Home > Uncategorized > ชี้ออก พรบ. ปรองดองระวังเสื้อแดงบางส่วนมองว่าหักหลัง ฝ่ายค้านไม่เอา พรบ.ปรองดองย้ำห้ามแตะ ม.112 เตือนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสงครามความขัดแย้งทางความเชื่อ

ชี้ออก พรบ. ปรองดองระวังเสื้อแดงบางส่วนมองว่าหักหลัง ฝ่ายค้านไม่เอา พรบ.ปรองดองย้ำห้ามแตะ ม.112 เตือนอาจเป็นจุดเปลี่ยนสงครามความขัดแย้งทางความเชื่อ


สมาคมนักข่าว – ฝ่ายค้านระบุรัฐบาลเลือกแนวทางออก พรบ.ปรองดองแบบสุดขั้ว อาจบานปลายสู่สงครามความขัดแย้งทางความเชื่อ ย้ำห้ามแตะ ม. 112 “พนัส” ระบุเสื้อแดงบางส่วนไม่พอใจ มองว่าถูกหลอกถูกหักหลัง เพราะมาตรา 5 ออกมาเพื่อทักษิณโดยเฉพาะ และยุติการแสวงหาความจริงเอาผิดผู้ทำร้ายประชาชน แนะล้มหลักคำพิพากษาศาลฎีกา “ให้รัฐประหารสำเร็จเป็นรัฐาธิปัตย์” ตัดต้นตอปฏิวัติ

การสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “พลวัตทางการเมืองหลัง 111 คืนชีพ ???” จัดโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 3 สถาบันอิศรา มูลนิธิสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย วิทยากรผู้อภิปรายประกอบด้วย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำชาติพัฒนา นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล เลขาธิการมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ นายพนัส

ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก อดีต ส.ส.ร. 2540 ดำเนินการอภิปรายโดย นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวอาวุโส เครือเนชั่น จัดขึ้นที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ 80 คน

การสัมมนาเริ่มต้นจากวิทยากรได้ตอบสอบถามผู้ดำเนินรายการถึงความเห็นเกี่ยวกับการเสนอร่าง พรบ.ปรองดองแห่งชาติในแง่มุมต่าง ๆ โดยหลายเสียงเป็นกังวลว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทยในอนาคต

​นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่าเดิมสถาบันพระปกเกล้าเสนอ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกล้มล้างทั้งหมด แล้วคืนเงิน4 หมื่นกว่าล้านบาทให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใน 54 คน มีคนเห็นด้วย 2 คน แนวทางที่ 2 คือ ในระหว่างสอบสวนยกเลิกหมด ยกเว้นส่วนที่ตัดสินไปแล้ว และแนวทางที่ 3 คือ ยกเลิกหมด แล้วเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ โดยไม่ถือว่า ขาดอายุความ แต่วันนี้สภา ฯ กลับยกแนวคิดที่ 1 ซึ่งเป็นแนวคิดสุดขั้วซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยเพียง 2 คนขึ้นมานำ

นายนิพิฏฐ์ย้ำว่าประเด็นนี้ตนเห็นว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น แทนที่จะเกิดความปรองดอง และจะยิ่งจะสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ตนคาใจ คือ หากยึดหลักนี้และคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

ชินวัตร จะต้องคืนเงินให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัษฎ์ และจอมพลถนอม กิตติขจร หรือไม่ เพราะทั้งสองคนถูกยึดทรัพย์ด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาเช่นกัน

“อย่ามาตัดตอนขบวนการยุติธรรมด้วยการออก พรบ. ปรองดองเพื่อนิรโทษกรรม ถ้ากล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชน ก็ไปพิสูจน์ทางศาล กล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมือง ก็ไปพิสูจน์ทางศาล มันยุติธรรมดีหรือไม่” นายนิพิฏฐ์กล่าว

นายนิพิฏฐ์ย้ำว่าสงครามครั้งใหญ่ในอนาคตเป็นสงครามที่ต่อสู้เรื่องความเชื่อสูงสุดของมนุษย์ เช่นสงครามศาสนา ขออย่างเดียวอย่าแต่ความเชื่อสูงสุดของตนและคนไทยอีกส่วน ขอเรื่อง ม.112 ถ้าไม่หยุดอาจจะต้องมาฆ่ากันจริงก็ได้ เพราะเวลาชุมนุมเสื้อแดงจะชูป้าย 112 แล้วกากบาก เขียนว่า “กูไม่เคารพพ่อหนักหัวใคร” มวลชนที่กำลังเติบโตและควบคุมไม่ได้ ถ้าไปแตะต้องความเชื่อสูงสุดเมื่อไหร่เกิดสงครามกันแน่ คุณไปลบล้างผลพวงปฏิวัติผมถอยหมดเพราะเสียงข้างน้อย แต่บางเรื่องขออย่าไปยุ่ง

ด้าน นายพนัสกล่าวว่ากฎหมายปรองดองที่จะออกมา จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางการเมืองไทย มวลชนเสื้อแดงส่วนหนึ่งจะมองว่าเขาถูกลอยแพ เพราะมีบทบัญญัติคุ้มครองความผิดของ ศอฉ. เจ้าหน้าที่ทหาร ตรงนี้จะเป็นนิมิตหมายที่ทำให้ประชาชนตระหนักว่าอันที่จริงประชาชนถูกหลอกใช้หรือไม่ และอาจจะนำไปสู่การเกิดพรรคใหม่ทางการเมืองอย่างพรรคกรีน

“มีมาตรา 5 สำหรับคุณทักษิณโดยเฉพาะ ลบล้างผลการตัดสินต่อคุณทักษิณทั้งยึดทรัพย์ ทั้งจำคุกด้วย จุดนี้อาจเป็นตัวชนวนที่อาจทำให้เพื่อไทยเดินไปทาง เสื้อแดงก็อาจแตกกันเอง เป็นเสื้อแดงที่เอาทักษิณ กับเสื้อแดงที่เอาประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะก่อกวนและก่อเกิดความรุนแรง และไม่เชื่อว่ารัฐบาลที่เกิดใหม่ แม้จะมาจาก 111 จะแก้ไขได้ ถ้าเสื้อแดงกลุ่มนี้มีค่อนข้างมาก เพราะเขาไม่ได้อ้างหลักปรองดองแบบนี้ เขาต้องการให้คนผิดต้องถูกลงโทษ เป็นนิรโทษกรรมอีกแบบ ไม่ใช่การล้มล้างผลพวงการรัฐประหารจริง ๆ ถ้าให้ดีควรมีการปฏิรูปการเมืองอีกรอบ และคอรัปชั่นเชิงนโยบายมีมูล ถ้าแก้ไม่ได้วงจรอุบาทว์ก็จะถูกหยิบยกกลับมา และบวก ม.112 สุดท้ายจะกลับมาเป็นสงครามความเชื่อบวกสงครามคอรัปชั่น” นายพนัสกล่าวในเชิงสนับสนุนนายนิพิฏฐ์

นายพนัสกล่าวว่าร่าง พรบ.ปรองดองมีความสมดุลอย่างดี นิรโทษกรรมการรัฐประหาร การปราบเสื้อแดง ปราบเสื้อเหลือง ขณะเดียวกันก็คืนให้คุณทักษิณ เป็นการเกี้ยเซี้ยไม่ใช่การปรองดอง เพราะทุกคนอิสระก็กลับสู่สถานีรบของตัวเอง การเมืองก็จะกลับเป็นแบบเดิม ๆ อีก

นายพนัส กล่าวถึงการรัฐประหารว่าถ้าอยากต่อต้านรัฐประหารจริงต้องล้างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่วินิจฉัย “เมื่อทำรัฐประหารสำเร็จก็เป็นรัฐาธิปัตย์” ตราบใดที่ไม่ลบคนทำรัฐประหารก็สบายใจ รัฐธรรมนูญที่จะเขียนต่อไปก็ไม่มีความหมาย ถ้าคำพิพากษาต้นตอนี้ไม่ล้มล้างไป

“ผมพูดไปไกลกว่านิติราษฎร์ ควรทำเหมือนประเทศตุรกี เอาผู้ทำรัฐประหารย้อนหลังมาลงโทษทั้งหมด ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ โอกาสที่จะเกิดเงื่อนไขรัฐประหารก็จะเกิดขึ้นอีก การเปลี่ยนบรรทัดฐานนี้ได้เมื่อศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้วมีมติให้เปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้นไม่ว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกกี่ครั้ง ก็จะตัดสินแบบเดียวกันนี้” นายพนัสกล่าว

ส่วน นายวิชิตกล่าวว่า เท่าที่ดูคร่าว ๆ ก็คิดว่าตรงใจกับประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการจะเห็นความปรองดอง แต่ว่าจะไปถึงขนาดไหน ก็ต้องไปดูรายละเอียดของข้อกฎหมายอีกทีหนึ่งว่า

สำหรับแนวทางปรองดองที่มีอยู่สามกรอบนั้น นายวิชิตกล่าวว่ากรอบแรกคือนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไปทำร้ายผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นข้อหาก่อการร้าย ข้อหาผิด พรก. อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะยกเลิกไม่ดำเนินคดี กรอบที่สอง เป็นเรื่องการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร หมายถึงเรื่องของ การตั้ง คตส. ตั้งกระบวนการยุติธรรมที่หลายมาตรฐาน และเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ เพื่อจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้รับโทษจำคุก 2 ปี กรณีที่ดินรัชดา และกรอบที่สาม ก็เป็นเรื่องของกรอบการคืนสิทธิให้กับบ้านเลขที่ 111 ส่วน 109 จะเป็นไปได้แค่ไหน ก็ต้องรอดู

“ส่วนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จะได้รับผลพวงจากเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ในฐานะผู้สั่งการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็ยังไม่แน่ใจ” นายวิชิตกล่าว

ต่อข้อถามว่า พรบ.ปรองดองจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งอย่างที่วิเคราะห์กันหรือไม่นั้น นายวิชิต กล่าวว่า หากเราสามารถอธิบายหรือยึดหลักนิติธรรมให้ชัดเจน ชี้แจงให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชนให้เข้าใจ ยกตัวอย่างกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่า รับได้หากจะกลับมาแล้วถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ตรงนี้ประชาชนรับได้หรือไม่ ที่สำคัญจะอธิบายอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ

“แม้กระทั่ง ม.112 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมก็ไม่อยากกล่าวถึงเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่กรณีอย่างนี้ ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม ถ้ามีมุมที่เป็นคุณและเป็นโทษ มุมหนึ่งมองว่ากระทบสถาบัน มุมหนึ่งบอกปกป้องสถาบัน รัฐบาลไหนก็ไม่เอาด้วยที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายหรือแก้ไขอะไร ถ้าถามผม ความคิดที่จะเข้าไปแก้ไข ม.112 คิดว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เพราะว่าขณะนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน” นายวิชิตกล่าว

ทางด้าน นายวิชิตกล่าวว่าองค์กรศาลต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิด ตุลาการภิวัตน์ต้องลดน้อยลง คนคิดใช้อำนาจนอกระบบมาเปลี่ยนแปลงจะลดน้อยลง และแนวคิดบางเรื่องของกลุ่มนิติราษฎร์เรื่องลบล้างผลพวงของรัฐประหารทุกเรื่อง จะยิ่งมีส่วนช่วยลดการรัฐประหาร

ขณะที่ นายสุวัจน์กล่าวว่าสังคมตระหนักว่าการปรองดองมีความจำเป็น แต่ขอมองอย่างการทูต ก่อนที่จะเป็นทางการกระบวนการปรองดองจะมีสิ่งที่ไม่เป็นทางการ เช่นจับเข่าคุยกันในหมู่ผู้ขัดแย้งก่อน ถ้าการเมืองแก้ด้วยการเมือง หากนักเมืองคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของเรา ก็ต้องลงมารับผิดชอบจริง ๆ อยากเห็นผู้ใหญ่ที่มีบารมี หรือนักการเมือง 111 เดินสายพูดคุยกัน เพราะเวลานี้เราขาดตัวเชื่อมทางการเมือง

ต่อข้อถามว่าการเมืองวันนี้ยังมีความเสี่ยงรัฐประหารหรือไม่นั้น นายสุวัจน์กล่าวว่า เราเห็นกันอยู่แล้วว่าการรัฐประหารสวนกระแสโลก กระแสสังคม ระยะยาวเสียหายมาก ถ้ายึดหลักประชาธิปไตย 4 ปี ให้ประชาชนคือคำตอบจะดีที่สุด จะรักษาความเป็นมาตรฐานของประเทศไทยสูงในสายตาระดับโลก สิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันในระบอบประชาธิปไตย

View :4318
Categories: Uncategorized Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.