Archive

Posts Tagged ‘ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์’

“ศิริมีเดีย” เรือธงธุรกิจในน่านน้ำใหม่ ของเจ้าพ่อโรงพิมพ์ “ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์”

September 20th, 2011 No comments


การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสื่อดิจิตอลทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ใหญ่เก่าแก่อย่างบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องเดินเกมขยายไลน์ธุรกิจด้วยการเปิดบริษัทใหม่ “ศิริมีเดีย” เพื่อรับงานการผลิตสื่อดิจิตอลทุกรูปแบบ และเพื่อสร้างทักษะความชำนาญและปูทางไปสู่การให้บริการผลิตสื่อดิจิตอลให้กับฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

พรเทพ สามัตถิยดีกุล ประธานบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจรทั้งในและนอกประเทศ เล่าว่า บริษัทเริ่มเห็นแนวโน้มของกระแสสื่อดิจิตอลมาตั้งแต่ปีที่แล้วจากการปรับตัวของลูกค้าในต่างประเทศทำให้บริษัทเริ่มคิดหาทางเพื่อตอบสนองตลาดกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้สื่อดิจิตอลแทนสื่อเดิมอย่างแน่นอน บริษัทจึงตัดสินใจตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่เพื่อรับงานการผลิตสื่อดิจิตอลทุกประเภท โดยเริ่มจากการผลิตสื่อดิจิตอลในรูปของดิจิตอล แมกกาซีนของตนเองภายใต้ชื่อ Andaman 365 เพื่อซ้อมมือและสร้างตัวอย่างงานเพื่อนำเสนอลูกค้า

“ระบบดิจิตอลมีเดียเป็นแนวธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ธุรกิจโรงพิมพ์จะได้รับผลกระทบเพราะลูกค้าจะเริ่มหันไปใช้สื่อดิจิตอลมากขึ้น เราเลยตั้งศิริมีเดียขึ้นมารองรับลูกค้าในกลุ่มที่เริ่มทยอยลดยอดพิมพ์สื่อกระดาษลงแล้วเปลี่ยนไปทำเนื้อหาบนสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะบน iPad เราจึงต้องมีบริการตรงนี้ให้เขา ดีกว่าจะปล่อยให้ลูกค้าในส่วนนี้หายไปเฉยๆ ต่อหน้าต่อตา ถือว่าการเข้าผลิตดิจิตอล แมกกาซีนของบริษัท เป็นผลมาจากการโดนกดดันจากจากตลาดและลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของเรา”

ก่อนจะมาผลิต Andaman 365 เล่มแรกต้นปีนี้ พรเทพ เล่าว่าบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างน้อยหนึ่งปี ด้วยการเปิดบริษัทใหม่ รับทีมงานใหม่หมด และจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาสอนการใช้ซอฟต์แวร์งานเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต ซึ่งบริษัทลงทุนคนละอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ไปกับบริษัท ศิริ มีเดีย จำกัด และโปรเจค Andaman 365 ราว 10 ล้านบาท

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดจะทำดิจิตอล แมกกาซีนของเราเอง เราตั้งใจจะรับจ้างผลิต แต่ไม่มีใครกล้าลงทุน เราจึงตัดสินทำดิจิตอล แมกกาซีนของเราเองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานของเรา ว่าเรามีฝีมือและความพร้อมในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีน รวมถึงดิจิตอล ดีเมียอื่นๆ และ ณ วันนี้ เราพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าในธุรกิจดิจิตอล มีเดีย เราจะออกตลาดต่างประเทศ เอางานของเราไปโชว์ให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายดูว่าเราทำได้”

ปัจจุบัน “ศิริมีเดีย” มีทีมงานทั้งสิ้น 30 คน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 100 คนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับปริมาณงานที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงท้ายปีหลังจากที่บริษัทได้ออกโรดโชว์ในไตรมาสที่สามนี้

พรเทพ กล่าวว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของดิจิตอลมีเดียแน่นอน แต่ในทางกลับกัน การขยายตัวของสื่อดิจิตอลก็สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับบริษัท ผู้ประกอยจำต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป บริษัทมองว่าแนวโน้มของตลาดจะขยายตัวไปสู่สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะปริมาณการสั่งซื้อในสื่อสิ่งพิมพ์จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน “ศิริมีเดีย” จึงถูกตั้งมาเพื่อขยายบริการของบริษัทไปสู่ฐานตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้มาทดแทนรายได้ที่หายไปจากธุรกิจเดิม

“ธุรกิจโรงพิมพ์ ณ วันนี้ เริ่มได้รับผลกระทบจากการของสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิตอล อาจจะยังไม่มากนัก แต่เชื่อแน่มาว่าแรง และภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเห็นเด่นชัด หากโรงพิมพ์ไหนไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก”

พรเทพ ตั้งเป้ารายได้กับ ศิริมีเดียไว้สูง 100 ล้านบาท ภายใน 2 ปี ซึ่งดูเหมือนเป็นรายได้ที่ไม่มากหากเทียบกับรายได้รวมของ ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ ที่มีรายได้ปีละหลายพันล้านบาทแล้ว รายได้จากสื่อดิจิตอลยังคงเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่พรเทพ เชื่อมั่นว่า รายได้ในส่วนนี้ในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และเป็นเรือธงทางธุรกิจของบริษัทในอนาคตอย่างแน่นอน และการตัดสินใจตั้ง “ศิริมีเดีย” และออกเดินทางมาในธุรกิจสื่อดิจิตอลนี้เป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ถูกต้องแล้วนั่นเอง

View :5249

“Andaman 365” …. ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดน

September 19th, 2011 No comments

พลันที่นิตยสารดิจิตอลน้องใหม่นามว่า Andaman 365 ได้รับการโหวตจาก iMonitor บริษัทสำรวจแอพพลิเคชั่นระดับโลกจัดอันดับให้ Andaman 365 ติดอันดับ Top 10 ของดิจิตอล แมกกาซีน ทำให้สายตาทุกคู่ของนักอ่านชาวไทยจับจ้องไปที่ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดนเล่มนี้ทันที

Andaman 365 คือ ดิจิตอล แมกกาซีนของบริษัท ศิริมีเดีย จำกัด บริษัทน้องใหม่ในวงการสื่อดิจิตอล เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจรทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้การให้คำปรึกษาและดูแลการผลิตโดย สุปรีย์ ทองเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ ด็อกเตอร์ จำกัด

สุปรีย์ เล่าว่าจุดเด่นที่ทำให้ Andaman 365 เป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านทั่วโลกนั้นมาจากแนวคิดที่ต้องการให้ Andaman 365 เป็นอินเตอร์แอคทีฟ แมกกาซีน (Interactive Magazine)โดยให้ผู้อ่านให้สามารถปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในหน้าหนึ่งหน้าของ Andaman 365 จะมีเนื้อหาทั้งในรูปของตัวอักษร ภาพเคลื่อนไหว และเสียง นอกจากนี้ในเรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน หากผู้อ่านหมุนจอจากแนวตั้งเป็นแนวนอน หรือจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง วิธีการนำเสนอเนื้อหาก็จะไม่เหมือนกัน และวิธีการนำเสนอในแต่ละเล่มในแต่ละเดือนจะมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ บวกกับความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาตอบสนองจินตนาการในการนำเสนอที่หลากหลายได้อย่างลงตัว

“เราเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเล่นกับเนื้อหาได้มากขึ้น ตัวตนจริงๆ ของดิจิตอล แมกกาซีน คือ แอพพลิเคชั่น Andaman 365 คือ แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการดาวน์โหลดฟรีที่ iTunes เป็นแมกกาซีนที่นำเสนอเนื้อหาด้านท่องเที่ยวในจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามัน เราต้องการนำเสนอว่านักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวทะเลอันดามันได้ทุกวันตลอดทั้งปี และเราต้องการนำเสนอมุมมองของสถานที่และเรื่องราวของการท่องเที่ยวในจังหวัดรอบทะเลอันดามันแบบ 360 องศา ส่วนอีก 5 องศา คือ การนำเสนอมุมมองโลกเสมือน (Virtual) ที่คนอ่านสามารถฟังเพลง ดูวีดีโอคลิป และมีความรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปยืนอยู่ตรงนั้นๆ”

Andaman 365 เป็นดิจิตอลแมกกาซีนรายเดือนแจกฟรี (ฉบับแรกคือฉบับเดือนกุมภาพันธ์) ภาษาอังกฤษโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการเที่ยวทะเลอันดามัน ผู้อ่านสามารถดาวนโหลด Andaman 365 ขนาดไฟล์ 200 เมกะไบต์มาเก็บไว้ใน iPad เพื่ออ่านได้ทุกทีทุกเวลาที่ต้องการ โดยไม่ต้องต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต

สุปรีย์ บอกว่า เคล็ดลัความสำเร็จของการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน คือ ทีมงานต้องมีความเข้าใจว่าการนำเสนอเนื้อหาสำหรับดิจิตอล แมกกาซีนนั้น เปิดกว้างและมีรูปแบบที่หลากลายมากมายทั้งนี้ขึ้นกับจินตนาการที่จะนำเสนอเนื้อหาในแต่ละแบบได้อย่างหลากหลาย และการเข้าถึงเนื้อหานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบและวิธี ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการอ่านจากซ้ายไปขวา บางหน้ามีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเพลงหรือดนตรี ผู้อ่านก็สามารถกดฟังได้ หรือกดดูวีดีโอคลิป ดูรูปภาพ (ซึ่งดิจิตอลแมกกาซีนสามารถนำเสนอรูปภาพสำหรับเรื่องราวนั้นๆ ได้มากกว่านิตยสารปกติเป็นสิบเป็นร้อยเท่า) แม้กระทั่งจะดูแผนที่และเส้นทางที่จะไปให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเรื่องนั้นๆ ผ่านกูเกิ้ลแม็ป (Google Map) และจีพีเอส (GPS: Global Positioning System) ซึ่งวิธีกานำเสนอแบบผสมผสานเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการอ่านหนังสือให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเล่มนี้คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยากจะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย Andaman 365 สามารถเป็นข้อมูลการท่องเที่ยวชั้นดีเพื่อช่วยนักท่องเที่ยวเตรียมแผนการเดินทาง นอกจากนี้เรายังมีแผนจะผลิต Andaman 365 ภาษาไทยเพื่อสร้างประสบการณ์ในการอ่านดิจิตอลแมกกาซีนแบบจริงๆ ให้กับคนไทยได้ลองสัมผัสกันในทุกๆ 3 เดือน เราว่าเรามาถูกทางในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน จากวิจัยพบว่าปกติคนจะมีสมาธิกับการอ่านหรือบริโภคข้อมูลบนสื่ออย่างแท็ปเล็ตครั้งละประมาณต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น เราต้องสร้างเนื้อหาให้มีความน่าสนใจที่จะดึงดูดคนอ่านให้สนุกไปกับการอ่านได้”

สุปรีย์ บอกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีน Andaman 365 คือ ซอฟต์แวร์ 2 ชุดหลักได้แก่ WoodWing และ Adobe InDesign ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนที่ขณะนี้ได้รับความนิยม และทั่วโลกมีดิจิตอลแมกกาซีนมากกว่า 200 แบรนด์ใช้เครื่องมือชุดนี้ในการผลิต อาทิ ดิจิตอลแมกกาซีนในเครือ TIMES เป็นต้น

“หน้าที่หลักของเรา คือ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการของ Andaman 365 รวมถึงฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีนให้กับกองบรรณาธิการ”

ดิจิตอลแมกกาซีนมีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างดีเพราะตลาดทั้งในแง่ของตัวอุปกรณ์เครื่องอ่านที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวอย่างมาก กอปรกับพฤติกรรมคนที่เริ่มนิยมการอ่านและบริโภคเนื้อหาจากสื่อชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตงานโฆษณาก็เริ่มมองดิจิตอล แมกกาซีนเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รวมถึง การขยายการขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาสู่ดิจิตอลแมกกาซีน เพราะด้วยความสามารถของดิจิตอลแมกกาซีนจะช่วยให้การโฆษณาและการขายจบภายในขั้นตอนเดียวได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้เล่นหลายรายเริ่มกระโดดลงมาชิมลางในสนามนี้กันอย่างคึกคักนั่นเอง….

View :4419