Home > Uncategorized > สวทช.​เปิดศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ อินทรีย์ (Thailand Organic @ Printed Electronics Innovation Center ) หรือ TOPIC

สวทช.​เปิดศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ อินทรีย์ (Thailand Organic @ Printed Electronics Innovation Center ) หรือ TOPIC


ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ อินทรีย์ (Thailand Organic @ Printed Electronics Innovation Center ) หรือ TOPIC เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตนวัตกรรมใหม่ของอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ ( Organic & Printed Electronics) เน้นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยให้ก้าวสู่นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต นำร่องด้วยนวัตกรรมใหม่บนนิตยสารและบรรจุภัณฑ์ด้วยหมึกพิมพ์นำไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย หวังปลุกชีพอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งการโฆษณา สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ พาณิชย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายตลาดการค้าให้ภาคธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดย ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า

“อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ถือเป็นอีกอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทยที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและมีศักยภาพเป็นผู้นำด้านการพิมพ์ของอาเซียน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันอุตสาหกรรมการพิมพ์กำลังประสบกับวัฏจักร “ขาลง” ซึ่งฉุดอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบให้ตกต่ำอีกด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเร่งหาเทคโนโลยี ที่จะมาเปลี่ยนแปลงหรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งพิมพ์อย่างเร่งด่วน สวทช.เองซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่สามารถรับมือกับสภาพปัญหาได้ทันเหตุการณ์ ทั้งในแง่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆไปล่วงหน้า และการสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการบริการวิจัยให้เอกชน การรับจ้างทดสอบ หรือแม้กระทั่งการร่วมลงทุนตั้งบริษัทกับเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และโดยอาศัยองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆที่ สวทช.ได้ริเริ่มดำเนินการไว้ และการทำงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานหลักๆ ในภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ สวทช.ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหมึกพิมพ์นำไฟฟ้า ที่สามารถพิมพ์ลงบนพื้นผิวต่างๆ ทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรวัสดุที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ Smart Packaging บรรจุภัณฑ์ที่สามารถแสดงข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวบนหีบห่อ เพื่อแสดงวิธีการใช้งานผลิตภัณฑ์ บอกคุณภาพของสินค้ากระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และสามารถส่งข้อมูลกลับมายังผู้ผลิตเพื่อการปรับปรุงคุณภาพสินค้าในอนาคต หรือ หมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถนำมาใช้พิมพ์ RFID ไปพร้อมกับการพิมพ์ฉลากบรรจุภัณฑ์ ในราคาที่ถูกกว่า RFID แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน , E-paper หรือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ที่ม้วนได้ สามารถติดลงบนพื้นผิวโค้งงอเพื่อใช้ในงานโฆษณา หรือสิ่งพิมพ์อัจฉริยะ จอแสดงผลชนิด OLED ซึ่งนำไปเป็นส่วนประกอบในกล้องดิจิตอลหรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น มีสีสันงดงาม ใช้พลังงานน้อยลง และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ หรือเซลล์แสงอาทิตย์ที่เป็นฟิล์มบาง น้ำหนักเบาสามารถคลุมลงบนหลังคาหรือห่อหุ้มอาคารแทนการใช้ฟิลม์กรองแสงและสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในตัว ,อาคารประหยัดพลังงาน ที่นำเทคโนโลยีกระจกอัจฉริยะ ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณแสงและความร้อนจากภายนอกที่จะส่องเข้าไปในตัวอาคารในระดับที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน หรือแม้แต่นวัตกรรมทางการแพทย์เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดน้ำตาลและไขมันในเลือด และเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น สารตกค้างในอาหาร ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถสร้างเซ็นเซอร์ที่มีราคาถูก ใช้แล้วทิ้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบทำให้การบริโภคอาหารมีความปลอดภัย ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ จะเป็นศูนย์รวมเครือข่ายการทำงานระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยจะมีห้องปฏิบัติการ และบริการทางเทคนิค เพื่อบริการแก่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการให้คำปรึกษาในการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยหมึกอิเล็กทรอนิกส์ หรือหมึกนำไฟฟ้า นอกจากนี้ ไทยยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Organic Electronics Association หรือ O-EA ซึ่งเป็นสมาคมด้านอิเล็กทรอนิกส์และอินทรีย์ระดับโลกเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยระหว่างกลุ่มสมาชิกของ O-EA ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ไทยมีฐานข้อมูล และเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยที่กว้างมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการปฏิวัติวงการพิมพ์ของไทยให้ก้าวไปสู่โลกอนาคต ซึ่งผมมั่นใจว่าภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมกับ สวทช.จะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่นี้ที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการได้หลากหลายให้สามารถแข่งขันได้ ตลอดจนเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตอีกด้วย” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

View :2610
Categories: Uncategorized Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.