Archive

Archive for the ‘Tablet’ Category

โปรโมชั่น และ Gadgets ตัวใหม่ ในงาน “คอมมาร์ต คอมเทค ไทยแลนด์ 2011”

October 14th, 2011 No comments

สำหรับมหกรรมสินค้าไอทีส่งท้ายปี Commart Comtech Thailand 2011 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 6 พฤศจิกายน นี้ พบกับกองทัพแท็บเล็ตราคาพิเศษจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำที่มารวมพลกันมากกว่าครั้งไหน ๆ ตื่นตากับสีสันของสินค้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวในต่างประเทศ ซึ่งนำมาจัดแสดงและมีให้จับจองกันในงาน รวมถึงร่วมประมูลเป็นเจ้าของได้ในราคาเกินคุ้ม เช่น Sony Tablet, Samsung Chromebook และ Nook Color อีบุ๊กจอสี เป็นต้น

NOOK COLOR

Nook Color อีบุ๊กจอสี


แท็บเลตขนาด 7 นิ้ว ที่แสดงสีสันของอีบุ๊กได้อย่างลงตัว เขื่อมต่อด้วย Wi-Fi มาพร้อมกับโอเอสอย่างแอนดรอยด์สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ Twitter และ Facebook ได้ ขนาดความละเอียดของหน้าจอที่ 1024×600 พิกเซล ใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง

SONY TABLET

Sony Tablet


แท็บเลตล่าสุดของโซนี่ ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยที่มีขนาดหน้าจอ 9.4 นิ้ว พร้อมด้วยระบบการเชื่อมต่อ Wi-Fi มาพร้อมกับแอนดรอยด์โอเอสล่าสุด และระบบเครื่องเสียงของโซนี่ ทำให้คุณเล่นไฟล์มัลติมีเดียด้วยระบบเสียงที่ไม่เหมือนใคร สำหรับการออกแบบได้ออกแบบให้หิ้วไปมาได้สะดวก และมีน้ำหนักเบาเพียง 598 กรัมเท่านั้น มีหน่วยความจำให้เลือก 2 ขนาด คือ 16GB และ 32GB

SAMSUNG CHROMEBOO

Samsung Chromebook


Samsung Series 5 ChromeBook เน็ตบุ๊คที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Chrome OS ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีดีไซน์ที่สวยงาม-บางเบาน่าใช้เท่านั้น แต่มันยังมีสเป็กการทำงานของเครื่องที่น่าสนใจอีกด้วย Samsung Series 5 ChromeBook เน็ตบุ๊คที่มีความบางเป็นพิเศษแค่ 0.79 นิ้ว โดยจะทำงานด้วยระบบปฎิบัติการ Chrome OS ของ Google ภายในตัวเครื่องใช้โพรเซสเซอร์ดูอัลคอร์ Atom ของ Intel และแบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ทั้งวัน ซึ่ง Google ให้นิยามความหมายของการใช้งานได้ทั้งวันนี้ว่า สามารถใช้งานได้นานต่อเนื่อง 8.5 ชั่วโมง Samsung ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Series 5 ChromeBook ว่า มันมีหน้าจอขนาด 12.1 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800 พิกเซล ความสว่าง 300 nit และมีน้ำหนักเพียง 3.6 ปอนด์ (ประมาณ 1.63 กิโลกรัม) เชื่อมต่อการทำงานไร้สายด้วย Wi-Fi 802.11 หรือจะเลือกใช้เป็น 3G ก็ได้ มี USB 2.0 ให้ 2 พอร์ต เว็บแคม และแทร็คแพดแบบคลิกได้ (ข้อมูลจาก ARiP.co.th)

View :2970

“ดิจิทอลล์ฯ”… น้องใหม่ ฝีมือเก๋า ในสนามดิจิตอล แมกกาซีน

October 1st, 2011 No comments

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของไทยอย่างเอไอเอส ได้เปิดตัวดิจิตอล แมกกาซีนภายใต้ชื่อ “เซเรเนด ดิจิตอล แมกกาซีน” (Serenade Digital Magazine) ดิจิตอล แมกกาซีน ราย 3 เดือนที่มีวัตถุประสงค์ไม่เพื่อตอบโจทย์งานด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM: Customer Relationship Management) ขององค์กร แต่เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านสื่อนิตยสารในรูปแบบดิจิตอลเล่มแรกของบริษัท

เบื้องหลังความสำเร็จของ “เซเรเนด ดิจิตอล แมกกาซีน” คือ การทำงานอย่างหนักของทีมงานกว่า 10 ชีวิตของบริษัทน้องใหม่อายุยังไม่ถึงปีอย่าง บริษัท ดิจิทอลล์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ฝากฝีไม้ลายมือในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีนชื่อดังอย่าง mars มาแล้วนั่นเอง

กมลวรรณ ดีประเสริฐ กรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทอลล์ ประเทศไทย จำกัด
เล่าว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านเนื้อหาข้อมูล (Informative Application) สำหรับอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) หลังจากที่ทีมงานของบริษัทเก็บสะสมประสบการณ์จากการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนภายใต้แบรนด์ mars มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนออกมาตั้งบริษัทรับพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเริ่มรับผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้กับเอไอเอส รวมถึงดิจิตอล แมกกาซีนสำหรับองค์กรอีก 2-3 ราย ที่จะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนของตัวเอง (ที่เป็นรูปแบบหนังสือ คือ ไม่ได้ออกเป็นรายเดือนหรือรายปักษ์) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหนังสือดิจิตอล แมกกาซีนเกี่ยวกับเรื่องการทำอาหาร และเรื่องท่องเที่ยวสำหรับ iPhone และ iPad ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ภายในครึ่งปีหลังนี้

กมลวรรณ บอกว่า ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตทางธุรกิจ แต่เป็นช่วงที่ต้องทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีน นั้นแตกต่างจากการนำไฟล์งานหนังสือ หรือไฟล์งานสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ผ่านการออกแบบและจัดหน้าแบบสื่อกระดาษมาจับใส่อุปกรณ์แท็ปเล็ตที่มีความสามารถในการนำเสนอเนื้อหาที่มากกว่าตัวอักษรและภาพนิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการทำให้ลดทอนศักยภาพในการนำเสนอของอุปกรณ์แท็ปเล็ตแล้ว ยังสร้างความเข้าใจผิดให้กับตลาดดิจิตอล แมกกาซีน และทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนและแรงงาน และยังสร้างผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจนี้ เพราะรูปแบบและวิธีการทำงานในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน หรือ การพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบดิจิตอลนั้น เป็นคนละแนวคิดกับรูปแบบการพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบและแนวคิดเดิมๆ

“หากเราไม่ทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีนไม่ใช่การหยิบไฟล์ PDF มาใส่ แล้วเปิดอ่านแบบพลิกไปพลิกมา ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยทำให้ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนเติบโต ในเชิงการตอบสนองจากผู้อ่านแล้ว จะยังไม่ช่วยสร้างการเติบโตของดิจิตอล แมกกาซีนในแง่ของเม็ดเงินโฆษณาที่คาดว่าจะไหลเข้ามา ซึ่งตลาดในช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ที่รายได้จากเม็ดเงินโฆษณายังไม่ค่อยไหลเข้ามามากนัก”

กมลวรรณ ย้ำว่า ตลาดดิจิตอล แมกกาซีนในไทยนั้นยังเล็กแต่มีแนวโน้มที่ดี แต่ตลาดยังไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากเม็ดเงินโฆษณา และรายได้จากค่าสมาชิก หรือค่าซื้อแอพพลิเคชั่น ดังนั้น ดิจิตอล แมกกาซีนในช่วงจะเน้นหนักไปที่วารสารองค์กร (Corporate Magazine) ที่ตอบโจทย์เพื่องานประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ขององค์ เป็นหลักมากกว่าที่จะเป็นดิจิตอล แมกกาซีนที่เป็นนิตยสารกระโดดเข้ามาทำ

“ในสนามนี้ทุกคนที่เข้ามาล้วนใหม่หมด และทุกคนสามารถเข้ามาแบ่งเค้กก้อนนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเนื้อหา บริษัทซอฟต์แวร์ หรือธุรกิจโรงพิมพ์ แต่ดิจิทอลล์ ประเทศไทยเรามีความได้เปรียบตรงที่เรามีความเป็นสื่อ เราผ่านงานทำเว็บข่าวของเครือผู้จัดการและมีส่วนในการพัฒนาเว็บ www.manager.co.th ปัจจุบันเท่าที่มองไปในตลาด เราจะพบว่ามีบริษัทพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนรายหลักๆ อยู่ประมาณ 5 ราย ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งกัน เพราะตลาดมันเพิ่งเริ่ม และตลาดมันใหญ่มาก ตอนนี้เรามองว่าเราเป็นพันธมิตรที่จะช่วยกันสร้างตลาดมากกว่า ตลาดมันใหญ่และมีอะไรให้เล่นอีกเยอะ เพราะเราไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตดิจิตอล แมกกาซีน แต่เรามองว่าเราเป็นผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นด้านเนื้อหา ซึ่งโดยเทคโนโลยีเราสามารถนำเสนอลูกเล่นในการนำเสนอได้อีกมากมาย ความท้าทายในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการทำความเข้าใจกับตลาดว่าดิจิตอล แมกกาซีน หรือการนำเสนอเนื้อในรูปแบบดิจิตอลมันเป็นอะไรที่มากไปกว่า การอ่านหนังสือบนสื่อดิจิตอล ซึ่งเราต้องช่วยกัน” กมลวรรณทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

View :3676
Categories: Digital Magazine, Tablet Tags:

Think Technology: นักพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน ท้องถิ่นชื่อดังจากขอนแก่น

September 28th, 2011 No comments

ในวงการคนทำสื่อดิจิตอล แมกกาซีน (Digital Magazine) น้อยคนนักจะไม่รู้จักชื่อ Think Technology บริษัทซอฟต์แวร์แห่งขอนแก่นที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 100,000 บาทกับโปรแกรมเมอร์เพียงคนเดียวคือตัวเจ้าของบริษัทนามว่า “อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Think Technology จำกัด และนักพัฒนา Digital Magazine ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

อภิชัย มองว่า การขยายตัวของตลาดดิจิตอลแมกกาซีนในเมืองไทยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทาง Publisher เองยังต้องการเพียง Static Magazine บน iPad เท่านั้น ปัจจัยที่จะทำให้ Digital Magazine ขยายตัวออกไปได้น่าจะเป็นความเข้าใจว่า Digital Magazine คืออะไร ไม่ใช่เพียง PDF ใน App ที่มีไอคอนของบริษัทตนเอง ถ้า Publisher เข้าใจการขยายตัวก็จะมากขึ้น

“หากมองภาพรวมของตลาดดิจิตอล แมกกาซีนนั้นยังไปได้อีกไกลเพราะผู้บริโภคเริ่มมีอุปกรณ์ในการอ่าน และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถสร้างออกไปได้หลากหลายแพลตฟอร์ม แต่การแข่งขันสูงจาก Static Magazine ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ส่วนการปรับตัว Publisher ยังปรับตัวช้า อาจต้องทำให้ Publisher เข้าใจก่อนว่า Digital Magazine เป็นอย่างไร เพราะจากสถานการณ์แบบนี้ น่าจะมี Publisher ลงมาเล่นมากกว่านี้”

สำหรับ ดิจิตอล แมกกาซีนที่บริษัทผลิตอยู่ในปัจจุบันจะเน้นรองรับ 3 แพลตฟอร์ม คือ iOS, Android และ BlackBerry Playbook ทั้งนี้ออกแบบเนือ้หาและรูปแบบการนำเสนอมสำหรับรองรับการอ่านบนจอขนาด 7 นิ้ว และ 9.7 นิ้ว จะได้เห็นชัดเจนคงเป็นแมกกาซีนของบริษัทที่จะปล่อยออกมาพร้อมกัน 3 แพลตฟอร์ม

อภิชัย เล่าว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาและผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้กับหลายองค์กร ได้แก่ Bazaar Magazine ดิจิตอล แมกกาซีนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน Bazaar Magazine ได้หยุดผลิตไปแล้ว) และ LIPS Magazine สำหรับยอดดาวน์โหลดนี้ของดิจิตอล แมกกาซีนแต่ละเล่มนั้นทางเจ้าของนิตยสาร หรือ Publisher จะเป็นผู้ดูแลเอง บริษัททำหน้าที่เพียงเหมือนมือปืนรับจ้างในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้เท่านั้น

โดยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่บริษัทใช้ในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน หลักๆ ได้แก่ Adobe inDesign, Woodwing Solution และ Xcode ปัจจุบันได้เพิ่ม Adobe Dreamweaver ขึ้นมาเพื่อเขียน HTML5 ที่จะทำ Digital Books บน iOS

อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล

สำหรับอนาคตอันใกล้บริษัทมีเป้าหมายว่าจะผลิตแมกกาซีนของตัวเอง 2 ปก และจะเริ่มให้เห็นตัวแมกกาซีนในท้องตลาดในปลายไตรมาสที่สาม ซึ่งการพัฒนาชิ้นงานดิจิตอลแมกกาซีนของบริษัทนั้น อภิชัย กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัท คือ การนำงานกลับมาแบ่งให้กับบริษัทในท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น มาให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการในลักษณะนี้มาโดยตลอด และในปัจจุบันบริษัทยังขยายขอบเขตธุรกิจไปรับผลิต Mobile App สำหรับทั้งแพลตฟอร์ม iOS และ Android โดยมีบริษัทท้องถิ่นเป็น Outsource ให้ ส่วนบริษัทก็ทำการตรอจสอบคุณภาพสินค้าและชิ้นงาน หรือ QC (Quality Control) ให้ลูกค้า

“หากถามว่าเป้าหมายทางธุรกิจของ Think Technology คือ เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะเราไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นอันดับหนึ่ง ที่ต้องมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ชัดเจนมากกว่าคนอื่น เรารู้ตัวเราดีว่าเล็ก แต่ที่เราทำก็คือทำให้ดีที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา ที่นอกเหนือจากการทำเงินเข้าบริษัทแล้ว เราต้องการดึงงานจากเมืองหลวงเข้ามาสู่ขอนแก่น เพื่อไม่ให้น้องๆ ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมทำตลอดเวลา”

อภิชัย กล่าวว่า บริษัทเน้นเรื่องการแบ่งปันงานให้กับนักพัฒนาในท้องถิ่น เพราะบริษัท Think Technology เป็นบริษัทที่เกิดจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ทางด้านเทคโนโลยี” (Technopreneur) ของศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Computer and Electronics Center: Nectec) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่1 ในปี 2547 จากนั้นตนจึงกลับมาเปิดบริษัทที่บ้านเกิด และในขณะนั้น ก็ได้มี อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค (E-SAAN Software Park) เกิดขึ้น บริษัทจึงเข้าไปสมัครสมาชิกเพื่อรับข้อมูลข่าวสารและรับการสนับสนุนสถานที่ในการทำงาน

ปัจจุบัน บริษัทได้เข้ามามีส่วนสนับสนุน อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค ในรูปแบบของการดึงงานจากกรุงเทพฯ เข้ามาให้บริษัทท้องถิ่น และเป็นวิทยากรในการอบรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟท์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้อบรมรุ่นที่สอง) และได้ร่วมกันทำงานอีกหลายๆ อาทิ งาน Augmented Reality ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ในโครงการ Khonkaen Augmented Reality Guide Project เนื่องจากธุรกิจของบริษัทนอกจากการผลิตดิจิตอลแมกกาซีนแล้ว บริษัทยังมีบริการรับพัฒนา Augmented Reality โมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) และแอพพลิชั่นด้านอีคอมเมิร์ซบนมือถือ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค (E-SAAN Software Park) บทบาทของบริษัทคือ จัดทำระบบฐานข้อมูลของของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ด้วยระบบ AR โดยบทบาทของ อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค คือ การพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟท์แวร์ ทำให้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยบริษัทจะคัดเลือกนักพัฒนาที่สนใจช่วยทำโครงการระบบฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ด้วยระบบ AR เข้ามาทำงาน

“ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือทั้ง Android และ iPhone อยู่แล้ว เลยคิดจะจับเจ้า AR มาช่วยเหลือจังหวัด ในการให้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งผมเป็นคนขอนแก่น ก็คิดว่าผมเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน เลยจะให้น้องๆ ในทีมจัดทำระบบขึ้น ส่วนงบประมาณ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นของบริษัททั้งหมด ที่ทำไปเพราะอยากใช้ความสามารถของบุคลากรในบริษัทช่วยเหลือจังหวัดบ้านเกิด นอกจากนี้บริษัทยังยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ ให้กับคนในท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับสมาคมซอฟท์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อช่วยกันผลักดันการพัฒนาซอฟต์แวร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

นับว่า Think Technology เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เป็นกำลังหลักในการผลิตชิ้นงานดิจิตอล แมกกาซีน ที่สามารช่วยกระจายงานพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนให้กับนักพัฒนาในท้องถิ่น เพื่อสร้างนักพัฒนาและสร้างตลาดดิจิตอลแมกกาซีนไปในคราวเดียวกันได้….

View :4420

“เอเชียบุ๊คส์” … รุกธุรกิจ eBook หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

September 26th, 2011 No comments

การขยายตัวของเครื่องอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในแพลตฟอร์มของเครื่องอ่าน eBook ที่เรียกว่า Kindle และแพลตฟอร์มของอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) โดยเฉพาะ iPad ไม่เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่านเท่านั้น ยังเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจการค้าขายหนังสือของร้านหนังสือที่มีสาขามากมายอย่างเอเชียบุ๊คส์ไปด้วย ทำให้ธุรกิจร้านหนังสืออย่างเอเชียบุ๊คเริ่มหันมามองโอกาสทางการตลาดในการขยายขอบเขตของสินค้าจากการขายหนังสือเป็นเล่มๆ มาสู่การขายหนังสือที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

สิโรตม์ จิระประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า เอเชียบุ๊คเริ่มรุกตลาด eBook อย่างเต็มตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยการประกาศขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากกว่า 500,000 เล่มทันทีที่เปิดตัว และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็น 1 ล้านเล่มภายในสิ้นปีนี้ และหวังว่าจะพาเอเชียบุ๊คส์ผงาดขึ้นเป็นผู้นำตลาดร้านหนังสือออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ปัจจุบันเอเชียบุ๊คส์มีฐานลูกค้าในมือราว 150,000 คนซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่จะมีการซื้อหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียบุ๊ค แต่ทั้งนี้ทางบริษัทก็ตั้งเป้าเพิ่มยอดลูกค้าใหม่ด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบัน เอเชียบุ๊คมีหน้าร้านออนไลน์ ที่ www.asiabooks.com ซึ่งได้มีการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่หมดเมื่อปลายปีทีผ่านมา เป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนหนังสือกว่า 500,000 เล่มที่พร้อมให้ดาวน์โหลด ด้วยจำนวนคนที่เข้ามาที่ร้านค้าออนไลน์แห่งนี้ชั่วโมงละ 2,000 คน และในจำนวนนี้ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จะสั่งซื้อหนังสือ

“เดิมทีเว็บไซต์เรามีไว้เพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือในร้าน และให้สั่งซื้อและสั่งจองหนังสือที่เป็นเล่มๆ ได้ จนเมื่อปลายปีที่แล้วที่เราเริ่มปรับปรุงเว็บขนานใหญ่เพื่อรองรับการขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และปัจจุบันเว็บนี้เป็นหน้าร้านออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเข้ามาลงทะเบียนสมาชิกเพื่อสั่งซื้อและดาวน์โหลดหนังสือไปอ่านได้”

สิโรตม์ กล่าวว่า ลูกค้าจะสามารถสั่งซื้อหนังสือ ดาวน์โหลด และจ่ายเงินผ่านหน้าเว็บไซต์ได้ทันที โดยสามารถจ่ายเงินผ่านทั้งบัตรเครดิต เดบิต และ PayPal หรือหากลูกค้าไม่สะดวกจ่ายเงินออนไลน์ก็สามารถจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือโอนเงินผ่านธนาคาร หรือมาจ่ายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์ (ทั้งภายใต้แบรนด์ AsiaBooksและ Bookazine) ซึ่งมีมากกว่า 70 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งการดาวน์โหลดหนังสือผ่านหน้าเว็บลูกค้าสามารถจะดาวน์โหลดด้วยคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค อุปกรณ์แท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน หรือลูกค้าจะมาดาวน์โหลดหนังสือที่ตู้คีออส (Kiosk) ซึ่งตั้งอยู่ภายในร้านเอเชียบุ๊คส์ก็ได้

ทั้งนี้เอเชียบุ๊คส์ได้ลงทุนไปราว 10 ล้านบาทในการปรับปรุงระบบงานหลังบ้านเพื่อรองรับร้านขายหนังสือออนไลน์รวมถึงระบบซอฟต์แวร์ที่ป้องกันการก็อปปี้ และได้ขยายการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย (Social Media)โดยเฉพาะเฟซบุ๊ค (Facebook)

“ปัจจุบันเรายังขายหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ในรูปของ e-book อยู่ซึ่งผู้อ่านดาวน์โหลดไปก็เปิดอ่านเหมือนเปิดหนังสือที่เป็นเล่มๆ อ่าน เพียงแต่ผู้อ่านไม่ต้องพกหนังสือไปไหนมาไหนด้วย แค่ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือไปกับอุปกรณ์การอ่านซึ่งได้ตั้งแต่ที่เป็นโน๊ตบุ๊ค แท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน ผู้อ่านสามารถพกหนังสือไปอ่านได้คราละหลายๆ เล่ม ซึ่งสะดวกสบายกว่าการพกหนังสือเล่มๆ แต่ในอนาคตเรามีแผนจะพัฒนาหนังสือในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นบนแท็ปเล็ตและสมาร์ทโฟน ทั้งบนแพลตฟอร์ม iOS และ Android ทั้งนี้เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านและเพิ่มฐานผู้อ่านในหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กว้างมากขึ้น”

ปัจจุบันหนังสือส่วนใหญ่ที่เอเชียบุ๊คส์ได้สิทธิ์ในการจำหน่ายยังเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ทางบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นภาษาไทยด้วยการเปิดโอกาสให้นักเขียนสามารถส่งเรื่องมานำเสนอเพื่อพัฒนาเป็นอีบุ๊คและขายในร้านหนังสือออนไลน์ของเอเชียบุ๊คส์ได้โดยแบ่งส่วนแบ่งรายได้ระหว่างนักเขียนกับร้านหนังสือ 70:30 เช่นเดียวกับรูปแบบการแบ่งรายได้ของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของแอพฯสโตร์อื่นๆ

“อย่างไรก็ดี เราหวังว่าเราจะเพิ่มปริมาณหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในปีต่อๆ ไป เพราะโดยปกติจะมีหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ออกสู่ตลาดปีละ 1 ล้านล่มทั่วโลก ซึ่งเราได้สิทธิ์ในการขายหนังสือเหล่านั้น”

สิโรตม์ กล่าวเสริมว่า การก้าวเข้าสู่ตลาด eBook นั้น เป็นยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ต้องเกาะกระแสและแนวโน้มของตลาดหนังสือทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันคนเริ่มหันมาอ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ และเอเชียบุ๊คส์เองซึ่งเป็นร้านหนังสือได้สิทธิการขายหนังสือทั้งที่เป็นเล่มที่เป็น eBook อยู่จำนวนมากจึงเห็นโอกาสทางการตลาดตรงนี้

“ในอเมริกาและอังกฤษ เป็น 2 ประเทศที่มีสัดส่วนของหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สูงราว 8 และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนในประเทศไทยมีสัดส่วนของหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่จากแนวโน้มแล้วหนังสือที่เป็นเล่มๆ มีการขยายตัวทั่วโลกต่อปีราว 10 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่หนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวราวปีละ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือการเติบโตของอุปกรณ์แท็ปเล็ต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการอ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ชั้นดี มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจำนวนคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ ทำให้พฤติกรรมของคนเริ่มหันมาอ่านหนังสือบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมและปูทางเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่ว่าลูกค้าต้องการอะไร”

View :3971

“ศิริมีเดีย” เรือธงธุรกิจในน่านน้ำใหม่ ของเจ้าพ่อโรงพิมพ์ “ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์”

September 20th, 2011 No comments


การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสื่อดิจิตอลทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ใหญ่เก่าแก่อย่างบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องเดินเกมขยายไลน์ธุรกิจด้วยการเปิดบริษัทใหม่ “ศิริมีเดีย” เพื่อรับงานการผลิตสื่อดิจิตอลทุกรูปแบบ และเพื่อสร้างทักษะความชำนาญและปูทางไปสู่การให้บริการผลิตสื่อดิจิตอลให้กับฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

พรเทพ สามัตถิยดีกุล ประธานบริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจรทั้งในและนอกประเทศ เล่าว่า บริษัทเริ่มเห็นแนวโน้มของกระแสสื่อดิจิตอลมาตั้งแต่ปีที่แล้วจากการปรับตัวของลูกค้าในต่างประเทศทำให้บริษัทเริ่มคิดหาทางเพื่อตอบสนองตลาดกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้สื่อดิจิตอลแทนสื่อเดิมอย่างแน่นอน บริษัทจึงตัดสินใจตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่เพื่อรับงานการผลิตสื่อดิจิตอลทุกประเภท โดยเริ่มจากการผลิตสื่อดิจิตอลในรูปของดิจิตอล แมกกาซีนของตนเองภายใต้ชื่อ Andaman 365 เพื่อซ้อมมือและสร้างตัวอย่างงานเพื่อนำเสนอลูกค้า

“ระบบดิจิตอลมีเดียเป็นแนวธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ธุรกิจโรงพิมพ์จะได้รับผลกระทบเพราะลูกค้าจะเริ่มหันไปใช้สื่อดิจิตอลมากขึ้น เราเลยตั้งศิริมีเดียขึ้นมารองรับลูกค้าในกลุ่มที่เริ่มทยอยลดยอดพิมพ์สื่อกระดาษลงแล้วเปลี่ยนไปทำเนื้อหาบนสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะบน iPad เราจึงต้องมีบริการตรงนี้ให้เขา ดีกว่าจะปล่อยให้ลูกค้าในส่วนนี้หายไปเฉยๆ ต่อหน้าต่อตา ถือว่าการเข้าผลิตดิจิตอล แมกกาซีนของบริษัท เป็นผลมาจากการโดนกดดันจากจากตลาดและลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของเรา”

ก่อนจะมาผลิต Andaman 365 เล่มแรกต้นปีนี้ พรเทพ เล่าว่าบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างน้อยหนึ่งปี ด้วยการเปิดบริษัทใหม่ รับทีมงานใหม่หมด และจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมาสอนการใช้ซอฟต์แวร์งานเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต ซึ่งบริษัทลงทุนคนละอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ไปกับบริษัท ศิริ มีเดีย จำกัด และโปรเจค Andaman 365 ราว 10 ล้านบาท

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดจะทำดิจิตอล แมกกาซีนของเราเอง เราตั้งใจจะรับจ้างผลิต แต่ไม่มีใครกล้าลงทุน เราจึงตัดสินทำดิจิตอล แมกกาซีนของเราเองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานของเรา ว่าเรามีฝีมือและความพร้อมในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีน รวมถึงดิจิตอล ดีเมียอื่นๆ และ ณ วันนี้ เราพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าในธุรกิจดิจิตอล มีเดีย เราจะออกตลาดต่างประเทศ เอางานของเราไปโชว์ให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายดูว่าเราทำได้”

ปัจจุบัน “ศิริมีเดีย” มีทีมงานทั้งสิ้น 30 คน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 100 คนภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับปริมาณงานที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงท้ายปีหลังจากที่บริษัทได้ออกโรดโชว์ในไตรมาสที่สามนี้

พรเทพ กล่าวว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของดิจิตอลมีเดียแน่นอน แต่ในทางกลับกัน การขยายตัวของสื่อดิจิตอลก็สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับบริษัท ผู้ประกอยจำต้องปรับตัวให้ทันกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป บริษัทมองว่าแนวโน้มของตลาดจะขยายตัวไปสู่สื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะปริมาณการสั่งซื้อในสื่อสิ่งพิมพ์จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน “ศิริมีเดีย” จึงถูกตั้งมาเพื่อขยายบริการของบริษัทไปสู่ฐานตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้มาทดแทนรายได้ที่หายไปจากธุรกิจเดิม

“ธุรกิจโรงพิมพ์ ณ วันนี้ เริ่มได้รับผลกระทบจากการของสื่อใหม่อย่างสื่อดิจิตอล อาจจะยังไม่มากนัก แต่เชื่อแน่มาว่าแรง และภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเห็นเด่นชัด หากโรงพิมพ์ไหนไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก”

พรเทพ ตั้งเป้ารายได้กับ ศิริมีเดียไว้สูง 100 ล้านบาท ภายใน 2 ปี ซึ่งดูเหมือนเป็นรายได้ที่ไม่มากหากเทียบกับรายได้รวมของ ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ ที่มีรายได้ปีละหลายพันล้านบาทแล้ว รายได้จากสื่อดิจิตอลยังคงเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่พรเทพ เชื่อมั่นว่า รายได้ในส่วนนี้ในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และเป็นเรือธงทางธุรกิจของบริษัทในอนาคตอย่างแน่นอน และการตัดสินใจตั้ง “ศิริมีเดีย” และออกเดินทางมาในธุรกิจสื่อดิจิตอลนี้เป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ถูกต้องแล้วนั่นเอง

View :5249

“Andaman 365” …. ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดน

September 19th, 2011 No comments

พลันที่นิตยสารดิจิตอลน้องใหม่นามว่า Andaman 365 ได้รับการโหวตจาก iMonitor บริษัทสำรวจแอพพลิเคชั่นระดับโลกจัดอันดับให้ Andaman 365 ติดอันดับ Top 10 ของดิจิตอล แมกกาซีน ทำให้สายตาทุกคู่ของนักอ่านชาวไทยจับจ้องไปที่ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดนเล่มนี้ทันที

Andaman 365 คือ ดิจิตอล แมกกาซีนของบริษัท ศิริมีเดีย จำกัด บริษัทน้องใหม่ในวงการสื่อดิจิตอล เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจรทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้การให้คำปรึกษาและดูแลการผลิตโดย สุปรีย์ ทองเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ ด็อกเตอร์ จำกัด

สุปรีย์ เล่าว่าจุดเด่นที่ทำให้ Andaman 365 เป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านทั่วโลกนั้นมาจากแนวคิดที่ต้องการให้ Andaman 365 เป็นอินเตอร์แอคทีฟ แมกกาซีน (Interactive Magazine)โดยให้ผู้อ่านให้สามารถปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในหน้าหนึ่งหน้าของ Andaman 365 จะมีเนื้อหาทั้งในรูปของตัวอักษร ภาพเคลื่อนไหว และเสียง นอกจากนี้ในเรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน หากผู้อ่านหมุนจอจากแนวตั้งเป็นแนวนอน หรือจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง วิธีการนำเสนอเนื้อหาก็จะไม่เหมือนกัน และวิธีการนำเสนอในแต่ละเล่มในแต่ละเดือนจะมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ บวกกับความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาตอบสนองจินตนาการในการนำเสนอที่หลากหลายได้อย่างลงตัว

“เราเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเล่นกับเนื้อหาได้มากขึ้น ตัวตนจริงๆ ของดิจิตอล แมกกาซีน คือ แอพพลิเคชั่น Andaman 365 คือ แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการดาวน์โหลดฟรีที่ iTunes เป็นแมกกาซีนที่นำเสนอเนื้อหาด้านท่องเที่ยวในจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามัน เราต้องการนำเสนอว่านักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวทะเลอันดามันได้ทุกวันตลอดทั้งปี และเราต้องการนำเสนอมุมมองของสถานที่และเรื่องราวของการท่องเที่ยวในจังหวัดรอบทะเลอันดามันแบบ 360 องศา ส่วนอีก 5 องศา คือ การนำเสนอมุมมองโลกเสมือน (Virtual) ที่คนอ่านสามารถฟังเพลง ดูวีดีโอคลิป และมีความรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปยืนอยู่ตรงนั้นๆ”

Andaman 365 เป็นดิจิตอลแมกกาซีนรายเดือนแจกฟรี (ฉบับแรกคือฉบับเดือนกุมภาพันธ์) ภาษาอังกฤษโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการเที่ยวทะเลอันดามัน ผู้อ่านสามารถดาวนโหลด Andaman 365 ขนาดไฟล์ 200 เมกะไบต์มาเก็บไว้ใน iPad เพื่ออ่านได้ทุกทีทุกเวลาที่ต้องการ โดยไม่ต้องต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต

สุปรีย์ บอกว่า เคล็ดลัความสำเร็จของการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน คือ ทีมงานต้องมีความเข้าใจว่าการนำเสนอเนื้อหาสำหรับดิจิตอล แมกกาซีนนั้น เปิดกว้างและมีรูปแบบที่หลากลายมากมายทั้งนี้ขึ้นกับจินตนาการที่จะนำเสนอเนื้อหาในแต่ละแบบได้อย่างหลากหลาย และการเข้าถึงเนื้อหานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบและวิธี ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการอ่านจากซ้ายไปขวา บางหน้ามีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเพลงหรือดนตรี ผู้อ่านก็สามารถกดฟังได้ หรือกดดูวีดีโอคลิป ดูรูปภาพ (ซึ่งดิจิตอลแมกกาซีนสามารถนำเสนอรูปภาพสำหรับเรื่องราวนั้นๆ ได้มากกว่านิตยสารปกติเป็นสิบเป็นร้อยเท่า) แม้กระทั่งจะดูแผนที่และเส้นทางที่จะไปให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเรื่องนั้นๆ ผ่านกูเกิ้ลแม็ป (Google Map) และจีพีเอส (GPS: Global Positioning System) ซึ่งวิธีกานำเสนอแบบผสมผสานเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการอ่านหนังสือให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเล่มนี้คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยากจะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย Andaman 365 สามารถเป็นข้อมูลการท่องเที่ยวชั้นดีเพื่อช่วยนักท่องเที่ยวเตรียมแผนการเดินทาง นอกจากนี้เรายังมีแผนจะผลิต Andaman 365 ภาษาไทยเพื่อสร้างประสบการณ์ในการอ่านดิจิตอลแมกกาซีนแบบจริงๆ ให้กับคนไทยได้ลองสัมผัสกันในทุกๆ 3 เดือน เราว่าเรามาถูกทางในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน จากวิจัยพบว่าปกติคนจะมีสมาธิกับการอ่านหรือบริโภคข้อมูลบนสื่ออย่างแท็ปเล็ตครั้งละประมาณต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น เราต้องสร้างเนื้อหาให้มีความน่าสนใจที่จะดึงดูดคนอ่านให้สนุกไปกับการอ่านได้”

สุปรีย์ บอกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีน Andaman 365 คือ ซอฟต์แวร์ 2 ชุดหลักได้แก่ WoodWing และ Adobe InDesign ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนที่ขณะนี้ได้รับความนิยม และทั่วโลกมีดิจิตอลแมกกาซีนมากกว่า 200 แบรนด์ใช้เครื่องมือชุดนี้ในการผลิต อาทิ ดิจิตอลแมกกาซีนในเครือ TIMES เป็นต้น

“หน้าที่หลักของเรา คือ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการของ Andaman 365 รวมถึงฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีนให้กับกองบรรณาธิการ”

ดิจิตอลแมกกาซีนมีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างดีเพราะตลาดทั้งในแง่ของตัวอุปกรณ์เครื่องอ่านที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวอย่างมาก กอปรกับพฤติกรรมคนที่เริ่มนิยมการอ่านและบริโภคเนื้อหาจากสื่อชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตงานโฆษณาก็เริ่มมองดิจิตอล แมกกาซีนเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รวมถึง การขยายการขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาสู่ดิจิตอลแมกกาซีน เพราะด้วยความสามารถของดิจิตอลแมกกาซีนจะช่วยให้การโฆษณาและการขายจบภายในขั้นตอนเดียวได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้เล่นหลายรายเริ่มกระโดดลงมาชิมลางในสนามนี้กันอย่างคึกคักนั่นเอง….

View :4415

นโยบายแจก tablet: รัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัดก่อน

July 19th, 2011 No comments


แหล่งข่าวจากวงการศึกษาให้ความเห็นต่อกรณีนโยบายแจกtablet แก่เด็กนักเรียน 800,000คนว่างงานเป็นนโยบายที่ทำจริงได้ยาก และไม่เห็นด้วย แทนที่จะทำหว่านทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลลองทำเป็นโครงการนำร่องดูสักประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียน ที่ในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้วก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการก่อน. หากได้ผลดีค่อยขยายขนาดโครงการ

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 โรง มีครูอยู่ 600,000 คน มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ป.1-ม.6 มากถึง 12 ล้านคนซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่มาก หากจะแจก tablet ให้เด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีการเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนในการเรียนด้วยเครื่องมือที่เป็น tablet คาดว่าจะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะเป็นการเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์

ครูเองทุกวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องการสอน เด็กเองก็ต้องปรับตัวในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียนรู้ ซึ่งอุปกรณ์ tablet นั้นเหมาะกับการอ่านมากกว่าเขียน หากจะแจก tablet ให้แจก netbook หรือ notebook จะมีประโยชน์กว่า นอกจากนี้การเตรียมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook, courseware) ต้องใช้เวลาและต้องมีแผนการปรับปรุงหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม มากกว่านี้ ไม่ใช่จะเอาหนังสือเรียนที่มีอยู่มาแปลงเป็นดิจิตอลไฟล์แต่นั้น ไหนจะระบบการเรียนการสอน การประเมินผล การวัดผล ที่จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมโรงเรียนระดับประถมทั่วประเทศ โรงเรียนที่มีการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ อาทิ โรงเรียนประจำอำเภอ และโรงเรียนประจำจังกวัดเท่านั้น

ทางออกที่อยากนำเสนอคือรัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัด 1,000-2,000 โรงเรียนก่อน

View :4329

Mobile Office แนวโน้มรูปแบบการทำงานใหม่ เปลี่ยนทุกที่เป็นที่ทำงาน ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กร

June 5th, 2011 No comments


ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครือข่ายการสื่อสาร ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่ไหนมุมไหนเวลาไหนก็ได้ ทำให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในยุคดิจิตอลที่คนทำงานสามารถติดต่อสื่อสารกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีโครงข่ายการสื่อสารที่พร้อมที่จะให้คนทำงานสามารถที่ไหน อย่างไร ได้ทุกที่ทุกเวลา


บริษัทสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Skype เองได้จัดทำสำรวจแนวโน้มของการทำงานที่บ้านจากคนทำงานกว่า 1,000 คนจาก 500 บริษัทในทุกขนาดในอเมริกา พบว่า การทำงานจากนอกที่ทำงานหรือทำงานจากที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมการทำงานในต่างประเทศแล้ว ตัวเลขเชิงสถิติจากผลการสำรวจมีความน่าสนใจซึ่งสะท้อนแนวโน้วรูปแบบการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี การสำรวจพบว่ามากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของ 500 บริษัทได้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ในขณะที่ราว 34 เปอร์เซ็นต์ได้เริ่มให้พนักงานทำงานจากข้างนอกออฟฟิศบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งการให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้นอกที่ทำงานนั้นมีส่วนทำให้พนักงานมีความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น

“อาร์เอส” ริเริ่ม Mobile Office:

ปัจจุบันมีหลายบริษัทในประเทศไทยที่เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหน ก็ได้นอกที่ทำงาน อาทิ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ให้ทีมงานด้าน Strategic Innovation Business ของบริษัทสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกออฟฟิศได้ ซึ่งทีมงาน Strategic Innovation Business ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 คนมักจะนัดพบกันตามร้านกาแฟเพื่อระชุมหารือความคืบหน้าของงาน และเตรียมข้อมูลเพื่อนเข้าประชุมกับ “เฮียฮ้อ” คุณสุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ซีอีโอแห่งอาร์เอส และการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ภายในอาร์เอส

เนื่องจากหน่วยงาน Strategic Innovation Business เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนสมองของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ทำงานด้านวิจัยและจับจ้องเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจบันเทิงของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล รองประธานสายงาน Strategic Innovation Business บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน้าที่หลักของเขาและทีมงานคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์และสรรหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการเกื้อหนุนของเทคโนโลยีและวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ดังนั้นการนั่งทำงานภายในห้องสี่เหลี่ยม หรือการต้องเดินทางเพื่อไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นร่วมเวลากับพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานทีมนี้ ซึ่งวัดผลงานที่ผลของเนื้อหางานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่เข้ามานั่งทำงานที่ที่ทำงาน

อาทิตย์มักจะใช้ร้านกาแฟ ที่มีบริการอินเทอร์เน็ตเป็นที่นัดประชุมและคุยงานกับทีมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนวันอื่นอาทิตย์กับทีมงานจะทำงานอยู่ที่บ้าน เว้นแต่ในบางสัปดาห์ที่อาทิตย์ต้องเตรียมงานและข้อมูลเพื่อเข้าประชุมกับผู้บริหารเพื่อนำเสนอแนวความคิดและองค์ความรู้ใหม่ๆ สัปดาห์นั้นอาทิตย์และทีมจะนัดพบกันบ่อยมากขึ้น โดยปกติ อาทิตย์และทีมงานจะมีอุปกรณ์ในการทำงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อันได้แก่ อุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ที่ทั้งทีมใช้อยู่คือ iPad ที่ลงแอพพลิเคชั่นสำหรับการ ทำงานไว้พร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็น Pages สำหรับงานเอกสาร Keynote สำหรับงานพรีเซนเตชั่น และ Numbers สำหรับงานด้านตัวเลข เป็นต้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่อาทิตย์ใช้อยู่เป็นประจำคือ Google Apps อาทิ Gmail และ Google Docs รวมถึง แอพพลิเคชั่นที่เป็นคลาวด์อื่นๆ อาทิ Dropbox เป็นต้น

“เราแทบไม่ต้องพกพาอุปกรณ์การทำงานที่เทอะทะ มากมาย เพียงแต่ iPad 3G และ iPhone 4 และหาที่นั่งทำงานที่มีอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ให้บริการเท่านั้นทุกอย่างก็อยู่ในมือเรา เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศมีประโยชน์มากสำหรับงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ คนจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดตอนที่เขาอยู่ในสภาวะที่สบายๆ การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นรูปแบบการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากกว่าการที่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศมากไฟล์งานทุกอย่างจะอยู่ในเครื่อง iPad และเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ซึ่งอาทิตย์สามารถเก็บและแชร์ไฟล์รวมถึงข้อมูลต่างๆ กับทีมงานตนและกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้สะดวกและง่ายดายมาก”

อาทิตย์เชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office คือ ทำงานที่ไหนก็ได้นั้นจะเริ่มมีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะความพร้อมมากขึ้นของโครงข่ายสื่อสารอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้ง WiFi และ 3G ประกอบกับอุปกรณ์ที่สามารถพกพาได้ง่ายและเปี่ยมประสิทธิภาพในการทำงานสูงเริ่มมีใช้แพร่หลาย และราคาไม่แพงมาก รวมถึงการที่มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์การทำงานแบบ mobile office และเอื้อให้การทำงานที่ไหนก็ได้เป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น สำหรับตัวเขาเองและทีมงานได้เริ่มทำงานในรูปแบบ mobile office มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อาทิตย์มองว่า สิ่งสำคัญของรูปแบบการทำงานแบบนี้ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มอยู่ในขณะนี้นั้น จะสามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่กับทุกหน่วยงานในแต่ธุรกิจ และบริษัทที่อนุญาตให้มีการทำงานแบบ mobile office ได้นั้นบริษัทจะต้องมีระบบการประเมินผลงานที่ตัวเนื้องานมากกว่าจำนวนชั่วโมงที่พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และตัวคนทำงานเองจะต้องปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานให้สามารถ ทำงานแบบ Dynamic ได้ นั่นคือ ต้องทำงานได้ทำที่ทุกเวลา ทุกแอพพลิเคชั่น และต้องสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน (multitasking workers)

“นอกจากเรื่องทักษะในการทำงานแบบหลายชนิดในเวลาเดียวกันพร้อมๆกันได้แล้ว คนทำงานในรูปแบบ mobile office นั้นจะต้องมีวินัยในการทำงานสูงและต้องรู้จักการบริหารเวลาที่ดีมากพอ เพราะการทำงานแบนี้จะใช้ผลงานที่ได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญ” อาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้บริหาร “อเด็คโก้” ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา:

นอกจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังมีบริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางานอันดับต้นๆ ของเมืองไทยเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีโนบายให้พนักงานระดับผู้บริหารสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากนอก ที่ทำงานได้ บริษัท อเด็คโก้ (ประเทศไทย) จำกัด มีพนักงานราว 200 คน ซึ่งเป็นระดับผู้จัดการ 10 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถทำงานแบบ mobile office ได้และ กานดา สุภาวศิน E-Business Development Manager กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพนักงานจำนวนนั้น เธอเล่าว่า ด้วยหน้าที่การงานที่เธอต้องรับผิดชอบในส่วนงานด้านการสมัครงานออนไลน์/ดูแลผู้สมัคร งาน/ลูกค้า ทั้งระบบ Back Office และ Front Office และดูแลส่วน Online Marketing/SEO/Social Media ของบริษัทร่วมกับ Marketing Team ทำให้เธอต้องเดินทางบ่อยและต้องทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์

กานดา เล่าว่า บริษัทของเธอมีนโยบายให้พนักงานระดับผู้จัดการสามารถทำงานแบบ work from home หรือ ทำงานแบบ mobile office ได้ ด้วยระบบของบริษัทที่เชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของสำนักงานสาขาทั้ง 6 แห่งในประเทศไทย (รวมสำนักงานใหญ่) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการสามารถเข้าระบบงานของบริษัทได้จากข้างนอกออฟฟิศผ่านระบบโครงข่ายส่วนตัวเสมือนหรือ VPN (Virtual Private Network) ทำให้กานดามมีความยืดหยุ่นในการทำงานสูงมาก เพราะเธอสามารถจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านกาแฟ ร้านเบเกอร์รี่ร้านโปรด หรือมุมสบายๆ ในที่ทำงานของเธอเอง

“ด้วยลักษณะงานที่ต้องเดินทาง ติดต่อสื่อสารประสานงานกับทีมงานตามที่ต่างๆ และตามสาขาต่างๆ ของบริษัทอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราต้องฝึกการทำงานแบบที่ไหน เมื่อไร ก็ทำงานได้ และเราจะสามารถทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันได้ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยต่างๆ มีความพร้อมและช่วยเสริมให้การทำงานแบบ mobile office เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัจจุบัน อุปกรณ์ในการทำงานหลักของกานดา คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ที่เธอมักจะพกไว้ข้างกายตลอดเวลา เธอบอกว่าเธอใช้ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับทีมงานของเธอ ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นสื่อสารยอดนิยมอย่าง Skype, WhatsApp และ Viber ที่เธอมักจะใช้เป็นประจำ นอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเพื่อเข้าระบบงานของเธอที่ออฟฟิศผ่านเทคโนโลยี virtual desktop นอกเหนือไปจากแอพพลิเคชั่นที่กล่าวมาแล้ว กานดายังประยุกต์ใช้สื่อเครือข่ายสังคม (Social Network) อย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นช่องทางสื่อสารกับทีมงานช่องทางหนึ่ง และใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับสังคมออนไลน์และใช้เพื่อติดตามข่าวสาร

“เนื่องจากต้องดูแลทั้งประเทศไทยและเวียดนาม จึงต้อติดต่อสื่อสารข้ามประเทศ อยู่เป็นประจำ ซึ่งนโยบายบริษัทให้เราใช้ Skype ได้ เราก็จะประชุมงานกันผ่าน Skype เป็นประจำ และเมื่อต้องเดินทางไปเวียดนาม อุปกรณ์ทำงานของเราทั้ง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กับโทรศัพท์มือถือ iPhone 4 ก็สามารถช่วยให้เราทำงานแบบไร้รอยต่อ คือ ทำงานเหมือนกับอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะเราสามารถเข้าระบบงานของเราที่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะที่นั่นเขามีเครือข่าย 3G ให้ใช้ฟรีตามร้านค้า ร้านอาหาร และสองข้างถนน สะดวกสบายมาก”

กานดาบอกว่า โดยส่วนตัวมองว่าแม้ว่าการทำงานแบบ mobile office จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานทั้งหมดของเธอได้ เพราะเธอยังคงต้องเข้าที่ออฟฟิศเพื่อประชุมงานอยู่เป็นประจำ แต่เธอก็ยอมรับว่าการทำงานในลักษณะแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารเวลาในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนการสื่อสาร ลดต้นทุนค่าเดินทางเพื่อจะไปประชุมลงไปได้มาก เธอเชื่อว่ารูปแบบการทำงานแบบ mobile office จะมีให้เห็นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเธอมองว่าไม่ใช่ทุกหน้าที่การงานสามารถทำงานแบบ mobile office ได้ งานบางอย่าง อาทิ งานด้านบัญชี อาจจะต้องเข้ามาทำงานประจำที่ที่ออฟฟิศ

“การทำงานแบบ mobile office นั้นจะให้ประสบความสำเร็จและได้ระสิทธิภาพ บริษัทจะต้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานด้วย อาทิ การให้พนักงานสามารถเข้าระบบข้อมูล ได้จากที่ไหนก็ได้ การสนับสนุนอุปกรณ์ และต้นทุนการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบ mobile office เอาเข้าจริงๆ แล้ว พนักงานที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วจะยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเขาจะทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง เขาจะทำงานทุกที ทุกเวลา แบบไม่มันหยุด เพราะเขาจะทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน และจะทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน”

กานดาเสริมว่า อยากให้องค์กรธุรกิจมองไปที่รูปแบบการทำงานแบบ mobile office มากขึ้น และควรจะสนับสนุนการทำงานแบบ mobile office ของพนักงาน ด้วยการสนับสนุนค่าอุปกรณ์และค่าค่าสื่อสาร ลงทุนระบบงานของบริษัทให้พนักงานสามารถเข้าผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ไหนเข้ามาทำงานก็ได้ เพราะในระยะยาวแล้ว ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน เพราะพนักงานไม่ต้องเข้านั่งมาทำงานที่บริษัท บริษัทสามารถลดขนาดพื้นที่ ลดจำนวนอุปกรณ์ตั้งโต๊ะ ลดปริมาณการใช้พลังงานลงได้มาก

“การทำงานในสภาวะที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่จะสามารถทำงานแบบ mobile office จะต้องสามารถบริหารเวลา และควบคุมดูแลตนองให้ทำงานได้ดีด้วย” กานดากล่าวทิ้งท้าย

Google Apps + Cloud ปัจจัยเร่ง Mobile Office:

แนวโน้มรูปแบบการทำงานแบบ mobile office นั้นกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ด้วยความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุมมากขึ้น กอปรกับสภาพการจราจรที่แออัดทำให้หลายองค์กรเริ่มหันมาทดลองให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิ้ล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อไปทำงานมากที่สุดในโลก เนื่องจากสภาพการจราจรที่ติดขัดทั้งในช่วงเช้าและเย็น ระบบคมนาคมขนส่งไม่สะดวกสบายมากนัก และกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งสภาพแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับรูปแบบของการทำงานแบบ mobile office มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงบริษัทขนาดกลางและเล็กในเมืองไทยหลายรายเริ่มหันมาใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้แล้ว จะเห็นได้จากปริมาณการใช้ระบบซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์เซอร์วิสของกูเกิ้ล ที่ให้บริการซอฟต์แวร์ระบบงาน Google Apps

“ความสามารถในการทำงานบนรูปแบบ mobile working ในปัจจุบันมีมากขึ้นมากเมื่อความพร้อมของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบวกกับความแพร่หลายของอุปกรณ์พกพาต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต (Tablet) มีเพิ่มมากขึ้นจนยอดขายโดยรวมแซงหน้าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้อุปกรณ์พกพาฉลาดๆ แบบนี้เมื่อรวมกับระบบซอฟต์แวร์ที่กูเกิ้ลให้บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เขาจะทำงานที่ไหน และเมื่อใดก็ได้ ชีวิตการทำงานก็จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

พรทิพย์ เล่าวว่า ตัวเธอเองในฐานะพนักงานกูเกิล ก็ได้ทำงานบนรูปแบบของ mobile working เนื่องจากเธอต้องเดินทางบ่อยแต่ต้องมีการประชุมติดต่อประสานงานกับทีมงานอยู่เป็นประจำ เธอพกพาอุปกรณ์การทำงานเพียงสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่บางเฉียบ ก็สามารถเปลี่ยนทุกสถานที่ที่เธออยู่ในปัจจุบันเป็นที่ทำงานเคลื่อนที่ได้อย่างง่ายดาย งานต่างๆ ที่เธอทำค้างอยู่ก็สามารถทำอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เธอไม่ต้องพกพาไฟล์งานหรือไฟล์เอกสารใดๆ ไปด้วยกับเธอ แม้แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) เธอยังไม่ต้องพกพาไว้ในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากนั้นพรทิพย์ก็โหลดทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำงานลงมาที่เครื่องเพื่อทำงานจากนั้นก็จัดการจัดเก็บไฟล์งาต่างๆ กลับขึ้นไปไว้บนระบบคลาวด์ดังเดิมเมื่อทำงานเสร็จแล้ว

“รูปแบบการทำงานแบบนี้ พนักงานของกูเกิ้ลทั่วโลกทำอยู่ และเริ่มเห็นแพร่หลายเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย เพราะปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีความครอบคลุมมากขึ้น และคนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้บริการคลาวด์ผ่านบริการของกูเกิ้ลหลายอย่าง อาทิ Gmail และ Google Doc ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะทำงานจากทุกที่ที่เขาต้องการมากขึ้น คลาวด์แอพพลิเคชั่นที่ใช้เป็นประจำคือ Gmail, Google Talk, Calendar, Google Doc, SpreadSheet และ Google Map”

พรทิพย์ กล่าวเสริมว่า ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (Small and Media Enterprise: SME) ในประเทศไทยหลายรายเริ่มมีการใช้ระบบงาน mobile solution มากขึ้น ระบบซอฟต์แวร์ Google Apps ช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ เนื่องจาก เอสเอ็มอีสามารถเริ่มต้นใช้บริการได้ฟรีหากไม่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่มีการการันตีคุณภาพของบริการ (Service Level Agreement: SLA) แต่หากเอสเอ็มอีต้องการใช้งานระบบซอฟต์แวร์ที่มาพร้อมบริการหลังการขาย ต้องการระบบรักษาความปลอดภัย และต้องการบริการเรื่องการพัฒนา ต่อยอกแอพพลิเคชั่น (API: Application Programming Interface) ก็สามารถใช้บริการ Google Enterprise ได้โดยลงทุนเริ่มต้นเพียง 50 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บัญชีผู้ใช้งานต่อปี

“เอสเอ็มอีเริ่มใช้และเริ่มรู้ว่าเขาสามารถซิงค์ระบบงานทุกอย่างระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน และแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันเอสเอ็มอีหลายรายเริ่มใช้แอพพลิเคชั่นที่จำเป็นระหว่างเดินทางมากขึ้น”

Google Apps รองรับการใช้งานตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และคอมพิวเตอร์พกพา ไปจนถึงแท็ปเล็ต และสมาร์ทโฟน และรองรับการใช้งานของอุปกรณ์ในทุกแพลตฟอร์มทั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซิมเบี้ยน แอนด์ดรอยด์ และ iOS พรทิพย์ กล่าว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือหรืออุปกรณ์พกพา (Mobile Internet Users) 12 ล้านคนในประเทศไทยเมื่อรวมกับความพร้อมของบริการ Google Apps และคลาวด์คอมพิวติ้ง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile working เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นั้นบริษัทต่างๆ เมื่อเห็นแนวโน้มของความสามารถในการทำงานในทุกที่ทุกเวลาของพนักงานได้แล้ว หากมีการปรับนโยบายโดยอนุญาตให้พนักวานในส่วนวานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงานที่ทำงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำงานจากสถานที่ใดๆได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดรูปแบบการทำงานแบบ mobile office เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากองค์กรใดมีนโยบายหรือกำลังเตรียมจะมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือภายนอกที่ทำงานได้ สิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบรักษาความพร้อมภัยของข้อมูล ซึ่งทางเลือกที่แนะนำสำหรับองค์ขนาดกลางและเล็กคือ การพึ่งพาบริการของคลาวด์คอมพิวติ้ง ของผู้ให้บริการ จะเป็นกูเกิ้ลหรือไม่ก็ได้ เพราะผู้ให้บริการคลาวด์จะมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและรับประกันคุณภาพบริการและความเสถียรของการใช้งานและการเข้าถึงระบบข้อมูลและแอพพลิเคชั่น”

พรทิพย์ กล่าวว่าหากเอสเอ็มอีรายใดต้องการใช้บริการคลาวด์ และ Google Apps หรือ Google Enterprise ลูกค้าสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและซื้อบริการได้ด้วยตนเองที่ www.google.com/a หรือจะติดต่อขอใช้บริการผ่านตัวแทนจำหน่ายของกูเกิ้ลในปรพเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ราย คือ CRM & Cloud Consulting และ Tangerine ลูกค้าที่มีระบบงานระบบฐานข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วก็สามารถมาใช้งานและรวมระบบเข้ากับระบบงานบนคลาวด์ของกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทั้ง 2 บริษัทคนไทยนี้จะสามารถให้บริการและคำปรึกษาลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ Google Enterprise

เทคโนโลยี Mobility หัวใจขับเคลื่อน Mobile Office:

เนื่องจากโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนต้องการความสะดวกสบายในการทำงานการมีสิงอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ย่อมทำให้มนุษย์มีความยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น มนู อรดีดลเชฐ ประธานคณะกรรมการบริหาร เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารพกพาที่มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ประกอบกับความพร้อมของระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถให้บริการผ่านเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาเพิ่มมากขึ้น

“จะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนภายในหนึ่งเจนเนอร์เรชั่นของคน ที่วิถีชีวิต วิถีการทำงานจะเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยทั้งโครงข่าย อุปกรณ์ และแอพพลิเคชั่น หากบริษัทหรือองค์กรธุรกิจไหนปรับตัวปรับรูปแบบการทำงานทัน เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาจะเลือกที่จะไปทำงานกับบริษัทเหล่านั้น เพราะมันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เขาไม่ถนัดทำงานในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่คุ้น บริษัทหรือองค์กรธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับวัฒนธรรมรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ ปัจจุบันมีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน ในประเทศไทยมีคนใช้ Facebook 8 ล้านคน สิ่งเหล่านี้มีผลและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตการสื่อสารและการทำงานทั้งสิ้น”

มนู กล่าวต่อว่า เครือข่ายสังคม (Social Network) จะเข้ามาเป็นโครงข่ายการสื่อสารหลักอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารในกลุ่มของคนในรุ่นใหม่ จากเดิมที่มีเพียงโทรศัพท์ประจำที่ เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็นอินเทอร์เน็ต และปัจจุบันพัฒนาการมาเป็นเครือข่ายสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถจับต้องได้แล้ว องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาว่านโยบายขององค์กรควรเป็นอย่างไรเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันนี้ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพราะการที่มีความสามารถในการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา (Mobility) มากขึ้น จะทำให้ทำงานได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นความท้าทายขององค์กรธุรกิจที่จะต้องมองแนวโน้มของการเปลี่ยนผ่านนี้ให้ออกและเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว

View :4412

เดลล์ประกาศรุกตลาดสมาร์ทโฟน เปิดตัว “เดลล์ เวนิว”

June 1st, 2011 No comments

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวการรุกตลาดสมาร์ทโฟนของเดลล์

นายคเณศณัฏฐ์ ชยามรฉัตรคุปต์ ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจ Mobility บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาธิตคุณสมบัติของ “เดลล์ เวนิว”

 

รีวิว “เดลล์ เวนิว” โดย 6 บล็อกเกอร์

View :3006