Archive

Posts Tagged ‘ศร ศิลปบรรเลง’

รำลึก ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

July 28th, 2011 No comments

อพท. ประสานแนวคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับ 3 องค์กร จัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ ศร ศิลปบรรเลง” เพื่อเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทางดนตรีไทยให้เมืองอัมพวา เมืองแห่งวัฒนธรรมและศูนย์กลางดนตรีไทย ด้วยแนวคิดการจัดการการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า “อพท. ร่วมกับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เทศบาลตำบลอัมพวา และองค์การบริหารส่วนตำบลสวนหลวง ดำเนินการจัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้ถือกำเนิดที่อัมพวาและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่น ทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ

จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศเมืองวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางของดนตรีไทย สร้างความมั่นคงทางจิตวิญญาณของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับชาวสมุทรสงคราม โดยมุ่งหวังให้เป็นโครงการนำร่องในการจัดมหกรรมดนตรีไทยประจำปีของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยการสืบทอดมรดกความเป็นศูนย์กลางทางดนตรีไทยในอดีตที่เชื่อมโยงสู่บรรยากาศของเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบัน และเพื่อจุดประกายการพัฒนาดนตรีไทยในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้มีรากฐานอันมั่นคง ทั้งเป็นต้นแบบให้เกิดการวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรีในระดับอื่นๆ ต่อไป

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้มีฝีมือทางระนาดเอกดีเยี่ยม นับตั้งแต่วัยเยาว์จนได้รับคัดเลือกเข้าไปถวายงานดนตรีแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕ ที่วังบูรพาภิรมย์พระนคร และได้สร้างคุณูปการทางดนตรีไทย อันเป็นที่ประจักษ์มาตลอดระยะเวลา ๕ แผ่นดิน โดยเป็นทั้งศิลปินดนตรี ดุริยกวี และครูสอนดนตรีไทยให้แก่บุคคลทุกระดับชั้น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลแห่งตำนานดนตรีไทยที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้เมื่อถึงแก่กรรมก็ยังปรากฏผลงานการประพันธ์เพลงที่แพร่หลาย และการจัดกิจกรรมดนตรีที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ ตรงกับวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลดนตรี “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา” โดยงานนี้นับได้ว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ของคนในวงการดนตรีไทย เพื่อร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งมีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิการประชันดนตรี ปี่พาทย์เสภา มหาดุริยางค์พิเศษ ระนาด ๑๓๐ ราง การแสดงดนตรีของศิลปินระดับปรมาจารย์ อาทิ วงฟองน้ำ วงชัยยุทธ์ โตสง่า ฯลฯ รวมไปถึงพิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมบันเทิง และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าดนตรีไทยแก่สาธารณชน

ทั้งนี้ อพท. คาดหวังว่างานดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีให้กับเมืองอัมพวาอย่างต่อเนื่องไปทุกปี ที่สำคัญการจัดงานนี้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม นั่นคือ การสร้างสรรค์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือทุนทางวัฒนธรรม โดยหยิบยกเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ ศิลปะท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน วิถีความเป็นชุมชน วรรณกรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ความงดงามของฝีมือช่าง และอื่นๆ มาจัดการให้เกิดความน่าสนใจสอดคล้องตามคุณค่าของชุมชนหรือเมือง และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ตรงผ่านการเรียนรู้นั้น เช่น การได้มาเรียนรู้เรื่องดนตรีไทยเป็นเวลา ๒ วัน ๑ คืน ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยพักบ้านดนตรีแบบโฮมสเตย์ หรืออาจะเป็นการมาศึกษาเรียนรู้เรื่องความเป็นมาของศิลปินเอกด้านดนตรีไทย ประเภทเครื่องสี ตี เป่าของไทย สักประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง โดยมีโอกาสได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีไทยนั้นจากครูผู้สอนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งและน่าประทับใจ” ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กล่าวอธิบาย

จึงนับได้ว่างาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เป็นเทศกาลดนตรีไทยครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ประกอบด้วยกิจกรรมที่มีคุณค่า การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของศิลปดนตรีไทยให้ปรากฏแก่สาธารณชน โดยใช้ ๓ พื้นที่หลักในเขตอัมพวาเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ได้แก่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. ๒) โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และบ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฏีทอง ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๕-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้

—–

ตารางรวมกิจกรรม “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑”

วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๙.๐๐–๒๑.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงบอยไทย บางกอกไซโลโฟน โดย ชัยยุทธ โตสง่า ศิลปินศิลปาธร ประจำปี ๒๕๕๓ พร้อมด้วยดารารับเชิญ คนระนาดเอก ได้แก่ ครูปู บุญสร้าง เรืองนนท์ ร่วมบรรเลงเพลงภารตะนฤมิตร แหลม สมฤกษ์ ฉายแสง ร่วมบรรเลงเพลงเดี่ยวอาหนู และป้อม กองปราบ ประสิทธิ์ สิทธิชัย มาในเพลง “ดวล”

วันเสาร์ ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒
๐๖.๐๐–๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า ปี่พาทย์วงไทยบรรเลง
๐๘.๓๐-๐๙.๓๐ น. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บูรพาจารย์ทางดนตรีไทย มโหรีวงกอไผ่ บรรเลงประกอบพิธี
๐๙.๓๐–๑๐.๓๐ น. ปาฐกถาเกียรติยศ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีของแผ่นดิน” โดย ศ.ระพี สาคริก
๑๑.๐๐-๑๗.๓๐ น. การบรรเลงถวายมือ “ช่อดอกไม้ดนตรี สุนทรีย์บูชาครู” จากนักดนตรีสายศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะฯ จำนวน ๑๑ วง โหมโรงกลางวันโดยวงปี่พาทย์วงที่ ๑
๑. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร วงศิษย์ครูมนตรี ตราโมท
๒. วงศิษย์ครูถวิล อรรถกฤษณ์
๓. วงจรรย์นาฏย์
๔. วงศิษย์ครูโองการ กลีบชื่น
๕. วงศิษย์ครูรวม พรหมบุรี
๖. วงศิษย์ครูแสวง – ครูนิภา อภัยวงศ์
๗. วงศิษย์ครูพินิจ ฉายสุวรรณ
๘. วงศิษย์ครูน้ำว้า ร่มโพธิ์ทอง
๙. วงศิษย์ครูสมภพ ขำประเสริฐ
๑๐. วงศิษย์ครูประสิทธิ์ ถาวร
๑๑. วงศิษย์ครูเพชร จรรย์นาฏย์

ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
๑๔.๐๐-๑๘.๐๐ น. “สมานฉันท์ดนตรีไทยชัยพัฒนา” โดยสถาบันการศึกษาและวงดนตรีรับเชิญ จำนวน ๕ วง ได้แก่ วงคำหวาน วงพระพิรุณ วงแสนแสบ วงณัฐพนชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วงโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

ณ เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒
๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงฟองน้ำ
๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงสไบ
๑๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. เพลงครูคู่สมัย : ขุนอิน ออฟ บีท สยาม
๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. เสวนา “ย้อนรอยภาพยนตร์โหมโรง” โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ขุนอิน โตสง่า และ โอ อนุชิต
๒๐.๐๐-๒๑.๔๕ น. ฉายภาพยนตร์ “โหมโรง”

ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๑ วงศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง – ไชยชนะ เต๊ะอ้วน (ระนาดเอก) วงศิษย์ผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ – มีกิจ อินทรพิพัฒน์ (ระนาดเอก)
๒๑.๐๐-๒๔.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๒ วงกอไผ่ – ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ (ระนาดเอก) วงลายไทย – ธนาเศรษฐ์ อภิจิรนนท์ชัย (ระนาดเอก)

วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร. ๒
๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า – ปี่พาทย์วงลูกศิษย์และหลานศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. – พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
– พิธีกรอ่านโองการ โดย พันโทเสนาะ หลวงสุนทร และ ผู้ช่วยพิธีกร โดย ครูฉลาก โพธิ์สามต้น
– บรรเลงหน้าพาทย์โดย วงลูกศิษย์และหลานศิษย์ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)
๑๑.๓๐-๑๕.๐๐ น. – พิธีครอบครูดนตรีไทย
– การบรรเลงถวายมือ โดย ๑) “วงมหาดุริยางค์เยาวชนสมุทรสงคราม” บรรเลงเพลงบุหลันลอยเลื่อน และ แสนคำนึง ๒) “วงมหาดุริยางค์ระนาด ๑๓๐ ราง” เป็นการชุมนุมนักระนาดเอกทั่วประเทศ บรรเลงทางเดี่ยวเพลงอาหนู เพื่อแสดงความสามัคคีบูชาครู ๓) สิ้นสุดมหกรรมดนตรีฯ ครั้งนี้ ด้วย การบรรเลง และ ขับร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมิ่งมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พระพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒

View :3268