Archive

Archive for the ‘Science’ Category

ระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตามผลกระทบในฝั่งทะเลอันดามัน จากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย

April 12th, 2012 No comments

ระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตามและส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพของระบบ นิเวศวิทยาปะการัง สามารถจับชายหาดและภาพใต้ทะเลฝั่งอันดามันในช่วงเวลา 18.00-18.30 น. ของวันที่ 11 เมษายน 2555 คาดว่าจะเป็นช่วงที่เกิดเหตุน้ำขึ้นลงผิดปกติในเขตเกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต อันเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์พบความผิดปกติน้ำทะเลขึ้นลงประมาณ10 เซ็นติเมตร

ภาพขณะลงไปติดตั้งอุปกรณ์เมื่อปี 2011


หมายเหตุ : ( ข้อมูลโครงการวิจัยเพิ่มเติม ) ระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตามและส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพของระบบ นิเวศวิทยาปะการัง
ภายใต้โครงการเครือข่ายบุคลากรและการสร้างศูนย์ความรู้เฉพาะด้าน Centre of Excellence : CoE

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ร่วมกับ ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ประกอบการรีสอร์ท ร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการแก้ปัญหาชายฝั่ง โดยมุ่งศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ระบบสารสนเทศนี้จะช่วยให้นักวิจัยมีข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะทำความเข้าใจ กระบวนการต่างๆ ที่มีผลต่อชายฝั่ง นำไปสู่การแก้ปัญหาชายฝั่ง ทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแนวปะการังที่สวยงามหลายจุดทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่ง อันดามัน ผลผลิตและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมากของแนวปะการัง ปัญหาการตายของแนวปะการังซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จะมีผลกระทบต่อมวลมนุษย์สุดที่จะประเมินได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ปะการังเหล่านี้เพื่อการจัดการ อย่างเข้าใจ และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์นี้ไว้ สถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ความสนใจที่จะศึกษา เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง แต่เนื่องด้วยงบประมาณและเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถทำการศึกษาแนวปะการังได้ทุกๆแห่งทั่วประเทศไทย การศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่แล้วเป็นการวางเซน เซอร์ และไปเก็บตัวอย่างทุกๆ 2-3 เดือน ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่เป็นแบบ real-time เมื่อเกิดปะการังฟอกขาวขึ้นในช่วงที่ยังไม่ได้ออกไปเก็บข้อมูล การศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวได้ไม่ทันถ่วง ที ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงปัจจัยทางกายภาพที่มีผลทำให้เกิดปรากฎการณ์ ปะการังฟอกขาวอย่างถ่องแท้ได้

ปรากฎการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่ม สูงขึ้นทำให้เกิดปะการังฟอกขาวไป มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกในปีคศ. 1998 และในปีคศ. 2010 นักวิจัยจำเป็นต้องทำความเข้าใจรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล และการตอบสนอง ของปะการังต่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อ การเกิดปะการังฟอกขาวก็เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจปัญหา การเก็บข้อมูลทางกายภาพของสิ่งแวดล้อมที่ระบบนิเวศปะการังแบบ realtime เป็นหนทางเดียวที่ช่วยในการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำมาก ขึ้น ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำทะเลและแสง ตามจุดต่างๆแบบ offline and online และสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ เป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ด้านไอที เข้าไปศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของสภาพแวดล้อมแนวปะการัง จากระยะไกล

ภาพขณะลงไปติดตั้งอุปกรณ์เมื่อปี 2011


รศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า”โครงการติดตั้งระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์เฝ้าติดตามและส่งข้อมูลลัก ษณทางกายภาพของ ระบบนิเวศวิทยาปะการัง มีจุดเริ่มมาตั้งแต่การติดตั้งเซ็นเซอร์แบบอิสระ หรืออุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลและแสงแดด ตามจุดต่างๆใต้ท้องทะเล บริเวณบ้านรายารีสอร์ทแอนด์สปา เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต แต่ข้อมูลที่ได้ไม่ทันสถานการณ์ เพราะการตรวจดูข้อมูลจากอุปกรณ์นักวิจัยต้องเดินทางไปเก็บในช่วง 2-3 เดือนต่อครั้ง ทำให้บางครั้งปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวสิ้นสุดไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ เนคเทคซึ่งมีความร่วมมือกับเครือข่ายสังเกตการณ์แนวปะการัง และได้รับความร่วมมือจากออสเตรเลียให้ยืมเซ็นเซอร์อัจฉริยะ (Conductivity Temperature and Depth Pressure Sensor : CTD) จำนวน 2 เครื่อง ให้นำมาติดตั้งเสริมอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตัวเดิม ทำให้ทีมวิจัยสามารถเฝ้าดูข้อมูลผ่านระบบไอทีได้ตลอดเวลา สามารถปรับเปลี่ยนระบบการเก็บข้อมูลและการวัด สามารถตั้งค่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ เช่น ตั้งค่าอุณหภูมิวิกฤติ หรือให้ตรวจสอบปรากฏการณ์ เป็นต้น แถมยังสามารถควบคุมหรือสั่งการได้จากศูนย์ควบคุมบนบก เป็นระบบเครือข่ายเซนเซอร์ที่ส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพแบบ realtime online เป็นวิธีแบบใหม่ที่จะ นิยมใช้กันทั่วโลก ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 4 ของโลกที่มีระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ศึกษาลักษณะทางกายภาพทางทะเลของแนว ปะการังที่ทันสมัย ถัดจากประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาะมูกิ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

นายปิยะวัฒน์ เสงี่ยมกุล ผู้จัดการโรงแรมบ้านรายา รีสอร์ท แอนด์สปา เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการตัดสินใจสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ว่า “ตนเป็นคนรักธรรมชาติและชื่นชอบการประดาน้ำ ได้มีโอกาสเข้ามาบริหารรีสอร์ตหลังเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งทุกวันตนจะดำน้ำลงไปเก็บขยะในอ่าวขอนแค แต่ด้วยความที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอนุรักษ์มากนัก จึงรู้สึกยินดีต้อนรับนักวิทยาศาสตร์และทุกหน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ไว้ นอกจากนี้ รีสอร์ตของตนยังมีความเพียบพร้อมด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นระบบ 3จี ไว-ไฟ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง จึงคิดว่าเหมาะเป็นสถานที่สำหรับการทำวิจัยด้วย การสนับสนุนอาคารศูนย์วิจัยในรีสอร์ตเป็นเหมือนการทำธุรกิจแบบวิน-วิน ตนได้มีส่วนอนุรักษ์ธรรมชาติ ทางรีสอร์ตสามารถใช้ข้อมูลเป็นสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ให้ลูกค้าได้ทราบ กล้องที่ติดตั้งไว้ใต้ทะเลเพื่อติดตามดูปะการังก็สามารถถ่ายทอดมายังล็อบบี้ ของโรงแรมได้ นับเป็นจุดขายที่โดดเด่นของรีสอร์ต นอกจากนี้ ประเทศชาติก็ยังได้ประโยชน์ด้วย ทุกคนได้ประโยชน์หมด”

ภาพขณะลงไปติดตั้งอุปกรณ์เมื่อปี 2011

ดูภาพ Update เพิ่มเติมและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/ecoinfo

View :3992

สนช. อัดฉีด 300 ล้าน หนุน ปตท. ลง 700 ล้าน ตั้งโรงงานนำร่องผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ

April 5th, 2012 No comments


ตั้งเป้า 5 ปี ขยายโรงงานผลิตจริงระดับ 10,000 ล้าน

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวว่า “ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ระยะที่ 2 (2554 – 2558) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็ว สนช. จึงได้ริเริ่มสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งโรงงงานนำร่องเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสำหรับขนาดกำลังผลิต 1,000 – 10,000 ตัน/ปี ให้สามารถดำเนินการผลิตได้ภายใน 3 ปี ด้วยงบประมาณจำนวน 300 ล้าน ในขณะที่ภาคเอกชนจะต้องสมทบอีก 700 ล้านบาท และหากโรงงานนำร่องนี้ประสบความสำเร็จจะสร้างให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตในเชิงพาณิชย์ให้มีกำลังการผลิตประมาณ 70,000 ตันต่อปี”

สนช. ได้ดำเนินการคัดเลือกภาคเอกชนไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการจัดตั้งโรงงานนำร่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการนวัตกรรมได้พิจารณาอนุมัติทุนสนับสนุนแก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างโรงงานนำร่องผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ขนาด 1,000 ตัน/ปี โดยจะเน้นกระบวนการนวัตกรรมในการพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในปัจจุบัน และส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพอย่างแพร่หลาย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์เม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิเมอร์ร่วม ซึ่งจะมีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูง เช่น ชิ้นส่วนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และรถยนต์ รวมถึงสิ่งทอจากเส้นใยชีวภาพ

โครงการนำร่องนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับผลิตสารตั้งต้นที่ใช้น้ำตาล หรือแป้งเป็นวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อย หรือมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ตลอดจนช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากถึงปีละ 1 ล้านตัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะก่อให้เกิดวงเงินลงทุนทั้งโครงการรวมทั้งสิ้น 986 ล้านบาท และมีเป้าหมายให้เกิดการขยายผลการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพเชิงพาณิชย์ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 70,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าการลงทุนอีก 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

นายศุภชัย เปิดเผยเพิ่มเติม “การจัดตั้งโรงงานนำร่องฯ นี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศไทย ในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันวิจัยและพัฒนา ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในธุรกิจพลาสติกชีวภาพ เพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบบมุ่งเป้าหมายด้านพลาสติกชีวภาพทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การสังเคราะห์ การออกแบบและปรับปรุงคุณสมบัติ และการประยุกต์ใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพในการขึ้นรูปเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพในประเทศ ผ่านโครงการนำร่องเพื่อเร่งสร้างตลาด รวมถึงศึกษาพฤติกรรมและการตอบรับของผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการออกแบบเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีคุณสมบัติการใช้งาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสามารถต่อยอดนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป และนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ของโลก”

View :3577