Home > Uncategorized > “ทีม”….วิศวกรซอฟต์แวร์แห่ง Google

“ทีม”….วิศวกรซอฟต์แวร์แห่ง Google

หรือ “ทีม” วัย 31 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นมาเรียนต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (University of Illinois) ด้วยทุนฟุลไบรท์ (Fulbright) จากมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาโท ทัดพงศ์ ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาเอกต่อ ในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเดิม ในระหว่างที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่นั้น บริษัท กูเกิล อิงค์​(Google Inc.) ได้มาเปิดบูธรับสมัครนักศึกษาฝึกงานที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ หรือที่เรียกว่า Google Campus Visit ทัดพงศ์ จึงเดินเข้าไปขอสมัคร และได้ฝึกงานที่ Google สำนักงานใหญ่อยู่ 3 เดือน

ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล หรือ “ทีม”

“ฝึกงานเสร็จผมก็กลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาเอก จากนั้นก็ไปทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่บริษัทบลูมเบิร์กอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะได้เข้ามาทำงานกับกูเกิ้ลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนเรียนจบผมสมัครงานอยู่เยอะมาก แต่ไปได้งานที่บลูมเบิร์ก ก่อนที่จะได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับกูเกิล”

ทัดพงศ์ บอกว่า การได้มีโอกาสมาศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ก้าวย่างสำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยที่จะได้มีโอกาสเข้ามาใกล้กับศูนย์กลางของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างซิลิกอน วัลเล่ย์

“เส้นทางสู่ซิลิกอน วัลเล่ย์ อาจมีหลายเส้นทาง แต่เส้นทางหนึ่งที่ผมอยากแนะนำน้องๆ ที่อยากมาทำงานที่นี่ คือ ต้องพยายามมาเรียนต่อที่นี่ก่อน จากนั้นก็หาประสบการณ์การทำงานกับบริษัทไอทีที่นี่ จากนั้นค่อยหาโอกาสหาประสบการณ์กับบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่น้องๆ ใฝ่ฝัน ในระหว่างเรียนก็ควรจะหาโอกาสฝึกงานกับบริษัทใหญ่เพื่อหาประสบการณ์และสร้างโปรไฟล์ให้กับตัวเอง เวลาฝึกงานกับบริษัทเหล่านี้เขาจะมี performance report ซึ่งเขาจะรู้จักเรามากขึ้นเวลาสัมภาษณ์เรา เขาก็จะรู้ว่าเราเคยสัมผัสบริษัทเขามาแล้ว มีความรู้ รู้จักสิ่งที่บริษัทเขาทำมาอยู่บ้างแล้ว”​

การจะพาตัวเองเข้ามาอยู่ที่ดินแดนแห่งไอทีได้ ทัดพงศ์ บอกว่า น้องนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีควรจะต้องตั้งใจเรียน แม้ในวิชาที่ตัวเองอาจจะไม่ชอบหรือไม่ถนัด เพราะผลการศึกษามีส่วนสำคัญในการศึกษาต่อในระดับต่อไป นอกจากนี้น้องนักศึกษาไม่ควรที่จะเรียนอย่างเดียว แต่ควรจะหาประสบการณ์การเขียนโปรแกรม และควรมองหาโอกาสในการฝึกฝนความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นโครงการการประกวดแข่งขันการเขียนโปรแกรมต่างๆ หรือทุนการศึกษาต่างๆ เพื่อสะสมประสบการณ์ ฝึกฝนฝีมือ และที่สำคัญได้มีโอกาสฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น

“ทักษะภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างมากประการแรกสำหรับการมาทำงานที่ซิลิกอน วัลเล่ย์​ที่นี่เขาไม่สนใจว่าคุณจะเป็นคนชาติอะไร เขาสนใจแค่ว่าคุณสามารถทำงานได้ไหม ทำงานกับคนอื่นได้ไหม คุณมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานได้ไหม ที่นี่เขาให้ความสำคัญกับความสามารถ ไอเดีย ความคิดของคุณมากกว่าว่าคุณเป็นคนชาติอะไร”

ทัดพงศ์ เสริมว่า สิ่งสำคัญในการทำงานที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ คือ ความสามารถในเนื้องาน และความกล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความกระตือรือร้นในการทำงาน ในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น ทั้งเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งกับเจ้านาย

“ถ้าหากคุณมีไอเดียเจ๋งๆ ในใจ อย่าเก็บมันไว้ ให้บอกมันออกมา ให้นำออกมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ที่นี่ทุกคนพร้อมจะฟังคุณ หากไอเดียคุณดีพอ คุณก็สามารถโน้มน้าวให้เจ้านายทำตามได้”​

ทัดพงศ์​แนะว่า การที่จะเข้ามาทำงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ได้นั้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรจะสั่งสมประสบการณ์การทำงานจากบริษัทขนาดเล็กกว่ามาก่อน

“อยากแนะนำน้องๆ ที่จะมาทำงานที่นี่ว่า อย่าเพ่ิงเลือกงาน หากได้งานอะไรที่นี่ ที่อเมริกาให้ทำไปก่อน สะสมประสบการณ์การทำงาน สะสมทักษะในการทำงาน ทักษะในงานนั้นๆ มาเรื่อยๆ แล้วคอยมองหาโอกาสที่จะขยับขยายตลอดเวลา หากโอกาสมาถึง จงคว้าไว้”

ทัดพงศ์​ยังเสริมต่อว่า ทักษะเรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะต้องสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ สามารถที่จะสื่อสารสิ่งที่คิด และอธิบายไอเดียที่มีออกไปให้คนอื่นได้รับรู้และเข้าใจได้

“ทักษะการสื่อสารจะเป็นบันไดก้าวแรกในการให้ทำให้คุณได้งานที่นี่ เพราะการสัมภาษณ์ที่นี่มีหลายรอบมาก และแต่ละรอบเขาเน้นการสื่อสาร เพราะเป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หลายครั้ง ก่อนที่จะได้รับการเรียกให้มาสัมภาษณ์แบบพบหน้า (Face-to-face) ที่สำนักงานใหญ่ และที่สำคัญ หลายครั้งที่คำตอบไม่สำคัญเท่ากับวิธีคิด หลายคำถามในระหว่างการสัมภาษณ์ เขาต้องการวัดว่าเราคิดเห็นอย่างไร มีวิธีคิด และอธิบายมันอย่างไร เพราะฉะนั้น จงมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดมาอย่างดีแล้ว และสื่อสารออกไปให้ชัดเจน”

ปัจจุบัน ทัดพงศ์​ทำงานที่ Google สำนักงานใหญ่ ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของบริการเสิร์จ (Search Infrastructure) เป็นเวลา 2 ปีแล้ว

“งานที่ผมทำ คือ งานส่วนที่เรียกว่า crawling system คือ โปรแกรมที่ไปดึงเว็บเพจจากทั่วโลกมาเก็บไว้ที่คลังข้อมูล ก่อนจะส่ิงข้อมูลนี้ไปที่ฝ่าย Index เพื่อประมวลผลจัดทำเป็นฐานข้อมูลเว็บเพจเพื่อให้บริการผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก เวลาคนใช้งาน Google search เขาจะพิมพ์คำหลัก (Key Word) ลงไปจากนั้นระบบจะไปค้นหน้าเว็บเพจที่เกี่ยวข้องมาแสดงผล ผมทำส่วนที่ไปถึงหน้าเพจ (ทุกเพจในโลกนี้) จากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้”

ทัดพงศ์ รู้สึกดีที่ได้ทำงานที่ Google ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นบริษัทไอทีอันดับต้นๆ ของโลก แต่เพราะรู้สึกดีที่ได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นสร้างประโยชน์ให้กับคนนับพันล้านคนทั่วโลก

“รู้สึกว่างานที่เราทำมีความหมาย รู้สึกมีกำลังใจในการทำงาน เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราทำมีคนได้ใช้งาน ได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ ตอนนี้มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากจะทำ อยากจะเรียนรู้ที่นี่ ที่ Google สำนักงานใหญ่”

ทัดพงศ์ บอกว่า เขาชอบ Google หลายอย่าง โดยเฉพาะวิธีที่บริษัทดูแลพนักงาน ที่นี่จะดูแลพนักงานดีมาก รวมทั้งชอบบรรยากาศในการทำงาน ชอบเพื่อนร่วมงาน นิสัยดีและเป็นคนเก่ง ทำให้เขาได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้วิธีคิดจากเพื่อนร่วมงาน

“การเป็นคนเอเชีย ต้องมาทำงานที่ Google สำนักงานใหญ่ ในช่วงแรกๆ ผมจะมีปัญหาเรื่องภาษา ต้องปรับตัวเรื่องภาษา ซึ่งคนที่ทำงานที่นี่มีหลากหลายสัญชาติมาก บางทีเขาพูดแล้วเราฟังไใ่ค่อยรู้เรื่อง เพราะสำเนียงเขาไม่ใช่คนที่นี่ ต้องปรับตัวอยู่สักพักหนึ่ง ส่วนเรื่องวัฒนธรรมมีบ้างที่ต้องปรับตัว โดยเฉพาะนิสัยที่ไม่ค่อยแสดงควาคิดเห็น ช่วงแรกๆ ผมจะเงียบๆ ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงออก ไม่ค่อยออกความคิดเห็น จนเพื่อนร่วมงานบอกว่า คุณต้องแสดงออก แสดงความคิดเห็นมากขึ้นนะ ที่คนต้อง Active ต้องกระตือรือร้นตลอดเวลา ที่นี่เขาไม่ได้มองว่าคุณเป็นคนชาติอะไร หรือเพศอะไร เขามองที่ผลงานล้วนๆ เขาไม่ได้ดูตำแหน่งด้วย สมมติว่าเรามีไอเดียดีจริงๆ แล้วเรามีประเด็นที่จะนำเสนอ ต่อให้เราเป็นผู้น้อย เราก็สามารถคุยกับเขา สามารถโน้มน้าวเขาได้ เขาจะรับฟัง”

ทัดพงศ์​ทิ้งท้ายฝากน้องๆ เด็กไทยที่อยากจะมาทำงานที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ ว่า ก่อนอื่นเลยจะต้องเป็นคนที่รักและชอบงานด้านนี้ เพราะงานด้านนี้ คือ งานที่ต้องทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา พอรักชอบแล้วก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดนเริ่มจากการขยันเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ควรทำเกรดในทุกวิชาให้ดี แม้แต่ในวิชาที่ไม่ชอบ และพยายามมองหาโอกาสที่จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การประกวดการเขียนซอฟต์แวร์​และทุนการศึกษา

View :4785
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.