Archive

Archive for June, 2011

Tablet/ Smart Phone + เครือข่ายสื่อสารไร้สาย หนุนรูปแบบการทำงานแบบ Mobile Working

June 8th, 2011 No comments


แนวโน้มการทำงานผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนั้นมีผลมาจากหลายปัจจัยสอดคล้องเกื้อหนุนกัน ทั้งปัจจัยความพร้อมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สายรวมถึงโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ความพร้อมและแพร่หลายของตัวอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาได้ ไปจนถึงความพร้อมระบบบริการซอฟต์แวร์ที่ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือปัจจุบันเรียกกันว่าคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนส่งให้คนทำงานเริ่มหันมาทำงานแบบ mobile working กันมากขึ้น

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังการเข้ามาในประเทศไทยอย่างเต็มตัวของสมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบสนองการทำงานและชีวิตส่วนตัว ทำให้ผู้คนสามารถจะติดต่อสื่อสารทั้งเสียงและอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกสบาย ทำให้ปริมาณการใช้งานโมบาย อินเทอร์เน็ต (Mobile Internet) ซึ่งเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายการสื่อสารของโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้ให้บริการ (Mobile Operator) หันมาลงทุนเตรียมความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารเพื่อให้สามารถรองรับกับการใช้งานของผู้ใช้จำนวนมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายสื่อสารไร้สายได้กลายเป็นเรือธงทางธุรกิจของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย

ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจของดีแทคในปี 2554 คือการเเป็นผู้นำตลาดด้านโมบายอินเตอร์เน็ตโดยวางเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยในปีนี้บริษัทจะผลักดันให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วยการลงทุนเตรียมความพร้อมของโครงข่ายและออกรูปแบบบริการที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาทิ ที่ผ่านมามีการเปิดตัวแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับ iPad ในประเทศไทย เป็นต้น

“ดีแทคมีซิมมีประมาณ 6.5 แสนซิมที่เป็นดาต้าซิม คือซิมที่ลูกค้าซื้อไปเพื่อต่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก คาดว่าน่าจะมีลูกค้าดาต้าซิมถึง 1 ล้านคนในสิ้นปีนี้ กลุ่มผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตจากสมารท์โฟนมีการเติบโตที่สูงมากในปีที่ผ่านมา ลูกค้าดีแทคที่ใช้อินเตอร์เน็ต 4.5 ล้านคนในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นเป็นกลุ่มที่ใช้สมาร์ทโฟนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ (นับรวมการใช้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของโนเกีย) โดยมีลูกค้าใช้โมบายอินเทอร์เน็ตผ่าน Aircard อยู่ราว10 เปอร์เซ็นต์”

ปกรณ์ กล่าวต่อว่า การใช้งานของผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มทียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน และ ปริมาณการใช้งานต่อคน ลูกค้าของดีแทคที่ใช้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตแบบจ่ายรายเดือน (Postpaid Internet SIM) จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราปริมาณการใช้งานเฉลี่ยต่อคน หรือ Data ARPU (Average Revenue Per User) สูงที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตแบบเติมเงิน (Happy Internet SIM) มีปริมาณการใช้งานอยู่ในระดับปานกลาง

“กลุ่มลูกค้าโมบายอินเทอร์เน็ตแบบรายเดือนจะใช้ Internet SIM เป็นซิมสำหรับดาต้าหรือเพื่อต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ ซึ่งโดยมากใช้กับอุปกรณ์พกพา อาทิ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และแท็ปเล็ต (Tablet) ซึ่งปัจจัยที่จะผลักดันให้การใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตในปีนี้ตอย่างมากคือการเข้ามาของแท็ปเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งปีนี้ดีแทคจะเปลี่ยนเครือข่ายเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ด้านปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำหัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เรือธงหลักของปีนี้คือการขยายฐานลูกค้าที่ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ต โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตของเอไอเอส ในขณะที่คาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดน่าจะเติบโตราว 15 เปอร์เซ็นต์

การขยายตัวของการใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตที่สูงมากซึ่งเป็นการเติบโตทั้งจำนวนคนใช้งานและค่าเฉลี่ยการใช้งาน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตในส่วนนี้เพิ่มขึ้นกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 ลูกค้าเอไอเอสใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 94 ชั่วโมง ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการน่าจะมากขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจาก 7.5 ล้านราย เป็น 9 ล้านราย ภายในสิ้นปีนี้ ล่าสุดเอไอเอสจับมือกับกูเกิล พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้กับเว็บเบราเซอร์กูเกิล โครม (Google Chrome) ไว้ในเอไอเอสแอร์การ์ด (Air Card) ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น มีระบบรักษาความปลอดภัยจากเว็บที่เป็นอันตรายต่างๆ ทั้งยังมีระบบดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเสริมอื่นๆ เช่น โลเคชันเบสด์ เซอร์วิส และบริการเสริมจากเอไอเอส เพื่อช่วยการใช้งาน และสามารถตรวจสอบจำนวนการใช้งานได้

ด้านบริษัทวิจัย Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าในปี 2558 จะมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วน 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งประเทศ ซึ่งจะเพิ่มจากสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่าน ซึ่งเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับการเติบโตของตลาดบริการข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Non-Voice Service) ซึ่งในส่วนนี้ส่วนมากเป็นบริการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทวิจัยอีกสำนักอย่าง IDC คาดว่าไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาค่าบริการของการใช้งานในส่วนนี้จะมีการปรับลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการแข่งขันของผู้ให้บริการ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไมได้ว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดของอุปกรณ์พกพาทั้งแท็ปเล็ต (Tablet) และสมาร์ทโฟน (Smart Phone) เป็นปัจจัยส่งให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบันอุปกรณ์พกพาทั้ง แท็ปเล็ต (Tablet) และสมาร์ทโฟน (Smart Phone) กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนทำงาน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้นอกจากให้อิสระในการทำงานแล้วยังตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์ได้ตลอดเวลา

บริษัทวิจัย Frost & Sullivan คาดการณ์ว่าในปี 2558 ตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะมีสัดส่วนสูงถึง 60-65 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโทรศัพท์มือถือรวมซึ่งเพิ่มจากสัดส่วนเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ IDC คาดการณ์ว่า ตลาดสมาร์ทโฟนปีนี้จะอยู่ที่ 1.7 ล้านเครื่อง

จากการคาดการณ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ระบุว่า ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีนี้นาจะขยายตัวราว 9.6 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีมูลค่าประมาณ 61,080 ล้านบาท โดยสมาร์ทโฟนจะเติบโตสูงราว 24.9 เปอร์เซ็นต์และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดที่ 31,090 ล้านบาท

เครือข่ายพร้อม อุปกรณ์พร้อม หากขาดซึ่งระบบที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีระสิทธิภาพและสะดวกสบายแล้ว รูปแบบการทำงานแบบ mobile working คงเกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก นักวิเคราะห์มองตรงกันว่า คลาวด์ คอมพิวติ้ง คืออีกหนึ่งปัจจัยที่จะหนุนส่งให้คนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาจากที่ไหนก็ได้ที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตครอบคลุม ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มหันมาลงทุนและใช้งานบนระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง

ผลการสำรวจล่าสุดของ Springboard Research เกี่ยวกับการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 50 ขององค์กรที่ร่วมตอบแบบสำรวจวางแผนที่จะใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคต ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ร้อยละ 76 ขององค์กรมองว่าคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นเครื่องมือทางไอทีที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกสุด ทั้งยังมีงบประมาณเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในเรื่องดังกล่าว ผลสำรวจดังกล่าวชี้ชัดว่าคลาวด์คอมพิวติ้งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวด เร็วในช่วง 2 – 3 ปีต่อจากนี้ ทั้งนี้ ร้อยละ 41 ขององค์กรที่ร่วมตอบแบบสำรวจระบุว่าไมโครซอฟท์จะเป็นตัวเลือกของพวกเขาในการ ใช้งานบริการคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคต

ล่าสุด 2 ยักษ์ใหญ่จับมือกันให้บริการคลาวด์ ในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกันให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มทางเลือกและคุณค่าทางธุรกิจที่มากขึ้นให้กับผู้ใช้งานด้วยผลิตภัณฑ์และบริการยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและช่วยยกระดับรูปแบบการทำงานของคนไทยให้สามารถใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งได้ในหลากหลายช่องทางและอุปกรณ์

โดยไมโครซอฟท์และทรูจะนำเสนอบริการทางเลือกคลาวด์คอมพิวติ้งแบบเต็มรูปแบบจากไมโครซอฟท์ พร้อมด้วยบริการคอนเวอร์เจนซ์จากทรู ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรในประเทศ เพื่อให้ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ และจะได้รับบริการในระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่มีประสิทธิภาพในราคาสมเหตุสมผล ทั้งยังมีความน่าเชื่อถือและสามารถลดหรือเพิ่มการใช้งานตามที่ต้องการได้ โดยเครื่องมือต่างๆ รวมไปถึง อีเมล ปฏิทินนัดหมาย เครื่องมือการติดต่อสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การประชุม และบริการคอนเวอร์เจนซ์ในรูปแบบต่างๆ

View :4461

“จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media”

June 5th, 2011 No comments

(เป็นงานเขียนที่เขียนขึ้นเว็บชมรมนักข่าวสายไอทีไปเมื่อปีที่แล้ว แต่คิดว่าเนื้อหายังคงทันสมัยปัจจุบันอยู่จึงขำนำมาเผยแพร่ที่บล็อกค่ะ)

กระแสการเมืองที่ร้อนแรงผนวกกับการเข้ามาใช้สื่อสังคมอย่าง Social Media โดยเฉพาะทวิตเตอร์ (Twitter) อย่างเข้มข้นของสื่อมวลชนกระแสหลักทั้งนักข่าวหนังสือพิมพ์ นักข่าววิทยุ และนักข่าวโทรทัศน์ในการรายงานข่าวอย่างฉับไวจากพื้นที่ และแม้ว่าทวิตเตอร์จะทำให้ผู้ใช้เครือข่ายสังคมสามารถบริโภคข้อมูลข่าวสาร ที่สดทันต่อเหตุการณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อสารมวลชนประเภทอื่น แต่อีกด้านของความเร็วที่ทวิตเตอร์มีให้นั้นก่อให้เกิดช่องว่างของโอกาสผิด พลาดของการสื่อสาร ทั้งความผิดพลาดเรื่องข้อมูลที่เร็วเกินไปจนขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อความที่สั้นที่ขาดบริบทจนบางครั้งสื่อผิดความหมาย การส่งต่อข้อความที่สามารถส่งต่อกันไปอย่างรวดเร็วมากเหมือนการแพร่ของไวรัส (Viral Effect) นำมาซึ่งปัญหาในกรณีที่ข้อมูลที่ถูกสื่อสารต่อๆ กันไป เป็นข้อมูลเท็จ เป็นข่าวปล่อย ข่าวลือ ที่ยังการขาดตรวจสอบ ดังนั้น ในฐานสื่อมวลชนผู้นำเสนอข่าวสารจะต้องวางบทบาทและกำหนดกรอบกติกาในการใช้ สื่อใหม่นี้เพื่อการรายงานข่าวอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด และเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุด…

อาจารย์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC), นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่มาของกิจกรรมเสวนา “จิบน้ำชา” ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media” ของชมรมนักข่าวสายไอที ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) และอาจารย์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมแสดงมุมมองต่อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media”

เสวนา “จิบน้ำชา” ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการใช้ Social Media” ของชมรมนักข่าวสายไอที


“Social Media” ไม่ใช่แค่ทวิตเตอร์

ประเดิมเวทีด้วยการให้คำนิยามของ Social Media ให้ตรงกันเสียก่อน ซึ่งดร.มานะ บอกว่า Social Media ที่เข้ามามีบทบาทในฐานะสื่อใหม่ แท้จริงแล้ว Social Media คือสื่อดิจิตอลที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคมที่ใช้ในการสื่อสาร เหมือนสื่อประเภทอื่นๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แต่ทว่า Social Media สามารถมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับผู้รับสารได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและแชร์ข้อมูลข่าวสารทั้งข้อความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวระหว่างกันภายในเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการสื่อสารมวลชนไทย คือ จะมีลักษณะของการผสมผสานของสื่อ (Convergent Media) มากขึ้นเรื่อยๆ

Social Media จะแตกต่างจากสื่อดั้งเดิม ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ตรงที่มันมีลักษณะของการสื่อสาร 2 ทาง (2-way communication) ซึ่ง Social Media มีมากกว่าแค่ Facebook และ Twitter ทั้งนี้ Social Media มีตั้งแต่ Blog, Micro-Blog อาทิ ทวิตเตอร์ Social Networking อาทิ Facebook และ Hi5,Online VDO อาทิ Youtube, Photo Sharing, Wiki อาทิ Wikipedia, Bookmarking และ Cloud Sourcing แม้แต่เว็บ Pantip.com เองก็ถือเป็น Social Media

“ทั้งนี้ลักษณะเด่นและเสน่ห์ของ Social Media คือ “การมีส่วนร่วม” เพราะผู้เสพสื่อหรือผู้รับสารสามารถกลายเป็นผู้ส่งสารได้ในเวลาเดียวกัน” ดร.มานะ กล่าว

ในขณะที่คุณอดิศักดิ์ มองว่า Social Media คือ Web2.0 และเครือเนชั่นเองก็มองว่าสื่อใหม่นี้จะเข้ามาคุกคามอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่รอช้าที่กระโจนเข้าใส่ก่อนตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้วด้วยการเปิดเว็บ บล็อก wwww.oknation.net ขึ้นมาเพื่อเป็นสังคมของนักข่าวพลเมือง (Citizen Reporter) โดยกำหนดให้คนบนเว็บบล็อกแห่งนี้ต้องมีตัวตนจริง เพื่อความน่าเชื่อถือ ปัจจุบัน wwww.oknation.net มีสมาชิกราว 60,000 คน และจะมีคนเข้ามาเขียนเรื่องทุกๆ นาที เฉลี่ย 1.5 นาทีต่อ 1 เรื่อง และมีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 100,000 รายต่อวัน (Unique IP)

จนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมา เครือเนชั่นเริ่มเข้ามาจับทวิตเตอร์อย่างเอาจริงเอาจัง โดยกำหนดเป็นนโยบายของบริษัทให้นักข่าวและผู้มีส่วนร่วมในการกระบวนการผลิต ข่าวราว 300 คน ต้องใช้ทวิตเตอร์ในการทำข่าว และกำหนดเป็นเป็นหนึ่งในมาตรการการประเมินผลงานขององค์กรด้วย และเพื่อเชื่อมโยงระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ไปด้วยกัน เพราะจาก 300 คนที่มี Followers รวมกันทั้งสิ้นราว 160,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะซ้ำกันอยู่ราวครั้งหนึ่ง

“นโยบายของเครือเนชั่นมีนโยบาย ให้นักข่าวใช้ทวิตเตอร์เพื่อแสดงตัวตนของความเป็นนักข่าวในภาคสนาม ใช้เพื่อสร้าง Personal Brand ของตัวนักข่าวเอง เนื่องจากมองว่าความน่าเชื่อถือของข่าวขึ้นอยู่กับนักข่าวภาคสนาม ดังนั้น เนชั่นจึงให้นักข่าวมีบทบาทในการสื่อสารกับผู้รับสารของแต่ละคนเองได้โดยตรง ผ่านทวิตเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันใน Top20 ของทวิตเตอร์ที่ถูก Mention มากที่สุด 10 รายเป็นคนของเนชั่น” คุณอดิศักดิ์ กล่าว

นักข่าว “ควร” หรือ “ไม่ควร” แยก Twitter Account

มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า “นักข่าว” ที่ใช้ทวิตเตอร์นั้น ควรหรือไม่ที่จะต้องมีชื่อผู้ใช้งาน (Twitter Account) แยกจากกันระหว่างบทบาทของนักข่าวและบทบาทของบุคคลธรรมดา ในประเด็นนี้มีการมองต่างมุมระหว่างคุณอดิศักดิ์ จากเนชั่น และคุณประสงค์ นายกสมาคมนักข่าวฯ โดยคุณอดิศักดิ์มองว่า เนชั่นไม่มองว่านักข่าวจำเป็นที่จะต้องแยก Twitter Account ทั้งนี้เพราะเนชั่นมองว่านักข่าวสามารถใช้ทวิตเตอร์รายงานข่าวได้และสามรถใช้ทวิตเตอร์เดียวกันนี้แสดงความคิดเห็นได้ในฐานะ “ความคิดเห็นส่วนตัว”

“เนชั่นต้องการให้ตัวตนของนักข่าวบนโลกทวิตเตอร์นั้นเป็นคนธรรมดาที่ทั้ง เรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เวลางาน นักข่าวประจำที่ราชประสงค์ก็รายงานข่าวเข้ามา แต่นอกเวลางาน คุณจะไปกินข้าว ช้อปปิ้ง แล้วทวีตก็เป็นเรื่องส่วนตัว ผมว่าคนผ่านเข้ารับรู้ได้ว่าอันไหนงาน อันไหนส่วนตัว และไม่ได้เห็นว่าการใช้ Twitter Account เดียวแล้วจะทำให้การรายงานข่าวของนักข่าวขาดความน่าเชื่อถือ” คุณอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

พร้อมอธิบายต่อว่า เนชั่นจึงกำหนดแนวทางการใช้ Social Media ขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบในการทำงานให้นักข่าวในเครือซึ่งกรอบนี้อยู่ระหว่างการร่างยัง ไม่แล้วเสร็จ แต่สาระสำคัญของกรอบนี้คือ นักข่าวจะต้องยึดถือเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ความเป็นธรรมในการรายงานข่าว เป็นหัวใจสำคัญในการใช้ Social Media เช่นเดียวกับสื่อทุกประเภทในเครือเนชั่น สำหรับการใช้ทวิตเตอร์ซึ่งมีความรวดเร็วในการสื่อสารมากนั้นนักข่าวจะต้องมี ความรอบคอบต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่จะสื่อสารออกไปนั้นเป็นข้อมูลที่มีความถูก ต้อง การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นส่วนตัวทำได้แต่ด้วยถ้อยคำที่ไม่ส่อเสียด หยาบคาย และข้อมูลที่จะสื่อสารออกไปต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักปกติของการทำหน้าที่สื่อมวลชน

แต่คุณประสงค์มองต่างจากคุณอดิศักดิ์ โดยบอกว่า ส่วนตัวแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์แต่เห็นว่านักข่าวควรแยกบทบาทเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวบนโลกทวิตเตอร์ด้วยการแยก Twitter Account เหมือนดังเช่นสำนักข่าวรอยเตอร์ทำ ทั้งนี้เพื่อความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในการรายงานข่าว ซึ่งจะทำให้นักข่าวสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

“เวลางานก็ใช้ Twitter Account ของสำนักข่าว ข้อความทีทวีตไปก็เป็น ข้อเท็จจริง ไม่ควรทวีตความเห็นส่วนตัว หรือเรื่องส่วนตัว นอกเวลางาน หรือหากอยากจะทวีตแสดงความคิดเห็นก็ควรทำในอีก Twitter Account หนึ่ง และควรเป็น Twitter Account ที่ระบุตัวตนที่แท้จริงด้วย เพื่อความรับผิดชอบต้อข้อความที่สื่อสารออกไป” คุณประสงค์ ย้ำ

โดยนายกสมาคมนักข่าวฯ มองว่า คนรุ่นใหม่อาจจะขาดความรับผิดชอบต่อข้อความที่ตนเองสื่อสาร โดยมักนิยมจะใช้นามแฝงเวลาอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่เฉพาะเพียงแต่ทวิตเตอร์เท่านั้น ซึ่งการไม่มีตัวตนทำให้คนเหล่านี้สามารถที่จะสื่อสารโดยขาดความรับผิดชอบต่อ ข้อความของตนเอง ทำให้สังคมเกิดปัญหา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจริยธรรมของผู้ใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งนับวันจะมีน้อยลงทุกที ด้วยค่านิยมสมัยใหม่ที่มักใช้นามแฝงเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบต่อข้อความที่ สื่อสารออกไป ดังนั้น นักข่าว ในฐานะสื่อสารมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความที่สื่อออกไป โดยจะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน และต้องแยกบทบาทเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกันผ่าน Twitter Account คนละชื่อกัน

ความรับผิดชอบอยู่ที่ใคร “นักข่าว” หรือ “องค์กรข่าว”

ต่อประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากว่า “นักข่าว” หรือ “องค์กรข่าว” ควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความที่ได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง Social Media ก็มีการมองต่างกันเล็กน้อย โดยคุณ ประสงค์มองว่า นักข่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความที่ตนเองทวีตไปโดยตรง เพราะถือว่าการรายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์นั้นมิได้ผ่านกระบวนการทำข่าวแบบดั้ง เดิมที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากกองบรรณาธิการ ทำให้แทนที่จะมีความรับผิดชอบร่วมของกองบรรณาธิการต่อข้อความหรือข่าวที่นำ เสนอออกไป ตัวนักข่าวเองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อความข่าวนั้นๆ

ในขณะที่คุณอดิศักดิ์ มองต่างโดยเห็นว่า เนื่องจากเนชั่นได้กำหนดเป็นนโยบายชัดเจนว่าให้นักข่าวภาคสนามสามารถรายงาน ข่าวสดตรงจากพื้นที่ผ่านช่องทางทวิตเตอร์ได้นั้น ดังนั้นหากเกิดกรณีข้อความหรือข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อน ตัวนักข่าวจะมิใช่ผู้รับผิดชอบต่อข้อความนั้นเพียงผู้เดียว แต่องค์กรจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่

กรอบจริยธรรมการใช้ Social Media ของสื่อมวลชน

สำหรับแนวทางของกรอบจริยธรรมของการใช้ Social Media ของสื่อมวลชนนั้น วงเสวนามีแนวคิดไปในทางเดียวกันนั่นคือ สื่อมวลชนจะต้องยึดหลักจริยธรรมสื่อวิชาชีพในการใช้สื่อใหม่อย่าง Social Media ทุกประการเพียงแต่อาจจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาในลักษณะของข้อควรระวัง เพราะ Social Media มีความต่างจากสื่อดั้งเดิม ในเรื่องของความเร็ว การสื่อสารสองทาง และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ซึ่งเป็นข้อความสั้นเพียง 140 ตัวอักษร มีโอกาสมากที่จะกลายเป็นการสื่อสารที่ผิดความหมาย หรือถูกตีความผิดไปจากความหมายที่ต้องการจะสื่อ หรือถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะข้อความเพียง140 ตัวอักษรของทวิตเตอร์นั้นไม่เพียงพอต่อการใส่บริบทของเรื่องราว ซึ่งอาจทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย แม้ว่าคุณอดิศักดิ์จะบอกว่า ผู้ที่จะทวีตข้อความยาวๆ นั้นสามารถทำได้ผ่านการทวีตอย่างต่อเนื่องกัน อย่างคุณ แคน สารริกา (@can_nw) เป็นต้น

ด้านดร.มานะเสริมว่า เนื่องจาก Social Media เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยและสำหรับวงการสื่อมวลชนไทย ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับปรุงไปด้วยกัน แต่ก็มีข้อควรระวังของประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงอยู่ 4 ประเด็นนั่น คือ ประเด็นแรก เรื่องความรวดเร็วกับความถูกต้อง นักข่าวจะต้องสมดุลสองสิ่งนี้อย่างไร เนื่องจากทุกคนแข่งกันเร็ว แต่บางครั้งความรวดเร็วของข้อมูลที่สื่อออกไปขาดการตรวจสอบ ซึ่งธรรมชาติจากแตกต่างจากสื่อเก่าที่ต้องผ่านการตรวจสอบของกระบวนการทำงาน ของกองบรรณาธิการแต่ช้า

“การสื่อข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ที่มีความเร็วในระดับทันทีทันใดและแพร่ กระจายรวดเร็วมากยิ่งต้องระวัง ยิ่งคุณเป็นนักข่าว ข้อมูลที่คุณสื่อออกไปคนที่เขาตามคุณอยู่เขาจะเชื่อคุณโดยทันทีว่าจริง ซึ่งตรงนี้อันตราย แต่หากข้อมูลมันไม่จริง จะมีคนตรวจสอบคุณทันที และความน่าเชื่อถือของคุณก็จะลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักข่าวที่ใช้ทวิตเตอร์จะต้องเรียนรู้และปรับปรุงต่อไป แต่ที่สำคัญ เมื่อคุณสื่อข้อความที่ผิดออกไป คุณอย่าช้าที่จะขอโทษ ซึ่งหากเป็นสื่อเก่าหากมีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนสื่อมักจะทำ เงียบๆ แล้วปล่อยมันเลยหายไป แต่กับสื่อใหม่คุณจะทำแบบนี้ไม่ได้” ดร.มานะ แสดงความคิดเห็น

พร้อมเสริมต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ เรื่องของความเป็นส่วนตัวกับความเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาสำหรับคนทำข่าวและคนใช้ Social Media ในเมืองไทย เพราะหลายคนมักคิดว่า Social Media คือพื้นที่ส่วนตัว แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ดังนั้น นักข่าวและผู้ใช้งาน Social Media จะต้องเรียนรู้ธรรมชาติข้อนี้ของสื่อใหม่นี้ โดยเฉพาะนักข่าว เนื่องจากคนที่เขามาตามคุณเขามาตามคุณเพราะคุณเป็นนักข่าว ยิ่งหากคุณมีชื่อ Twitter Account ต่อท้ายด้วยชื่อสำนักข่าวของคุณด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังให้มาก เมื่อนักข่าวเรียนรู้ว่าพื้นที่บน Social Media เป็นพื้นที่สาธารณะคุณก็จะสามารถใช้มันอย่างเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ การใช้ข้อความสั้นอย่างทวิตเตอร์เพื่อแสดงทัศนะ หรือนำเสนอเรื่องราวที่ต้องอาศัยบริบทนั้นสามารถทำได้ผ่านการใช้สื่ออื่น ช่วย อาทิ กรณีของคุณสุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) ที่มักจะใช้ทวิตเตอร์รายงานข้อเท็จจริง แต่หากมีความคิดเห็นเพิ่มเติม คุณสุทธิชัยจะใช้บล็อกส่วนตัวเป็นช่องทางการนำเสนอโดยใช้ทวิตเตอร์เป็น เครื่องมือในการบอกว่าหากให้อยากอ่านความเห็น บทวิพากษ์ วิจารณ์ สามารถตามไปอ่านได้ที่บล็อก

ประเด็นต่อมา คือ เรื่องของ “จุดยืนของนักข่าว กับจุดยืนขององค์กร” ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสื่อสาธารณะ ดังนั้น นักข่าวจะต้องแยกบทบาทเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานออกจากกันให้ชัดเจน เพราะหากไม่ชัดเจนแล้วจะเกิดปัญหา อาทิ การแสดงความคิดเห็น หรือารมณ์ส่วนตัวต่อข่าวการเมืองผ่าน Social Media ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอาจก่อให้เกิดประเด็นปัญหาตามมาเรื่องความเข้าใจผิด ของผู้รับสารว่าความคิดเห็นที่คุณแสดงออกมานั้น เป็นจุดยืนของนักข่าวหรือเป็นจุดยืนขององค์กรข่าว ดังนั้น นักข่าวจะต้องระวังในจุดนี้ด้วย

และประการสุดท้าย คือ ประเด็นเรื่องการแบ่งปันข้อมูลกับการละเมิดข้อมูล เมื่อ Social Media เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถส่งต่อข้อความ ทั้งข้อความตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวได้อย่าง่ายดายและรวดเร็ว สิ่งที่อาจจะเป็นประเด็นปัญหาตามมาก็คือ “สิทธิ” ความเป็นเจ้าของในข้อมูลนั้น และการละเมิดสิทธิด้วยการส่งต่อข้อมูลหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เกิดเป็นกรณีความกันขึ้นแต่เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็น ที่นักข่าวและผู้ใช้ Social Media ทุกคนจะต้องเรียนรู้และระมัดระวัง

สุดท้ายวงเสวนาก็จบลงตรงความเห็นร่วมกันว่านักข่าวที่ต้องใช้สื่อใหม่ อย่าง Social Media นี้จะต้องระมัดระวังเฉกเช่นเดียวกับการใช้สื่อเก่า และควรเอาแนวทางปฏิบัติ กรอบการทำงาน และจริยธรรมที่นักข่าวมีและใช้อยู่กับการทำงานบนสื่อดั้งเดิม มาปรับใช้กับสื่อใหม่นี้โดยอาศัยการเรียนรู้ลองผิดลองถูกอย่างระมัดระวัง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อจะให้ความสำคัญกับ Social Media ผ่านการทำกรอบการทำงาน (เพิ่มเติมจากกรอบปฏิบัติเดิมที่มีอยู่) และทางสมาคมนักข่าวฯ เองก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะดำเนินการผ่านทางชมรมนักข่าวสายไอทีต่อไปในอนาคต…

View :5856

Mobile Office แนวโน้มรูปแบบการทำงานใหม่ เปลี่ยนทุกที่เป็นที่ทำงาน ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กร

June 5th, 2011 No comments


ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครือข่ายการสื่อสาร ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่ไหนมุมไหนเวลาไหนก็ได้ ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในยุคดิจิตอลที่คนทำงานสามารถติดต่อสื่อสารกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีโครงข่ายการสื่อสารที่พร้อมที่จะให้คนทำงานสามารถที่ไหน อย่างไร ได้ทุกที่ทุกเวลา


บริษัทสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Skype เองได้จัดทำสำรวจแนวโน้มของการทำงานที่บ้านจากคนทำงานกว่า 1,000 คนจาก 500 บริษัทในทุกขนาดในอเมริกา พบว่า การทำงานจากนอกที่ทำงานหรือทำงานจากที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมการทำงานในต่างประเทศแล้ว ตัวเลขเชิงสถิติจากผลการสำรวจมีความน่าสนใจซึ่งสะท้อนแนวโน้วรูปแบบการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี การสำรวจพบว่ามากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของ 500 บริษัทได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ในขณะที่ราว 34 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มให้พนักงานทำงานจากข้างนอกออฟฟิศบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งการให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นอกที่ทำงานนั้นมีส่วนทำให้พนักงานมีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น

“อาร์เอส” ริเริ่ม Mobile Office:

ปัจจุบันมีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหน ก็ได้นอกที่ทำงาน อาทิ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ให้ทีมงานด้าน Strategic Innovation Business ของบริษัทสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกออฟฟิศได้ ซึ่งทีมงาน Strategic Innovation Business ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 คนมักจะนัดพบกันตามร้านกาแฟเพื่อระชุมหารือความคืบหน้าของงาน และเตรียมข้อมูลเพื่อนเข้าประชุมกับ “เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ซีอีโอแห่งอาร์เอส และการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในอาร์เอส

เนื่องจากหน่วยงาน Strategic Innovation Business เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนสมองของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานด้านวิจัยและจับจ้องเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจบันเทิงของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล รองประธานสายงาน Strategic Innovation Business บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน้าที่หลักของเขาและทีมงานคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์และสรรหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการเกื้อหนุนของเทคโนโลยีและวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ดังนั้นการนั่งทำงานภายในห้องสี่เหลี่ยม หรือการต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นร่วมเวลากับพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานทีมนี้ ซึ่งวัดผลงานที่ผลของเนื้อหางานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่เข้ามานั่งทำงานที่ที่ทำงาน

อาทิตย์มักจะใช้ร้านกาแฟ ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตเป็นที่นัดประชุมและคุยงานกับทีมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนวันอื่นอาทิตย์กับทีมงานจะทำงานอยู่ที่บ้าน เว้นแต่ในบางสัปดาห์ที่อาทิตย์ต้องเตรียมงานและข้อมูลเพื่อเข้าประชุมกับผู้บริหารเพื่อนำเสนอแนวความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ สัปดาห์นั้นอาทิตย์และทีมจะนัดพบกันบ่อยมากขึ้น โดยปกติ อาทิตย์และทีมงานจะมีอุปกรณ์ในการทำงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อันได้แก่ อุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ที่ทั้งทีมใช้อยู่คือ iPad ที่ลงแอพพลิเคชั่นสำหรับการ ทำงานไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น Pages สำหรับงานเอกสาร Keynote สำหรับงานพรีเซนเตชั่น และ Numbers สำหรับงานด้านตัวเลข เป็นต้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่อาทิตย์ใช้อยู่เป็นประจำคือ Google Apps อาทิ Gmail และ Google Docs รวมถึง แอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์อื่นๆ อาทิ Dropbox เป็นต้น

“เราแทบไม่ต้องพกพาอุปกรณ์การทำงานที่เทอะทะ มากมาย เพียงแต่ iPad 3G และ iPhone 4 และหาที่นั่งทำงานที่มีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ให้บริการเท่านั้นทุกอย่างก็อยู่ในมือเรา เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศมีประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ คนจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่เขาอยู่ในสภาวะที่สบายๆ การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นรูปแบบการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากกว่าการที่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากไฟล์งานทุกอย่างจะอยู่ในเครื่อง iPad และเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ซึ่งอาทิตย์สามารถเก็บและแชร์ไฟล์รวมถึงข้อมูลต่างๆ กับทีมงานตนและกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้สะดวกและง่ายดายมาก”

อาทิตย์เชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office คือ ทำงานที่ไหนก็ได้นั้นจะเริ่มมีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะความพร้อมมากขึ้นของโครงข่ายสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้ง WiFi และ 3G ประกอบกับอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้ง่ายและเปี่ยมประสิทธิภาพในการทำงานสูงเริ่มมีใช้แพร่หลาย และราคาไม่แพงมาก รวมถึงการที่มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์การทำงานแบบ mobile office และเอื้อให้การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น สำหรับตัวเขาเองและทีมงานได้เริ่มทำงานในรูปแบบ mobile office มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อาทิตย์มองว่า สิ่งสำคัญของรูปแบบการทำงานแบบนี้ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มอยู่ในขณะนี้นั้น จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่กับทุกหน่วยงานในแต่ธุรกิจ และบริษัทที่อนุญาตให้มีการทำงานแบบ mobile office ได้นั้นบริษัทจะต้องมีระบบการประเมินผลงานที่ตัวเนื้องานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และตัวคนทำงานเองจะต้องปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานให้สามารถ ทำงานแบบ Dynamic ได้ นั่นคือ ต้องทำงานได้ทำที่ทุกเวลา ทุกแอพพลิเคชั่น และต้องสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน (multitasking workers)

“นอกจากเรื่องทักษะในการทำงานแบบหลายชนิดในเวลาเดียวกันพร้อมๆกันได้แล้ว คนทำงานในรูปแบบ mobile office นั้นจะต้องมีวินัยในการทำงานสูงและต้องรู้จักการบริหารเวลาที่ดีมากพอ เพราะการทำงานแบนี้จะใช้ผลงานที่ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้บริหาร “อเด็คโก้” ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา:

นอกจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังมีบริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางานอันดับต้นๆ ของเมืองไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีโนบายให้พนักงานระดับผู้บริหารสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากนอก ที่ทำงานได้ บริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานราว 200 คน ซึ่งเป็นระดับผู้จัดการ 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถทำงานแบบ mobile office ได้และ กานดา สุภาวศิน E-Business Development Manager กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพนักงานจำนวนนั้น เธอเล่าว่า ด้วยหน้าที่การงานที่เธอต้องรับผิดชอบในส่วนงานด้านการสมัครงานออนไลน์/ดูแลผู้สมัคร งาน/ลูกค้า ทั้งระบบ Back Office และ Front Office และดูแลส่วน Online Marketing/SEO/Social Media ของบริษัทร่วมกับ Marketing Team ทำให้เธอต้องเดินทางบ่อยและต้องทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์

กานดา เล่าว่า บริษัทของเธอมีนโยบายให้พนักงานระดับผู้จัดการสามารถทำงานแบบ work from home หรือ ทำงานแบบ mobile office ได้ ด้วยระบบของบริษัทที่เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของสำนักงานสาขาทั้ง 6 แห่งในประเทศไทย (รวมสำนักงานใหญ่) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการสามารถเข้าระบบงานของบริษัทได้จากข้างนอกออฟฟิศผ่านระบบโครงข่ายส่วนตัวเสมือนหรือ VPN (Virtual Private Network) ทำให้กานดามมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงมาก เพราะเธอสามารถจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านกาแฟ ร้านเบเกอร์รี่ร้านโปรด หรือมุมสบายๆ ในที่ทำงานของเธอเอง

“ด้วยลักษณะงานที่ต้องเดินทาง ติดต่อสื่อสารประสานงานกับทีมงานตามที่ต่างๆ และตามสาขาต่างๆ ของบริษัทอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องฝึกการทำงานแบบที่ไหน เมื่อไร ก็ทำงานได้ และเราจะสามารถทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันได้ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยต่างๆ มีความพร้อมและช่วยเสริมให้การทำงานแบบ mobile office เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัจจุบัน อุปกรณ์ในการทำงานหลักของกานดา คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ที่เธอมักจะพกไว้ข้างกายตลอดเวลา เธอบอกว่าเธอใช้ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับทีมงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นสื่อสารยอดนิยมอย่าง Skype, WhatsApp และ Viber ที่เธอมักจะใช้เป็นประจำ นอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเพื่อเข้าระบบงานของเธอที่ออฟฟิศผ่านเทคโนโลยี virtual desktop นอกเหนือไปจากแอพพลิเคชั่นที่กล่าวมาแล้ว กานดายังประยุกต์ใช้สื่อเครือข่ายสังคม (Social Network) อย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางสื่อสารกับทีมงานช่องทางหนึ่ง และใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับสังคมออนไลน์และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร

“เนื่องจากต้องดูแลทั้งประเทศไทยและเวียดนาม จึงต้อติดต่อสื่อสารข้ามประเทศ อยู่เป็นประจำ ซึ่งนโยบายบริษัทให้เราใช้ Skype ได้ เราก็จะประชุมงานกันผ่าน Skype เป็นประจำ และเมื่อต้องเดินทางไปเวียดนาม อุปกรณ์ทำงานของเราทั้ง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ก็สามารถช่วยให้เราทำงานแบบไร้รอยต่อ คือ ทำงานเหมือนกับอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะเราสามารถเข้าระบบงานของเราที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะที่นั่นเขามีเครือข่าย 3G ให้ใช้ฟรีตามร้านค้า ร้านอาหาร และสองข้างถนน สะดวกสบายมาก”

กานดาบอกว่า โดยส่วนตัวมองว่าแม้ว่าการทำงานแบบ mobile office จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานทั้งหมดของเธอได้ เพราะเธอยังคงต้องเข้าที่ออฟฟิศเพื่อประชุมงานอยู่เป็นประจำ แต่เธอก็ยอมรับว่าการทำงานในลักษณะแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเวลาในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนการสื่อสาร ลดต้นทุนค่าเดินทางเพื่อจะไปประชุมลงไปได้มาก เธอเชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office จะมีให้เห็นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่ทุกหน้าที่การงานสามารถทำงานแบบ mobile office ได้ งานบางอย่าง อาทิ งานด้านบัญชี อาจจะต้องเข้ามาทำงานประจำที่ที่ออฟฟิศ

“การทำงานแบบ mobile office นั้นจะให้ประสบความสำเร็จและได้ระสิทธิภาพ บริษัทจะต้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด้วย อาทิ การให้พนักงานสามารถเข้าระบบข้อมูล ได้จากที่ไหนก็ได้ การสนับสนุนอุปกรณ์ และต้นทุนการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบ mobile office เอาเข้าจริงๆ แล้ว พนักงานที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วจะยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขาจะทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เขาจะทำงานทุกที ทุกเวลา แบบไม่มันหยุด เพราะเขาจะทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน และจะทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน”

กานดาเสริมว่า อยากให้องค์กรธุรกิจมองไปที่รูปแบบการทำงานแบบ mobile office มากขึ้น และควรจะสนับสนุนการทำงานแบบ mobile office ของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนค่าอุปกรณ์และค่าค่าสื่อสาร ลงทุนระบบงานของบริษัทให้พนักงานสามารถเข้าผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ไหนเข้ามาทำงานก็ได้ เพราะในระยะยาวแล้ว ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน เพราะพนักงานไม่ต้องเข้านั่งมาทำงานที่บริษัท บริษัทสามารถลดขนาดพื้นที่ ลดจำนวนอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ ลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้มาก

“การทำงานในสภาวะที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่จะสามารถทำงานแบบ mobile office จะต้องสามารถบริหารเวลา และควบคุมดูแลตนองให้ทำงานได้ดีด้วย” กานดากล่าวทิ้งท้าย

Google Apps + Cloud ปัจจัยเร่ง Mobile Office:

แนวโน้มรูปแบบการทำงานแบบ mobile office นั้นกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ด้วยความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุมมากขึ้น กอปรกับสภาพการจราจรที่แออัดทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาทดลองให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิ้ล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อไปทำงานมากที่สุดในโลก เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัดทั้งในช่วงเช้าและเย็น ระบบคมนาคมขนส่งไม่สะดวกสบายมากนัก และกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งสภาพแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับรูปแบบของการทำงานแบบ mobile office มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงบริษัทขนาดกลางและเล็กในเมืองไทยหลายรายเริ่มหันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้แล้ว จะเห็นได้จากปริมาณการใช้ระบบซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์เซอร์วิสของกูเกิ้ล ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบงาน Google Apps

“ความสามารถในการทำงานบนรูปแบบ mobile working ในปัจจุบันมีมากขึ้นมากเมื่อความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบวกกับความแพร่หลายของอุปกรณ์พกพาต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต (Tablet) มีเพิ่มมากขึ้นจนยอดขายโดยรวมแซงหน้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้อุปกรณ์พกพาฉลาดๆ แบบนี้เมื่อรวมกับระบบซอฟต์แวร์ที่กูเกิ้ลให้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เขาจะทำงานที่ไหน และเมื่อใดก็ได้ ชีวิตการทำงานก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

พรทิพย์ เล่าวว่า ตัวเธอเองในฐานะพนักงานกูเกิล ก็ได้ทำงานบนรูปแบบของ mobile working เนื่องจากเธอต้องเดินทางบ่อยแต่ต้องมีการประชุมติดต่อประสานงานกับทีมงานอยู่เป็นประจำ เธอพกพาอุปกรณ์การทำงานเพียงสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่บางเฉียบ ก็สามารถเปลี่ยนทุกสถานที่ที่เธออยู่ในปัจจุบันเป็นที่ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างง่ายดาย งานต่างๆ ที่เธอทำค้างอยู่ก็สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เธอไม่ต้องพกพาไฟล์งานหรือไฟล์เอกสารใดๆ ไปด้วยกับเธอ แม้แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) เธอยังไม่ต้องพกพาไว้ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากนั้นพรทิพย์ก็โหลดทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำงานลงมาที่เครื่องเพื่อทำงานจากนั้นก็จัดการจัดเก็บไฟล์งาต่างๆ กลับขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์ดังเดิมเมื่อทำงานเสร็จแล้ว

“รูปแบบการทำงานแบบนี้ พนักงานของกูเกิ้ลทั่วโลกทำอยู่ และเริ่มเห็นแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุมมากขึ้น และคนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้บริการคลาวด์ผ่านบริการของกูเกิ้ลหลายอย่าง อาทิ Gmail และ Google Doc ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะทำงานจากทุกที่ที่เขาต้องการมากขึ้น คลาวด์แอพพลิเคชั่นที่ใช้เป็นประจำคือ Gmail, Google Talk, Calendar, Google Doc, SpreadSheet และ Google Map”

พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (Small and Media Enterprise: SME) ในประเทศไทยหลายรายเริ่มมีการใช้ระบบงาน mobile solution มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ Google Apps ช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ เนื่องจาก เอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้นใช้บริการได้ฟรีหากไม่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่มีการการันตีคุณภาพของบริการ (Service Level Agreement: SLA) แต่หากเอสเอ็มอีต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมบริการหลังการขาย ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย และต้องการบริการเรื่องการพัฒนา ต่อยอกแอพพลิเคชั่น (API: Application Programming Interface) ก็สามารถใช้บริการ Google Enterprise ได้โดยลงทุนเริ่มต้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อปี

“เอสเอ็มอีเริ่มใช้และเริ่มรู้ว่าเขาสามารถซิงค์ระบบงานทุกอย่างระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันเอสเอ็มอีหลายรายเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นที่จำเป็นระหว่างเดินทางมากขึ้น”

Google Apps รองรับการใช้งานตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา ไปจนถึงแท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน และรองรับการใช้งานของอุปกรณ์ในทุกแพลตฟอร์มทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซิมเบี้ยน แอนด์ดรอยด์ และ iOS พรทิพย์ กล่าว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือหรืออุปกรณ์พกพา (Mobile Internet Users) 12 ล้านคนในประเทศไทยเมื่อรวมกับความพร้อมของบริการ Google Apps และคลาวด์คอมพิวติ้ง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile working เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นั้นบริษัทต่างๆ เมื่อเห็นแนวโน้มของความสามารถในการทำงานในทุกที่ทุกเวลาของพนักงานได้แล้ว หากมีการปรับนโยบายโดยอนุญาตให้พนักวานในส่วนวานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่ทำงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่ใดๆได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile office เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากองค์กรใดมีนโยบายหรือกำลังเตรียมจะมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือภายนอกที่ทำงานได้ สิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบรักษาความพร้อมภัยของข้อมูล ซึ่งทางเลือกที่แนะนำสำหรับองค์ขนาดกลางและเล็กคือ การพึ่งพาบริการของคลาวด์คอมพิวติ้ง ของผู้ให้บริการ จะเป็นกูเกิ้ลหรือไม่ก็ได้ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์จะมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและรับประกันคุณภาพบริการและความเสถียรของการใช้งานและการเข้าถึงระบบข้อมูลและแอพพลิเคชั่น”

พรทิพย์ กล่าวว่าหากเอสเอ็มอีรายใดต้องการใช้บริการคลาวด์ และ Google Apps หรือ Google Enterprise ลูกค้าสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและซื้อบริการได้ด้วยตนเองที่ www.google.com/a หรือจะติดต่อขอใช้บริการผ่านตัวแทนจำหน่ายของกูเกิ้ลในปรพเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ราย คือ CRM & Cloud Consulting และ Tangerine ลูกค้าที่มีระบบงานระบบฐานข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วก็สามารถมาใช้งานและรวมระบบเข้ากับระบบงานบนคลาวด์ของกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทคนไทยนี้จะสามารถให้บริการและคำปรึกษาลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ Google Enterprise

เทคโนโลยี Mobility หัวใจขับเคลื่อน Mobile Office:

เนื่องจากโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต้องการความสะดวกสบายในการทำงานการมีสิงอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ย่อมทำให้มนุษย์มีความยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น มนู อรดีดลเชฐ ประธานคณะกรรมการบริหาร เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารพกพาที่มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ประกอบกับความพร้อมของระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริการผ่านเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาเพิ่มมากขึ้น

“จะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนภายในหนึ่งเจนเนอร์เรชั่นของคน ที่วิถีชีวิต วิถีการทำงานจะเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยทั้งโครงข่าย อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่น หากบริษัทหรือองค์กรธุรกิจไหนปรับตัวปรับรูปแบบการทำงานทัน เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาจะเลือกที่จะไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เขาไม่ถนัดทำงานในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่คุ้น บริษัทหรือองค์กรธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับวัฒนธรรมรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ ปัจจุบันมีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน ในประเทศไทยมีคนใช้ Facebook 8 ล้านคน สิ่งเหล่านี้มีผลและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตการสื่อสารและการทำงานทั้งสิ้น”

มนู กล่าวต่อว่า เครือข่ายสังคม (Social Network) จะเข้ามาเป็นโครงข่ายการสื่อสารหลักอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารในกลุ่มของคนในรุ่นใหม่ จากเดิมที่มีเพียงโทรศัพท์ประจำที่ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็นอินเทอร์เน็ต และปัจจุบันพัฒนาการมาเป็นเครือข่ายสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถจับต้องได้แล้ว องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาว่านโยบายขององค์กรควรเป็นอย่างไรเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันนี้ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพราะการที่มีความสามารถในการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา (Mobility) มากขึ้น จะทำให้ทำงานได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจที่จะต้องมองแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านนี้ให้ออกและเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว

View :4417

Lennard Hoornik, president of HTC Asia South, first in BKK

June 1st, 2011 No comments

Lennard Hoornik, president of HTC Asia South, first in BKK

View :2373
Categories: Uncategorized Tags:

เดลล์ประกาศรุกตลาดสมาร์ทโฟน เปิดตัว “เดลล์ เวนิว”

June 1st, 2011 No comments

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวการรุกตลาดสมาร์ทโฟนของเดลล์

นายคเณศณัฏฐ์ ชยามรฉัตรคุปต์ ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ Mobility บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาธิตคุณสมบัติของ “เดลล์ เวนิว”

 

รีวิว “เดลล์ เวนิว” โดย 6 บล็อกเกอร์

View :3011