) มานานกว่า 8 ปี และลูกค้าส่วนมากของเกษมเป็นธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ดังนั้น เกษมจึงได้สัมผัสและเข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้ได้เป็นอย่างดีผ่านประสบการณ์ตรงในการให้บริการลูกค้า ครั้นเมื่อตนเองต้องผันบทบาทมาเป็นผู้ประกอบการการธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) อย่างเต็มตัวโดยต้องบริหารกิจการโรงแรมขนาด 172 ห้อง ด้วยตนเองนั้น เกษมจึงเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ 360 องศา โดยจะเน้นให้น้ำหนักการทำการตลาดมาทางโลกออนไลน์ (Online Marketing) เป็นสำคัญ

กลยุทธ์การตลาดบนสมรภูมิออนไลน์นั้น เกษมบอกว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “บ้าน” หรือเว็บไซต์ของโรงแรม (http://www.metropointbangkok.com) ที่จะต้องออกแบบมาให้หน้าสนใจทั้งรูปร่างหน้าตาและเนื้อหาที่จะนำเสนอ ไม่เพียงแต่นำเสนอรายละเอียดบริการของโรงแรมครบถ้วนเท่านั้นแต่ยังต้องนำเสนอข้อมูลนอกเหนือไปจากบริการของโรงแรม แต่จะช่วยเพิ่มคะแนนและแรงจูงใจให้ลูกค้าเลือกที่จะมาพักที่โรงแรม อาทิ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ที่น่าสนใจ รวมถึงจะต้องนำเสนอในรูปของเนื้อหา รูปภาพ และแผนที่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของว่าที่ลูกค้า

จากนั้น Social Media จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มอัตราเร่งให้คนเข้ามาที่เว็บไซต์หลักเพื่อทำให้เกิดธุรกรรม Social Media ที่เกษมใช้อย่างเอาจริงเอาจัง สม่ำเสมอ และใช้ผสมผสานควบคู่กันไป ได้แก่ เฟซบุ๊ค (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) และยูทูบ (Youtube)

นอกจากนี้ยังมีการทำการตลาดผ่านเครือข่ายของพันธมิตรบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น บล็อก (Blog) เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เว็บไซต์ของพันธมิตรที่สามารถสร้างเนื้อหาและกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการทำ Search Engine Optimization (SEO), Google Adwords และ Google Adsense

ทั้งนี้ SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ และกระบวนการต่างๆ ของเว็บไซต์ตั้งแต่การออกแบบ เขียนโปรแกรม และการโปรโมทเว็บ เพื่อให้ติดอันดับต้นๆ ของ Search Engine เช่น Google, MSN, Yahoo, AOL เป็นต้น

ส่วน Google Adwords คือโฆษณาในรูปแบบ pay per click ข้อดี คือ เสียค่าใช้จ่ายตามจริง เมื่อผู้ใช้บริการค้นหาข้อมูลคลิกเข้าชมเว็บไซต์ และโฆษณาจะปรากฏให้ผู้ชมเห็นตามคีย์เวิร์ด (Keyword) หรือกลุ่มคำที่ถูกเลือกไว้ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ

และ Google Adsense คือการจับคู่โฆษณากับเนื้อหาในเว็บไซต์ของบล็อกหรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเว็บเหล่านั้นจะมีรายได้เมื่อผู้เยี่ยมชมคลิกที่โฆษณาของโรงแรม

“สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการทำการตลาดแบบ 360 องศา เราต้องทำให้ครบและรอบด้าน โดยจะต้องคอยติดตามมอนิเตอร์ตลอดเวลา ผมมองออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง โดยเฉพาะเว็บเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจโรงแรม เนื่องจากตัวเว็บจะเป็นด่านแรกที่ลูกค้าจะเดินเข้ามาพบเรา และเป็นตัวตัดสินว่าจะเลือกมาใช้บริการของโรงแรมเราไหมจากนั้น Social Media จะเป็นสื่อที่เข้ามาเป็นตัวช่วยอย่างมากในการทำการตลาดต่อ การเป็นเอสเอ็มอี เราไม่ต้องลงทุนกับเงินการตลาดก้อนโต เพียงแต่เราต้องรู้จัดเลือกใช้สื่อออนไลน์ที่ขณะนี้เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะฟังและเชื่อเพื่อนของเขาบนโลกออนไลน์มากกว่าจะเชื่อเจ้าของสินค้าและบริการ”

Social Media: สื่อสังคม…ตัวช่วยหลักของการทำการตลาดแบบ “บอกต่อ”

เกษมบอกว่าวันนี้ไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลและความแรงของสื่อสังคม เครือข่ายของเพื่อนต่อเพื่อนอย่าง Facebook และTwitter ไปได้ และอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจตลอดปีเศษที่ผ่านมาของโรงแรมเมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ (MetroPoint Bangkok) นั้น Social Media มีบทบาทอย่างมาก

การมีตัวตนของธุรกิจบน Social Media นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มหันมาเสพและใช้ Social Media เป็นช่องทางการสื่อสารหลักช่องทางหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่า Social Media นั้นจะเป็นช่องทางการสื่อสารที่ค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันลูกค้ามักจะไม่ฟัง หรือเลือกที่จะไม่เชื่อ “ผู้ขาย” แต่จะเชื่อ “เพื่อน” ของเขาบนโลก Social Media ดังนั้นธุรกิจเองจะต้องเข้าไปเป็น “เพื่อน” กับลูกค้าบนโลก Social Media อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกษมกล่าวว่า เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีข้อจำกัด คือ จำนวนห้องที่มีอยู่อย่างตายตัว ความท้าทายคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้อัตราการเข้าพัก (Room Rate) สูงที่สุด ให้ลูกค้าอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายเงินกับบริการต่างๆ ของโรงแรมมากขึ้น ทั้งนี้ฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของโรงแรมซึ่งเป็นคณะทัวร์จะมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวต่อ และมักจะไม่ใช้บริการอื่นๆ ของโรงแรมมากนัก ต่างกับกลุ่มลูกค้าทั่วไป ดังนั้น เป้าหมายปีนี้ คือ โรงแรมจะเพิ่มอัตราการเข้าพักให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มสัดส่วนของลูกค้าทั่วไปเพื่อให้เป็นแหล่งรายหลักอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งการจะจับกลุ่มเป้าหมากลุ่มนี้ Social Media มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

“พฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนไป คนจะนิยมและคุ้นชินกับการหาข้อมูลของสินค้าและบริการต่างๆ ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าของสินค้าประเภทโรงแรม ดังนั้นการมีตัวตนของเราบนโลกอินเทอร์เน็ตจึงมีความสำคัญอันดับแรก นอกจากนั้นเราจะต้องมีตัวตนและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสังคม ชุมชนบนโลกอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่ง Social Media กำลังเป็นชุมชนบนโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างเกาะกลุ่มกันและมีขนาดใหญ่มากในปัจจุบัน”

สิ่งที่กรรมการผู้จัดการหนุ่มผู้นี้ทำ คือ ลงไปทำการตลาดแบบ “เนียน” ผ่านโลกของ Social Media เขาได้เปิดแอคเคาน์ของ MetroPoint Bangkok ทั้งในเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ รวมถึงยูทูบ เพื่อเป็นช่องทางในการโปรโมทโรงแรมและรายการส่งเสริมการขายต่างๆ รวมถึงใช้เป็นช่องทางในการรับคำติชมจากลูกค้า และเป็นช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าในการช่วยข้อมูลของโรงแรมหากถูกสื่อสารในทางที่ไม่ถูกต้อง

“กลยุทธ์ของเราคือเราใช้ทวิตเตอร์มาสร้างทราฟฟิกเข้ามาที่เฟซบุ๊ค และใช้เฟซบุ๊คสร้างความรู้จักและรับรู้ต่อโรงแรมของเรา และดึงคนกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของโรงแรม ทั้งเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการหลักช่องทางหนึ่งของเราที่เราจะไว้สื่อสารกับผู้บริโภคว่าเรามีข่าวสาร กิจกรรม และโปรโมชั่นอะไรบ้างมานำเสนอ นอกจากนี้ทั้ง 2 ช่องทางยังมีบทบาทในฐานะ Call Center ทำหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (CRM: Customer Relationship Management) อีกด้วย”

เกษมกล่าวว่า ณ วันนี้ เพียงหนึ่งปีเศษที่ดำเนินกิจการมา นับว่าแบรนด์ของ MetroPoint Bangkok เป็นที่รู้จักระดับหนึ่งแล้วในโลก Social Media ทั้งในเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ แต่เขายอมรับว่า ณ วันนี้ช่องทางดังกล่าวนั้นได้สร้างผลตอบรับในเชิงธุรกรรมที่เกิดขึ้น แต่ทว่ายังไม่สามารถชี้ชัดๆ ลงไปว่าผลกระทบในเชิงบวกในแง่ของยอดขายโดยตรงนั้นมีมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ๆ คือมันสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อ “แบรนด์” ได้ค่อนข้างมาก

“Social Media นั้นทำง่าย ใช้ทุนน้อย แต่ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก คือผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน ก่อนอื่นต้องเรียนรู้ที่จะสร้างเรื่องราวให้คนเขาพูดถึงแบรนด์หรือสินค้าของเรา ต้องใช้เวลาศึกษาและเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง”

ตัวอย่างของกลยุทธ์หลักที่ เกษมเลือกใช้คือ เกษมมักจะจัดกิจกรรมด้าน Social Media โดยเฉพาะการจัดสัมมนาเกี่ยวกับ Social Media ที่โรงแรม โดยจะเชิญ “ผู้มีอิทธิพล” (Influencers) มาร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา ซึ่งกระบวนการโปรโมทงานสัมมนานั้นจะถูกกระทำผ่าน Social Media โดย “ผู้มีอิทธิพล” (Influencers) เหล่านั้นซึ่งมี “ผู้ตาม” (Followers) จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการรับรู้ต่อ “แบรนด์” ของโรงแรมได้เป็นอย่างดี เกษมกล่าวว่า เขาเชื่อว่า  การรับรู้ต่อ “แบรนด์” ของโรงแรม MetroPoint Bangkok ในโลกทวิตเตอร์นั้นค่อนข้างดี ราว 70-80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในทวิตเตอร์รู้จัก MetroPoint Bangkok

“กลยุทธ์ดังกล่าวนั้น นอกจากจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ที่ดีต่อแบรนด์แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เข้าโรงแรมผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องอีกด้วย”

เอเจนซี่ชี้ Social Media เหมาะกับเอสเอ็มอี

ออนไลน์เอเจนซี่รายใหญ่ของไทย ทอมัส ไอเดีย (Thomas Idea) อารยา เช้ากระจ่าง กรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านดิจิตอลแบรนด์ดิ้ง กล่าวว่า Social Media นั้นเหมาะที่จะเป็นช่องทางการสื่อสารทางการตลาดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใช้ทุนน้อย แต่ต้องใช้ความเอาใจใส่สูงมาก เพราะฉะนั้นต้นทุนของการทำการตลาดผ่าน Social Media จึงไม่ได้อยู่ที่งบโฆษณา แต่จะอยู่ที่ทรัพยากรบุคคลและงบในการจัดการ เพราะธรรมชาติของการสื่อสารบน Social Media จะต้องมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และจะต้องมี “เรื่องราว” หรือ Message ที่ต้องการจะสื่อสาร ดังนั้นการทำการตลาดบน Social Media นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน ซึ่งผู้บริหารองค์กรจะต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า Social Media เข้ามามีบทบาทในการสร้างแบรนด์และการทำการตลาดของผู้ประกอบการไม่แต่เฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่อาจกว่าได้ว่า Social Media นั้นเหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งอาจจะมีงบการสื่อสารการตลาด งบการทำการตลาดไม่มากนักและคิดจะใช้ Social Media เป็นช่องทางในการทำการตลาด แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่เองยังให้ความสำคัญกับ Social Media ในฐานะ “สื่อ” ทางการตลาดตัวหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือขนาดกลางและเล็ก และถึงแม้ว่าคุณจะใช้ Social Media อย่างโชกโชน แต่หากจะใช้มันอย่างสัมฤทธิ์ผลแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมี “บ้าน” นั่นคือ เว็บไซต์ของตัวเอง เป็นแหล่งที่ตั้งบนโลกออนไลน์เสียก่อน”

นับว่าโรงแรมเมโทรพอยท์ กรุงเทพฯ (MetroPoint Bangkok) เป็นเสือปืนไวในการรับเอา Online Marketing และ Social Media มาเป็นอาวุธหลักในการทำการตลาดแบบสบายกระเป๋า และกลายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจเอสเอ็มอีที่รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจได้อย่างลงตัว…..

View :3254

“Cloud Computing” เทคโนโลยีอนาคต…..สำหรับ SME วันนี้!

March 21st, 2010 No comments

อาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี Cloud Computing ในประเทศไทยที่คาดกันว่าจะเริ่มมีการพูดถึงละใช้งานแพร่หลายมากขึ้นอย่างมาก ในปีนี้นั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นแต่ Cloud Computing จะลงไปให้บริการกับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการหลายราย จึงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเอื้อให้ SME สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่โดยใช้เงินลงทุนน้อยลง

ทั้งนี้โครงสร้างทางเทคโนโลยีของ Cloud Computing ที่เป็น “ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ” เป็นวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้อง การผู้ใช้ โดยระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลาโดยที่ผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร

องค์ประกอบของการใช้บริการจาก Cloud Computing นั้น ผู้ใช้มีเพียงอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้บริการต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นธุรกิจสำหรับกิจการตั้งแต่ขนาด เล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รูปแบบบริการจะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานแบบแยกชิ้น คือผู้ใช้สามารถเลือกใช้ประเภทบริการและจำนวนแอพพลิเคชั่นตามความต้องการใช้ งานจริง โดยเสียจ่ายใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานและจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้

Cloud Computing ทางเลือกสำหรับ SME ใช้ไอทีเสริมแกร่ง

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มทางธุรกิจกับการเติบโตของ Cloud Computing นั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จากผลการวิจัยล่าสุด ไอบีเอ็มคาดว่า Cloud Computing จะถูกใช้งานเพิ่มมากขึ้นและมีบทบาทอย่างมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยีนี้ทรัพยากรทางด้านไอทีจะถูกผนวกรวมศูนย์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยองค์กรประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และช่วยให้องค์กรเพิ่มหรือลดขนาดของระบบไอทีได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud Computing คือให้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงกว่าแต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพราะ Cloud Computing ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนให้กับระบบไอทีทั้งหมด เนื่องจากองค์กรอาจใช้บริการจาก Cloud Computing ที่ถูกโฮสต์ไว้ภายนอกและซื้อใช้ในรูปแบบของบริการแทนที่จะต้องลงทุนซื้อ ซอฟท์แวร์มาใช้เอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและมีพนักงานฝ่ายเทคนิคอยู่อย่างจำกัด

Google Apps: บริการยอดฮิตบน Cloud Computing

สำหรับธุรกิจ SME นั้น ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นธุรกิจที่ให้บริการเป็นภาษาไทยบน Cloud Computing แล้วหลายบริการจากผู้ให้บริการหลายรายไม่ว่าจะเป็น Google Apps จาก Google Inc. โดยความร่วมมือกับ Saleforce.com และล่าสุดบริการ Software Plus Service จากไมโครซอฟท์เตรียมเปิดบริการสำหรับลูกค้าในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน

Google Apps คือ ตัวอย่างของ Web 2.0 ที่เป็นจุดพลิกผลันให้เกิด Cloud Computing ที่รวมแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านจุดเดียว รวมไปถึงบริการที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ Search Engine, G-mail, Picasa, Google Video, Google Doc, Google Calendar, YouTube, Google Maps, Google Reader และ Blogger เป็นต้น

บริการ Google Apps คือชุดผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งบนเว็บ เพื่อการสื่อสารและช่วยในการทำงานร่วมกันที่พร้อมรองรับภาษาไทย โดยเป็นชุดแอพลิเคชันที่ติดตั้งบนเว็บ เช่น Google Talk อีเมล์ (G-mail) ภายใต้ชื่อโดเมนของผู้ใช้งานเอง เช่น yourname@yourdomain.com This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it ปฎิทิน (Google Calendar) และเอกสาร (Google Documents) เพื่อช่วยองค์กรต่างๆ ที่ต้องการชุดเครื่องมือด้านการสื่อสารคุณภาพสูงสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ โดยไม่ต้องซื้อ ติดตั้ง หรือคอยบำรุงรักษาด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้ยุ่งยาก ผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลของตนได้เองทั้งหมดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการต่างๆ จะถูกโฮสต์ไว้ที่ Google โดยผู้ใช้ที่ได้รับการตั้งค่าจากผู้ดูแลระบบ เพียงแค่เข้าไปที่หน้าล็อกอิน (Login) ผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ ก็เข้าใช้งานระบบได้ทันที อีกทั้งบริการต่างๆ ยังออกแบบมาให้รองรับปริมาณผู้ใช้ และพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนมากได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาระบบได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้ Google Apps มีบริการให้เลือก อาทิ Google Apps Standard Edition บริการฟรีสำหรับธุรกิจ กลุ่มชมรมและองค์กร หรือแม้แต่นำมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว โดยนำ Google Apps มาใช้กับโดเมน และ Google Apps Premier Edition ที่คิดค่าบริการ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สำหรับผู้ใช้แต่ละคน โดยตัวระบบได้ออกแบบมาให้มีความสามารถมากขึ้น ทั้งด้านการติดตั้ง การบูรณาการระบบ และการจัดเก็บข้อมูล เหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภท มีบริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ ให้พื้นที่สำหรับจัดเก็บอีเมล์สูงถึง 10 กิกะไบต์ และมี API พร้อมสำหรับเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังมี Google Apps Education Edition: ใช้งานฟรีสำหรับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา พร้อมด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ครบถ้วนทั้งด้านการช่วยเหลือ การจัดเก็บข้อมูล และ API สำหรับงานพัฒนาต่อยอด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Google Apps ในประเทศไทยแล้วนับร้อยราย

ไมโครซอฟท์เตรียมส่งบริการบน Cloud Computing ลงตลาดไทยครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ลักษณะบริการ Cloud Computing ไม่เพียงจะเป็นคู่แข่งสำคัญต่อไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่อื่นๆ เช่น ออราเคิล และเอสเอพี ซึ่งมักสร้างรายได้จากการขายไลเซนส์การใช้งานซอฟต์แวร์ที่คิดตามการติดตั้ง ลงบนเครื่องแต่ละครั้ง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ได้จากการดูแล ปรับปรุงระบบให้ในภายหลัง

ดังนั้น ไมโครซอฟท์ จึงได้กระโดดเข้าสู่สมรภูมิของ Cloud Computing ด้วยการเปิดตัว Windows Azure วินโดวส์เวอร์ชั่นใหม่ที่รันบนอินเทอร์เน็ตที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็น Cloud OS โดย Windows Azure สนับสนุนเทคโนโลยีหลักของไมโครซอฟท์เช่น .NET Framework และ Visual Studio 2008 ไมโครซอฟท์ตั้งใจให้ Windows Azure เป็นแพลตฟอร์มหรือรูปแบบมาตรฐานของเทคโนโลยี Cloud Computing เหมือนกับที่วินโดวส์โมบายล์ (Windows Mobile) เป็นแพลตฟอร์มของโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ

ดร.ประสบโชค ประมงกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้เตรียมความพร้อมการให้บริการ Cloud Computing ทั่วโลก ล่าสุดดาต้าเซ็นเตอร์ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 5 ศูนย์ ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์ทั้งหมดสามารถให้บริการผู้ใช้ได้ทั่วโลก สำหรับตลาดเมืองไทยนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีบริการบน Cloud Computing ให้บริการประมาณครึ่งหลังของปี 2552 อย่างแน่นอน โดยกลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจทุกขนาด ซึ่งการให้บริการแอพพลิเคชั่นบน Cloud Computing นับเป็นกลยุทธ์ล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปลี่ยนนิยามตัวเองจากบริษัทซอฟต์แวร์ (Software Company) เป็นบริการซอฟต์แวร์และบริการ (Software Plus Service Company)

ตัวอย่างบริการแอ พพลิเคชั่นบน Cloud Computing ของไมโครซอฟท์ ได้แก่ ชุดซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ทั้ง Microsoft Word และ Excel รวมถึง Exchange และ Share Point ในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านเว็บเบราเซอร์ โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนเครื่องพีซี ซึ่งไมโครซอฟท์คาดหวังที่จะให้บริการโปรแกรมออฟฟิศออนไลน์ชนิดเต็มรูปแบบ ตั้งแต่โปรแกรมที่ทันสมัยมากที่สุดจนถึงเวอร์ชั่นธรรมดาในหลากหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบพ่วงโฆษณาไปกับตัวโปรแกรม ระบบสมาชิก และแบบมีค่าไลเซ่นส์

Cloud Computing: ความท้าทายครั้งใหม่ของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ไทย

สมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Cloud Computing อาจดูเป็นเหมือนปัจจัยลบต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจซอฟต์แวร์จากการขายสินค้าเป็นไลเซ่นส์มาสู่การขาย บริการ ซึ่งในระยะแรก Cloud Computing ถือเป็น Killer ที่จะมาทำลายระบบการขายแบบเดิมแต่ในระยะยาวจะให้ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอ ฟตแวร์ไทย เพราะ Cloud Computing เหมาะสำหรับแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่มีผู้ใช้จำนวนมาก อาทิ Excel และ Office แต่ไม่เหมาะกับแอพพลิเคชั่นที่เป็นระบบหลักอย่าง Core Banking ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจึงต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาตัวเองไปสู่การพัฒนา ซอฟต์แวร์โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนความคิดแบบเดิมๆ ที่คิดถึงสินค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ในระยะยาว Cloud Computing จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในเรื่องของต้นทุนเพราะไม่ต้องลง ทุนสร้างเครือข่ายในการขาย และสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เป็นโมดุลๆ ขายได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือบริการหลังการขาย เพราะเมื่อมีผู้ใช้บริการหันมาซื้อซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing มากขึ้น จึงต้องมั่นใจว่าสามารถให้บริการหลังการขายได้อย่างดี ในด้านผู้ใช้บริการก็จะได้ประโยชน์เพราะ Cloud Computing จะช่วยลดภาระค่าไลเซ่นส์มาสู่การจ่ายตามการใช้งานจริง

“Cloud Computing มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่ต้องเรียนรู้เพื่อที่สร้าง เงินจากเทคโนโลยีใหม่นี้ให้ได้”

(บทความช้นนี้เคยถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร SME Thailand)

View :3225
Categories: Internet Tags: ,

“Social Web/Viral Marketing” อาวุธธุรกิจในยุค Social Network (3)

March 18th, 2010 No comments

Social Media: ความท้าทายครั้ง (ใหม่) ใหญ่ของนักการตลาด….

ปัจจุบันสื่อใหม่อย่าง Social Media กำลังได้รับความสนใจจากแวดวงธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากความสนใจในกลุ่มนักการตลาดกลุ่มเล็กๆ ของไทยจากนั้นในเวลาเพียงไม่กี่เดือนความสนใจได้ถูกส่งต่อและแพร่กระจายไปในแวดวงธุรกิจอย่างรวดเร็วราวกับ ไฟไหม้ลามทุ่งหรือรวดเร็วราวกับ ไวรัส (Viral Awareness) ซึ่งแนวโน้มและความแรงของ Social Media นั้นคาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นไม่เฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เป็น Long Tail Business ที่ถูกคาดหมายว่าน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแรกของการตลาดบน Social Media แต่ยังรวมถึงการขยับเข้ามาอย่างรวดเร็วของบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ที่แม้ว่าจะมีทุนมหาศาลในการทำการตลาด แต่พวกเขากลับตระหนักดีถึงกระแสของ Social Media จนต้องรีบเข้ามาจับจองพื้นที่…..


สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กเองนั้นจะต้องเร่งเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสื่อใหม่อย่าง Social Media นี้ให้เร็วเพื่อที่จะได้เร่งเข้ามาใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่นี้ได้มากที่สุดในช่วงที่ทุกคนต่างก็กำลังเรียนรู้เพราะใครช่วงชิงพื้นที่การใช้งานอย่างเข้าใจก่อนย่อมได้เปรียบ และการมาของกระแส Social Media นั่นกล่าวได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของนักการตลาดและเซียนการตลาดทั้งหลาย เพราะตอนนี้ Social Media กำลังแสดงบทบาทให้เห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นเพียง “แฟชั่น” ที่มาแล้วเดี๋ยวก็ไป แต่ Social Media นั้นกำลังพลิกบทบาทเป็นแนวโน้มใหม่ของรูปแบบการทำการตลาดในอนาคตอย่างสิ้นเชิง

ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูด้านการตลาด และอาจารย์ประจำวิชาการจัดการกลยุทธ์ทางการตลาดและการจัดการยี่ห้อสินค้าให้เป็นที่รู้จัก บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เผยมุมมองว่า Social Media นั้นทำหน้าที่เป็น ‘P’ ตัวที่ 4 ของตำราการตลาด นั่นคือ บทบาทของ Promotion ที่มีความสำคัญมากต่อธุรกิจ เพราะ Social Media นั้นมีบทบาทเป็นช่องทางการสื่อสารทางการตลาด (marketing Communication) ที่ทรงประสิทธิภาพมาก ธันยวัชร์บอกว่าแม้สินค้าจะมี ราคาจะดี และสถานที่ขายจะดี แต่หากขาดซึ่งสื่อสารโปรโมทสินค้าที่ดีแล้วย่อมไม่นำมาซึ่งความสำเร็จฉันท์ใด ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการโลกการตลาดยุคเดิมนั้นย่อมไม่ได้รับการรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จในการทำการตลาดในโลกยุคใหม่ โลกยุคที่สื่อสารการตลาดอิงแอบอยู่กับสื่อดิจิตอลมากขึ้น ดังนั้นนักการตลาดเองจำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อเข้ามาช่วงชิงความได้เปรียบของการเป็น First Mover ในสนามการตลาดดิจิตอลในโลกของ Social Media ที่ผลกระทบของมันนั้นมากมายเป็นทวีคูณ (Viral Effect)

เขากล่าวต่อว่าบทบาทของ Social Media ในเชิงการตลาดออนไลน์นั้นเริ่มเข้ามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเมื่อตั้งแต่เมื่อครั้ง Social Media ตัวแรกๆ อย่าง Hi5 เข้ามาและสร้างกระแสในสังคมไทยได้สักพักหนึ่งก่อนจะถูกเบียดตกเวทีไปโดย 2 หัวหอก Social Media อย่าง Facebook และ Twitter และเหตุที่สื่อออนไลน์อย่าง Facebook และ Twitter นั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตคนในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะบทบาทต่อภาคธุรกิจนั้นเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อมเชิงบวก อันได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นของสังคมไทย บริการอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่วนมากจะใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น และเลือกที่จะเสพสื่อออนไลน์แทนสื่อดั้งเดิม ทำให้บทบาทของ Social Media ในช่วงนี้ถึงมาแรงและเป็นกระแสหลักของการตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน

“การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความนิยมใน Social Media ทำให้รูปแบบการสื่อสารทางการตลาดกลายเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง (2-way communication) และผู้บริโภคในปัจจุบันกลายเป็น Pro-sumer (Producer + Consumer) คือ เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคข่าวสารในเวลาเดียวกัน ซึ่ง Social Media ที่มาแรงสุดในปัจจุบันอย่าง Facebook และ Twitter นั้นกำลังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารการตลาดในโลกยุคเว็บ 2.0 ใหม่หมดอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากนักการตลาดที่ต้องการอยู่รอดในโลกยุคเว็บ 2.0 และ 3.0 ในอนาคตนี้ไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญแล้วมีโอกาสที่จะตกกระแสไปเลย”

นอกจากนี้ ธันยวัชร์ ยังบอกอีกว่า ยุคนี้นั้นผู้บริโภคเป็นใหญ่เป็นผู้กำหนดเกมทางการตลาดซึ่งนักการตลาดจะต้องเตรียมรับมือโดยใช้ความยืดหยุ่นทางการตลาดมาจับ Social Media และสื่อที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตซึ่งจะไม่มี Barrier of Entry ดังนั้นหากใครเข้ามาในสนามนี้ช้ากว่าอาจต้องเสียเปรียบหลายขุม

“รูปแบบการสื่อสารการตลาดแบบนี้นั้นสร้างความได้เปรียบให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กที่เป็น Long Tail Business เพราะเป็นการสื่อสารการตลาดที่ต้นทุนต่ำ และยังใหม่มาก ฉะนั้น ความได้เปรียบในเรื่องของความสามารถในการเข้าถึงและใช้งานนั้นแทบจะไม่มี จะมีก็เพียงแต่ความได้เปรียบในแง่ที่ว่าใครเข้ามาเรียนรู้และใช้งานได้เป็นประเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตนก่อนกัน ช่วงนี้เหมาะสมที่สุดที่นักการตลาดจะต้องเข้ามามีบทบาทในสนามนี้ เพราะต่อไปเมื่อคนเข้ามากันมากๆ แล้ว มันจะกลายเป็นของธรรมดาที่ใครๆ ก็ใช้ ซึ่งจะไม่คงเหลือความได้เปรียบให้กับเอสเอ็มอีอีกต่อไป ดังนั้นก้าวต่อไปคือการต่อยอดการทำการตลาดบนสื่อใหม่อย่างเข้มข้น ซึ่งถึงตอนนี้นักการตลาดก็ย่อมหนีไม่พ้นตำราการตลาดแต่ดัดแปลงมาใช้บนโลกออนไลน์แบบใหม่”

ธันยวัชร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า Social Media นั้นใช้เวลาไม่นานที่จะเรียนรู้ให้ใช้งานเป็น แต่ใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้ว่าใช้ Social Media อย่างไรให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด

ในขณะที่ อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด อินเตอร์แอคทีฟเอเยนซี่ มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า Social Media จะเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ของผู้บริโภคหลังจากที่รุกคืบเข้ามาในกระแสวงการสื่อสารการตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Facebook, Twitter และ Blog ต่างๆ ซึ่งได้ผลเร็วและโหมแรงปากต่อปาก (Word of Mouth) ในกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี มียอดผู้ใช้งานโดยรวมสูงกว่าคนดูโทรทัศน์ทั่วโลก คอนเทนต์ที่ผู้ใช้แชร์บน Facebook มากกว่า 1 พันล้านคอนเทนต์ในหนึ่งสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม อุไรพรกล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ สื่อนี้ยากต่อการควบคุม และแนวโน้มในปีหน้า จะมีจำนวนของ User Generate Content หรือ UGC มากขึ้น ยิ่งทำให้การวางกลยุทธ์สื่อนี้เข้มข้นและต้องมีระบบการรองรับที่ดีด้วย โดยแบรนด์จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง Customer Experience และ Customer Engagement กับผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถใช้เวลาเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลนานกว่าสื่ออื่น และเนื่องจากเป็นสื่อที่มีผู้บริโภคสามารถโต้ตอบได้โดยตรง ทำให้สามารถรับรู้พฤติกรรมการเข้าถึงข้อมูลได้เป็นอย่างดีโดยไม่จำกัดเวลา

“เราคงจะเห็น Web Video ในรูปแบบ Webisode รวมถึงการออกแบบแคมเปญที่เน้นการรับรู้ของแบรนด์มากขึ้นในปีหน้า ความยาวแคมเปญที่สร้างการรับรู้ในแบรนด์ควรจะสามารถดึงดูด (Engage) ผู้ใช้ไว้ให้ได้อย่างน้อย 3-6 นาที นักการตลาดในอเมริกาถึง 48 เปอร์เซ็นต มีแนวโน้มให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่นักการตลาดควรให้ความสำคัญอย่างมากนั้นคือ Mobile Marketing ด้วยเทคโนโลยี 3G และอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ขยายตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนตามอย่างรวดเร็ว และการเข้าถึงได้ง่าย เครื่องไอโฟนและแอพพลิเคชั่นของค่ายมือถือต่างๆ จากสถิติ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ Mobile Internet ใช้เว็บอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่ออาทิตย์

“จะเห็นว่าในต้นปีหน้าการแข่งขันของตลาดบนสื่อนี้จะทวีความรุนแรงมากกว่าปีนี้แน่นอน รวมทั้งการทำตลาดออนไลน์ผ่านทาง Mobile Internet จะทำให้นักการตลาดหันมาให้ความสำคัญต่อการสร้าง Mobile Internet Site กันมากขึ้น”

อุไรพร กล่าวทิ้งท้ายว่า นักการตลาดต้องปรับตัวให้ทันกระแสเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟและ Social Media ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในการวางกลยุทธ์ออนไลน์ที่เหมาะสมในช่วงเวลาแตกต่างกัน ที่ต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจได้ และระบบแอปพลิเคชั่นอินเตอร์แอคทีฟ โซลูชั่นต่างๆ ควรรองรับการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานควบคู่ไปกับการเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้ด้วย

(บทความนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Smart Industry ฉบับ ธันวาคม 2552- กุมภาพันธ์ 2553)

View :3418

Intel urged Thai Government to launch WiMAX spectrum

March 14th, 2010 No comments

Global information technology conglomerate Intel has once again urged the government to make telecom spectrums available for the creation of WiMax wireless broadband networks in Thailand.

[youtube=http://www.youtube.com/watch?v=Q17GJDo1cLA]

Vice president of Intel’s Sales and Marketing Group and general manager of Intel Asia-Pacific, Navin Shenoy

View :2017
Categories: Internet Tags: , ,