Home > Software > “ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส”: “คำตอบ” ของการลงทุนซอฟต์แวร์สำหรับ SME

“ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส”: “คำตอบ” ของการลงทุนซอฟต์แวร์สำหรับ SME

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่ผู้ประกอบการต่างต้องพึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Techonology:IT) หรือไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจที่ต้องพึงมีอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ประกอบการยังคงต้องจับจ้องและลงทุนกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ นำมาซึ่งช่องว่างของการแข่งขันระหว่างผู้มีความสามารถในการลงทุนและเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้กับผู้ที่ไม่สามารถซึ่งส่วนมากล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี (Small and Medium Enterprise: SME) ที่โดนแรงกดดันจากสองทาง นั่นคือ แรงกดดันที่ต้องการยกระดับคุณภาพการแข่งขันด้วยการใช้ไอที ในขณะที่การที่จะมีไอทีใช้สำหรับเอสเอ็มอีดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ “ต้นทุน” ที่ต้องคิดหนัก

ทว่าปัญหาเหล่านี้ของเอสเอ็มอีดูจะมีทีท่าคลีคลายไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องเพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส(Open Source ) ที่เข้ามาเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถลงทุนในระบบซอฟต์แวร์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ ซึ่งกระแสของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทยนั้นมีมานานหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านนี้ที่กระแสการตื่นตัวต่อการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทยมีความคึกคักมากขึ้นเมื่อบริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างหันมาลงทุนในระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สกันอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเริ่มเห็นผล

โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์”: ถูกกว่า…แต่ไม่ฟรี

แต่บรรดาเอสเอ็มอีเองกลับเป็นกลุ่มที่ยังมีสัดส่วนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะเอสเอ็มอียังคงขาดความรู้ความเข้าใจในการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เอสเอ็มอีส่วนมากยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส คือ “ของฟรี” ดังนั้นหากบริษัทของตนจะลงทุนในซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบริษัทจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนอกจากไม่ตรงความจริงแล้วยังนำมาซึ่งปัญหาในการเริ่มทดลองใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในบรรดาเอสเอ็มอีหัวก้าวหน้าที่ลงทุนกับซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีการวางแผนการลงทุนในระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ที่ชัดเจน

ดนุพล สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอซ์ โซลูชั่น จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ และในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการโอเพ่นซอร์ส () สังกัดสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์เสียก่อนว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สนั้นมีค่าใช้งานแต่ต่ำกว่าเนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าไลเซ่นส์ทุกๆ ไลเซ่นส์ ในทุกๆ ปี จากนั้นเอสเอ็มอีจะต้องถามตัวเองก่อนว่าตนเองนั้นต้องการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรเป็นหลัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไล่เซ่นส์ หรือเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจ

“ที่ผ่านมาผู้ใช้เองยังไม่มีความรู้มากนักจึงนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้เพื่อทดแทนซอฟต์แวร์เดิม อาทิ เอา Open Office มาแทน Microsoft Office เลยทันทีโดยมิได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในองค์กรและไม่ได้วางแผนการลงทุนในระบบไอทีในระยะยาวไว้ ทำให้พอใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปได้สักระยะหนึ่งจึงเกิดปัญหา”

ดนุพลกล่าวว่า เริ่มต้นเอสเอ็มอีจะต้องตรวจสอบความต้องการขององค์กรว่าต้องการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปใช้ในกระบวนการทำงานใด และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจน

ปัจจุบันซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สสำหรับระบบงานขององค์กรธุรกิจในทุกระดับของการทำงาน ได้แก่ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อาทิ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ระดับของการสื่อสาร (Communication) อาทิ ระบบ Collaboration ระบบ IP Phone และระบบ Voice over IP; และระดับระบบงานด้านธุรกิจ (Business Applications) อาทิ ระบบอีอาร์พี (ERP: Enterprise Resource Planning) ระบบ Document Management และระบบบริหารจัดการข้อมูล Content Management System (CMS)

“ปัจจุบันระบบงานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่กำลังได้รับความนิยมมากได้แก่ ระบบอีอาร์พี ระบบ Open Office และระบบบริหารจัดการข้อมูล (CMS: Content Management System) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นระบบซอฟต์แวร์ระดับระบบงานด้านธุรกิจ” ดนุพลกล่าว

โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์”: ลดค่าใช้จ่าย ….ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์:

ขณะที่สัมพันธ์ ระรื่นรมย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพนซอร์ส ดิเวลอปเมนต์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ที่มีประสบการณ์ในการดูแลโครงการระดับประเทศอย่างลินุกซ์ทะเลและออฟฟิศทะเล  และเป็นผู้พัฒนาซีดีรวมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สบนวินโดวส์ที่ชื่อว่า “จันทรา” (Chantra) ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า (SIPA: Software Industry Promotion Agency) กล่าวว่า การใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในองค์กรขนาดใหญ่กับในองค์กรขนาดกลางและเล็กนั้นจะมีความแตกต่างกัน องค์กรขนาดใหญ่จะมีแรงจูงใจในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อลดต้นทุนค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ ในขณะที่องค์กรขนาดกลางและเล็กจะมีแรงจูงใจในการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพื่อลดการละเมิดซอฟต์แวร์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่มีการพัฒนาแบบเปิด และไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำไปใช้งาน จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์กับองค์กร ไม่ว่าจะเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์และอัพเกรดระบบ นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาความยุ่งยากของค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์และความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ลดปัญหาในเรื่องไวรัสและช่องโหว่ของโปรแกรม และลดปัญหาความขึ้นกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพียงรายเดียวที่มีอำนาจในการตัดสิน ใจอนาคตการใช้งานไอทีขององค์กร

“ต้นทุนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส จะอยู่เพียงแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนซอฟต์แวร์ทั้งหมดหากใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ในขนาดของระบบและจำนวนผู้ใช้งานที่เท่ากัน โดยต้นทุนของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะเป็นต้นทุนค่าพัฒนา ปรับปรุง ติดตั้ง และดูแลระบบ รวมถึงการฝึกอบรมการใช้งาน” สัมพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานทั้งองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางและเล็กได้แก่ โอเพ่นออฟฟิศ (OpenOffice.org) ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์ออฟฟิศที่มีความสามารถและการใช้งานใกล้เคียงกับ Microsoft Office ทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์มทั้ง Windows, Linux, Mac OS X ฯลฯ OpenOffice.org ประกอบด้วยโปรแกรมคือ OpenOffice.org Writer (แทน Word), OpenOffice.org Calc (แทน Excel), OpenOffice.org Impress (แทน PowerPoint) และ OpenOffice.org Base (แทน Access) จึงสามารถใช้ทดแทน Microsoft Office ได้ในงานส่วนใหญ่

“เมื่อองค์กรสนใจที่จะเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org เราสามารถช่วยให้การดำเนินการง่ายขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดสินใจ วางแผนกระบวนการ ออกแบบนโยบาย ทำโครงการนำร่อง อบรมพนักงาน และ support ทำให้การเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org เป็นเรื่องง่ายสำหรับองค์กรทุกขนาด” สัมพันธ์กล่าว

บ.ซอฟต์แวร์รวมตัวตั้งชมรมให้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส:

ปัจจุบัน มีบริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สอยู่เป็นจำนวนมาก และบริษทเหล่านี้เริ่มรวมตัวกันเพื่อนำเสนอบริการระบบงานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับลูกค้า ดนุพล กล่าวว่า การรวมตัวกันของบริษัทซอฟต์แวร์ด้านโอเพ่นซอร์สในนาม ชมรมผู้ประกอบการโอเพ่นซอร์ส (BOSS) สังกัดสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (http://www.oss-business.com) นี้เพื่อเป็นแหล่งรวมของผู้ให้บริการและเพื่อให้ลูกค้าสามารถไว้วางใจว่าจะได้รับการบริการด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่มีคุณภาพในจำนวนที่มากพอที่จะให้บริการได้ ซึ่งภายในชมรมฯ จะประกอบด้วยบริษัทซอฟต์แวร์ที่พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส 10 ราย ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในแต่ละด้าน ได้แก่ ลีนุกซ์ ระบบอีอาร์พี Open Office และ ระบบ CMS เป็นต้น

“เราได้ให้บริการพัฒนา ติดตั้ง ดูแลระบบ และฝึกอบรมการใช้งานให้กับลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก การให้บริการของบริษัทในชมรมฯ นั้นจะเน้นการร่วมกันให้บริการเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยในแต่ละทีมที่ให้บริการลูกค้าจะประกอบด้วยบริษัทที่ความเชี่ยวชาญในซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สคนละด้านกันแต่ร่วมกันให้บริการ ภายในสิ้นปีนี้ทางชมรมฯตั้งเป้าว่าเราจะเพิ่มจำนวนบริษัทซอฟต์แวร์สมาชิกอีก 10 ราย ทั้งนี้เพื่อขยายศักยภาพในการให้บริการลูกค้าที่นับวันจะมีความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก” ดนุพลกว่า

พันธกิจของชมรมฯ อายุปีเศษแห่งนี้ คือการมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ให้สามารถมีทางเลือกในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพของการทำงานที่ดีขึ้น ในขณะที่มีผู้ให้บริการที่มีความรู้ในหลายด้านและ เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ชมรมฯ ยังตั้งเป้าว่าจะให้การฝึกอบรมการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้กับผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดการใช้งานระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในองค์กร ฉะนั้น หากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กรายใดมีความสนใจอยากหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ก็สามารถมาเริ่มต้นที่ชมรมฯ นี้ได้ทันที

ดังนั้น หากจะใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สให้เต็มที่ เอสเอ็มอีจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สนั้น เป็นซอฟต์แวร์ที่ “ฟรี” จริงแต่เฉพาะ ค่าลิขสิทธิ์ หรือค่าไลเซ่นส์ซอฟต์แวร์ (Software License) แต่มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบให้ตรงตามความต้องการในการใช้งานขององค์กรนั้นๆ (Customization) การติดตั้งและดูแลระบบ (Implementation and Maintenance) ให้กับบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ว่าจะใช้ระบบอะไรบ้าง อย่างไร

View :3347
Categories: Software Tags: , ,
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.