Archive

Posts Tagged ‘e-payment’

ธปท. หนุน e-payment ดันไทยสู่ “สังคมไร้เงินสด”

December 29th, 2009 No comments

ด้วยภาระต้นทุนการบริหารจัดการ “เงินสด” ในรูปของธนบัตรและเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศราว 1 ล้านล้านบาทต่อปีนั้นมีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านบาทต่อปี และก่อให้เกิดความไม่สะดวกสูงสุดในการใช้งานและบริหารจัดการ “เงินสด” ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทำแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553 ขึ้นเพื่อเป็นกรอบการพัฒนาระบบการชำระเงินระยะ 4 ปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 และจะมาสิ้นสุดในปี 2553 นี้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมการใช้ “เงินสด” ในรูปของ Cashless เพิ่มมากขึ้น นั่นคือ การลดการใช้เงินสดที่อยู่ในรูปของธนบัตรและเหรียญ มาสู่การใช้เงินสดในรูปของอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินจะมาสิ้นสุดในปีหน้านี้ แต่ทว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการนโยบายดังกล่าวต่อเนื่องไปจนกว่าประเทศไทยจะมีอัตราส่วนการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น

ธปท. คาดหวังสังคมไร้เงินสด (Cash-less society):

ความคาดหวังสูงสุดนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการเห็นสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต โดยรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของในอนาคตนั้นผู้คนจะหันมาใช้เงินสดที่อยู่ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money: e-money) ไม่ว่าจะเป็นรูปของบัตรพลาสติก หรือในรูปของโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นนอนาคต ซึ่งหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยคือสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมการใช้เงินสดแบบไร้เงินสด โดยให้เกิดความสะดวก และปอดภัยสูงสูงแก่ผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังคงไว้ซึ่งกฎ กติกาและบรรยากาศของการแข่งขันที่เท่าเทียมกันของผู้ให้บริการ

ฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยหวังว่าแผนกลยุทธ์นี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันให้มีการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ด้วยบริการที่มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม โดยมีกฎหมายและการบังคับใช้ที่มีประสิทธิผล ซึ่งแผนกลยุทธ์นี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ เพื่อขยายการใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) ของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพื่อลดการใช้เงินสดในรูปของธนบัตรและเหรียญ โดยมีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยจะนำกฎหมายที่รองรับการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้การกำกับดูแลให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) มีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินและระบบสถาบันการเงิน

ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดแผนพัฒนา E-Money ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการในการส่งเสริมให้สังคมเคลื่อนเข้าสู่สังคมการใช้เงินสดแบบไร้เงินสด (Cash-less Society)

ประเด็นสำคัญของการพัฒนาสังคมไร้เงินสดนั้นเป็นเพราะว่าประเทศไทยนั้นมีการใช้เงินสดในระดับสูงซึ่งบริการด้านการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นระบบปิดที่ให้บริการเฉพาะลูกค้าภายในกลุ่มเท่านั้น กอปรกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านกฎหมายที่รองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาภาระของผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดกรอบการพัฒนาระบบ Local Switching เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการชำระเงินผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เครือข่าย Switching ภายในประเทศ เพื่อช่วยทำให้ค่าธรรมเนียมร้านค้าที่จะต้องจ่ายให้กับธนาคารนั้นลดลงเนื่องจากมีปริมาณการใช้งานมากขึ้นจากการเป็นระบบเปิดแทนที่จะเป็นระบบปิดอย่างในปัจจุบัน ทำให้ร้านค้าเต็มใจที่จะรับชำระเงินผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และท้ายที่สุดผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกและใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดที่เป็นธนบัตรและเหรียญ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณการใช้เงินสดทั้งสิ้นกว่าล้านล้านบาทโดยมีต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดดังกล่าวสูงถึง 3 พันล้านบาทต่อปี หากว่าประเทศไทยหันมาใช้เงินสดในรูปของอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ต้นทุนในการดูแลบริหารจัดการเงินสดในส่วนนี้จะลดลง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ประชานมีเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในรูปของบัตรพลาสติกมกกว่า 60 ล้านใบ ในจำนวนนี้ 27.0 ล้านใบเป็นบัตรเดบิต ในขณะที่ 19.6 ล้านใบเป็นบัตรเอทีเอ็ม และอีก 13.1 ล้านใบเป็นบัตรเครดิต ซึ่งถึงแม้จะดูราวกับว่าอัตราส่วนของการมีเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ในรูปของบัตรพลาสติกที่อยู่ในรูปของบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตนั้นอยู่ในระดับสูง แต่ทว่าเงินสดในบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการรวมถึงเพื่อการจับจ่ายในชีวิตประจำวันนั้นมีอัตราส่วนที่น้อยมาก คนส่วนใหญ่ยังนิยมใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระสินค้ามากกว่าบัตรเดบิต และยังคงใช้บัตรเอทีเอ็มเพื่อการถอนเงินมากกว่าการทำรายการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น การโอนเงิน การชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น

“โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยมีอัตราการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพียง 2-3 ครั้งต่อคนต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราการใช้เงินสดในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ในอัตราส่วนที่สูงจะมีอัตราการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 10 ครั้งต่อคนต่อปี” ฉิมกล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับได้แก่ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธนาคาร การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัท/องค์กรเอกชน และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนทั่วไป ซึ่งมูลค่ารวมของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยคือ 60 ล้าน ล้านบาทต่อปี โดยมีเพียง 5.5 ล้านล้านบาทต่อปีเท่านั้นที่เป็นการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัท/องค์กรเอกชน และการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนทั่วไป ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจและประชาชนนั้นจะมีส่วนช่วยให้อัตราการเติบโตของจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากประโยชน์ของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นคือจะช่วยให้ประเทศสามารถลดต้นทุนโดยรวมของการผลิตธนบัตรและเหรียญรวมถึงดูแลบริหารจัดการเงินสดในรูปของธนบัตรและเหรียญ และองค์กรธุรกิจเองก็จะสามารถลดต้นทุนโดยรวมของการบริหารจัดการเงินสดของตนเองได้

ทว่าในปัจจุบันใช่ว่าจะยังไม่มีการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นเลยแต่อย่างใด ในปัจจุบันนั้นมีตัวอย่างของการใช้เงินแบบไร้เงินสด(Cash-less) เกิดเพิ่มมากขึ้นและเป็นตัวอย่างของการใช้เงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใกล้ตัวผู้คนอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT บัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์ส (Smart Purse) ที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7Eleven รวมไปถึง mobile money หรือการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปัจจุบันผู้ให้บริการมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ก็ออกบริการทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในรูปบริการ Mobile Money กันครบถ้วน

ค่ายมือถือโดดให้บริการ “เงินสดอิเล็กทรอนิกส์” ถ้วนหน้า:

เริ่มจากค่ายทรูที่ส่งบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด บริษัทลูกที่ให้บริการด้านการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีการเปิดตัวบริการทางการเงินแบบไร้เงินสด แต่เป็นการใช้เงินสดในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือมานานกว่า 3 ปีแล้ว โดยมีบริการทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เลือกหลากหลาย โดยทรูมันนี่ตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของประเทศ

ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด บริหารจัดการปริมาณ “เงินสด” ในรูปของอิเล็กทรอนิกส์อยู่สูงถึง 26,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 28,000 ล้านบาทในปีนี้ โดยมีบริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการอยู่ถึง 6 รูปแบบที่ครอบคลุมรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน ได้แก่ บัตรเงินสดทรูมันนี่ (True Money Cash Card) บริการชำระเงินทรูมันนี่ (True Payment Service) กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic wallet: e-wallet), ระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (payment gateway), ทัชซิม (Touch SIM), และบริการรับจองตั๋วผ่านออนไลน์ (WeBooking.com)

ปิยชาติ กล่าวเสริมว่า บริการทั้งหมดนั้นถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลาย ทั้งงานใช้งานทั่วไปและการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจง อาทิ บัตรเงินสดทรูมันนี่ (True Money Cash Card) นั้นสำหรับการใช้งานทั่วไป คือเป็นบัตรเงินสดที่ผู้ใช้สามารถเติมเงินลงไปแล้วนำมาใช้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการสำหรับสินค้าทุกอย่างในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ส่วนกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (electronic wallet: e-wallet) นั้นเป็นบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ โดยให้ผู้โทรศัพท์มือถือสามารถพกเงินสดมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทไว้ในโทรศัพท์ได้เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าชำระค่าบริการต่างๆ ของบริษัทในเครือทรูเองและของผู้ให้บริการที่เป็นพันธมิตรธุรกิจกับทรู อาทิ ชำระค่าไฟ ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ เป็นต้นซึ่งเงินสดในโทรศัพท์มือถือนั้นสามารถผูกติดกับบัญชีธนาคารได้ถึง 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ โดยผู้ใช้สามารถเติมเงินลงใน e-wallet ของตนเองง่ายๆ ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ e-wallet แล้วทั้งสิ้น 5.6 ล้านคนซึ่งบริษัทคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนภายในสิ้นปี

นอกจาก e-wallet แล้วทรูมันนี่ยังมีบริการหัวหอกอีกบริการหนึ่งคือ touch SIM ที่รูปแบบจะคล้าๆย กับ e-wallet แต่เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบออฟไลน์ คือเวลาใช้งานไม่ต้องออนไลน์ไปทำรายการกับธนาคาร แต่เงินสดนั้นถูกบรรจุอยู่ใน SIM ของโทรศัพท์ รูปแบบการใช้งานเหมือนกับการใช้บัตรเงินสดทั่วไป เพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือที่บรรจุ touch SIM แตะที่เครื่องรับหรือเครื่องอ่านที่จุดรับชำระเงินของร้านค้าต่างๆ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่รับชำระเงินผ่าน touch SIM แล้วมากกว่า 2,000 ร้าน อาทิ ทรูคอฟฟี่ ซีพี เฟรชมาร์ท แมคโดนัล  Red Mango, Auntie Anne’s และเครือ Major Cineplex Group เป็นต้น ซึ่งทรูมันนี่มีเป้าหมายจะเพิ่มจุดรับชำระเงินผ่าน touch SIM เป็น 10,000 จุดภายในสิ้นปี 2552 และเป็น 50,000 จุดภายในปี 2553 และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ touch SIM จากปัจจุบัน 50,000 คนเป็นราว 200,000 คนภายในสิ้นปีนี้

ในขณะที่ค่ายเอไอเอสเองก็ส่ง Advanced mPAY บริษัทลูกที่ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ลงสนามเช่นกัน โดยบริการของ Advanced mPAY นั้นมีอยู่ 4 ส่วนหลักได้แก่ บัตรเติมเงิน (card refill), บริการรับชำระเงินสำหรับ e-commerce บริการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ (money transfers) และบริการรับชำระเงินสำหรับองค์กรธุรกิจ (m-biz solutions)

ปัจจุบัน Advanced mPAY มีลูกค้าเพิ่มขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งสิ้นประมาณ 65,000 ราย และมีมูลค่าของเงินสดที่ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ Advanced mPAY ประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน

ในขณะที่ดีแทคเองก็ให้บริการด้นการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน โดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยให้บริการ ATM SIM ซึ่งเป็นการผูกบัญชีธนาคารกสิกรไทยไว้ใน SIM ของดีแทค และให้ผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการเงินสดในบัญชีธนาคารนั้นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา โดยดีแทคตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 1.3 ล้านคนภายในสินปีนี้ ซึ่งดีแทคกับธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับเพิ่มจุดรับชำระเงินด้วย ATM SIM ล่าสุด ลูกค้า Aeon และ KTC สามารถชำระค่าบริการต่างด้วย ATM SIM ได้โดยไม่ต้องไปเข้าแถวรอชำระเงิน ปัจจุบัน ATM SIM มีพันธมิตรรับชำระผ่าน ATM SIM แล้วประมาณ 50-60 ราย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนและผลักดัน (ผ่านแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553) ให้เกิดการใช้งาน e-money และ e –payment เพิ่มมากขึ้น โดยจะผลักดันให้เกิดการใช้งานในภาคธุรกิจค้าปลีกและการคมนาค ซึ่งเป็น 2 ภาคส่วนธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่ทั้งผู้กำกับดูและเป็นคนกลางในการประสานสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถานบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจค้าปลีก ผู้ให้บริการเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนผู้ใช้เงินสดอิเล็กทรอนิกส์มั่นใจในธุรกรรมต่างๆ ว่าปลอดภัยและมีกฎหมายรองรับ ทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งเป็นสังคมที่มีอัตราส่วนของการใช้เงินสดแบบไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

“การจะไปถึงตรงจุดนั้นได้เป็นงานยากและท้าทายเพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นในอนาคต” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย….

View :4170
Categories: e-payment Tags: