Archive

Archive for August, 2010

ไอซีทีผลักดันการขยายตลาดสินค้า OTOP ผ่านระบบ e-Commerce

August 24th, 2010 No comments

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ e-Commerce เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

[youtube=http://www.youtube.com/watch?v=HGAuC6w0jeM]

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อให้แต่ละชุมชนได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเหลือทั้งในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า OTOP ที่ได้มาตรฐานผลิตออกมาให้ประชาชนเลือกซื้อมากมาย ผ่านทางห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายสินค้า OTOP หรืองานจัดแสดงสินค้าต่างๆ ซึ่งข้อดี คือ สามารถจับต้องทดลองสินค้าได้ แต่ข้อเสีย คือ สินค้าตามห้างสรรพสินค้าจะมีราคาสูงกว่าที่ซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตโดยตรงประมาณ 2 ถึง 3 เท่า ขึ้นอยู่กับสถานที่และค่าใช้จ่ายในการลงทุน บริหารจัดการ ค่าการตลาดของห้างสรรพสินค้า และยังมีสินค้าให้เลือกไม่มากนัก

ดังนั้น การเลือกซื้อสินค้า OTOP ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการค้นหาสินค้า OTOP ได้อย่างหลากหลาย ประหยัดเวลา รวมทั้งสะดวกรวดเร็ว ซึ่งหากมีการวางระบบการชำระเงินและระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในสินค้า OTOP รวมถึงภาคธุรกิจให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า “ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้วางนโยบายผลักดันให้การใช้งาน e-Commerce เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมเชื่อถือได้ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนเพื่อใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้ประเทศ ช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงลดต้นทุนด้านการขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ด้วย

โดยกระทรวงไอซีที ได้ร่วมกับ 6 หน่วยงานจัดทำโครงการ e-Commerce เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้นเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การผลิต การขนส่งสินค้า การประชาสัมพันธ์ การจำหน่าย และการรับชำระเงิน ซึ่งจะเอื้อต่อการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ OTOP โดยใช้ศักยภาพของหน่วยงานทั้ง 6 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายจุติ กล่าว สำหรับ 6 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในโครงการฯ นี้ ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อจะนำสินค้า OTOP และสินค้าในโครงการพระราชดำริ มาจำหน่ายผ่านระบบการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)

มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้าบัตรเครดิต ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะรับผิดชอบงานในด้านต่างๆ กรมการพัฒนาชุมชนจะทำหน้าที่คัดเลือก รวมรวบผลิตภัณฑ์ OTOP และประสานงานกับผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมการส่งออกให้คำปรึกษาการประชาสัมพันธ์สินค้า OTOP ในรูปแบบภาษาต่างประเทศ ธนาคารกรุงไทย จัดทำระบบการรับชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เหมาะสม ส่วน บมจ.ทีโอที จะวางระบบการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยจัดทำระบบร้านค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.tote-market.com เพื่อแสดงสินค้า รวบรวมคำสั่งซื้อ และฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้าน e-Commerce

ขณะที่ บจ.ไปรษณีย์ไทย รับหน้าที่ด้านระบบการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้คำปรึกษาการใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เหมาะสม และ บมจ.อสมท จะใช้เครือข่าย ช่องทางสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่สินค้า OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ

“โครงการฯ นี้จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และเปิดโอกาสในการนำสินค้าสู่ตลาดในช่องทางออนไลน์ โดยใช้ระบบ ไอทีเข้ามาช่วย อันเป็นการขยายช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า OTOP ให้แก่ผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น จึงช่วยสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศ กล่าวคือ ทางตรงถือเป็นโครงการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก ส่วนทางอ้อมนั้นสามารถประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ดึงดูดให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ อันเป็นการสร้างตลาดใหม่ ซึ่งเป็นตลาดที่พร้อมจะใช้บริการ เนื่องจากมีความสะดวก และยังไม่มีบริการใดที่ตอบสนองความต้องการลักษณะนี้ จึงทำให้สามารถสร้างตลาดในส่วนนี้ให้เติบโตได้อย่างมาก อีกทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยได้อีกด้วย” นายจุติกล่าว

View :3245

“โฆษณาออนไลน์”… เครื่องมือโปรโมทธุรกิจราคาประหยัดสำหรับเอสเอ็มอี

August 8th, 2010 No comments

เป็นที่รู้กันดีว่าการโฆษณาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดหลักสำคัญประการหนึ่งที่ทุกธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะแม้ว่าบริษัทคุณจะมีสินค้าและบริการดี ราคาดึงดูดอย่างไรก็ไร้ผลหากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณไม่ได้รับรู้ และการซื้อสินค้าและบริการก็จะไม่เกิดขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะมีเม็ดเงินในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์จำนวนมาก แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SME: Small and Medium Enterprise) ที่มีงบประมาณในการทำการตลาดค่อนข้างจำกัดอาจจะมีอุปสรรคในการเข้าถึงการับรู้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่มาก เพราะสื่อในการเผยแพร่โฆษณาในอดีต (Traditional Media) มีอยู่ไม่มากและมักจะถูกครอบครองโดยชิ้นงานโฆษณาของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินซื้อโฆษณา

แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน อินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นมากมายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อใหม่ที่อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) อย่าง Facebook หรือเสิร์จเอ็นจิ้น อย่าง Google ล้วนเปิดโอกาสการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเอสเอ็มอีอย่างมาก เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้เวลากับสื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อใหม่ที่ว่านี้มากกว่าหรือพอๆ กับเวลาที่ใช้กับสื่อแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ทำให้นักการตลาดจำนวนมากเริ่มหันมาทำการตลาดและโฆษณาบนสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

โฆษณาออนไลน์โตต่อเนื่อง

จากการสำรวจจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้จำนวนใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ประมาณ 16 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร และคนจำนวนนี้ส่วนมากเริ่มใช้เวลากับสื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชัน จํากัด บริษัทให้คำปรึกษาทางด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์การตลาดและการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต กล่าวว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยปีนี้คาดการณ์ว่ามีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นราว 30 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา สัดส่วนของโฆษณาออนไลน์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงเป็นการซื้อสื่อ (Display Ad) ตามเว็บไซต์ดังๆ ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากๆ (60 เปอร์เซ็นต์) อาทิ Sanook.com, MSN.co.th, และ Manager.co.th รองลงมาคือการใช้บริการโฆษณาออนไลน์กับ Google (30 เปอร์เซ็นต์) Facebook (10 เปอร์เซ็นต์)
แต่ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของบริการโฆษณาออนไลน์บน Google และ Facebook เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสร้างกระแสการโฆษณาออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย
“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสัดส่วนการโฆษณาออนไลน์บน Google และ Facebook เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก โดยเฉพาะ Facebook ที่มีจำนวนผู้ใช้ในปัจจุบันมากถึง 4.5 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ตั้งแต่ต้นปีนี้ไหลมาอยู่ที่สองสื่อนี้เป็นหลัก” ศิวัฒน์กล่าว

Google และ Facebook
ทางเลือกโฆษณาออนไลน์

ศิวัฒน์กล่าวเสริมว่ากลุ่มเป้าหมายของโฆษณาบน Google และบน Facebook ต่างกัน โฆษณาบน Google จะเน้นที่กลุ่มคนที่เข้ามาค้นหาข้อมูล ในขณะที่โฆษณาบน Facebook จะเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามลักษณะประชากร (Demographic) และตามความสนใจ ซึ่งศิวัฒน์มองว่า โฆษณาออนไลน์ทั้งโฆษณาบน Google และ Facebook นั้นเหมาะกับทุกธุรกิจ แต่จะมีประโยชน์อย่างมากกับเอสเอ็มอี เพราะเป็นการโฆษณาที่ได้ประสิทธิภาพและค่อนข้างตรงกลุ่มเป้าหมายในขณะที่ใช้เงินค่าโฆษณาที่ต่ำกว่า เพราะการโฆษณาออนไลน์บน โฆษณาบน Google และบน Facebook นั้น ต้นทุนค่าโฆษณาของเอสเอ็มอีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดการปฏิสัมพันธ์กับโฆษณาหรือที่เรียกว่า Pay per Click ซึ่งหากไม่เกิดการ ‘Click’ เอสเอ็มอีก็ไม่ต้องจ่ายเงินแม้ว่าข้อความโฆษณาจะไปปรากฏให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเห็นแล้วก็ตามที

“ข้อดีของโฆษณาบน Facebook คือ เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า เพราะใน Facebook จะมีการจัดระบบกลุ่มคนที่จะเห็นโฆษณาตามลักษณะประชากร (Demographic) และตามความสนใจ ซึ่งใน Facebook มีระบบฐานข้อมูลของผู้ใช้มีที่ประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ข้อดีอีกประการคือ การทำโฆษณาบน Facebook นั้นสามารถต่อยอดแคมเปญการตลาดของเอสเอ็มอีให้แพร่หลายอย่างรวดเร็วได้ในระยะเวลาอันสั้น (Viral Marketing) หากว่าแคมเปญการตลาดหรือโฆษณาชั้นนั้นๆ มีข้อความหรือข้อมูลที่ดีและตรงโดนใจผู้รับสาร เพราะข้อความโฆษณานั้นสามารถถูกผู้ใช้กด ‘Like’ และข้อมูลการกด ‘Like’ของคนๆ หนึ่งจะถูกบอกต่อในเครือข่ายเพื่อนของคนๆ นั้น และการที่เพื่อนเขามาชอบหรือมาปฏิสัมพันธ์กับโฆษณาชิ้นใดชิ้นหนึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างความสนใจให้กับเพื่อนของเขามาสนใจด้วย”

การลงโฆษณาบน Facebook เอสเอ็มอีสามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์ แต่ก่อนอื่นเลยเอสเอ็มอีจะต้องมีหน้าเว็บไซต์ที่บรรจุข้อมูลแคมเปญทางการตลาดหรือข้อความที่จะโฆษณา จากนั้นก็มาสมัครใช้บริการโฆษณาได้โดยตรงผ่านหน้าเว็บของ Facebook และสามรถระบุได้ด้วยว่าจะใช้วิธีคิดเงินค่าโฆษณาแบบไหนระหว่าง แบบเหมา 1,000 Clicks แรกหรือแบบ Pay per Click จากนั้น Facebook จะทำการประมวลผลโดยใช้ระบบฐานข้อมูลเพื่อนำเสนอโฆษณานั้นให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด

ในขณะที่โฆษณาบน Google นั้นได้รับความนิยมและเป็นช่องทางการใช้เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์หลักในตะวันตกและในประเทศที่มีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตสูง อาทิ ในประเทศอังกฤษราว 70 เปอร์เซ็นต์ของงบโฆษณาออนไลน์ทั้งหมด (ซึ่งอยู่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ของงบโฆษณาทั้งหมด) จะเป็นการใช้เงินบนสื่อโฆษณาของ Google ที่เรียกว่า GoogleAdwords (adwords.google.com) ซึ่งเป็นรายได้หลักของ Google ทั่วโลก

“GoogleAdwords” ตัวช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงโฆษณาออนไลน์แค่ปลายคลิก

พรทิพย์ กองชุน ผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย กูเกิลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รูปแบบบริการโฆษณาของ Google มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ Google Search และ Google’s Network ซึ่งโฆษณาออนไลน์ถือเป็นรายได้หลักถึง 97 เปอร์เซ็นต์ของ Google ทั่วโลกและบริการโฆษณาออนไลน์ของ Google หรือ Search Ad นั้นถูกออกแบบมาเหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์จากระบบสืบค้นข้อมูลหรือเสิร์จเอ็นจิ้น (Search Engine) ของเอสเอ็มอีอย่างมาก พรทิพย์อธิบายว่า ประสิทธิภาพของ Search Ad มีสูงเพราะเหมือนเป็นการหยิบยื่นข้อมูลสินค้าและบริการให้แก่คนที่กำลังต้องการและมองหาสินค้าและบริการนั้นอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างมาก ทำให้โอกาสที่ลูกค้าเป้าหมายจะคลิกเข้ามาที่โฆษณาที่ปรากฏอยู่ข้างๆ ผลเสิร์จมีสูงมาก  ที่สำคัญหากลูกค้าไม่คลิกโฆษณาเอสเอ็มอีเจ้าของโฆษณาไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณา เพราะเงินค่าโฆษณาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดการคลิกเข้ามาดูเท่านั้น

“ผู้ลงโฆษณาสามารถเลือก “คำหลัก” หรือ Key Word เองได้ว่าอยากให้โฆษณาของตนไปปรากฏอยู่ข้างๆ ผลเสิร์จของคำว่าอะไร ส่วนมาก Key Word จะเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของผู้ลงโฆษณา ซึ่ง Google มีบริการเครื่องมือช่วยให้ผู้ลงโฆษณาสร้าง Key Word ได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง เพียงเข้ามาที่ GoogleAdwords (adwords.google.com) ข้อความโฆษณาจะไปปรากฏยังหน้าผลเสิร์จที่ลูกค้าเป้าหมายของคุณกำลังค้นหาอยู่ ดังนั้นโอกาสในการปิดการขายย่อมมีมากขึ้น”

นอกจาก Search Ad แล้วบริการโฆษราออนไลน์ของ GoogleAdwords (adwords.google.com) ยังรวมไปถึงโฆษณาที่ไปปรากฏอยู่ในหน้าเว็บของพันธมิตรของ Google ในรูปของ Display Ad ได้อีก ซึ่งหลักการในการปรากฏข้อความโฆษณาในหน้าเว็บพันธมิตรจะใช้ “คำหลัก” หรือ Key Word เช่นกัน คือ โฆษณาจะไปปรากฏยังหน้าเว็บที่มีข้อความที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับ “คำหลัก” หรือ Key Word ที่อยู่ในข้อความโฆษณานั้นอยู่

ผู้ลงโฆษณาสามารถเข้ามาเลือกใช้บริการตามประเภทที่ตนเองต้องการได้ โดยราคาค่าใช้บริการจะเหมือนกันนั่นคือจะเสียจ่ายโฆษณาให้กับ Google ต่อเมื่อเกิดการคลิกเข้าไปดูโฆษณาเท่านั้น หากไม่เกิดการคลิกผู้ลงโฆษณาไม่ต้องจ่ายเงินแต่จะได้การมองเห็น (Visibility/ Eyes Ball) ไปฟรีๆ ปัจจุบัน Google มีเว็บของพันธมิตรของ GoogleAdword ในประเทศไทยประมาณ 30,000 เว็บ

“ด้วยประสิทธิภาพของการเข้าถึงคนจำนวนมากที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนใช้บริการเสิร์จเอ็นจิ้นสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงให้ และด้วยเงื่อนไขการชำระค่าโฆษณาแบบนี้ GoogleAdwords จึงเป็นการลงทุนการทำโฆษณาที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์มากๆ สำหรับเอสเอ็มอี เพราะคุณจะไม่ต้องมีต้นทุนค่าโฆษณาเลยจนกว่าจะมีการคลิกโฆษณา ซึ่งรูปแบบของโฆษณาในปัจจุบันรองรับเฉพาะข้อความ แต่ในอนาคตนี้ทางเราจะเพิ่มรูปแบบให้สามารถรองรับโฆษณาในรูปแบบอื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ Clip VDO, Flash, และ Banner เป็นต้น”

พรทิพย์กล่าวเสริมว่า บริการโฆษณาออนไลน์ของ Google นั้น สามรถรองรองการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาได้ด้วยตนเองง่าย อาทิ กลุ่มเป้าหมายภาษาไทย แต่เป็นเว็บในอเมริกาเท่านั้นที่เห็นโฆษณา ที่ผ่านมามีตัวอย่างบริษัทเอสเอ็มอีที่ใช้บริการลักษณะนี้แล้วประสบความสำเร็จ นั่นคือ บริษัท Siam Health Group ผู้ผลิตและจำหน่าย Smooth E ที่เริ่มมาใช้บริการโฆษณาออนไลน์ของ Google เพื่อทำตลาดภายในประเทศ จากนั้นก็ขยายไปทำตลาดคนไทยในอเมริกา ทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยที่ไม่ต้องมีหน้าร้านที่อเมริกา

“บริการ GoogleAdwords ของเราสามารถช่วยลูกค้าคำนวณ ROI (Return on Investment) ให้กับลูกค้าได้อย่างละเอียดด้วย ว่ารายการการซื้อสินค้ามาจากโฆษณาชิ้นไหน ที่ไปปรากฏอยู่ที่เว็บไหน หรือไปปรากฏอยู่ที่คำค้นไหน และมีการคลิกเข้ามาจำนวนเท่าใด”

นอกจาก GoogleAdwords แล้ว Google ยังมีบริการเสริมอีกมากมายไว้คอยให้ความช่วยเอสเอ็มอีในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์บนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Google Analytic, Display Ad Builder และ Conversion Tracking เป็นต้น ซึ่ง Google Analytic เป็นตัวช่วยวิเคราะห์ปริมาณของคนที่เข้ามาดูโฆษณาว่าเป็นใคร เข้ามาดูอะไร หรือสนใจอะไร เป็นต้น ส่วน Display Ad Builder คือ เครื่องมือที่ช่วยผู้ลงโฆษณาคิดคำและสร้างโฆษณาบนสื่อออนไลน์ และ Conversion Tracking คือ ระบบซอฟต์แวร์ที่ติดตามและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการคลิกโฆษณาและการเกิดการขาย และช่วยคำนวณ ROI ให้กับผู้ลงโฆษณา

นับว่าโฆษณาออนไลน์เป็นช่องทางการเผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันที่ทรงประสิทธิภาพแต่ใช้เม็ดเงินน้อยกว่า และนี่คือโอกาสของเอสเอ็มอีที่สามารถใช้สื่อนี้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ด้วยต้นทุนที่ดีกว่า แต่ที่สำคัญการที่จะทำโฆษณาออนไลน์ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดนั้น ก่อนอื่นเลยเอสเอ็มอีควรจะต้องมีหน้าบ้านหรือเว็บไซต์ของตนเองเสียก่อน ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนของเอสเอ็มอีที่มีเว็บไซต์มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์นั้น…

View :3132

จับตา “ตลาดสมาร์ทโฟน” แข่งดุและเดือด

August 1st, 2010 No comments

การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือระหว่างแพลตฟอร์มไอโฟน (iPhone) ซึ่งก็คือ iOS และแอนด์ดรอยด์ (Android) จนฝุ่นตลบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หากมองให้ดีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้นผลประโยชน์น่าจะตกอยู่กับผู้ใช้งาน แต่หากเครื่องโทรศัพท์สมาร์โฟน (Smart Phone) ดีโดยลำพังก็คงไม่สามารถส่งให้กระแสสมาร์ทโฟนแรงได้ขนาดนี้ แต่เพราะรูปแบบการทำธุรกิจของสมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนจากการ “สินค้า” (Product) มาสู่การขาย “บริการ” (Service) ต่างหากคือ จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่ทำให้การตอบรับสมาร์ทโฟนถึงได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเยี่ยงนี้

เริ่มจากการปฏิวัติรูปแบบการขายเครื่องโทรศัพท์ของสตีฟ จ๊อบ ที่เปลี่ยนจากการขายสินค้าคือเครื่องโทรศัพท์มาเป็นการขายบริการคือแอพพลิเคชั่นจำนวนมหาศาลที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานในทุกรูปแบบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ แม่บ้าน นักบริหาร เป็นต้นคุณก็จะเจอแอพพลิเคชั่นที่ตรงกับความต้องการของคุณอย่างแน่นอน เพราะในตลาดแอพพลิเคชั่น (iTune) ได้เตรียมแอพพลิเคชั่นไว้รอการใช้งานมากถึงกว่า 200,000 รายการ ซึ่งจำนวนแอพพลิเคชั่นก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การใส่นวัตกรรมบริการ (Service Innovation) เข้ามาในสินค้าของแอปเปิลเป็นตัวกระตุ้นให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็เดินตาม เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการทำธุรกิจของสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์มแอนด์ดรอยด์ (Android) ที่ทีตลาดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “มาร์เก็ต” (Market) นั้นละหม้ายคล้ายคลึงกับตลาดแอพพลิเคชั่นของ iPhone ที่ชื่อว่า (iTune) สิ่งที่ต้องแข่งขันกันนอกจากจะพยายามพัฒนาเครื่องโทรศัพท์ของตนให้มีฟีเจอร์และฟังก์ชั่นล้ำกว่าแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองค่ายคงจะต้องแข่งขันกันสร้าง “บริการ” หรือแอพพลิเคชั่นให้มากพอและตรงใจพอกับความต้องการของปริมาณลูกค้าที่ครอบครองเครื่องสมาร์ทโฟนนั่นเอง และนี่คือ โอกาสการตลาดของเหล่านักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ….

หมอจิม แห่ง “จิมมี่ ซอฟต์แวร์” (Jimmy Software) บริษัทนักพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์พกพาสัญชาติไทย ให้มุมมองไว้ว่า ปรากฏการณ์การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนเป็นโอกาสแนๆ สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพราะช่วงนี้คือช่วงขาขึ้นของตลาดสมาร์ทโฟน ไม่เพียงแค่แพลตฟอร์มของ Android และ iPhone เท่านั้น แต่ยังมีอีกแพลตฟอร์มที่น่าจับตาอย่างยิ่งนั่นคือ Windows Phone 7 ที่คาดว่าน่าจะออกมาสร้างกระแสในตลาดราวปลายปี 2553 นี้

iPhone คือ “เจ้าตลาด”
Android คือ “ผู้ท้าชิง”

คุณหมอจิมวิเคราะห์ให้ฟังว่า จุดดีของ iPhone คือ เป็นตลาดเปิด ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของแอพพลิเคชั่นมักจะได้รับการอนุมัติให้ขายได้ โดยระยะเวลาในการอนุมัติเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นโอกาสเปิดสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยอย่างมาก แต่จุดเสีย คือ iPhone เป็นแพลตฟอร์มที่มีแอพพลิเคชั่นเยอะมาก คู่แข่งขันในตลาดค่อนข้างมากทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจะต้องเบียดแทรกเข้าไปในอยู่ท่ามกลาง 200,000 กว่าแอพพลิเคชั่น

ในขณะที่ Android เน้นการตลาดคนละรูปแบบ คือ ตลาดสำหรับแอพพลิเคชั่นค่อนข้างปิดอย่างน้อยที่สุดในประเทศไทย เราไม่สามารถสมัครเอาแอพพลิเคชั่นไปฝากขายใน “Market” ได้ เพราะแอพพลิเคชั่นใน “Market” เน้น Free App มากกว่า ซึ่งเป็นการยากมากกว่าที่แอพพลิเคชั่นของไทยจะได้ค่าโฆษณา เพราะต้องมี Content ที่คนสนใจ ปัจจุบันแอพพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ของ “Market” ยังเป็นฟรีแอพพลิเคชั่น ซึ่งรายได้สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากโมเดลนี้จะมาจากค่าโฆษณาที่ขึ้นอยู่ในตัวแอพพลคิชั่น ในขณะที่แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ของ iPhone คือแอพพลิเคชั่นเสียเงินดังนั้นรายได้จะมาจากการขายแอพพลิเคชั่นโดยตรง ซึ่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์จะได้รายได้ 70 เปอร์เซ็นต์

“ณ ตอนนี้ จำนวนเครื่องโทรศัพท์บนแพลตฟอร์ม iOS ยังสูงกว่า Android แต่อัตราการขยายตัวของ Android สูงกว่า iOS ซึ่งคาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า (หรืออาจจะเร็วกว่านั้น) จำนวนเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็น Android น่าจะแซง iOS แต่ทั้งนี้กระแสของ Apple ยังคงเร็วและแรงเพราะหากพูดถึงแพลตฟอร์ม iOS ต้องนับรวมทั้ง iPhone, iPod Touch และ iPad ทำให้ขนาดตลาดของ iOS จะค่อนข้างใหญ่ เจ้าของคอนเทนต์เจ้าใหญ่กระโดดลงมาเล่นมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นบน iOS เอง ทำให้ให้ตลาดนี้ยิ่งเติบโตและน่าสนใจ และคาดกันว่าจะเข้ามาเบียดตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค คือคาดว่าตลาดสมาร์ทโฟนจะเข้ามาเบียดตลาดพีซีอย่างแน่นอนในอนาคต แต่ตรงนี้คือน่านน้ำใหม่ที่สดใสกว่าของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เพราะเดิมพัฒนาซอฟต์แวร์บนพีซี ก็ถูกจำกัดแต่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่พอเป็นสมาร์ทโฟน อาทิ iOS พัฒนาเสร็จส่งเข้าไปที่ iTune ซึ่งตลาดใหญ่กว่า เพราไปทั่วโลก รอแค่ 2 อาทิตย์ก็ขายได้แล้ว ความง่ายของตลาดเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนา แต่ในขณะเดียกวันความง่ายของการเข้าถึงตลาดก็เป็นการนำพาคู่แข่งมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน”

Windows Phone 7 คือ “ตัวแปร”

สำหรับ Windows Phone 7 นั้น หมอจิม บอกว่า มีโอกาสสูงที่จุด Peak ของ Windows Phone 7 น่าจะอยู่ราวเดือนธันวาคม 2553 นี้ ที่จะได้เห็นการสู้กันระหว่าง Windows Phone 7 กับ iOS ซึ่งไมโครซอฟท์ใช้กลยุทธ์ด้วยการทุ่มทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Windows Live และxBox ซึ่งเป็นโปรดักส์ที่ประสบความสำเร็จมาสู้กับ iPhone ทำให้โอกาสที่ Windows Phone 7 จะมีสูง เพราะราว 60 เปอร์เซ็นต์ของตลาด iPhone อยู่ที่เกม ฉะนั้นการที่ไมโครซอฟท์เอา xBox มาอยู่ใน Windows Phone 7 เพื่อต่อกรกับ iPhone นั้นก็ค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ

“ตลาดสมาร์ทโฟนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นสนามการต่อสู้ของ 3 แพลตฟอร์มนี้ คือ Windows Phone 7, iOS และ Android  ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคใหม่ของสมาร์ทโฟน ตอนนี้มันเหมือนช่วงตลาดพีซีช่วงที่เปลี่ยนจาก DOS มาเป็น Windows ฉะนั้นเวลาพูดถึงตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมันจะยังเบลอๆ เพราะมีการอ้างตัวเลขจากเจ้าตลาดเดิม คือ โนเกีย แต่หากจะนับเฉพาะตลาดสมาร์ทโฟนตามรูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีตลาดแอพพลิเคชั่นรองรับการใช้งานแล้ว ปัจจุบันสัดส่วนตลาดหลักของสมาร์ทโฟนในตลาดอเมริกา คือราว 45 เปอร์เซ็นต์ ยังเป็นของ iOS ในขณะที่ราว 15-20 เปอร์เซ็นต์เป็นของ Android ในขณะที่สัดส่วนของ Windows Phone 7 ยังไม่มี ซึ่งตลาดรวมสมาร์ทโฟนทั้ง 3 แลพตฟอร์มจะเติบโตขึ้นเบียดส่วนแบ่งตลาดบนของโนเกีย ส่วน BlackBerry นั้นน่าจะเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) จะไม่ได้มาแข่งกับ 3 แพลตฟอร์มนี้”

แต่ส่วนแบ่งการตลาดโลก ณ ปัจจุบัน โนเกียยังเป็นเจ้าตลาดอยู่ รองลงมาคือ iOS ตามด้วย BlackBerry และ Android ซึ่ง Android น่าจับตามมากเพราะอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็ว เนื่องจากมีผู้ผลิตเครื่องหลายราย

สำหรับ Windows Mobile 6.5 นั้น ปัจจุบันยังมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม Windows Mobile 6.5 ซึ่งจะเป็นคนละตลาดกับ Windows Phone 7 ตลาดในส่วนนี้จะ “Flat Growth” เรียกว่า “ไม่ตายแต่ไม่โต” เพราะจะถูกจำกัดการใช้งานกับแอพพลิเคชั่นเฉพาะเชิงธุรกิจเท่านั้น เท่ากับว่า สำหรับค่ายไมโครซอฟท์จะมี 2 แพลคฟอร์มของสมาร์ทโฟน คือ  Windows Mobile 6.5 กับ Windows Phone 7 ซึ่งในงาน NIX ไมโครซอฟท์กล่าวว่าจะยังคงรักษาสถานะของทั้ง 2 OS นี้เอาไว้

สำหรับเจ้าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโลกอย่างโนเกียนั้น นับว่ากำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะตลาดสมาร์ทโฟนในอดีตกับปัจจุบันกำลังเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจอย่างสิ้นเชิง หรืออาจกล่าวได้ว่า ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังเลื่อนเข้าสู่ตลาดคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดมหึมาหากเทียบกับตลาดสมาร์ทโฟนในอดีตที่ฐานลูกค้าใหญ่คือภาคธุรกิจ ซึ่งตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้เป็นเพราะตลาดสมาร์ทโฟนได้สร้างให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) นั่นคือ การเกิดขึ้นของตลาดแอพพลิเคชั่น (App Store/ App Market) ขนาดใหญ่ ซึ่งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) ของตลาดสมาร์ทโฟนสำหรับคอนซูเมอร์นั้นมีขนาดมหึมามากกว่าระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Ecosystem) ของตลาดสมาร์ทโฟนสำหรับธุรกิจ

Developers “ตัวแปร” ชัยชนะในสนามสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ดี การจะประสบความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟนได้นั้น ผู้ผลิตจะต้องดึงดูดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มาพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อนตลาดแอพพลิเคชั่นให้ตนเอง ซึ่งหากประเมินขุมกำลังกันแล้วนับว่า iPhone ยังคงเป็นต่อ Android และ Windows Phone 7 อยู่ เพราะ iPhone เน้นที่แอพพลิเคชั่นที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเงิน (Paid Apps) ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์อยากจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อน iPhone มากกว่า แต่ Android เพิ่งเริ่มและแอพพลิเคชั่นส่วนมากยังเป็นของฟรี (Free Apps) ในขณะที่ Windows Phone 7 มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เคยพัฒนาแอพพลิเคชั่นป้อน xBox อยู่ในมือแล้วจำนวนมากทำให้ค่อนข้างจะได้เปรียบในเรื่องนี้

“โนเกียพยายามเอา Symbian มาทำเป็นโอพ่นซอร์สหวังว่าจะได้รับความนิยมเหมือนกับ Android และโนเกียยังจับมือกับอินเทลออก MeeGo (Mobile Linux Platform) และปลายปีจะออก MeeGo มาสู้กับ iPad ก็นับว่าเดินมาในทางเดียวกัน คือ มีตลาดแอพพลิเคชั่น แต่ต้องอย่าลืมว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์เองก็มีอยู่จำกัด ซึ่งแพลตฟอร์มไหนสามารถให้โอกาสและผลตอบแทนที่เร็วกว่าเขาก็จะไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับแพลตฟอร์มนั้น ซึ่งในปัจจุบันก็คือ iOS กับ Android”

สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เองนั้นแม้ว่าตลาดในปัจจุบันจะค่อนข้างเปิด แต่ทว่าการที่ตลาดเปิดตลาดง่ายก็นำมาซึ่งคู่แข่งจำนวนมหาศาล ตัวอย่างเช่น iOS ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นบน iTune มากกว่า 200,000 ชิ้น และในแต่ละวันมีแอพพลิเคชั่นใหม่เข้ามาขายบน iTune ราว 400 แอพพลิเคชั่นต่อวัน อายุเฉลี่ยของแอพพลิเคชั่น (App Lifecycle) บน iTune อยู่ที่ราว 1 เดือน หมายความว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ดีแม้ว่าโมเดลตลาดแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ทว่าโมเดลตลาดแอพพลิเคชั่นก็เป็นโมเดลที่เปิดโอกาสความสำเร็จให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ค่อนข้างมาก เพราะว่าหากแอพพลิเคชั่นไหน “เข้าตา” หรือ “โดนใจ” ผู้ใช้งานแล้วสามารถสร้างจำนวนการดาวน์โหลดได้มหาศาลก็จะสามารถสร้างได้รายได้ให้กับนักพัฒนารายนั้นได้อย่างมากเช่นเดียวกัน

“ข้อดีของรูปแบบธุรกิจนี้ คือ เหมือนตลาดหนังตลาดเพลง ที่หากผลงานชิ้นไหนโดนหรือฮิต โอกาสสร้างรายได้มหาศาลก็มี ซึ่งความยากเชิงเทคโนโลยีนั้นไม่ยาก แต่ยากตรงเรื่องความเข้าใจในความต้องการของลูกค้าซึ่งอยู่ในคนละวัฒนธรรมกับเรา ตลาดใหญ่ของการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของ iTune นั้นอยู่ในตลาดอเมริกา ที่ตกเฉลี่ยแล้วจะมีการดาวน์โหลด 15,000-20,000 ดาวน์โหลดต่อวัน ในขณะที่ปริมาณการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสูงสุดในไทย คือ 40 ดาวน์โหลดต่อวัน ขนาดตลาดแตกต่างกันมาก”

“ฉะนั้น การออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นจะต้องทำเป็นสากล ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่โดนใจตลาดไม่จำเป็นต้องเป็นต้องเป็นแอพพลิเคชั่นขนาดใหญ่ แต่ต้องถูกใจตลาด เพราะตลาดนี้เป็นตลาดคอนซูเมอร์ล้วนๆ ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นรวมเสียงตด ที่ชื่อ iFarp มียอดดาวน์โหลดวันละ 15,000 ดาวน์โหลดต่อวัน” หมอจิมกล่วาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

View :4014