Archive

Posts Tagged ‘Business Transformation’

แนวโน้ม Business Transformation สู่ “เศรษฐกิจฐานบริการ”

January 24th, 2010 No comments

คาดการณ์กันว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้จะเกิดการปฏิรูปการทำธุรกิจ (Business Transformation) จากธุรกิจบนฐานของ “สินค้า” (Product) ไปสู่ธุรกิจบนฐานของ “บริการ” (Service) ไม่เพียงแต่รูปแบบการธุรกิจจะเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่การปฏิรูปธุรกิจในครั้งนี้จะนำไปสู่การเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานบริการ (Service-based Economy) การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้นำมาทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ธุรกิจที่ตระหนักและพร้อมเท่านั้นที่จะสามารถมองเห็นแนวโน้มนี้และหยิบคว้ามาเป็นโอกาสทางธุรกิจ…

ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างชาติตะวันตกได้เริ่มตระหนักและเดินหน้าสู่เศรษฐกิจฐานบริการมาหลายปีแล้ว ภาครัฐของประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้ออกแรงอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานบริการ (Service-based Economy) ทั้งการโหมโปรโมทเพื่อสร้างการรับรู้ของภาคธุรกิจต่อการมาของแนวโน้มดังกล่าวไปจนถึงการสนับสนุนเงินทุนและส่งเสริมงานวิจัยจำนวนมากเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจของประเทศมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในสนามแข่งขันใหม่ที่กำลังจะเข้มข้นในอนาคตอันใกล้นี้

(รูปนำมาจาก http://wiki.nectec.or.th/ru/IT630_2_2008Students/KajohnsakThiawsawangReport)

‘Service’ หัวใจของการแข่งขันในยุค Service-based Economy:

สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มมีสัญญาณของการรับรู้แนวโน้มดังกล่าวจากภาครัฐผ่านยุทธศาสตร์ชาติ“ระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy แต่ทว่ายังมีความสับสนอยู่มากในระหว่างทางที่จะทำให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ ซึ่งแท้จริงแล้ว Creative Economy นั้นคืออีกด้านของเหรียญเดียวกันกับ ระบบเศรษฐกิจฐานบริการ (Service-based Economy) นั่นเอง

หากกล่าวโดยย่อระบบเศรษฐกิจฐานบริการ (Service-based Economy) คือ รูปแบบของธุรกิจจะหันมาแข่งขันกันที่การบริการมากขึ้น ซึ่งการบริการที่ว่านี้มีด้วยกัน 2 ประเภท บริการประเภทแรก คือ การบริการที่มากับตัวสินค้า (Smart Service) ตัวสินค้ามีความฉลาดมาก ขึ้น สินค้าจะสามารถให้บริการผู้ใช้ได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองให้ผู้ใช้งานมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งบริการประเภทนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างมากและประเภทสินค้าที่เริ่มจะเห็นบริการประเภทนี้ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

บริการประเภทต่อมาคือ บริการที่ผูกติดอยู่กับความเชี่ยวชาญ ความชำนาญและทักษะของคน อาทิ บริการนวดแผนโบราณ เป็นต้น ซึ่งบริการประเภทนี้เป็นน่านน้ำใหม่ของธุรกิจ ขนาดและความใหญ่ของตลาดประเภทนี้ไร้ขอบเขตและข้อจำกัด เพราะรูปแบบของสินค้าในรูปของบริการนี้สามารถเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ว่าธุรกิจนั้นจะสามรถมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) มากน้อยเพียงใด และเชื่อกันว่าบริการประเภทนี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ รูปแบบการบริการทั้ง 2 ประเภทนี้จะผลักดันให้การแข่งขันในภาคธุรกิจเดินหน้าไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมการบริการ โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว (One-Stop-Service) หรือย่างน้อยก็จะต้องคิดค้นบริการที่ลดขั้นตอนของกระบวนการทำธุรกิจให้เหลือน้อยลง เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างกัน และระหว่างลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลต้องให้ความรู้ผู้ประกอบการ:

แต่ไม่ว่าบริการดังกล่าวจะเป็นบริการในรูปแบบใด การที่จะเคลื่อนไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมบริการออกมาได้นั้นองค์กรธุรกิจจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าการแข่งขันทางธุรกิจต่อจากนี้ไปจะไม่เหมือนเก่า จะไม่ได้แข่งขันกันที่ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ต้นทุนการผลิต (Cost Management) การควบคุมคุณภาพสินค้า (Total Quality Control) แต่ธุรกิจจะต้องมีนวัตกรรมบริการ ที่สามารถวัดประสิทธิภาพประสิทธิผลได้ในเรื่องความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักโดยตรงของรัฐบาลที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในภาคเอกชนโดยเร็วเหมือนที่รัฐบาลเคยทำมาครั้งหนึ่งแล้วในอดีตที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (Thailand Productivity Institute) ขึ้นเพื่อสนับสนุนทุนและงานวิจัยเพื่อช่วยภาคเอกชนเกิดขบวนการเพิ่มผลผลิต (Productivity Movement) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระดับสากล

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนรายได้จากฐานธุรกิจบริการต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ประเทศไทยเรามีสัดส่วนรายได้จากฐานธุรกิจบริการต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ประเทศทีพัฒนาแล้วฐานเศรษฐกิจจะตั้งอยู่บนบริการแต่ประเทศที่กำลังพัฒนาฐานเศรษฐกิจจะตั้งอยู่บนสินค้าจับต้องได้หรือ Physical Goods

ปัญหาในขณะนี้คือ ภาคธุรกิจเอง ณ ตอนนี้ ยังมองไม่ออกว่านวัตกรรมบริการคืออะไร ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ต้อมีการสนับสนุนการทำวิจัยในแง่กระบวนการทำธุรกิจ (Business Process) ซึ่งในต่างประเทศรัฐบาลให้สามารถจดเป็นสิทธิบัตรได้ เพราะธุรกิจกำลังจะต้องมาแข่งขันกันที่กระบวนการทำงาน

ปัจจุบันเริ่มมีความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานราชการที่เริ่มตื่นตัวไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติที่เริ่มมีกิจกรรมและสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มของ Service-based Economy กับผู้ประกอบการ

ภาคส่วนธุรกิจในประเทศไทยที่มีโอกาสสูงหากไหวตัวได้เร็ว ได้แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว อาหาร เกษตร การแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงกิจการการให้บริการ (Hospitality Industry)

ผู้ให้บริการไอทีต้องเตรียมพร้อม:

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) อินเทอร์เน็ต รวมถึง Social Network คือปัจจัยเร่งไปสู่เศรษฐกิจฐานบริการ ที่กำลังจะเปลี่ยนจากฐานการผลิตแบบ Mass Production ไปสู่การผลิตแบบ Mass Customization

ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากไอทีและบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องเริ่มเรียนรู้ที่เข้าใจว่าการนำเอาไอทีเข้ามาใช้ในองค์กรในยุคที่การแข่งขันเบนเข็มไปที่การบริการนั้นจะมีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิม จากที่เคยเอาไอทีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการทำงาน (Increase Productivity) แต่จากนี้ไปจากเอาไอทีเข้ามาใช้นั้นเพื่อขยายผลของการใช้ไอทีในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ มิติของการให้บริการ (Innovative Service) ซึ่งจะมีแรงผลักของเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างเครื่องมือการแข่งขันของธุรกิจ อาทิ เทคโนโลยี Mash-up เทคโนโลยีเว็บ 2.0 เอสโอเอ (SOA: Service-Oriented Architecture) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าภาคธุรกิจกำลังมุ่งหน้าไปสู่การบริการ จากนั้นจะต้องเรียนรู้ว่ากระบวนการงาน (Business Process) ของธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างไร และจะสามารถออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้ แต่ทว่าการจะออกแบบนวัตกรรมบริการของธุรกิจนั้นๆ จะเกิดขึ้นไมได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือ (Co-Creation) ระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์

บริษัทซอฟต์แวร์เองจะต้องรู้ก่อนว่า Service-based Economy คืออะไร และต้องใช้ซอฟต์แวร์ประเภทใด จากนั้นจะสร้างซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการบริการของธุรกิจนั้นอย่างไร ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมบริการประกอบด้วย เทคโนโลยีสถาปัตยกรรม นั่นคือ SOA (Service-Oriented Architecture) และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม นั่นคือ Web-Service Platform ซึ่งมีทั้งซอฟต์แวร์ Open Source และ Commercial

ทั้งนี้ซอฟต์แวร์ Open Source จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคของ Service-based Economy ซอฟต์แวร์ Open Source มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นทางเลือกที่ดีของธุรกิจที่ต้องการเคลื่อนไปสู่บริการด้วยต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ถูกกว่าไม่ว่าจะเป็น CMS (Content Management System), BI (Business Intelligent), Reporting, Message Query, และ Protocol Query เป็นต้น ซึ่งซอฟต์แวร์ Open Source นี้จะทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กมีทางเลือกในการมีโซลูชั่นในราคาที่ถูกลงมากขึ้น…..

View :3026