Home > Digital Magazine, Tablet > “ดิจิทอลล์ฯ”… น้องใหม่ ฝีมือเก๋า ในสนามดิจิตอล แมกกาซีน

“ดิจิทอลล์ฯ”… น้องใหม่ ฝีมือเก๋า ในสนามดิจิตอล แมกกาซีน

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของไทยอย่างเอไอเอส ได้เปิดตัวดิจิตอล แมกกาซีนภายใต้ชื่อ “เซเรเนด ดิจิตอล แมกกาซีน” (Serenade Digital Magazine) ดิจิตอล แมกกาซีน ราย 3 เดือนที่มีวัตถุประสงค์ไม่เพื่อตอบโจทย์งานด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM: Customer Relationship Management) ขององค์กร แต่เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านสื่อนิตยสารในรูปแบบดิจิตอลเล่มแรกของบริษัท

เบื้องหลังความสำเร็จของ “เซเรเนด ดิจิตอล แมกกาซีน” คือ การทำงานอย่างหนักของทีมงานกว่า 10 ชีวิตของบริษัทน้องใหม่อายุยังไม่ถึงปีอย่าง บริษัท ดิจิทอลล์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ฝากฝีไม้ลายมือในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีนชื่อดังอย่าง mars มาแล้วนั่นเอง

กมลวรรณ ดีประเสริฐ กรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทอลล์ ประเทศไทย จำกัด
เล่าว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านเนื้อหาข้อมูล (Informative Application) สำหรับอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) หลังจากที่ทีมงานของบริษัทเก็บสะสมประสบการณ์จากการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนภายใต้แบรนด์ mars มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนออกมาตั้งบริษัทรับพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเริ่มรับผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้กับเอไอเอส รวมถึงดิจิตอล แมกกาซีนสำหรับองค์กรอีก 2-3 ราย ที่จะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนของตัวเอง (ที่เป็นรูปแบบหนังสือ คือ ไม่ได้ออกเป็นรายเดือนหรือรายปักษ์) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหนังสือดิจิตอล แมกกาซีนเกี่ยวกับเรื่องการทำอาหาร และเรื่องท่องเที่ยวสำหรับ iPhone และ iPad ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ภายในครึ่งปีหลังนี้

กมลวรรณ บอกว่า ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตทางธุรกิจ แต่เป็นช่วงที่ต้องทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีน นั้นแตกต่างจากการนำไฟล์งานหนังสือ หรือไฟล์งานสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ผ่านการออกแบบและจัดหน้าแบบสื่อกระดาษมาจับใส่อุปกรณ์แท็ปเล็ตที่มีความสามารถในการนำเสนอเนื้อหาที่มากกว่าตัวอักษรและภาพนิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้ลดทอนศักยภาพในการนำเสนอของอุปกรณ์แท็ปเล็ตแล้ว ยังสร้างความเข้าใจผิดให้กับตลาดดิจิตอล แมกกาซีน และทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนและแรงงาน และยังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจนี้ เพราะรูปแบบและวิธีการทำงานในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน หรือ การพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบดิจิตอลนั้น เป็นคนละแนวคิดกับรูปแบบการพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบและแนวคิดเดิมๆ

“หากเราไม่ทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีนไม่ใช่การหยิบไฟล์ PDF มาใส่ แล้วเปิดอ่านแบบพลิกไปพลิกมา ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยทำให้ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนเติบโต ในเชิงการตอบสนองจากผู้อ่านแล้ว จะยังไม่ช่วยสร้างการเติบโตของดิจิตอล แมกกาซีนในแง่ของเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะไหลเข้ามา ซึ่งตลาดในช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ที่รายได้จากเม็ดเงินโฆษณายังไม่ค่อยไหลเข้ามามากนัก”

กมลวรรณ ย้ำว่า ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนในไทยนั้นยังเล็กแต่มีแนวโน้มที่ดี แต่ตลาดยังไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา และรายได้จากค่าสมาชิก หรือค่าซื้อแอพพลิเคชั่น ดังนั้น ดิจิตอล แมกกาซีนในช่วงจะเน้นหนักไปที่วารสารองค์กร (Corporate Magazine) ที่ตอบโจทย์เพื่องานประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ขององค์ เป็นหลักมากกว่าที่จะเป็นดิจิตอล แมกกาซีนที่เป็นนิตยสารกระโดดเข้ามาทำ

“ในสนามนี้ทุกคนที่เข้ามาล้วนใหม่หมด และทุกคนสามารถเข้ามาแบ่งเค้กก้อนนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเนื้อหา บริษัทซอฟต์แวร์ หรือธุรกิจโรงพิมพ์ แต่ดิจิทอลล์ ประเทศไทยเรามีความได้เปรียบตรงที่เรามีความเป็นสื่อ เราผ่านงานทำเว็บข่าวของเครือผู้จัดการและมีส่วนในการพัฒนาเว็บ www.manager.co.th ปัจจุบันเท่าที่มองไปในตลาด เราจะพบว่ามีบริษัทพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนรายหลักๆ อยู่ประมาณ 5 ราย ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งกัน เพราะตลาดมันเพิ่งเริ่ม และตลาดมันใหญ่มาก ตอนนี้เรามองว่าเราเป็นพันธมิตรที่จะช่วยกันสร้างตลาดมากกว่า ตลาดมันใหญ่และมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ เพราะเราไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตดิจิตอล แมกกาซีน แต่เรามองว่าเราเป็นผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นด้านเนื้อหา ซึ่งโดยเทคโนโลยีเราสามารถนำเสนอลูกเล่นในการนำเสนอได้อีกมากมาย ความท้าทายในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีน หรือการนำเสนอเนื้อในรูปแบบดิจิตอลมันเป็นอะไรที่มากไปกว่า การอ่านหนังสือบนสื่อดิจิตอล ซึ่งเราต้องช่วยกัน” กมลวรรณทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

View :3677
Categories: Digital Magazine, Tablet Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.