Archive

Archive for July, 2011

อินเทลร่วมฉลองครบรอบ 30 ปีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกสานต่อนวัตกรรมคอมพิวเตอร์จากปัจจุบันสู่อนาคต

July 29th, 2011 No comments


อินเทลร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่บริษัทมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติวงการไอทีตั้งแต่ยุคของคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มเครื่องแรกไปจนถึงยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์และยุครุ่งเรืองของแท็บเบล็ต

ในขณะที่เรากำลังฉลองช่วงเวลาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่นี้ การทำความเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอิทธิพลสูงเพียงใดต่อชีวิตประจำวันในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมานั้นนับเป็นสิ่งที่ยากทีเดียว ปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้นเพียงปลายนิ้วสัมผัส และราคาของคอมพิวเตอร์ถูกลงมากอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ไมโครโปรเซสเซอร์ของอินเทลกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ โดยมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรังสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคทั่วโลกอย่างมากอีกด้วย

จากจุดเริ่มต้นของ “สิ่งเร้นลับหลังม่านดำ”

ก่อนที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปี 2524 ผู้สนใจคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มที่มีความสนใจในเทคโนโลยี ผู้ที่ซื้อคอมพิวเตอร์โดยส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่สนใจนำไปใช้ในกิจกรรมอดิเรกของตน และกระหายที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการใช้งาน องค์ประกอบต่างๆ และพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา แต่หลังจากนั้นไอบีเอ็มได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวคิดดังกล่าว โดยการสร้างมาตรฐานสากลขึ้นมาในวงการอุตสาหกรรม และผลักดันการใช้งานคอมพิวเตอร์ให้ออกมาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกในวงกว้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมองว่า คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือชนิดหนึ่งและไม่ใช่ของเล่นอีกต่อไป
ไอบีเอ็มเปิดตัวพีซีเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2524 ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของยุคแห่งการหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของคอมพิวเตอร์ และก้าวสู่ยุคของการพัฒนาอย่างแท้จริง เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกของไอบีเอ็มใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น อินเทล 8086 เป็น “สมอง” ภายในคอมพิวเตอร์

การแปรสภาพของเครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง
ระบบประมวลผลผ่านการแปรสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก
ผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปีอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มแรกเป็นอย่างไร จอภาพที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นจอโมโนโครมที่แสดงตัวอักษรและตัวเลขสีเขียวเรืองแสงออกมา แม้ว่าในช่วงแรกๆ มีการจำหน่ายจอสีด้วยเช่นกัน แต่จอสีมีการใช้ในแวดวงที่จำกัดและมีราคาค่อนข้างสูงมาก ในยุคนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ไม่คล่องตัวมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการแสดงผลแบบกราฟฟิกและไม่มีเมาส์สำหรับใช้งาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ในยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ถึง ในขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไมโครโปรเซสเซอร์ชั้นยอดอย่าง อินเทล คอร์ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ทั้งสามรุ่น คือ อินเทล คอร์ ไอ5 ไอ7 และ ไอ3 ทีมีพลังสมรรถนะในการประมวลผลที่ดีเยี่ยมกว่าสมัยก่อนมาก รวมทั้งยังประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมาย (ขึ้นอยู่กับรุ่นของโปรเซสเซอร์) อาทิ Intel® Quick Sync, Intel® Wireless Display 2.0, Intel® Turbo Boost Technology 2.0 และเทคโนโลยีรุ่นล่าสุดอื่นๆ อีกหลากหลาย

ในปัจจุบัน เราสามารถเพลิดเพลินกับภาพกราฟฟิกที่มีความละเอียดสูง สร้างวิดีโอหรือภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดาย ดาวน์โหลดข้อมูลได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแตกต่างจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง

เครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกมีราคาราวๆ 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 91,000 บาท) หรือราคาสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทยในขณะนั้นประมาณ 10 เท่า ปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.75 เท่าของเงินเดือนเฉลี่ยของคนไทย และในอนาคตราคาอาจจะยิ่งถูกลงเรื่อยๆ

ในยุคนั้นคอมพิวเตอร์จำนวน 10,000 เครื่อง ถือเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาลแล้ว จอห์น มาร์คอฟ นักเขียนของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ผู้เขียนบทความชื่อ “มองย้อนหลังพีซีเครื่องแรกของฉัน” ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 เล่าว่า ไอบีเอ็มคาดว่าจะจำหน่ายคอมพิวเตอร์ได้ 240,000 เครื่องภายในเวลา 5 ปี แต่ปรากฏว่าไอบีเอ็มได้รับยอดสั่งซื้อจำนวนนี้ภายในเดือนแรกเท่านั้น ปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์กว่าหนึ่งล้านเครื่องต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลาไม่นานในช่วงชีวิตของเรา

เครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มรุ่นแรก และ “เครื่องเลียนแบบ” ที่ปรากฏตามมาในช่วงต้นปี 2525 ถูกผู้คนมองว่าเป็นแค่ “เครื่องพิมพ์ดีดที่มีจอเรืองแสง” หรือ “เครื่องคิดเลขชั้นดีกว่าปกติ” เท่านั้น เนื่องจากคอมพิวเตอร์เหล่านี้ยังทำงานได้อย่างจำกัด แต่ในปัจจุบัน คุณสมบัติต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ได้ขยายขอบเขตออกไปถึงระดับที่ผู้คนในยุคก่อนหน้านี้ไม่เคยจินตนาการว่าจะทำได้มาก่อน คอมพิวเตอร์สามารถทำหน้าที่เป็นโทรศัพท์ ไปรษณีย์ โรงภาพยนตร์ คลังจัดเก็บข้อมูล และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของเราไปแล้ว

วันนี้และอนาคต

กอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งอินเทลตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในปี 2508 ว่า ความจุของโปรเซสเซอร์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุกๆ 18 เดือน ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพในการประมวลผลที่เพิ่มเป็นทวีคูณภายในช่วงเวลาสั้นๆ คำพูดดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็น “กฎของมัวร์” และแนวโน้มดังกล่าวยังคงเป็นจริงมาจนถึงทุกวันนี้ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสำหรับผู้บริโภคมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยใช้ในการส่งคนไปดวงจันทร์เสียอีก และวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็มิได้หยุดนิ่งอยู่แค่นั้นหลังจากผ่านไปแล้ว 30 ปี

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในสามทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวิธีการที่ผู้คนสื่อสาร ทำงาน ศึกษาและเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความสุขใส่ตัว ในขณะที่วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับโปรเซสเซอร์ของอินเทลจะยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการจัดการงานต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ผู้คนในช่วงหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้านี้คาดไม่ถึงว่าจะทำได้”

ปัจจุบันระบบประมวลผลมีการแปลงสภาพต่างไปจากเดิมอย่างมาก จากยุคที่เป็นแค่เครื่องพิมพ์ดีดซึ่งมีจอเรืองแสง ไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ใช้งานร่วมกับพีซีได้ สมาร์ทโฟน กระทั่งมาถึงยุคของแท็บเบล็ต คอมพิวเตอร์กลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และยังคงทวีความแข็งแกร่งไปทั่วโลก วิสัยทัศน์ของอินเทลในอนาคตอันใกล้นี้คือ การนำรูปแบบการใช้งานแนวใหม่มาใช้ ซึ่งมาในรูปของคอมพิวเตอร์แบบพกพารุ่นใหม่อย่าง Ultrabook นั่นเอง คอมพิวเตอร์ชนิดนี้จะให้ประสิทธิภาพและคุณสมบัติต่างๆ ของโน้ตบุ๊กที่มีอยู่ในปัจจุบันไปผสมผสานกับคุณสมบัติต่างๆ ของแท็บเบล็ต เพื่อให้มีรูปแบบการใช้งานที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยดีไซน์ของเครื่องที่บางมาก (บางไม่ถึง 20 มม.) น้ำหนักเบาและดูเรียบหรู ในราคาทั่วไปที่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,900 บาท) นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคแต่ละรายสามารถเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน หรือขณะอยู่บนท้องถนนก็ตาม


นอกจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะใช้เป็นระบบประมวลผลข้อมูล เพื่อความบันเทิง หรือใช้ระบบสื่อสารก็ตาม โดยใช้เทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการอย่าง Wi-Di (Wireless Display) ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์และทีวีได้ และสมาชิกในบ้านทุกคนสามารถหันมาใช้เวลาอันมีค่าร่วมกันได้มากขึ้น ใน “ยุคแห่งการเติบโตของคอมพิวเตอร์” คอมพิวเตอร์ที่บ้านจะได้รับการใช้งานมากขึ้น และผู้บริโภคจะกลายเป็นศูนย์กลางเพื่อกำหนดประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ที่ปลายนิ้วในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อินเทลคาดหวังว่าการก้าวกระโดดของประสิทธิภาพในครั้งต่อไปจะทำให้ระบบประมวลผลก้าวไปสู่ยุคใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับคำสั่งที่เป็นเสียงพูดและตอบสนองได้ในทันทีเป็นต้น

เราได้เดินทางมาไกลมาก นับตั้งแต่ยุคที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาที่ผู้คนต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี จนถึงปัจจุบันที่ไลฟ์สไตล์และความต้องการต่างๆ ของผู้คนได้กลายเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับเทคโนโลยีไปแล้ว ระบบประมวลผลส่วนบุคคลได้กลายมามีความเป็นส่วนบุคคลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

View :3880
Categories: Technology Tags: ,

กฎหมายการประกอบกิจการของคนต่างด้าว: ได้เวลาที่จะสะสางแล้วหรือยัง?

July 28th, 2011 No comments

โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อต่างๆ มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัท DTAC ว่ามีลักษณะของการถือหุ้นแทนหรือไม่ และมีบทความจำนวนมากที่เสนอให้มีการปรับปรุงนิยามของคนต่างด้าวให้เข้มงวดมากขึ้นดังเช่นในต่างประเทศซึ่งมีการพิจารณาถึงสัดส่วนการถือหุ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง อำนาจในการควบคุมบริษัทในทางปฏิบัติ ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นเรื่องการลงทุนของคนต่างด้าวมิใช่เพียงเรื่องของนิยามของคนต่างด้าวเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาถึงข้อบทของกฎหมายในภาพรวมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาว่าเราควรที่จะมีการแก้นิยามของ “คนต่างด้าว” พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ และอย่างไรดังนี้

ประการแรก นิยามของ “คนต่างด้าว” ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบันที่มีความหละหลวมนั้นมิได้เกิดจากความไม่รอบคอบหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ร่างกฎหมาย หากแต่เกิดจากเจตนาของรัฐบาลที่จะผ่อนปรน กฎ กติกาในการควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวเพื่อที่จะรักษาและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อประมาณสองทศวรรษมาแล้ว

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 เป็นกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ไทยประกาศใช้เพื่อจำกัดสิทธิการลงทุนของต่างชาติฉบับแรก ประกาศฯดังกล่าว ได้จำกัดสัดส่วนหุ้นส่วนคนต่างด้าวในธุรกิจในบัญชีแนบท้ายกฎหมายไว้ไม่เกินร้อยละ 49 สำหรับธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีแนบท้าย (ก)–(ค) บัญชีดังกล่าวห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและบริการบางประเภทที่เกี่ยวโยงกับการประกอบธุรกิจทางเกษตรกรรม หัตถกรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่สงวนสำหรับคนไทย ฯลฯ โดยความแตกต่างระหว่างบัญชีแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามอยู่เดิมจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย และ วิธีการและเงื่อนไขที่คนต่างด้าวรายใหม่จะสามารถขออนุญาตในการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามเหล่านั้น แต่ที่สำคัญคือ บัญชี (ค) นั้นห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทโดยไม่ระบุสาขา ข้อจำกัดดังกล่าวยังคงปรากฏอยูในบัญชี 3 ใน พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวไว้ในข้อ 3 ของประกาศฯ ว่า หมายถึง “ นิติบุคคล ซึ่งทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว “ ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้สอบสวน บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ บริษัท เอบีบี อาเซีย อาบราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ถือหุ้นโดยตรงร้อยละ 49 และถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน เอเซีย อาบราวน์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทยอีกร้อยละ 49 อีกชั้นหนึ่งทำให้มีสัดส่วนของทุนรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 74 เกินกว่ากึ่งหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด เป็นนิติบุคคลต่างด้าวเนื่องจากทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ[1]

สืบเนื่องจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีของบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลไทยในหลายลำดับชั้นของการถือหุ้นและพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่มีสัญชาติเป็นคนต่างด้าวหากนับรวมการถือหุ้นทางอ้อมด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนต่างด้าวมีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจไทย รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าหากมีการตีความคำจำกัดความของคำว่า “ทุน” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 โดยให้ยกเลิกบทนิยามของคำว่า `คนต่างด้าว’ ในข้อ 3(1) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คนต่างด้าว” หมายถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนจดทะเบียนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นถือโดยคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลซึ่งมีคนต่างด้าวลงหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น’ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวนั้นจะพิจารณาจากการถือหุ้นและทุนในนิติบุคคลนั้นๆ ชั้นเดียวโดยไม่พิจารณาถึงทุนของคนต่างด้าวในนิติบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมลงทุนในนิติบุคคลนั้น จึงเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนการถือหุ้นคนไทยกับต่างชาติที่ร้อยละ 49:51 ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขนิยามของคนต่างด้าวให้กลับไปเหมือนกับนิยามที่กำหนดใน ปว. 281 ย่อมหมายถึงการปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศดังเช่นนโยบายของคณะปฏิวัติเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขนิยามของคนต่างด้าว และคงจะยิ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น

ข้อเท็จจริงประการที่สองคือ นิยามของคนต่างด้าวในต่างประเทศมีความรัดกุมกว่าประเทศไทย หากแต่ประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดการลงทุนของคนต่างด้าวเพียงไม่กี่สาขา ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ห้ามต่างชาติเข้ามาลงทุนในทุก “สาขาบริการ” ในขณะที่ประเทศอื่นมักจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติในสาขาบริการหลักๆ เช่น การธนาคาร การขนส่ง การสื่อสาร เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า จีน เวียดนาม กลับมีข้อกำหนดสัดส่วนทุนต่างชาติ “ขั้นต่ำ” ไม่ใช่ “ขั้นสูง” เพราะเขาต้องการดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ หากแต่มีการกำหนดเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เข้มงวดกว่าไทย ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติอยู่ในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม มีการจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 20 และมีนิยามของคนต่างด้าวที่ค่อนข้างรัดกุม หากแต่กฎหมายเปิดช่องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Federal Communication Commission หรือ FCC) สามารถอนุญาตให้บริษัทต่างชาติประกอบกิจการได้หากเห็นว่าการเข้ามาของบริษัทต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งต่างจากในกรณีของกฎหมายไทยที่ไม่ได้เปิดช่องดังกล่าว ซ้ำร้ายหน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาบางแห่งยังมีการร่างประกาศที่จะทำให้นิยามของคนต่างด้าวสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของตนมีความเข้มขึ้นเพื่อที่ป้องกันมิให้บริษัทต่างชาติเข้ามา “ฮุบ’ บริษัทไทย หากแต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าหากต่างชาติที่ให้บริการแก่ประชาชนคนไทยอยู่นั้นต้องถอนทุนไปทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดแล้ว คนไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ครั้นจะหันไปพึ่งพากฎหมายป้องกันการผูกขาดของเราก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 12 ปี

ผู้เขียนมองไม่เห็นว่า การห้ามธุรกิจต่างด้าวประกอบธุรกิจบริการทุกประเภทแบบครอบจักรวาลที่เป็นอยู่นั้นเป็นผลดีอย่างไรต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทย เพราะสุดท้ายแล้วการที่เราห้ามเปรอะไปหมดทำให้เราก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลยในทางปฏิบัติ เพราะมีธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาจำนวนมากในหลากหลายสาขา รวมถึงบาร์เบียร์หรือสถานบันเทิงจำนวนมากแถวพัทยาที่เป็นของคนต่างด้าวที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลงทุนแบบ “ปากว่า ตาขยิบ” ของไทย คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทยบางกลุ่มที่พอใจที่จะเห็นคู่แข่งต่างชาติถูกกีดกันในการประกอบธุรกิจ และพร้อมที่จะงัดกฎหมายนี้ออกมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางธุรกิจกับคู่แข่งที่มีหุ้นส่วนต่างชาติ เพราะหากปราศจากการแข่งขันจากบริษัทต่างชาติแล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะสามารถแผ่ขยายอำนาจทางธุรกิจเพื่อยึดครองตลาดภายในประเทศได้ง่ายดายขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะทบทวนบัญชี 3 ของกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อ“ธุรกิจไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน” หากภาคบริการของไทยยังคงไม่พร้อมที่จะแข่งขันหลังจากเวลาเนิ่นนานมาแล้วเป็นเวลาเกือบ 40 ปีนับจากที่มี ปว. 281 ในปี พ.ศ. 2515 เราก็คงต้องเลิกพูดกันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะภาคบริการจะเป็นตัวถ่วงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมทำให้เราล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในการตักตวงประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในปี พ.ศ. 2558

ผู้เขียนเห็นว่า บัญชีสามควรให้การคุ้มครองแก่ ธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากเท่านั้น มิใช่ส่งเสริมให้ทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจทางตลาดสูงเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดย่อมและผู้บริโภคไทย จากการผูกขาดตลาด ประเทศไทยจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ หากนโยบายของภาครัฐยังคงให้การคุ้มครองกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในภาคบริการที่สำคัญของประเทศ

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีความกล้าหาญที่จะเข้ามารื้อกฎหมายฉบับนี้เพื่อปฏิรูปให้ภาคบริการของประเทศไทยโดยเฉพาะในสาขาที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับภาคการผลิตของเราที่เติบโตแข็งแกร่งจากทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และจากแรงกดดันของการแข่งขันจากทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพิงกฎหมายที่กีดกันคู่แข่งจากต่างชาติแต่อย่างใด.

——————————————————————————–

[1] บันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เลขเสร็จ 332/2535) เรื่อง ความหมายของคนต่างด้าว ตามข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ 2515 (กรณีบริษัท เอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด)

View :2577

เด็กไทยพิชิตชัย 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง คอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก

July 28th, 2011 No comments

สุดยอดเยาวชนหัวกะทิ 78 ชาติประชันสมองเต็มศักยภาพ เด็กไทยคว้าอันดับที่ 14 ของโลก

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประธานในพิธีปิดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 เปิดเผยว่าการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปีนี้ ณ โรงแรมรอยัล คลีฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ระหว่างวันที่ 22 – 29 กรกฎาคม 2554 เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนในการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตลอดจนการจัดหลักสูตรของประเทศให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามเป้าหมายของการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในครั้งนี้

ประธานกรรมการสสวท.ได้แสดงความยินดีกับนักเรียนผู้เข้าแข่งขันทุกคนรวมทั้งขอให้มีความมุ่งมั่นพยายามฝึกฝนต่อไป โดยตลอดระยะการจัดงาน 1 สัปดาห์เชื่อว่าเยาวชนผู้ร่วมงานทุกคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นทั้งด้านการเขียนโปรแกรมและวิธีการในการจัดการเรียนรู้ ก่อเกิดความประทับใจในประเทศไทย

ด้านรศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 กล่าวว่า การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยภาพรวมตลอดการจัดงานประกอบด้วยการสอบแข่งขันแก้ปัญหาโจทย์ การประชุม นิทรรศการ ที่พัก อาหาร ทัศนศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานด้วยดี

การจัดงานแข่งขันครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วมแข่งทั้งหมด 78 ประเทศ ประเทศเข้าสังเกตการณ์ 2 ประเทศ หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีมรวม 151 คน นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 306 คน visitors 68 คน มีผู้ส่งผลงานเพื่อนำเสนอในการประชุม 14 เรื่อง นิทรรศการผลงานชนะเลิศการประกวดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 30 ผลงาน

ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 23 นี้ Mr.GENNADY KOROTKEVICH ผู้แทนเยาวชนจากประเทศเบลารุสทำคะแนนการสอบรวมกัน 2 วันสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือได้คะแนนเต็ม 600 คะแนน อันดับสองคือผู้แทนเยาวชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนทำได้ 599 คะแนน อันดับสามคือผู้แทนเยาวชนจากประเทศรัสเซียและบราซิลทำได้ 598 คะแนน

สำหรับทีมผู้แทนประเทศไทยสามารถคว้าชัยชนะ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง โดยนายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้รับเหรียญทอง ทำคะแนนได้ 524 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 14 โลก นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เหรียญทองทำได้ 483 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 24 ของโลก สำหรับนายวิชชากร กมลพรวิจิตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. ได้รับเหรียญเงิน และนายลภนชัย จิรชูพันธ์ ได้รับเหรียญทองแดง

ทั้งนี้ประเทศที่ทำคะแนนสอบได้เป็นอันดับที่ 14 ของโลกมีจำนวนสามประเทศคือ ประเทศไทย ญี่ปุ่น และโครเอเชีย นายพศิน มนูรังษี ผู้แทนประเทศไทยซึ่งปีที่แล้วได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก (IOI 2010) จากแคนาดา และปีนี้พิชิตเหรียญทองอีกครั้งตามคาดหมายยอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก ด้วยคะแนน 524 คะแนนซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตั้งใจทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถให้สมกับที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยและเพื่อชื่อเสียงของประเทศ คิดว่าการที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ ส่วนการสอนคอมพิวเตอร์ให้น่าสนใจนั้นถ้าลองทำในรูปแบบโปรแกรมการทำงานของหุ่นยนต์เด็กๆก็จะสนใจมากขึ้น อนาคตตั้งใจศึกษาต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานพัฒนาด้านการศึกษาหรืองานวิจัยทางด้านนี้ต่อไป

นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ เผยว่าดีใจที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้เพราะถือเป็นครั้งแรกของตนที่ได้เข้าร่วมคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ส่วนในปีหน้าก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้เป็นผู้แทนไปแข่งที่ประเทศอิตาลี พร้อมกันนี้ก็เห็นว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์สำคัญต่อชีวิตและมีบทบาทสูงในสังคมปัจจุบัน การมีความรู้ด้านนี้ช่วยให้ทันเหตุการณ์ รู้เท่าทัน และป้องกันตนเองจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ด้วย อนาคตตั้งใจทำงานที่ได้ใช้ความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาประเทศไทย

ขณะที่นายวิชชากร กมลพรวิจิตร กล่าวว่าดีใจที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปีนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมเข้าแข่งขัน ที่ผ่านมามีการเตรียมตัวและฝึกฝนการแก้โจทย์คอมพิวเตอร์มาเป็นอย่างดี โดยปีหน้าก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด เมื่อตอนเป็นเด็กสนใจการเขียนโปรแกรม จึงชอบสะสมหนังสือด้านนี้และทดลองเขียนโปรแกรมเล่นๆ พัฒนาและใส่ใจศึกษามาโดยตลอด คิดว่าการแข่งขันโอลิมปิกช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ที่สนใจและมีความสามารถได้รับโอกาสแสดงศักยภาพในเวทีนานาชาติ

ด้านนายลภนชัย จิรชูพันธ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและทำข้อสอบอย่างเต็มความสามารถ อนาคตตั้งใจทำตามความฝันโดยจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาเอก สำหรับผมโครงการโอลิมปิกเป็นโครงการที่ดีเพราะส่งเสริมเด็กไทยให้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป็นโครงการที่ให้โอกาสแก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษในวิชาต่างๆ ได้แสดงความสามารถของตนออกมาอย่างเต็มที่ สำหรับอนาคตอยากเป็นนักวิจัยหรือเป็นโปรแกรมเมอร์ควบคู่กับเป็นอาจารย์ ถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่เพราะปัจจุบันบ้านเรายังขาดนักวิจัยในด้านนี้อยู่มากครับ

View :2601

รำลึก ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

July 28th, 2011 No comments

อพท. ประสานแนวคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับ 3 องค์กร จัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ ศร ศิลปบรรเลง” เพื่อเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวทางดนตรีไทยให้เมืองอัมพวา เมืองแห่งวัฒนธรรมและศูนย์กลางดนตรีไทย ด้วยแนวคิดการจัดการการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า “อพท. ร่วมกับมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เทศบาลตำบลอัมพวา และองค์การบริหารส่วนตำบลสวนหลวง ดำเนินการจัดงาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้ถือกำเนิดที่อัมพวาและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่น ทั้งในระดับประเทศและระดับชาติ

จุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศเมืองวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางของดนตรีไทย สร้างความมั่นคงทางจิตวิญญาณของภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับชาวสมุทรสงคราม โดยมุ่งหวังให้เป็นโครงการนำร่องในการจัดมหกรรมดนตรีไทยประจำปีของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยการสืบทอดมรดกความเป็นศูนย์กลางทางดนตรีไทยในอดีตที่เชื่อมโยงสู่บรรยากาศของเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบัน และเพื่อจุดประกายการพัฒนาดนตรีไทยในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้มีรากฐานอันมั่นคง ทั้งเป็นต้นแบบให้เกิดการวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรีในระดับอื่นๆ ต่อไป

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ดุริยกวี ๕ แผ่นดิน ผู้มีฝีมือทางระนาดเอกดีเยี่ยม นับตั้งแต่วัยเยาว์จนได้รับคัดเลือกเข้าไปถวายงานดนตรีแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕ ที่วังบูรพาภิรมย์พระนคร และได้สร้างคุณูปการทางดนตรีไทย อันเป็นที่ประจักษ์มาตลอดระยะเวลา ๕ แผ่นดิน โดยเป็นทั้งศิลปินดนตรี ดุริยกวี และครูสอนดนตรีไทยให้แก่บุคคลทุกระดับชั้น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลแห่งตำนานดนตรีไทยที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ แม้เมื่อถึงแก่กรรมก็ยังปรากฏผลงานการประพันธ์เพลงที่แพร่หลาย และการจัดกิจกรรมดนตรีที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ ตรงกับวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันจัดงานเทศกาลดนตรี “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา” โดยงานนี้นับได้ว่าเป็นการรวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ของคนในวงการดนตรีไทย เพื่อร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งมีกิจกรรมมากมายที่น่าสนใจ อาทิการประชันดนตรี ปี่พาทย์เสภา มหาดุริยางค์พิเศษ ระนาด ๑๓๐ ราง การแสดงดนตรีของศิลปินระดับปรมาจารย์ อาทิ วงฟองน้ำ วงชัยยุทธ์ โตสง่า ฯลฯ รวมไปถึงพิธีกรรมทางศาสนา กิจกรรมบันเทิง และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าดนตรีไทยแก่สาธารณชน

ทั้งนี้ อพท. คาดหวังว่างานดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีให้กับเมืองอัมพวาอย่างต่อเนื่องไปทุกปี ที่สำคัญการจัดงานนี้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม นั่นคือ การสร้างสรรค์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือทุนทางวัฒนธรรม โดยหยิบยกเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ ศิลปะท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน วิถีความเป็นชุมชน วรรณกรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ความงดงามของฝีมือช่าง และอื่นๆ มาจัดการให้เกิดความน่าสนใจสอดคล้องตามคุณค่าของชุมชนหรือเมือง และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ตรงผ่านการเรียนรู้นั้น เช่น การได้มาเรียนรู้เรื่องดนตรีไทยเป็นเวลา ๒ วัน ๑ คืน ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยพักบ้านดนตรีแบบโฮมสเตย์ หรืออาจะเป็นการมาศึกษาเรียนรู้เรื่องความเป็นมาของศิลปินเอกด้านดนตรีไทย ประเภทเครื่องสี ตี เป่าของไทย สักประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง โดยมีโอกาสได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีไทยนั้นจากครูผู้สอนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งและน่าประทับใจ” ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กล่าวอธิบาย

จึงนับได้ว่างาน “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑ ในวาระ ๑๓๐ ปี ชาตกาลหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)” เป็นเทศกาลดนตรีไทยครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ประกอบด้วยกิจกรรมที่มีคุณค่า การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและคุณค่าของศิลปดนตรีไทยให้ปรากฏแก่สาธารณชน โดยใช้ ๓ พื้นที่หลักในเขตอัมพวาเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ได้แก่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. ๒) โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และบ้านดนตรี วัดภุมรินทร์กุฏีทอง ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๕-๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้

—–

ตารางรวมกิจกรรม “ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ ๑”

วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๙.๐๐–๒๑.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงบอยไทย บางกอกไซโลโฟน โดย ชัยยุทธ โตสง่า ศิลปินศิลปาธร ประจำปี ๒๕๕๓ พร้อมด้วยดารารับเชิญ คนระนาดเอก ได้แก่ ครูปู บุญสร้าง เรืองนนท์ ร่วมบรรเลงเพลงภารตะนฤมิตร แหลม สมฤกษ์ ฉายแสง ร่วมบรรเลงเพลงเดี่ยวอาหนู และป้อม กองปราบ ประสิทธิ์ สิทธิชัย มาในเพลง “ดวล”

วันเสาร์ ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร.๒
๐๖.๐๐–๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า ปี่พาทย์วงไทยบรรเลง
๐๘.๓๐-๐๙.๓๐ น. ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บูรพาจารย์ทางดนตรีไทย มโหรีวงกอไผ่ บรรเลงประกอบพิธี
๐๙.๓๐–๑๐.๓๐ น. ปาฐกถาเกียรติยศ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดุริยกวีของแผ่นดิน” โดย ศ.ระพี สาคริก
๑๑.๐๐-๑๗.๓๐ น. การบรรเลงถวายมือ “ช่อดอกไม้ดนตรี สุนทรีย์บูชาครู” จากนักดนตรีสายศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะฯ จำนวน ๑๑ วง โหมโรงกลางวันโดยวงปี่พาทย์วงที่ ๑
๑. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร วงศิษย์ครูมนตรี ตราโมท
๒. วงศิษย์ครูถวิล อรรถกฤษณ์
๓. วงจรรย์นาฏย์
๔. วงศิษย์ครูโองการ กลีบชื่น
๕. วงศิษย์ครูรวม พรหมบุรี
๖. วงศิษย์ครูแสวง – ครูนิภา อภัยวงศ์
๗. วงศิษย์ครูพินิจ ฉายสุวรรณ
๘. วงศิษย์ครูน้ำว้า ร่มโพธิ์ทอง
๙. วงศิษย์ครูสมภพ ขำประเสริฐ
๑๐. วงศิษย์ครูประสิทธิ์ ถาวร
๑๑. วงศิษย์ครูเพชร จรรย์นาฏย์

ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์
๑๔.๐๐-๑๘.๐๐ น. “สมานฉันท์ดนตรีไทยชัยพัฒนา” โดยสถาบันการศึกษาและวงดนตรีรับเชิญ จำนวน ๕ วง ได้แก่ วงคำหวาน วงพระพิรุณ วงแสนแสบ วงณัฐพนชัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา วงโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

ณ เวทีริมน้ำ อุทยาน ร.๒
๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงฟองน้ำ
๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพลงครูคู่สมัย : วงสไบ
๑๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. เพลงครูคู่สมัย : ขุนอิน ออฟ บีท สยาม
๑๙.๓๐-๒๐.๐๐ น. เสวนา “ย้อนรอยภาพยนตร์โหมโรง” โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ขุนอิน โตสง่า และ โอ อนุชิต
๒๐.๐๐-๒๑.๔๕ น. ฉายภาพยนตร์ “โหมโรง”

ณ บ้านดนตรี วัดภุมรินกุฎีทอง
๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๑ วงศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง – ไชยชนะ เต๊ะอ้วน (ระนาดเอก) วงศิษย์ผู้ใหญ่ประเสริฐ สดแสงจันทร์ – มีกิจ อินทรพิพัฒน์ (ระนาดเอก)
๒๑.๐๐-๒๔.๐๐ น. ปี่พาทย์ประชันเชิง คู่ที่ ๒ วงกอไผ่ – ทวีศักดิ์ อัครวงศ์ (ระนาดเอก) วงลายไทย – ธนาเศรษฐ์ อภิจิรนนท์ชัย (ระนาดเอก)

วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔
ณ ชั้นล่างเรือนไทยอาคาร ๒ อุทยาน ร. ๒
๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. โหมโรงเช้า – ปี่พาทย์วงลูกศิษย์และหลานศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. – พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๔ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
– พิธีกรอ่านโองการ โดย พันโทเสนาะ หลวงสุนทร และ ผู้ช่วยพิธีกร โดย ครูฉลาก โพธิ์สามต้น
– บรรเลงหน้าพาทย์โดย วงลูกศิษย์และหลานศิษย์ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)
๑๑.๓๐-๑๕.๐๐ น. – พิธีครอบครูดนตรีไทย
– การบรรเลงถวายมือ โดย ๑) “วงมหาดุริยางค์เยาวชนสมุทรสงคราม” บรรเลงเพลงบุหลันลอยเลื่อน และ แสนคำนึง ๒) “วงมหาดุริยางค์ระนาด ๑๓๐ ราง” เป็นการชุมนุมนักระนาดเอกทั่วประเทศ บรรเลงทางเดี่ยวเพลงอาหนู เพื่อแสดงความสามัคคีบูชาครู ๓) สิ้นสุดมหกรรมดนตรีฯ ครั้งนี้ ด้วย การบรรเลง และ ขับร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมิ่งมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พระพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒

View :3268

เด็กอัจฉริยะคว้าคะแนนเต็มคอมพิวเตอร์โอลิมปิก 2011 สูงสุดอันดับ 1 ของโลก

July 28th, 2011 No comments


Gennady Korotkevich หลังออกจากห้องสอบในวันที่ ๒๖ ก.ค. ๕๔ Gennady Korotkevich ขณะกำลังสอบแข่งขันวันที่สอง วันที่ ๒๖ ก.ค.๕๔

Gennady Korotkevich ผู้แทนเยาวชนจากประเทศเบราลุส ทำคะแนนจากการสอบรวมกัน ๒ วันสูงสุดเป็นอันดับ ๑ ของโลก คือ ได้คะแนนเต็ม ๖๐๐ คะแนนในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

—-

นาทีระทึกใจของเยาวชนในสนามชิงชัยคอมพิวเตอร์โอลิมปิกวันสุดท้าย

เยาวชนคนเก่งจากนานาประเทศตั้งใจทำข้อสอบเก็บคะแนนวันสุดท้ายอย่างเต็มที่ ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

ทั้งนี้ หลังจากสอบ ผลปรากฎว่า นายพศิน มนูรังษี ทำคะแนนจากการสอบรวมกัน 2 วันสูงเป็น อันดับที่ 14 ของโลกคือ 524 คะแนน นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ ได้คะแนน 483 คะแนนคิดเป็นอันดับที่ 24 นายวิชชากร กมลพรวิจิตร ได้ 381 คะแนน และนายลภนชัย จิรชูพันธ์ ได้ 288 คะแนน

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

—-

ผู้เข้าแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกที่อายุน้อยสุด


เอ็ดเวิร์ด กริกอร์ยาน (Eduad Grigoryan) อายุ ๑๓ ปี ผู้แทนจากประเทศอาร์เมเนีย เป็นผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุน้อยที่สุดในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานดำเนินการร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้แทนเยาวชนจาก ๗๘ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในประเทศไทยและจะมีพิธีปิดในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนี้โดยนายชินวรณ์ บุญเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน

View :3999

นโยบายการลงทุนของคนต่างด้าวในภาคธุรกิจโทรคมนาคม ใครควรเป็นผู้กำหนด?

July 28th, 2011 No comments

By ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในการประชุมของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) รักษาการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งขาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ…. โดยให้มีการเพิ่มเติมข้อความในส่วนของการเกริ่นนำของร่างประกาศว่าเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ มิใช่เป็นการเร่งรัดดำเนินการในห้วงระยะเวลาปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้เขียนยิ่งมีข้อสงสัยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเร่งรัดของ รักษาการ กสทช. ชุดนี้ก่อนที่จะหมดวาระในเวลาเพียงอีกเดือนกว่าๆ หรือไม่

ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนดังเช่นของ กรณี พ.ร.บ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๒ (สืบเนื่องจากการที่บริษัท True Move ขอให้มีการตรวจสอบว่าบริษัท DTAC เป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่) หากแต่จะเป็น กฏ กติกาที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เนื่องจากประกาศดังกล่าวได้กำหนดนิยามของคนต่างด้าวจากอำนาจในการควบคุมบริษัท (corporate control) โดยพิจารณาจากปัจจัยที่หลากหลาย เช่น สิทธิในการออกเสียง แหล่งที่มาของเงินทุน การทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาบริหาร การโอนราคา ฯลฯ ในการรับฟังความคิดเห็นนั้น (ซึ่งรายงานการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้ลงในเว็บไซต์ ต้องขอ) ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมากกว่า 1 รายได้ทักท้วงว่า นิยามของคำว่า ”อำนาจในการควบคุม” ในร่างประกาศฯ ดังกล่าวกว้างเกินไป ชี้วัดได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการตีความ นอกจากนั้นแล้ว การประเมินว่าคนต่างด้าวมีอำนาจในการควบคุมเกิน “กึ่งหนึ่ง” ของอำนาจการควบคุมโดยรวมของกิจการนั้นยิ่งไม่เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎ กติการในการกำกับดูแลธุรกิจที่มีความคลุมเครือและให้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวางแก่หน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้ ซึ่งมีอยู่อย่างดาษดื่นในประเทศไทยนั้น เป็นปัจจัยที่ทำลายภาคธุรกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการเอกชนต้องเสียเวลาและเงินตราในการวิ่งเข้าหาผู้ที่มีอำนาจเพื่อให้มีการตีความที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือเป็นโทษต่อคู่แข่งมากกว่าที่จะใช้เวลาในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ข้อ 3 ของร่างประกาศดังกล่าวระบุไว้ว่า “ … คณะกรรมการอาจพิจารณายกเว้นการบังคับใช้ประกาศนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน แก่การครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับแนวปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับทั่วในทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาข้อเท็จจริงและเหมาะสมเป็นรายกรณีไป” กสท. ได้ท้วงติงว่าข้อความนี้ให้อำนาจแห่งดุลยพินิจแก่หน่วยงานกำกับดูแลโดยปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส แต่การชี้แจงของสำนักงาน กสทช. เพียงระบุว่า “ผู้ประกอบการที่ดำเนินการแนวทางปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในทางธุรกิจ ซึ่งก็เป็นหลักที่ยอมรับได้อย่างเป็นสากลและมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด” ผู้เขียนอาจไม่ฉลาดพอ เพราะต้องยอมรับว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าที่ สำนักงาน กสทช. กล่าวมาได้ตอบข้อข้องใจของ กสท. อย่างไร

ในลักษณะเดียวกัน DTAC ก็ได้หยิบยกประเด็นว่า หากการครอบงำอำนาจในการควบคุมบริษัทของคนต่างด้าวนั้นเป็นไปโดยถูกกฎหมาย (ไม่มีนอมินี) และเกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้นไทยที่อาจขาดประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมจึงไว้วางใจให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเป็นผู้บริการจัดการก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่เสียหาย ทั้งนี้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่ได้ห้ามต่างชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในบริษัทไทยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม นิยามของคนต่างด้าวในกฎหมายดังกล่าวที่จงใจดูการถือหุ้นชั้นเดียวในการกำหนดสัญชาติของบริษัทนั้นสะท้อนชัดเจนว่ากฎหมายต้องการเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นผู้ควบคุมนิติบุคคลไทยได้โดยการถือหุ้นทางอ้อมเพียงแต่ในการถือหุ้นในแต่ละลำดับชั้นนั้น ผู้ถือหุ้นข้างมากต้องเป็นคนไทย ในประเด็นนี้ข้อวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. ระบุว่า แม้บริษัทควรที่จะมีอิสระในการกำหนดโครงสร้างอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทเอง แต่ในบางบริษัท “กรรมการมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ถือหุ้นเป็นพิเศษจนไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทแต่เลือกที่จะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแทน” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่หรืออำนาจที่จะมาตัดสินใจว่ากรรมการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่หรือ และ ผลประโยชน์ของบริษัทมิใช่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือ ? แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า ประกาศฯ ดังกล่าวมีความจำเป็นหรือสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย

เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านเศรษฐกิจที่พิจารณาเรื่องการประมูลคลื่น 3G ได้ตั้งคำถามเดียวกันว่า กทช. มีแนวนโยบายและเหตุผลอย่างไรในการนำเสนอร่างประกาศซึ่งเป็นการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ในช่วงเวลาที่ กทช. ต้องการจะชักจูงให้มีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลคลื่น 3 G จากการทำ Road show ในหลายประเทศ

อนึ่ง ข้อ 5 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล พ.ศ. 2549 กำหนดให้ กทช. ต้องดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ในกรณีที่มีการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจควบคุม หรือกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด ผู้ประกอบการแต่ละราย ตลอดจนผลดีผลเสียต่อผู้บริโภคคนไทย ผู้เขียนได้พยายามติดต่อ สำนักงาน กสทช. เป็นเวลาเกือบ 2 วันเพื่อที่จะได้มาซึ่งรายงานดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากมีการโยนกันไปโยนกันมาระหว่างเจ้าหน้าที่หลายส่วนโดยอ้างว่า ผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่อยู่ไปประชุม ทั้งๆ ที่ระเบียบข้อ 5 ดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า การเสนอร่างประกาศฯ ต่อคณะกรรมการฯ ต้องแนบรายงานการประเมินผลกระทบไปด้วยทุกครั้ง เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้มีบุคคลคนเดียวที่รับผิดชอบหรือรับรู้หรือ ? ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รายงานดังกล่าวจะต้องปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลโดยไม่ต้องร้องขอ (และไม่ได้) เช่นนี้

ผู้เขียนคิดว่า แม้ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบของ สำนักงาน กสทช. และตามกฎหมายแล้ว แต่ กสทช. ยังไม่สามารถชี้แจงประเด็นหรือปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของประกาศฯ เพื่อคลายข้อกังวลต่างๆ ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้แล้ว การที่สำนักงานไม่เปิดเผยรายงานการประเมินผลกระทบของร่างประกาศฯ ดังกล่าวต่อสภาพการแข่งขันในตลาดและต่อเศรษฐกิจไทยตามที่กำหนดในระเบียบของ สำนักงาน กสทช. เอง ทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการในการออกประกาศฯ ดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดข้อครหาว่าเป็นการเร่งรัดเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น

สุดท้าย ผู้เขียนมีความเห็นว่า การลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นประเด็นทางนโยบายที่มีความสำคัญระดับประเทศมิใช่เป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลรายสาขาจะเข้ามาใช้อำนาจแห่งดุลยพินิจโดยไร้หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ชัดเจน โปร่งใส และปราศจากข้อมูลและหลักฐานของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ได้เวลาหรือยังที่ธุรกิจและประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการรับรู้ที่มาที่ไปของกฎ ระเบียบต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น ?

View :2031

นโยบายแจก tablet: รัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัดก่อน

July 19th, 2011 No comments


แหล่งข่าวจากวงการศึกษาให้ความเห็นต่อกรณีนโยบายแจกtablet แก่เด็กนักเรียน 800,000คนว่างงานเป็นนโยบายที่ทำจริงได้ยาก และไม่เห็นด้วย แทนที่จะทำหว่านทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลลองทำเป็นโครงการนำร่องดูสักประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียน ที่ในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้วก่อน เพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการก่อน. หากได้ผลดีค่อยขยายขนาดโครงการ

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วประเทศ 30,000 โรง มีครูอยู่ 600,000 คน มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ป.1-ม.6 มากถึง 12 ล้านคนซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่มาก หากจะแจก tablet ให้เด็กเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีการเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนในการเรียนด้วยเครื่องมือที่เป็น tablet คาดว่าจะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และจะเป็นการเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์

ครูเองทุกวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องการสอน เด็กเองก็ต้องปรับตัวในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียนรู้ ซึ่งอุปกรณ์ tablet นั้นเหมาะกับการอ่านมากกว่าเขียน หากจะแจก tablet ให้แจก netbook หรือ notebook จะมีประโยชน์กว่า นอกจากนี้การเตรียมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook, courseware) ต้องใช้เวลาและต้องมีแผนการปรับปรุงหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม มากกว่านี้ ไม่ใช่จะเอาหนังสือเรียนที่มีอยู่มาแปลงเป็นดิจิตอลไฟล์แต่นั้น ไหนจะระบบการเรียนการสอน การประเมินผล การวัดผล ที่จะต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมโรงเรียนระดับประถมทั่วประเทศ โรงเรียนที่มีการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 1,000-2,000 โรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ อาทิ โรงเรียนประจำอำเภอ และโรงเรียนประจำจังกวัดเท่านั้น

ทางออกที่อยากนำเสนอคือรัฐบาลควรจะทดลองนำร่องในจำนวนโรงเรียนที่จำกัด 1,000-2,000 โรงเรียนก่อน

View :4329

ทรู ผนึกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อบรม “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่น 14 สร้างสรรค์คุณภาพคนข่าวยุคใหม่

July 14th, 2011 No comments


บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ (นั่งกลาง) ผู้ช่วยบริหารงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานซีเอสอาร์ และหัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร และประชาสัมพันธ์การตลาด กลุ่มทรู ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดย นาย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (นั่งกลาง) นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักข่าวพิราบน้อย” รุ่นที่14 ประจำปี 2554  ให้คณะนิสิต นักศึกษาจากภาควิชาวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และสื่อสารมวลชน จำนวนกว่า 80 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมเรียนรู้ทักษะ และฝึกฝนความเป็นบุคลากรคนข่าวจากนักข่าวรุ่นพี่ ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จริงแบบมืออาชีพ พร้อมฝึกปฏิบัติการทำหนังสือพิมพ์เสมือนจริง ก่อนเข้าสู่สนามสื่อในสังคมอย่างมีคุณภาพ ณ อาคารทรู ทาวเวอร์ เมื่อเร็วๆ นี้
 
“ในวันเปิดการอบรมนี้ คณะนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 80 คน ได้เรียนรู้ถึงการควบคุมระบบโครงข่ายการสื่อสารที่ครบวงจรของทรู เพื่อให้บริการออกมาได้เต็มประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล  พร้อมดำเนินการแก้ไขได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ“นักข่าวพิราบน้อย” ระหว่างวันที่ 14 – 17 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา อ.เมือง      จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนมืออาชีพทุกสำนักพิมพ์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ข้อมูลกับนิสิต นักศึกษาได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะจริงตลอดระยะเวลา 4 วันเต็มของการอบรม”
 
ข้อมูลโครงการ “นักข่าวพิราบน้อย”
“นักข่าวพิราบน้อย” เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เพื่อมุ่งส่งเสริม และสนับสนุนวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เป็นสาขาอาชีพที่ทรงเกียรติ และควรค่าแห่งความภาคภูมิใจสำหรับเยาวชนที่ศึกษาในศาสตร์วิชาวารสารศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรคนสำคัญของการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ โดยจะมีกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาที่ศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้องเข้ามาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการทำหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีเวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาแต่ละสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศจัดส่งผลงานหนังสือพิมพ์ประจำมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการผลิตผลงานในการประกวด “รางวัลพิราบน้อย” ที่จัดขึ้นในช่วงต้นมีนาคมของทุกปี

View :2801

“เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 9” ชวนเด็กและเยาวชนเปิดโลกการอ่านกับแนวคิด “อ่านสนุก ปลุกจินตนาการ”

July 14th, 2011 No comments


พาเหรดกิจกรรมกระตุ้นต่อมอ่าน อาทิ ชวนพับกระดาษสไตล์ออริกามิ DIY การ์ดป็อปอัพ แต่งกายคอสเพลย์จากกระดาษ ประลองความเร็วเครื่องบินกระดาษ พิเศษครั้งแรกกับโซนหนังสือลดกว่า 50%

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 9 (Book Festival for Young People 2011) โดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยแนวคิด “อ่านสนุก ปลุกจินตนาการ” พร้อมมอบทุนเพื่อซื้อหนังสือให้แก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสในโครงการทอฝันปันหนังสือให้น้อง ครั้งที่ 22 และมอบทุนให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมาเลือกซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดจำนวน 8 แห่ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ดำเนินการจัดงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการส่งเสริมการอ่านไม่จำเป็นต้องพึ่งภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ภาคเอกชนอันได้แก่ สมาคม และองค์กรวิชาชีพต่างๆ ต้องร่วมกันส่งเสริม และหัวใจที่สำคัญที่สุด คือ ครอบครัวและชุมชน อันเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดต้องเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ รู้สึกชื่นชมยินดีต่อปณิธานของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในการผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี หากพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านแก่บุตรหลาน ชุมชนสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ปฐมวัยนั้นมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการมีนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน และหมายถึงเด็ก และเยาวชนจะมีนิสัยใฝ่รู้ อีกทั้งต้องมีทักษะในการอ่านคิดวิเคราะห์ด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา การดำเนินชีวิต และการเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ เข้าสู่สังคม”

นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เป้าหมายหนึ่งของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ นอกจากมุ่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแล้ว เรายังผลักดันการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นแก่เยาวชนไทย กล่าวได้ว่าเรื่องการอ่านลำดับแรกควรเริ่มจากครอบครัวและโรงเรียนก่อน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูต้องแนะนำและปลูกฝังค่านิยมให้แก่เด็ก เพื่อให้เขาได้รู้จักใช้หนังสือเพื่อเกิดจินตนาการทางความคิด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงสนับสนุนให้เด็กได้มีหนังสือดีที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจ เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ติดตัว เกิดการตื่นตัวกับการอ่าน และนำไปสู่นิสัยรักการอ่านในที่สุด

“สำหรับงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 แล้ว โดยปีนี้นำเสนอแนวคิด ‘อ่านสนุก ปลุกจินตนาการ’ เนื่องจากทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าการสร้างนิสัยรักการอ่านต้องเริ่มที่เยาวชน วัยที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ ซึ่งหนังสือจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ที่จะช่วยแต่งแต้มสิ่งเหล่านั้นตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสมได้ตลอดทุกช่วงวัย ดังนั้น สมาคมฯ จึงรณรงค์การใช้หนังสือเพื่อปลุกจินตนาการและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีหนังสือดีที่จะให้ทั้งความสนุกสนานและความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ควบคู่ไปกับการเติมเต็มจินตนาการทางความคิดด้วย”

“นอกจากกิจกรรมและนิทรรศการมากมายที่สมาคมฯเตรียมมาจัดอย่างเต็มพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตรแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่เราจัดโซนหนังสือ Books Super Sale มีหนังสือลดราคาตั้งแต่ 50% ขึ้นไปและสำหรับเด็กและเยาวชนต้องไม่พลาดสะสมการ์ดพลังออริกามิ ซึ่งมีให้สะสมครบชุด 10 แบบ โดยการ์ดพลังออริกามิ ทุกใบจะแสดงวิธีพับกระดาษรูปแบบต่างๆ โดยมีคะแนนพลังตามความยากง่ายของแบบนั้นๆ ซึ่งมั่นใจว่าเด็กและเยาวชนจะต้องชื่นชอบเป็นอย่างมาก”

“คาดว่าปีนี้จะมียอดผู้เข้าชมงานประมาณ 200,000 คน และยอดเงินหมุนเวียนภายในงานมีไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 15% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันคนไทยเริ่มตื่นตัวกับการอ่านมากขึ้น ทำให้การจัดงานแต่ละครั้งประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี และคาดว่าครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีเหมือนทุกครั้ง” นายวรพันธ์ กล่าว

นิทรรศการและกิจกรรมภายในงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อ่านสนุก ปลุกจินตนาการ” ซึ่งจะแบ่งพื้นที่การจัดกิจกรรมออกเป็น 3 โซน

โซนซี 1 พบกับนิทรรศการ “มหัศจรรย์การอ่าน” ในโครงการ Bangkok Read for Life ของกรุงเทพมหานคร นิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องแนวทางการเลือกหนังสืออ่านให้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของตน และแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาของสมองในแต่ละวัยของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กิจกรรม “หนังสือคือจินตนาการ” จากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

โซนพลาซ่า พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทานในสวนกระดาษ จากเอสซีจี เปเปอร์ ร่วมกับมูลนิธิซิเมนต์ไทย กิจกรรมจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอกิจกรรมและนิทรรศการภายใต้แนวคิด “ชุมชนในฝัน” ซึ่งประกอบด้วย ศิลปินน้อยประดิษฐ์ศิลปะ โครงการ 108 หนังสือดี นิทรรศการผลงานประกวดสื่อสร้างสรรค์วัยมันไร้ควันบุหรี่ ครั้งที่ 5 โครงการปิ๊งส์ กิจกรรมเวิร์คช้อปหนังสือทำมือ และการแสดงบนเวที

โซนเอเทรียม พบกับ กิจกรรม “อ่านสนุก ปลุกจินตนาการ” เน้นการสรรค์สร้างจินตนาการให้ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านวัสดุประเภทกระดาษ ประกอบไปด้วย 4 กิจกรรม ที่ผู้ร่วมงานสามารถนำวิธีการพับกระดาษแบบต่างๆ กลับไปทำเองได้ที่บ้าน ได้แก่ กระดาษหรรษา (Origami) คอสเพลย์กระดาษ มโหตร (เทคนิคการตัดกระดาษแบบไทยๆ สำหรับใช้ในการตกแต่งสถานที่ในงานทำบุญ งานมงคลต่างๆ ในอดีต) DIY ประกอบโมเดลเป็นรูปสัตว์หลากชนิด เช่น สุนัข เต่า และไดโนเสาร์

พร้อมร่วมชมและเชียร์การแข่งขันผลงานที่ได้จากการพับกระดาษ อาทิ แข่งขันเครื่องบินกระดาษ กบกระดาษกระโดดไกล แข่งขันรถกระดาษพับ เป็นต้นและไปรษณีย์ไทย นำแสตมป์และสิ่งสะสมสินค้าที่ระลึกไปรษณีย์ต่างๆ มาจำหน่ายพร้อมถ่ายภาพแสตมป์ส่วนตัว

งานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 9 จัดระหว่างวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thailandbookfair.com

View :3661

“เทคโนโลยี”… เครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน

July 5th, 2011 No comments

ปฏิเสธไม่ได้เสียแล้วว่าความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย จนเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของดำเนินธุรกิจไปเสียแล้ว องค์กรธุรกิจจะมีความได้เปรียบหรือจะเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักหนึ่งในนั้นคือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ทุกองค์กรธุรกิจในปัจจุบันไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็กล้วนแล้วแต่ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและมีการลงทุนด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจัง

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม อินเตอร์แอคชั่น จำกัด (m Interaction)


ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม อินเตอร์แอคชั่น จำกัด (m Interaction) บริษัทเอเจนซี่โฆษณาสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์รายใหญ่ในเครือกรุ๊ปเอ็ม (Group M) กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่มีมาก่อนอยู่แล้วบริษัทที่มีความล้ำหน้าเชิงการผลิตจะได้เปรียบหลายอย่าง ทั้งสามารถผลิตได้รวดเร็วขึ้นและคุณภาพสินค้าดีขึ้น ล้วนนำมาซึ่งข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ยุคต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีกับระบบข้อมูลกับการทำงานภายในของบริษัท ซึ่งเริ่มในประเทศไทยอย่างจริงจังเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่หลายองค์กรขนาดใหญ่มีการลงทุนระบบเทคโนโลยี ทำให้บริษัทขนาดใหญ่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันข้อได้เปรียบตรงนี้อาจมองไม่เห็น เพราะเป็นกระบวนการภายใน และแต่ละบริษัทก็ล้วนติดอาวุธชนิดนี้กันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นหากองค์กรไหนไม่มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะเสียเปรียบ ส่วนถ้ามีจะได้เปรียบแต่จะได้เปรียบมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารด้วย

เทคโนโลยี … ปัจจัยความสำเร็จของการตลาดยุคปัจจุบัน:

ในฐานะนักการตลาดนักโฆษณา ศิวัตร มองว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องของการตลาด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนหลักๆ คือ เรื่องการตลาดเชิงข้อมูล บริษัทไหนที่เล่นกับข้อมูลได้เก่งได้ฉลาดก็มีโอกาสที่จะสื่อสารออกไปได้ถูกใจลูกค้ามากขึ้น เกิดขึ้นทั้งในการสื่อสารระหว่างบริษัทกับบริษัทและบริษัทกับผู้บริโภค เทคโนโลยีกำลังมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการตลาดและการโฆษณา เพราะความได้เปรียบในเชิงการผลิตการกระบวนการทำงานภายในขององค์กรขนาดใหญ่ทันกันหมด จะแตกต่างกันขึ้นกับผู้บริหารและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเชิงการตลาด

“ข้อมูลนั้นสำคัญเพราะเนื่องจากบริษัทดำเนินกิจกรรทางการตลาดเพื่อหวังผลกำไร ดังนั้นข้อมูลจะเข้ามาช่วยได้มากในการที่จะบอกว่าควรจะขายใคร ควรจะโฟกัสที่ลูกค้ากลุ่มไหน ลูกค้าแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมอย่างไร พอบริษัทรู้แล้วจะได้รู้ว่าวิธีการทำตลาดสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มควรจะเป็นอย่างไร ด้วยวิธีแบบไหน ซึ่งพื้นฐานล้วนมาจากข้อมูลทั้งสิ้น ซึ่งหากอยู่ในบริบทของเว็บและอินเทอร์เน็ต ข้อมูลเหล่านี้ก็คือข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ต่างๆ ความฉลาดของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในการที่จะรู้พฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาในเว็บไซต์จนกระทั่งเกิดการซื้อเป็นอย่างไร และเทคโนโลยีที่มีผลต่อรูปแบบของงานโฆษณา ซึ่งที่หลายๆ องค์กรต้องเริ่มหันมาสนใจ เพราะว่า ลูกค้ามีพฤติกรรมในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น สินค้าต่างๆ ก็เลยต้องปรับตัวมากขึ้น”

ศิวัตรยังมองว่าสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เล็กมากๆ เทคโนโลยีอาจจะยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ความสำคัญจะอยู่ที่การสร้างเอกลักษณ์ของตัวสินค้า ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการกิจการ เมื่อธุรกิจขนาดเล็กขยายมาเป็นขนาดกลางจะมีความสนใจเทคโนโลยีมากขึ้นเพราะหากไม่มีเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะทำให้ควบคุมประสิทธิภาพการทำงานได้ยาก ธุรกิจขนาดกลางขยายเป็นขนาดใหญ่เรื่องระบบงานหลังบ้านยังคงต้องมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน

สิ่งที่กำลังเป็นจุดเปลี่ยนในการทำธุกริจในปัจจุบันในมุมมองของศิวัตร คือ ตัวผู้บริโภค เพราะปัจจุบันผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และมีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ทั้งสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ต่างๆ เพื่อหาข้อมูลสินค้าและบริการที่ต้องการมากขึ้น นักการตลาดหากมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนกลุ่มนี้จะต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับตรงนี้เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสื่อสารกับลูกค้า กอปรกับ เม็ดเงินที่ธุรกิจเริ่มลงทุนด้านการตลาดการโฆษณาออนไลน์มากขึ้น สมัยก่อนจะลงสื่อดั้งเดิมมากขึ้น ปัจจุบันการตลาดและการโฆษณาต้องอาศัยเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่าง และต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องการใช้ฐานข้อมูลเพื่อสร้างการสื่อสารกับลูกค้าแต่ละคนลงในรายละเอียด

“ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมแบบนี้ชัดเจน การวางแผนท่องเที่ยววันหยุด หาโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร การตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโด รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทั้งหลายนี้เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ถ้าหากนักการตลาดไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะเสียโอกาส และอาจจะเสียลูกค้าให้กับคู่แข่ง เรื่องนี้ที่มีความเด่นชัดมากคือ สินค้าในกลุ่ม High Involvement Product คือ สินค้าที่นานๆ ซื้อที มีราคาสูง ผู้บริโภคต้องตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง ด้วยเหตุด้วยผล มีการเปรียบเทียบข้อมูลเยอะ ปัจจุบันการหาข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต”

นอกจากนักการตลาดต้องเข้าใจพฤติกรรมนี้แล้วนักกาตลาดยังต้องมีเทคโนโลยีที่ต้องเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพื่อรู้จักลูกค้า รู้ว่าผู้บริโภคเขาพูดถึงสินค้า ธุรกิจของบริษัทอย่างไร เรื่องใหม่ๆ อาทิ เฟซบุ๊ค นักการตลาดต้องเข้ามาเก็บข้อมูลว่าผู้บริโภคเขาพูดคุยอะไรกันบ้าง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในเชิงธุรกิจ

ส่วนสินค้าที่เป็น Low Involvement Product ได้แก่ สินค้า อุปโภคบริโภค เริ่มมีการมีการใช้เทคโนโลยีในการโฆษณา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ให้ความสำคัญ เนื่องจาก ลูกค้าเป้าหมายคือ ผู้บริโภคกลุ่มกว้าง และคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างมาก
เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจการตลาดการโฆษณาตั้งแต่เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล การประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ในแต่ละเอเจนซี่โฆษณาและที่ปรึกษาทางการตลาดจะต้องมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีมากขึ้น

ศิวัตร กล่าวว่า สำหรับ บริษัท เอ็ม อินเตอร์แอคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดูแลงานดิจิตอลทั้งหมดของกรุ๊ปเอ็ม (Group M) ที่ประกอบด้วย 4 บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ได้แก่ Maxus, MEC, Media Com และ Mind Share ซึ่งรวมกันแล้วมีส่วนการตลาดราว 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เอ็ม อินเตอร์แอคชั่นเองก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกการตลาดออนไลน์ราว 40 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

“เราเป็นเอเจนซี่โฆษณา ทำงานร่วมกับ 4 เอเจนซี่ เราไปหาลูกค้าด้วยกัน บทบาทเราคือ ให้คำปรึกษาลูกค้า วางแผนการตลาดการโฆษณาบนโลกออนไลน์ รวมถึงให้บริการผลิตชิ้นงาน การคิดแคมเปญทางการตลาด รวมถึงการซื้อสื่อออนไลน์ ลูกค้าของบริษัทเราเป็นลูกค้ารายใหญ่ทั้งสิ้น”

ศิวัตร คาดการณ์ว่า เม็ดเงินที่ใช้ในสื่อโฆษณาออนไลน์ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2,000 พันล้านบาท เติบโตเฉลี่ยราว30-50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อัตราการขยายตัวมาก แต่สัดส่วนที่เป็นเม็ดเงินหากเทียบกับเงินโฆษณาทั้งหมดที่คาดว่าจะอยู่ที่ 90,000-100,000 ล้านบาท ยังน้อยอยู่

“ธุรกิจที่ใช้สื่อออนไลน์มากคือ ธุรกิจ High Involvement Product แต่ธุรกิจที่ใช้เม็ดเงินโฆษณามากคือธุรกิจ High Involvement Product คือสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มกว้าง ซึ่งสัดส่วนเงินโฆษณาสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่สื่อออฟไลน์อยู่”

เทคโนโลยี … เพื่อนสนิทคนทำงาน:

สำหรับคนทำงานในปัจจุบัน ปฏิเสธไมได้ว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานไปเสียแล้ว และคนทำงานเองก็ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อกิจกรรมส่วนตัวหลากลาย ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีได้เคลื่อนเข้ามาใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และอุปกรณ์แท็ปเล็ต (Tablet) ต่างๆ ทำให้คนทำงานสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนทำงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในกิจกรรมที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องหน้าที่การงาน และได้พลิกโฉมรูปแบบการงานไปสู่การทำงานแบบทุกที่ทุกเวลา (Mobile Working)

วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ผู้จัดการด้านดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)


วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ผู้จัดการด้านดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งในเรื่องของการทำงานและชีวิตส่วนตัว เทคโนโลยีในปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของทุกองค์กรและของทุกคนทำงานที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การใช้เทคโนโลยีในองค์กรสามารถช่วยบริษัทได้ในหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในขององค์กรที่ต้องติดต่อข้ามแผนก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่

“โดยส่วนตัวใช้เทคโนโลยีทั้งในเรื่องานและเรื่องส่วนตัว เทคโนโลยีเป็นทั้งเครื่องมือช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นเพื่อนสนิทที่จะพกติดต่อไปทุกที่ตลอดเวลา ทั้งนี้จะต้องมีแอพพลิเคชั่นมาเสริมการทำงาน แอพพลิเคชั่นที่วรวิสุทธิ์ชอบใช้เพื่อช่วยในการทำงาน คือ แอพพลิเคชั่นที่ช่วยจัดการความคิด จัดทำแผนที่ความคิด จัดระบบงาน จัดระบบข้อมูล และจดการประชุม ตื่นเช้ามาจะต้องเช็คอีเมล์ด้วย iPad และจะเปิดดูแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ว่ามีการอัพเดทเวอร์ชั่นหรือยังเพราะผมเป็นคนที่ซื้อแอพพลิเคชั่นเยอะมาก ทุกๆ เช้าก็จะดูว่าแอพพลิเคชั่นไหนบ้างที่มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ๆ เราก็จะได้อัพเดททุกเช้า แอพพลิเคชั่นที่ผมใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยกวับเรื่องงาน อาทิ แอพฯ จดโน้ต จดสิ่งที่จะต้องทำ แต่ผมก็ชอบแอพพลิเคชั่นด้านความบันเทิง อาทิ ชอบดูวีดีโอคลิปเพื่อการผ่อนคลายบ้าง อ่านข่าวบน iPad เป็นหลัก ผมจะรับ feed ข่าว และเก็บลงเครื่องไว้อ่านสะดวกมาก”

วรวิสุทธิ์ บอกว่า คนทำงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงาน และมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและใช้เป็นประจำจะมีแนวโน้มว่าเส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาเลิกงานจะไม่มี เพราะทุกคนจะทำงานตลอดเวลา ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา

สำหรับ ดีแทค มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การสื่อสารภายในองค์กรสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 3,000 คน แต่มีจำนวนห้องประชุม 200 กว่าห้อง พนักงานสามารถสื่อสารผ่านอีเมล์ (email) ข้อความสั้น (Instant Message) หรือประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล (VDO Conference) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้กระบวนการทำงานข้ามแผนกภายในบริษัทกระชับ สั้นลง รวดเร็วมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก เทคโนโลยียิ่งมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันทางธุรกิจทวีความรุนแรงมากขึ้น บริษัทจะต้องสามารถสื่อสารกับทั้งคู่ค้าและลูกค้าของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การที่บริษัทจะสามารถสื่อสารและทำธุรกิจกับคู่ค้าและลูกค้าได้ดีนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีช่วยเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารกับองค์กรหรือบุคคลภายนอก อาทิ ระบบฐานข้อมูลลูกค้า ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและคู้ค้า ระบบการตลาด ระบบลูกค้าสัมพันธ์ และระบบธุรกิจอัจฉริยะ ซึ่งระบบทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยเทคโนโลยีทั้งสิ้น องค์กรธุรกิจที่มีระบบเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ องค์กรธุรกิจนั้นๆ จะมีความสามารถในการแข่งขันสูง

“บริษัทไทยขนาดกลางและเล็กยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลลูกค้ามากนัก ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผน การวิเคราะห์ การผลิตและการตลาดได้ ระบบไอทีในส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปเพื่อกระบวนการทำงานภายในองค์กร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับตัวพนักงานในองค์กร อาทิ ระบบงานบุคคล หลายบริษัทบริษัทเริ่มจะมีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีมากขึ้นในการเรื่องของการตลาดเพิ่มมากขึ้น”

วรวิสุทธิ์ ย้ำว่า หากองค์กรธุรกิจไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการตลาด ในการเก็บข้อมูลลูกค้า องค์กรนั้นก็จะไม่รู้จักลูกค้ากลุ่มเป้หมายของตนเองดีพอ ก็จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน องค์กรใดที่มีความพร้อมและตระหนักถึงความสำคัญเทคโนโลยีและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสม จะช่วยทำให้ศักยภาพการทำงานและการแข่งขันขององค์กรธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

View :5823