Archive

Posts Tagged ‘Google App’

Mobile Office แนวโน้มรูปแบบการทำงานใหม่ เปลี่ยนทุกที่เป็นที่ทำงาน ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กร

June 5th, 2011 No comments


ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครือข่ายการสื่อสาร ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่ไหนมุมไหนเวลาไหนก็ได้ ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในยุคดิจิตอลที่คนทำงานสามารถติดต่อสื่อสารกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีโครงข่ายการสื่อสารที่พร้อมที่จะให้คนทำงานสามารถที่ไหน อย่างไร ได้ทุกที่ทุกเวลา


บริษัทสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Skype เองได้จัดทำสำรวจแนวโน้มของการทำงานที่บ้านจากคนทำงานกว่า 1,000 คนจาก 500 บริษัทในทุกขนาดในอเมริกา พบว่า การทำงานจากนอกที่ทำงานหรือทำงานจากที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมการทำงานในต่างประเทศแล้ว ตัวเลขเชิงสถิติจากผลการสำรวจมีความน่าสนใจซึ่งสะท้อนแนวโน้วรูปแบบการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี การสำรวจพบว่ามากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของ 500 บริษัทได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ในขณะที่ราว 34 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มให้พนักงานทำงานจากข้างนอกออฟฟิศบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งการให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นอกที่ทำงานนั้นมีส่วนทำให้พนักงานมีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น

“อาร์เอส” ริเริ่ม Mobile Office:

ปัจจุบันมีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหน ก็ได้นอกที่ทำงาน อาทิ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ให้ทีมงานด้าน Strategic Innovation Business ของบริษัทสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกออฟฟิศได้ ซึ่งทีมงาน Strategic Innovation Business ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 คนมักจะนัดพบกันตามร้านกาแฟเพื่อระชุมหารือความคืบหน้าของงาน และเตรียมข้อมูลเพื่อนเข้าประชุมกับ “เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ซีอีโอแห่งอาร์เอส และการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในอาร์เอส

เนื่องจากหน่วยงาน Strategic Innovation Business เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนสมองของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานด้านวิจัยและจับจ้องเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจบันเทิงของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล รองประธานสายงาน Strategic Innovation Business บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน้าที่หลักของเขาและทีมงานคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์และสรรหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการเกื้อหนุนของเทคโนโลยีและวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ดังนั้นการนั่งทำงานภายในห้องสี่เหลี่ยม หรือการต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นร่วมเวลากับพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานทีมนี้ ซึ่งวัดผลงานที่ผลของเนื้อหางานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่เข้ามานั่งทำงานที่ที่ทำงาน

อาทิตย์มักจะใช้ร้านกาแฟ ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตเป็นที่นัดประชุมและคุยงานกับทีมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนวันอื่นอาทิตย์กับทีมงานจะทำงานอยู่ที่บ้าน เว้นแต่ในบางสัปดาห์ที่อาทิตย์ต้องเตรียมงานและข้อมูลเพื่อเข้าประชุมกับผู้บริหารเพื่อนำเสนอแนวความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ สัปดาห์นั้นอาทิตย์และทีมจะนัดพบกันบ่อยมากขึ้น โดยปกติ อาทิตย์และทีมงานจะมีอุปกรณ์ในการทำงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อันได้แก่ อุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ที่ทั้งทีมใช้อยู่คือ iPad ที่ลงแอพพลิเคชั่นสำหรับการ ทำงานไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น Pages สำหรับงานเอกสาร Keynote สำหรับงานพรีเซนเตชั่น และ Numbers สำหรับงานด้านตัวเลข เป็นต้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่อาทิตย์ใช้อยู่เป็นประจำคือ Google Apps อาทิ Gmail และ Google Docs รวมถึง แอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์อื่นๆ อาทิ Dropbox เป็นต้น

“เราแทบไม่ต้องพกพาอุปกรณ์การทำงานที่เทอะทะ มากมาย เพียงแต่ iPad 3G และ iPhone 4 และหาที่นั่งทำงานที่มีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ให้บริการเท่านั้นทุกอย่างก็อยู่ในมือเรา เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศมีประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ คนจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่เขาอยู่ในสภาวะที่สบายๆ การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นรูปแบบการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากกว่าการที่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากไฟล์งานทุกอย่างจะอยู่ในเครื่อง iPad และเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ซึ่งอาทิตย์สามารถเก็บและแชร์ไฟล์รวมถึงข้อมูลต่างๆ กับทีมงานตนและกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้สะดวกและง่ายดายมาก”

อาทิตย์เชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office คือ ทำงานที่ไหนก็ได้นั้นจะเริ่มมีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะความพร้อมมากขึ้นของโครงข่ายสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้ง WiFi และ 3G ประกอบกับอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้ง่ายและเปี่ยมประสิทธิภาพในการทำงานสูงเริ่มมีใช้แพร่หลาย และราคาไม่แพงมาก รวมถึงการที่มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์การทำงานแบบ mobile office และเอื้อให้การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น สำหรับตัวเขาเองและทีมงานได้เริ่มทำงานในรูปแบบ mobile office มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อาทิตย์มองว่า สิ่งสำคัญของรูปแบบการทำงานแบบนี้ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มอยู่ในขณะนี้นั้น จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่กับทุกหน่วยงานในแต่ธุรกิจ และบริษัทที่อนุญาตให้มีการทำงานแบบ mobile office ได้นั้นบริษัทจะต้องมีระบบการประเมินผลงานที่ตัวเนื้องานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และตัวคนทำงานเองจะต้องปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานให้สามารถ ทำงานแบบ Dynamic ได้ นั่นคือ ต้องทำงานได้ทำที่ทุกเวลา ทุกแอพพลิเคชั่น และต้องสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน (multitasking workers)

“นอกจากเรื่องทักษะในการทำงานแบบหลายชนิดในเวลาเดียวกันพร้อมๆกันได้แล้ว คนทำงานในรูปแบบ mobile office นั้นจะต้องมีวินัยในการทำงานสูงและต้องรู้จักการบริหารเวลาที่ดีมากพอ เพราะการทำงานแบนี้จะใช้ผลงานที่ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้บริหาร “อเด็คโก้” ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา:

นอกจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังมีบริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางานอันดับต้นๆ ของเมืองไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีโนบายให้พนักงานระดับผู้บริหารสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากนอก ที่ทำงานได้ บริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานราว 200 คน ซึ่งเป็นระดับผู้จัดการ 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถทำงานแบบ mobile office ได้และ กานดา สุภาวศิน E-Business Development Manager กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพนักงานจำนวนนั้น เธอเล่าว่า ด้วยหน้าที่การงานที่เธอต้องรับผิดชอบในส่วนงานด้านการสมัครงานออนไลน์/ดูแลผู้สมัคร งาน/ลูกค้า ทั้งระบบ Back Office และ Front Office และดูแลส่วน Online Marketing/SEO/Social Media ของบริษัทร่วมกับ Marketing Team ทำให้เธอต้องเดินทางบ่อยและต้องทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์

กานดา เล่าว่า บริษัทของเธอมีนโยบายให้พนักงานระดับผู้จัดการสามารถทำงานแบบ work from home หรือ ทำงานแบบ mobile office ได้ ด้วยระบบของบริษัทที่เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของสำนักงานสาขาทั้ง 6 แห่งในประเทศไทย (รวมสำนักงานใหญ่) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการสามารถเข้าระบบงานของบริษัทได้จากข้างนอกออฟฟิศผ่านระบบโครงข่ายส่วนตัวเสมือนหรือ VPN (Virtual Private Network) ทำให้กานดามมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงมาก เพราะเธอสามารถจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านกาแฟ ร้านเบเกอร์รี่ร้านโปรด หรือมุมสบายๆ ในที่ทำงานของเธอเอง

“ด้วยลักษณะงานที่ต้องเดินทาง ติดต่อสื่อสารประสานงานกับทีมงานตามที่ต่างๆ และตามสาขาต่างๆ ของบริษัทอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องฝึกการทำงานแบบที่ไหน เมื่อไร ก็ทำงานได้ และเราจะสามารถทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันได้ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยต่างๆ มีความพร้อมและช่วยเสริมให้การทำงานแบบ mobile office เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัจจุบัน อุปกรณ์ในการทำงานหลักของกานดา คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ที่เธอมักจะพกไว้ข้างกายตลอดเวลา เธอบอกว่าเธอใช้ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับทีมงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นสื่อสารยอดนิยมอย่าง Skype, WhatsApp และ Viber ที่เธอมักจะใช้เป็นประจำ นอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเพื่อเข้าระบบงานของเธอที่ออฟฟิศผ่านเทคโนโลยี virtual desktop นอกเหนือไปจากแอพพลิเคชั่นที่กล่าวมาแล้ว กานดายังประยุกต์ใช้สื่อเครือข่ายสังคม (Social Network) อย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางสื่อสารกับทีมงานช่องทางหนึ่ง และใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับสังคมออนไลน์และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร

“เนื่องจากต้องดูแลทั้งประเทศไทยและเวียดนาม จึงต้อติดต่อสื่อสารข้ามประเทศ อยู่เป็นประจำ ซึ่งนโยบายบริษัทให้เราใช้ Skype ได้ เราก็จะประชุมงานกันผ่าน Skype เป็นประจำ และเมื่อต้องเดินทางไปเวียดนาม อุปกรณ์ทำงานของเราทั้ง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ก็สามารถช่วยให้เราทำงานแบบไร้รอยต่อ คือ ทำงานเหมือนกับอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะเราสามารถเข้าระบบงานของเราที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะที่นั่นเขามีเครือข่าย 3G ให้ใช้ฟรีตามร้านค้า ร้านอาหาร และสองข้างถนน สะดวกสบายมาก”

กานดาบอกว่า โดยส่วนตัวมองว่าแม้ว่าการทำงานแบบ mobile office จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานทั้งหมดของเธอได้ เพราะเธอยังคงต้องเข้าที่ออฟฟิศเพื่อประชุมงานอยู่เป็นประจำ แต่เธอก็ยอมรับว่าการทำงานในลักษณะแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเวลาในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนการสื่อสาร ลดต้นทุนค่าเดินทางเพื่อจะไปประชุมลงไปได้มาก เธอเชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office จะมีให้เห็นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่ทุกหน้าที่การงานสามารถทำงานแบบ mobile office ได้ งานบางอย่าง อาทิ งานด้านบัญชี อาจจะต้องเข้ามาทำงานประจำที่ที่ออฟฟิศ

“การทำงานแบบ mobile office นั้นจะให้ประสบความสำเร็จและได้ระสิทธิภาพ บริษัทจะต้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด้วย อาทิ การให้พนักงานสามารถเข้าระบบข้อมูล ได้จากที่ไหนก็ได้ การสนับสนุนอุปกรณ์ และต้นทุนการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบ mobile office เอาเข้าจริงๆ แล้ว พนักงานที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วจะยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขาจะทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เขาจะทำงานทุกที ทุกเวลา แบบไม่มันหยุด เพราะเขาจะทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน และจะทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน”

กานดาเสริมว่า อยากให้องค์กรธุรกิจมองไปที่รูปแบบการทำงานแบบ mobile office มากขึ้น และควรจะสนับสนุนการทำงานแบบ mobile office ของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนค่าอุปกรณ์และค่าค่าสื่อสาร ลงทุนระบบงานของบริษัทให้พนักงานสามารถเข้าผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ไหนเข้ามาทำงานก็ได้ เพราะในระยะยาวแล้ว ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน เพราะพนักงานไม่ต้องเข้านั่งมาทำงานที่บริษัท บริษัทสามารถลดขนาดพื้นที่ ลดจำนวนอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ ลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้มาก

“การทำงานในสภาวะที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่จะสามารถทำงานแบบ mobile office จะต้องสามารถบริหารเวลา และควบคุมดูแลตนองให้ทำงานได้ดีด้วย” กานดากล่าวทิ้งท้าย

Google Apps + Cloud ปัจจัยเร่ง Mobile Office:

แนวโน้มรูปแบบการทำงานแบบ mobile office นั้นกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ด้วยความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุมมากขึ้น กอปรกับสภาพการจราจรที่แออัดทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาทดลองให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิ้ล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อไปทำงานมากที่สุดในโลก เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัดทั้งในช่วงเช้าและเย็น ระบบคมนาคมขนส่งไม่สะดวกสบายมากนัก และกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งสภาพแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับรูปแบบของการทำงานแบบ mobile office มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงบริษัทขนาดกลางและเล็กในเมืองไทยหลายรายเริ่มหันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้แล้ว จะเห็นได้จากปริมาณการใช้ระบบซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์เซอร์วิสของกูเกิ้ล ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบงาน Google Apps

“ความสามารถในการทำงานบนรูปแบบ mobile working ในปัจจุบันมีมากขึ้นมากเมื่อความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบวกกับความแพร่หลายของอุปกรณ์พกพาต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต (Tablet) มีเพิ่มมากขึ้นจนยอดขายโดยรวมแซงหน้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้อุปกรณ์พกพาฉลาดๆ แบบนี้เมื่อรวมกับระบบซอฟต์แวร์ที่กูเกิ้ลให้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เขาจะทำงานที่ไหน และเมื่อใดก็ได้ ชีวิตการทำงานก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

พรทิพย์ เล่าวว่า ตัวเธอเองในฐานะพนักงานกูเกิล ก็ได้ทำงานบนรูปแบบของ mobile working เนื่องจากเธอต้องเดินทางบ่อยแต่ต้องมีการประชุมติดต่อประสานงานกับทีมงานอยู่เป็นประจำ เธอพกพาอุปกรณ์การทำงานเพียงสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่บางเฉียบ ก็สามารถเปลี่ยนทุกสถานที่ที่เธออยู่ในปัจจุบันเป็นที่ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างง่ายดาย งานต่างๆ ที่เธอทำค้างอยู่ก็สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เธอไม่ต้องพกพาไฟล์งานหรือไฟล์เอกสารใดๆ ไปด้วยกับเธอ แม้แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) เธอยังไม่ต้องพกพาไว้ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากนั้นพรทิพย์ก็โหลดทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำงานลงมาที่เครื่องเพื่อทำงานจากนั้นก็จัดการจัดเก็บไฟล์งาต่างๆ กลับขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์ดังเดิมเมื่อทำงานเสร็จแล้ว

“รูปแบบการทำงานแบบนี้ พนักงานของกูเกิ้ลทั่วโลกทำอยู่ และเริ่มเห็นแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุมมากขึ้น และคนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้บริการคลาวด์ผ่านบริการของกูเกิ้ลหลายอย่าง อาทิ Gmail และ Google Doc ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะทำงานจากทุกที่ที่เขาต้องการมากขึ้น คลาวด์แอพพลิเคชั่นที่ใช้เป็นประจำคือ Gmail, Google Talk, Calendar, Google Doc, SpreadSheet และ Google Map”

พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (Small and Media Enterprise: SME) ในประเทศไทยหลายรายเริ่มมีการใช้ระบบงาน mobile solution มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ Google Apps ช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ เนื่องจาก เอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้นใช้บริการได้ฟรีหากไม่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่มีการการันตีคุณภาพของบริการ (Service Level Agreement: SLA) แต่หากเอสเอ็มอีต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมบริการหลังการขาย ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย และต้องการบริการเรื่องการพัฒนา ต่อยอกแอพพลิเคชั่น (API: Application Programming Interface) ก็สามารถใช้บริการ Google Enterprise ได้โดยลงทุนเริ่มต้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อปี

“เอสเอ็มอีเริ่มใช้และเริ่มรู้ว่าเขาสามารถซิงค์ระบบงานทุกอย่างระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันเอสเอ็มอีหลายรายเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นที่จำเป็นระหว่างเดินทางมากขึ้น”

Google Apps รองรับการใช้งานตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา ไปจนถึงแท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน และรองรับการใช้งานของอุปกรณ์ในทุกแพลตฟอร์มทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซิมเบี้ยน แอนด์ดรอยด์ และ iOS พรทิพย์ กล่าว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือหรืออุปกรณ์พกพา (Mobile Internet Users) 12 ล้านคนในประเทศไทยเมื่อรวมกับความพร้อมของบริการ Google Apps และคลาวด์คอมพิวติ้ง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile working เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นั้นบริษัทต่างๆ เมื่อเห็นแนวโน้มของความสามารถในการทำงานในทุกที่ทุกเวลาของพนักงานได้แล้ว หากมีการปรับนโยบายโดยอนุญาตให้พนักวานในส่วนวานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่ทำงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่ใดๆได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile office เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากองค์กรใดมีนโยบายหรือกำลังเตรียมจะมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือภายนอกที่ทำงานได้ สิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบรักษาความพร้อมภัยของข้อมูล ซึ่งทางเลือกที่แนะนำสำหรับองค์ขนาดกลางและเล็กคือ การพึ่งพาบริการของคลาวด์คอมพิวติ้ง ของผู้ให้บริการ จะเป็นกูเกิ้ลหรือไม่ก็ได้ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์จะมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและรับประกันคุณภาพบริการและความเสถียรของการใช้งานและการเข้าถึงระบบข้อมูลและแอพพลิเคชั่น”

พรทิพย์ กล่าวว่าหากเอสเอ็มอีรายใดต้องการใช้บริการคลาวด์ และ Google Apps หรือ Google Enterprise ลูกค้าสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและซื้อบริการได้ด้วยตนเองที่ www.google.com/a หรือจะติดต่อขอใช้บริการผ่านตัวแทนจำหน่ายของกูเกิ้ลในปรพเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ราย คือ CRM & Cloud Consulting และ Tangerine ลูกค้าที่มีระบบงานระบบฐานข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วก็สามารถมาใช้งานและรวมระบบเข้ากับระบบงานบนคลาวด์ของกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทคนไทยนี้จะสามารถให้บริการและคำปรึกษาลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ Google Enterprise

เทคโนโลยี Mobility หัวใจขับเคลื่อน Mobile Office:

เนื่องจากโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต้องการความสะดวกสบายในการทำงานการมีสิงอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ย่อมทำให้มนุษย์มีความยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น มนู อรดีดลเชฐ ประธานคณะกรรมการบริหาร เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารพกพาที่มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ประกอบกับความพร้อมของระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริการผ่านเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาเพิ่มมากขึ้น

“จะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนภายในหนึ่งเจนเนอร์เรชั่นของคน ที่วิถีชีวิต วิถีการทำงานจะเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยทั้งโครงข่าย อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่น หากบริษัทหรือองค์กรธุรกิจไหนปรับตัวปรับรูปแบบการทำงานทัน เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาจะเลือกที่จะไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เขาไม่ถนัดทำงานในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่คุ้น บริษัทหรือองค์กรธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับวัฒนธรรมรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ ปัจจุบันมีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน ในประเทศไทยมีคนใช้ Facebook 8 ล้านคน สิ่งเหล่านี้มีผลและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตการสื่อสารและการทำงานทั้งสิ้น”

มนู กล่าวต่อว่า เครือข่ายสังคม (Social Network) จะเข้ามาเป็นโครงข่ายการสื่อสารหลักอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารในกลุ่มของคนในรุ่นใหม่ จากเดิมที่มีเพียงโทรศัพท์ประจำที่ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็นอินเทอร์เน็ต และปัจจุบันพัฒนาการมาเป็นเครือข่ายสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถจับต้องได้แล้ว องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาว่านโยบายขององค์กรควรเป็นอย่างไรเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันนี้ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพราะการที่มีความสามารถในการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา (Mobility) มากขึ้น จะทำให้ทำงานได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจที่จะต้องมองแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านนี้ให้ออกและเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว

View :4412

“Cloud Computing” เทคโนโลยีอนาคต…..สำหรับ SME วันนี้!

March 21st, 2010 No comments

อาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี Cloud Computing ในประเทศไทยที่คาดกันว่าจะเริ่มมีการพูดถึงละใช้งานแพร่หลายมากขึ้นอย่างมาก ในปีนี้นั้น ไม่เพียงแต่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นแต่ Cloud Computing จะลงไปให้บริการกับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SME) ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการหลายราย จึงเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยเอื้อให้ SME สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่โดยใช้เงินลงทุนน้อยลง

ทั้งนี้โครงสร้างทางเทคโนโลยีของ Cloud Computing ที่เป็น “ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ” เป็นวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ระบบจัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้อง การผู้ใช้ โดยระบบสามารถเพิ่มและลดจำนวนทรัพยากร รวมถึงเสนอบริการให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลาโดยที่ผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องทราบเลยว่าการทำงานหรือเหตุการณ์เบื้องหลังเป็นเช่นไร

องค์ประกอบของการใช้บริการจาก Cloud Computing นั้น ผู้ใช้มีเพียงอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้บริการต่างๆ ได้แล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นธุรกิจสำหรับกิจการตั้งแต่ขนาด เล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รูปแบบบริการจะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานแบบแยกชิ้น คือผู้ใช้สามารถเลือกใช้ประเภทบริการและจำนวนแอพพลิเคชั่นตามความต้องการใช้ งานจริง โดยเสียจ่ายใช้จ่ายตามปริมาณการใช้งานและจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้

Cloud Computing ทางเลือกสำหรับ SME ใช้ไอทีเสริมแกร่ง

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคอมพิวเตอร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มทางธุรกิจกับการเติบโตของ Cloud Computing นั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จากผลการวิจัยล่าสุด ไอบีเอ็มคาดว่า Cloud Computing จะถูกใช้งานเพิ่มมากขึ้นและมีบทบาทอย่างมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ด้วยเทคโนโลยีนี้ทรัพยากรทางด้านไอทีจะถูกผนวกรวมศูนย์เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยองค์กรประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และช่วยให้องค์กรเพิ่มหรือลดขนาดของระบบไอทีได้ตามต้องการ

ทั้งนี้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud Computing คือให้พลังการประมวลผลสมรรถนะสูงกว่าแต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพราะ Cloud Computing ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนให้กับระบบไอทีทั้งหมด เนื่องจากองค์กรอาจใช้บริการจาก Cloud Computing ที่ถูกโฮสต์ไว้ภายนอกและซื้อใช้ในรูปแบบของบริการแทนที่จะต้องลงทุนซื้อ ซอฟท์แวร์มาใช้เอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและมีพนักงานฝ่ายเทคนิคอยู่อย่างจำกัด

Google Apps: บริการยอดฮิตบน Cloud Computing

สำหรับธุรกิจ SME นั้น ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นธุรกิจที่ให้บริการเป็นภาษาไทยบน Cloud Computing แล้วหลายบริการจากผู้ให้บริการหลายรายไม่ว่าจะเป็น Google Apps จาก Google Inc. โดยความร่วมมือกับ Saleforce.com และล่าสุดบริการ Software Plus Service จากไมโครซอฟท์เตรียมเปิดบริการสำหรับลูกค้าในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน

Google Apps คือ ตัวอย่างของ Web 2.0 ที่เป็นจุดพลิกผลันให้เกิด Cloud Computing ที่รวมแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านจุดเดียว รวมไปถึงบริการที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ Search Engine, G-mail, Picasa, Google Video, Google Doc, Google Calendar, YouTube, Google Maps, Google Reader และ Blogger เป็นต้น

บริการ Google Apps คือชุดผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งบนเว็บ เพื่อการสื่อสารและช่วยในการทำงานร่วมกันที่พร้อมรองรับภาษาไทย โดยเป็นชุดแอพลิเคชันที่ติดตั้งบนเว็บ เช่น Google Talk อีเมล์ (G-mail) ภายใต้ชื่อโดเมนของผู้ใช้งานเอง เช่น yourname@yourdomain.com This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it ปฎิทิน (Google Calendar) และเอกสาร (Google Documents) เพื่อช่วยองค์กรต่างๆ ที่ต้องการชุดเครื่องมือด้านการสื่อสารคุณภาพสูงสำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ โดยไม่ต้องซื้อ ติดตั้ง หรือคอยบำรุงรักษาด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้ยุ่งยาก ผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลของตนได้เองทั้งหมดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการต่างๆ จะถูกโฮสต์ไว้ที่ Google โดยผู้ใช้ที่ได้รับการตั้งค่าจากผู้ดูแลระบบ เพียงแค่เข้าไปที่หน้าล็อกอิน (Login) ผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ ก็เข้าใช้งานระบบได้ทันที อีกทั้งบริการต่างๆ ยังออกแบบมาให้รองรับปริมาณผู้ใช้ และพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนมากได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาระบบได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้ Google Apps มีบริการให้เลือก อาทิ Google Apps Standard Edition บริการฟรีสำหรับธุรกิจ กลุ่มชมรมและองค์กร หรือแม้แต่นำมาประยุกต์ใช้ในครอบครัว โดยนำ Google Apps มาใช้กับโดเมน และ Google Apps Premier Edition ที่คิดค่าบริการ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สำหรับผู้ใช้แต่ละคน โดยตัวระบบได้ออกแบบมาให้มีความสามารถมากขึ้น ทั้งด้านการติดตั้ง การบูรณาการระบบ และการจัดเก็บข้อมูล เหมาะสำหรับธุรกิจทุกประเภท มีบริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ ให้พื้นที่สำหรับจัดเก็บอีเมล์สูงถึง 10 กิกะไบต์ และมี API พร้อมสำหรับเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังมี Google Apps Education Edition: ใช้งานฟรีสำหรับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา พร้อมด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ครบถ้วนทั้งด้านการช่วยเหลือ การจัดเก็บข้อมูล และ API สำหรับงานพัฒนาต่อยอด โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Google Apps ในประเทศไทยแล้วนับร้อยราย

ไมโครซอฟท์เตรียมส่งบริการบน Cloud Computing ลงตลาดไทยครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ลักษณะบริการ Cloud Computing ไม่เพียงจะเป็นคู่แข่งสำคัญต่อไมโครซอฟท์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่อื่นๆ เช่น ออราเคิล และเอสเอพี ซึ่งมักสร้างรายได้จากการขายไลเซนส์การใช้งานซอฟต์แวร์ที่คิดตามการติดตั้ง ลงบนเครื่องแต่ละครั้ง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ได้จากการดูแล ปรับปรุงระบบให้ในภายหลัง

ดังนั้น ไมโครซอฟท์ จึงได้กระโดดเข้าสู่สมรภูมิของ Cloud Computing ด้วยการเปิดตัว Windows Azure วินโดวส์เวอร์ชั่นใหม่ที่รันบนอินเทอร์เน็ตที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็น Cloud OS โดย Windows Azure สนับสนุนเทคโนโลยีหลักของไมโครซอฟท์เช่น .NET Framework และ Visual Studio 2008 ไมโครซอฟท์ตั้งใจให้ Windows Azure เป็นแพลตฟอร์มหรือรูปแบบมาตรฐานของเทคโนโลยี Cloud Computing เหมือนกับที่วินโดวส์โมบายล์ (Windows Mobile) เป็นแพลตฟอร์มของโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ

ดร.ประสบโชค ประมงกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ได้เตรียมความพร้อมการให้บริการ Cloud Computing ทั่วโลก ล่าสุดดาต้าเซ็นเตอร์ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว 5 ศูนย์ ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์ทั้งหมดสามารถให้บริการผู้ใช้ได้ทั่วโลก สำหรับตลาดเมืองไทยนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีบริการบน Cloud Computing ให้บริการประมาณครึ่งหลังของปี 2552 อย่างแน่นอน โดยกลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจทุกขนาด ซึ่งการให้บริการแอพพลิเคชั่นบน Cloud Computing นับเป็นกลยุทธ์ล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปลี่ยนนิยามตัวเองจากบริษัทซอฟต์แวร์ (Software Company) เป็นบริการซอฟต์แวร์และบริการ (Software Plus Service Company)

ตัวอย่างบริการแอ พพลิเคชั่นบน Cloud Computing ของไมโครซอฟท์ ได้แก่ ชุดซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ทั้ง Microsoft Word และ Excel รวมถึง Exchange และ Share Point ในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้ใช้สามารถใช้งานผ่านเว็บเบราเซอร์ โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนเครื่องพีซี ซึ่งไมโครซอฟท์คาดหวังที่จะให้บริการโปรแกรมออฟฟิศออนไลน์ชนิดเต็มรูปแบบ ตั้งแต่โปรแกรมที่ทันสมัยมากที่สุดจนถึงเวอร์ชั่นธรรมดาในหลากหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นแบบพ่วงโฆษณาไปกับตัวโปรแกรม ระบบสมาชิก และแบบมีค่าไลเซ่นส์

Cloud Computing: ความท้าทายครั้งใหม่ของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ไทย

สมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Cloud Computing อาจดูเป็นเหมือนปัจจัยลบต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจซอฟต์แวร์จากการขายสินค้าเป็นไลเซ่นส์มาสู่การขาย บริการ ซึ่งในระยะแรก Cloud Computing ถือเป็น Killer ที่จะมาทำลายระบบการขายแบบเดิมแต่ในระยะยาวจะให้ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอ ฟตแวร์ไทย เพราะ Cloud Computing เหมาะสำหรับแอพพลิเคชั่นพื้นฐานที่มีผู้ใช้จำนวนมาก อาทิ Excel และ Office แต่ไม่เหมาะกับแอพพลิเคชั่นที่เป็นระบบหลักอย่าง Core Banking ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจึงต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาตัวเองไปสู่การพัฒนา ซอฟต์แวร์โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางแทนความคิดแบบเดิมๆ ที่คิดถึงสินค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ในระยะยาว Cloud Computing จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในเรื่องของต้นทุนเพราะไม่ต้องลง ทุนสร้างเครือข่ายในการขาย และสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เป็นโมดุลๆ ขายได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือบริการหลังการขาย เพราะเมื่อมีผู้ใช้บริการหันมาซื้อซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud Computing มากขึ้น จึงต้องมั่นใจว่าสามารถให้บริการหลังการขายได้อย่างดี ในด้านผู้ใช้บริการก็จะได้ประโยชน์เพราะ Cloud Computing จะช่วยลดภาระค่าไลเซ่นส์มาสู่การจ่ายตามการใช้งานจริง

“Cloud Computing มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่ต้องเรียนรู้เพื่อที่สร้าง เงินจากเทคโนโลยีใหม่นี้ให้ได้”

(บทความช้นนี้เคยถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร SME Thailand)

View :3225
Categories: Internet Tags: ,