Archive

Archive for February, 2011

ททท. ชูนโยบายปี 54 ด้วยการตลาดเชิงรุกใช้ “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง”

February 15th, 2011 No comments


อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นเส้นเลือดหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรองจากอุตสาหกรรมส่งออก ด้วยความได้เปรียบในทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลจากทั่วสารทิศทั่วโลกมาเยือนประเทศไทยปีละจำนวนไม่น้อย ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักแห่งหนึ่งของพวกเขาแม้ว่าปัจจุบันสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศในแถบเอเชียด้วยกันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวที่อิงอยู่กับข้อมูลจำนวนมหาศาลบนอินเทอร์เน็ตและโน้มเอียงไปกับคำแนะนำ ติชมของเพื่อนนักเดินทางที่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น จนแทบจะเรียบได้ว่ามี “อิทธิพล” ต่อความคิดและการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอยู่มากในปัจจุบัน

ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจำต้องปรับนโยบายและเปลี่ยนแนวกลยุทธ จากเดิมที่ใช้ “สื่อดั้งเดิม” เป็นหลักเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของ “สุรพล เศวตเศรณี” ผู้ว่าการฯ คนปัจจุบัน ททท.จะเน้นนโยบายเชิงรุกในการใช้การตลาดออนไลน์หรือการตลาดแบบดิจิตอล (Online/Digital Marketing) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น

นโยบายของททท.ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยใช้การตลาดออนไลน์หรือการตลาดแบบดิจิตอลเป็นอย่างไร
เนื่องจากปัจจุบันอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Networking) เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ทำให้ททท.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการมาเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น และสร้างชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การโปรโมทการท่องเที่ยวจากเดิมที่ทำอยู่ ได้แก่การซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อเก่า อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่เป็นกระดาษ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความรวดเร็วของการเข้าถึง ความพลวัตรของข้อมูล ความแพร่หลายของข่าวสารที่มีจำกัด ทำให้ททท.พิจารณาแล้วเห็นว่าหากยังทำการโปรโมทการท่องเที่ยวไทยบนสื่อเดิมเพียงอย่างเดียวจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเสียโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมากและเสียโอกาสที่จะมีพื้นที่ยืนและมีแบรนด์อันแข็งแกร่งบนโลกออนไลน์ไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้น ททท.จึงมีนโยบายที่จะเพิ่มกลยุทธการโปรโมทการท่องเที่ยวผ่านสื่อใหม่ (New Media) บนโลกออนไลน์ทั้งบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และแท็ปเลต (Tablet) ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค (www.facebook.com/AmazingThailand) และทวิตเตอร์ (Twitter.com/Go2Thailand) เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างททท.กับกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์

ททท.ได้เพิ่มสัดส่วนของงบประมาณในการโปรโมทการท่องเที่ยวผ่านสื่อใหม่จากเดิมที่มีเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณในการส่งเสริมทั้งหมดของททท.ในปี 2552 เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมาและจะเพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะรักษาฐานนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศบ่อยๆ ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทยราว 15.5 ล้านคน ไว้ให้ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวในส่วนนี้จะเป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง หรือมีส่วนกับการจัดแผนการท่องเที่ยวของตัวเอง ดังนั้นข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ทั้งสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลที่พัก ข้อมูลพื้นที่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก หน้าที่ของทท.คือการนำฐานข้อมูลที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลของททท.และเป็นข้อมูลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยล่าสุดททท.ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์พัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Amazing Thailand” ซึ่งมีไว้บริการสำหรับอุปกรณ์ทุกแพลตฟรอ์ม ทั้งบน iOS ได้แก่บน iPad iPhone และ iPod และบน BlackBerry กับบนAndroid

ภายใต้แอพพลิเคชั่น “Amazing Thailand” ประกอบด้วยข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวที่นิยมวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และมีการเตรียมแผนการท่องเที่ยวล่วงหน้า โดยข้อมูลแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย (About Thailand) ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ข้อมูลงานกิจกรรมต่างๆ (Event) แผนที่ (Map) บุ๊คมาร์ค (Bookmark) เคล็ดลับการช้อปปิ้ง (Shopping Tips) ข้อมูลแหล่งอาหารไทย (Thai Food) คำถามที่มักพบบ่อย (FAQs) และบริการคำค้น (Search)

จุดเด่นของแอพพลิเคชั่น “Amazing Thailand” คืออะไร
จุดเด่นของแอพพลิเคชั่นนี้คือ การต่อยอดข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้เกิดเป็นบริการรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว อาทิ ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ททท.ได้คัดสรรแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ด้วยตัวเองมาให้บริการพร้อมบอกวิธีการเดินทางไป แนะนำสถานที่พัก รวมถึงสถานที่กินดื่ม และแหล่งช้อปปิ้ง เพื่อให้ข้อมูลเบ็ดเสร็จในที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการวางแผนการท่องเที่ยว และเอื้อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาท่องเที่ยวนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ปัจจุบันททท.นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวบนแอพพลิเคชั่นแล้ว 89 แห่ง

ทว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 แห่ง ซึ่งททท.จะทยอยนำแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นขึ้นมาไว้บนแอพพลิเคชั่นในอนาคต ทั้งนี้การเลือกแหล่งท่องเที่ยวก่อนหลังพิจารณาจากความพร้อมของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ ด้วยว่ามีความพร้อมและสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่อาจจะมีการติดต่อขอข้อมูลหรือสั่งจองบริการผ่านระบบออนไลน์ เพราะในอนาคตททท.มีแผนจะพัฒนาต่อยอดแอพพลิเคชั่นจากการให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไปสู่การอำนวยความสะดวกในการสั่งจองหรือสั่งซื้อบริการด้านการท่องเที่ยวบนระบบออนไลน์ในคราวเดียวเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ททท.อาจจะต้องอาศัยพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการเข้ามาบริหารจัดการการซื้อหรือการจองออนไลน์ เนื่องจากด้วยอำนาจหน้าที่ของททท.เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้น ททท.จะไม่ลงไปให้บริการหรือบริหารระบบเอง

จุดเด่นอีกประการของแอพพลิเคชั่นนี้คือการสร้างความยืดหยุ่นให้กับงานกิจกรรมต่างๆ (Event) เดิมทีที่ใช้สื่อดั้งเดิมที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาและความเร็วในการผลิตและกระจายข้อมูลต่ำ ทำให้ททท.สามารถโปรโมทแต่เฉพาะงานกิจกรรมที่รู้ล่วงหน้า 6 เดือนถึง 1 ปี เพราะต้องให้เวลากับการผลิตสื่อค่อนข้างมาก ซึ่งจะโปรโมทได้เพียงกิจกรรมหลักที่จัดประจำในแต่ละปีตกราว 100 รายการ เท่านั้น แต่ด้วยสื่อดิจิตอล และออนไลน์มาร์เก็ตติ้งทำให้ททท.สามารถเพิ่มเติมข้อมูลกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างปีที่มีมากถึงกว่า 1,000 กิจกรรมเข้าไปในแอพพลิเคชั่นนี้ได้ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น

ซึ่งงานกิจกรรมต่างๆ (Event) นี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ที่จัดงาน และทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวไม่มีข้อมูลงานต่างๆ เหล่านี้เขาก็ไม่เดินทางมา หรือเดินทางมาแต่ไม่ได้ใช้เวลาเที่ยวในเมืองไทยนานขึ้น เพราะคิดว่าไม่มีกิจกรรมอะไรที่เขาสนใจแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่พลวัต หากไม่ได้สื่อใหม่เข้ามาช่วยเผยแพร่คงทำไม่ได้

แผนงานในปีนี้นอกจากจะให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวแล้ว ททท.มีแผนจะต่อยอดบริการเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ด้วยการให้บริการข้อมูลและการเชื่อมโยงระบบบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน อาทิ เมื่อนักท่องเที่ยวเจอสถานที่ที่อยากมาเที่ยว ก็สามารถรู้ได้ว่า สถานที่นี้อยู่ที่ไหน ไปอย่างไร และมีกิจกรรมอะไรให้เที่ยวหรือให้ทำบ้าง และหากเขาจะเปลี่ยนไปอีกสถานที่หนึ่งเขาสามารถไปได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะนำเสนอในหลายรูปแบบทั้งข้อมูลตัวอักษร ภาพ แผนที่และในอนาคตอาจจะเป็นมัลติมีเดีย ในอนาคตททท.จะทำแผนโปรโมทการท่องเที่ยวแบบ Permission Marketing เราจะออกแบบข้อมูลการท่องเที่ยวให้ตรงกับกลุ่มนักท่องเที่ยวในแต่ละเซ็กเม้นท์มากขึ้น โดยเราจใช้ฐานข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่เรามีอยู่จากการที่เขาลงทะเบียนลงแอพพลิเคชั่นของเราไป และจากข้อมูลที่เขาได้ทำผ่านแอพพลิเคชั่นจะทำให้เรามีฐานข้อมูลของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ซึ่งการจะทำการตลาดเชิงรุกในลักษณะนี้เราจะต้องได้รับอนุญาตจากนักท่องเที่ยวเป็นรายบุคคลเสียก่อน

เป้าหมายสูงสุดของททท.ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืออะไร
ททท.ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย เพราะอุตสาหกรรมนี้มีความอ่อนไหวตามเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น แทนที่เราจะขายบริการด้านการท่องเที่ยวด้วยสินค้าและบริการที่ตายตัวปีต่อปี เราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและสินค้าและบริการที่มีอยู่มาช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถสร้างและออกแบบแผนการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่นสูงด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักท่องเที่ยวเองและประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว ททท.เราเล่นบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เราต้องการสร้างให้เกิดการเข้าถึงโดยตรงระหว่างนักท่องเที่ยวกับตัวสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ททท.มิได้มุ่งหวังเพียงดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี พยายามให้เขาอยู่นานขึ้นในแต่ละทริป และพยายามให้เขาใช้จ่ายมากขึ้นในแต่ละครั้งที่มาเที่ยว แต่ททท.ยังมุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวไทยออกเดินทางท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวไทยเป็นอีกปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวไทยออกเที่ยวไทยราว 87 ล้านคนครั้ง (จำนวนครั้งของการท่องเที่ยว) ซึ่งในปีนี้ททท.ตั้งเป้าว่าจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยออกเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 91 ล้านคนครั้ง

นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นประชากรดิจิตอล (Digital Citizen) ซึ่งปฏิเสธไมได้ว่าเทคโนโลยีเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงพวกเขาและสื่อสารกับพวกเขาได้ตรงความต้องการ ส่วนตัวผมเองไม่ได้เป็นคนใช้หรือรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก แต่ผมรู้และเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลัง ผู้ในฐานะผู้บริหารและผู้ให้นโยบายจึงได้ให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ของททท.ทุกคนว่าองค์กรเราจะเดินหน้าสู่ทิศทางนี้ เราจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทั้งเรื่องการทำงานภายในองค์กรเราเองและเรื่องงานที่เราจะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเพื่อสื่อสารกับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว จากนี้ไปจะเห็นบทบาทของททท.ในมิติขององค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานอย่างมากอย่างแน่นอน

(บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารรายสามเดือน Smart Industry)

View :3414