Home > Digital Magazine, Tablet > “เอเชียบุ๊คส์” … รุกธุรกิจ eBook หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เอเชียบุ๊คส์” … รุกธุรกิจ eBook หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

September 26th, 2011 Leave a comment Go to comments

การขยายตัวของเครื่องอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในแพลตฟอร์มของเครื่องอ่าน eBook ที่เรียกว่า Kindle และแพลตฟอร์มของอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) โดยเฉพาะ iPad ไม่เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่านเท่านั้น ยังเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจการค้าขายหนังสือของร้านหนังสือที่มีสาขามากมายอย่างเอเชียบุ๊คส์ไปด้วย ทำให้ธุรกิจร้านหนังสืออย่างเอเชียบุ๊คเริ่มหันมามองโอกาสทางการตลาดในการขยายขอบเขตของสินค้าจากการขายหนังสือเป็นเล่มๆ มาสู่การขายหนังสือที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

สิโรตม์ จิระประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จำกัด กล่าวว่า เอเชียบุ๊คเริ่มรุกตลาด eBook อย่างเต็มตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยการประกาศขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากกว่า 500,000 เล่มทันทีที่เปิดตัว และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็น 1 ล้านเล่มภายในสิ้นปีนี้ และหวังว่าจะพาเอเชียบุ๊คส์ผงาดขึ้นเป็นผู้นำตลาดร้านหนังสือออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ปัจจุบันเอเชียบุ๊คส์มีฐานลูกค้าในมือราว 150,000 คนซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่จะมีการซื้อหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียบุ๊ค แต่ทั้งนี้ทางบริษัทก็ตั้งเป้าเพิ่มยอดลูกค้าใหม่ด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบัน เอเชียบุ๊คมีหน้าร้านออนไลน์ ที่ www.asiabooks.com ซึ่งได้มีการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่หมดเมื่อปลายปีทีผ่านมา เป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนหนังสือกว่า 500,000 เล่มที่พร้อมให้ดาวน์โหลด ด้วยจำนวนคนที่เข้ามาที่ร้านค้าออนไลน์แห่งนี้ชั่วโมงละ 2,000 คน และในจำนวนนี้ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จะสั่งซื้อหนังสือ

“เดิมทีเว็บไซต์เรามีไว้เพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือในร้าน และให้สั่งซื้อและสั่งจองหนังสือที่เป็นเล่มๆ ได้ จนเมื่อปลายปีที่แล้วที่เราเริ่มปรับปรุงเว็บขนานใหญ่เพื่อรองรับการขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และปัจจุบันเว็บนี้เป็นหน้าร้านออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาลงทะเบียนสมาชิกเพื่อสั่งซื้อและดาวน์โหลดหนังสือไปอ่านได้”

สิโรตม์ กล่าวว่า ลูกค้าจะสามารถสั่งซื้อหนังสือ ดาวน์โหลด และจ่ายเงินผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ทันที โดยสามารถจ่ายเงินผ่านทั้งบัตรเครดิต เดบิต และ PayPal หรือหากลูกค้าไม่สะดวกจ่ายเงินออนไลน์ก็สามารถจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือโอนเงินผ่านธนาคาร หรือมาจ่ายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์ (ทั้งภายใต้แบรนด์ AsiaBooksและ Bookazine) ซึ่งมีมากกว่า 70 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งการดาวน์โหลดหนังสือผ่านหน้าเว็บลูกค้าสามารถจะดาวน์โหลดด้วยคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค อุปกรณ์แท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน หรือลูกค้าจะมาดาวน์โหลดหนังสือที่ตู้คีออส (Kiosk) ซึ่งตั้งอยู่ภายในร้านเอเชียบุ๊คส์ก็ได้

ทั้งนี้เอเชียบุ๊คส์ได้ลงทุนไปราว 10 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบงานหลังบ้านเพื่อรองรับร้านขายหนังสือออนไลน์รวมถึงระบบซอฟต์แวร์ที่ป้องกันการก็อปปี้ และได้ขยายการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย (Social Media)โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค (Facebook)

“ปัจจุบันเรายังขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ในรูปของ e-book อยู่ซึ่งผู้อ่านดาวน์โหลดไปก็เปิดอ่านเหมือนเปิดหนังสือที่เป็นเล่มๆ อ่าน เพียงแต่ผู้อ่านไม่ต้องพกหนังสือไปไหนมาไหนด้วย แค่ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือไปกับอุปกรณ์การอ่านซึ่งได้ตั้งแต่ที่เป็นโน๊ตบุ๊ค แท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน ผู้อ่านสามารถพกหนังสือไปอ่านได้คราละหลายๆ เล่ม ซึ่งสะดวกสบายกว่าการพกหนังสือเล่มๆ แต่ในอนาคตเรามีแผนจะพัฒนาหนังสือในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นบนแท็ปเล็ตและสมาร์ทโฟน ทั้งบนแพลตฟอร์ม iOS และ Android ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านและเพิ่มฐานผู้อ่านในหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กว้างมากขึ้น”

ปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ที่เอเชียบุ๊คส์ได้สิทธิ์ในการจำหน่ายยังเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ทางบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นภาษาไทยด้วยการเปิดโอกาสให้นักเขียนสามารถส่งเรื่องมานำเสนอเพื่อพัฒนาเป็นอีบุ๊คและขายในร้านหนังสือออนไลน์ของเอเชียบุ๊คส์ได้โดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ระหว่างนักเขียนกับร้านหนังสือ 70:30 เช่นเดียวกับรูปแบบการแบ่งรายได้ของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของแอพฯสโตร์อื่นๆ

“อย่างไรก็ดี เราหวังว่าเราจะเพิ่มปริมาณหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในปีต่อๆ ไป เพราะโดยปกติจะมีหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ออกสู่ตลาดปีละ 1 ล้านล่มทั่วโลก ซึ่งเราได้สิทธิ์ในการขายหนังสือเหล่านั้น”

สิโรตม์ กล่าวเสริมว่า การก้าวเข้าสู่ตลาด eBook นั้น เป็นยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ต้องเกาะกระแสและแนวโน้มของตลาดหนังสือทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันคนเริ่มหันมาอ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ และเอเชียบุ๊คส์เองซึ่งเป็นร้านหนังสือได้สิทธิการขายหนังสือทั้งที่เป็นเล่มที่เป็น eBook อยู่จำนวนมากจึงเห็นโอกาสทางการตลาดตรงนี้

“ในอเมริกาและอังกฤษ เป็น 2 ประเทศที่มีสัดส่วนของหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สูงราว 8 และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนในประเทศไทยมีสัดส่วนของหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่จากแนวโน้มแล้วหนังสือที่เป็นเล่มๆ มีการขยายตัวทั่วโลกต่อปีราว 10 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่หนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวราวปีละ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือการเติบโตของอุปกรณ์แท็ปเล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการอ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ชั้นดี มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจำนวนคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ ทำให้พฤติกรรมของคนเริ่มหันมาอ่านหนังสือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมและปูทางเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่ว่าลูกค้าต้องการอะไร”

View :3972
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.