Archive

Archive for December, 2011

ธอมัสไอเดียชี้แนวโน้มดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งและอีคอมเมิร์ซปีหน้าระอุ แนะใช้กลยุทธ์ชิงพื้นที่ดิจิตอลแพลตฟอร์มครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภค

December 21st, 2011 No comments

ธอมัสไอเดีย อินเตอร์แอคทีฟเอเยนซี่ชั้นนำของไทย ชี้แนวโน้มดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งของไทยปีหน้าเร่งเครื่องเต็มอัตราศึก หลังพิสูจน์ด้วยจำนวนผู้บริโภคที่แอคทีฟบนโลกออนไลน์ของไทยที่โตก้าวกระโดด ความนิยมในโซเชียลเน็ตเวิร์ค รวมทั้งพฤติกรรมการหาข้อมูลและเสพข่าวสารผ่านสื่อดิจิตอลมากขึ้น แม้ในยามวิกฤตยิ่งพบว่าสื่อออนไลน์เป็นช่องทางที่ทรงพลังมากที่สุด แนะผู้ประกอบการและองค์กรต้องระดมใช้กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งให้ครบทุกแพลตฟอร์ม คาดส่วนแบ่ง

งบการตลาดปีหน้าพุ่ง 5-15% ในขณะที่มูลค่าสื่อโฆษณาออนไลน์มีสัดส่วน 2-5% ของมูลค่าสื่อโดยรวม เหตุจากจำนวนผู้บริโภคและปัจจัยสนับสนุนรวมทั้งเทคโนโลยีพร้อมรองรับการใช้งานมากขึ้น

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด


อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด เผยว่าสาเหตุที่ปีหน้า 2012 จะเป็นปีที่การแข่งขันของกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งดุเดือดมากขึ้นว่า “เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเข้าใจ และวงการสื่อเองเริ่มมีความพร้อมในการเปิดบริการใหม่ๆ รองรับสื่อออนไลน์สูงขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็พร้อมและมีพฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้ชีวิตออนไลน์ ทำให้นักการตลาดกล้าตัดสินใจใช้และวางแผนอย่างจริงจังมากขึ้นในปีหน้า หลังจากใช้เวลาปรับตัวและศึกษามานานกว่า 2 ปีแล้ว”

สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ง่าย และตอบคำถามของนักการตลาดได้ดีที่สุด คือ ตัวเลขของสมาชิกบนโซเชียลมีเดียทั้งหลาย อาทิ ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์คที่คงอันดับ 1 ยังเป็นเฟซบุ๊คอยู่เช่นเดิม ด้วยจำนวนสมาชิกคนไทยบนเฟซบุ๊คที่มี

กว่า 13.3 ล้านคน แบ่งประเภทของผู้ใช้ตามวัย พบว่าช่วงอายุ 18-24 ปี 34% และ 25-34 ปี 29% ส่วนบนทวิตเตอร์มีสมาชิกกว่า 8.5 แสนคน และยูทูบมีผู้เข้าใช้งานต่อวันมากกว่า 5 ล้าน ยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมพบว่าคนส่วนใหญ่หันมาใช้สื่อออนไลน์ในการหาข้อมูลและติดต่อกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

“นอกจากจำนวนพื้นที่ในสื่อออนไลน์ต่างๆ จะถูกจับจอง นักการตลาดก็หันมาใช้กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งในแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คกับบทบาทของ Call Center แคมเปญออนไลน์ต่างๆ การสื่อสารและกิจกรรมโปรโมชั่นบนโลกเสมือนที่ไม่แตกต่างจากโรดโชว์ ทำให้ลูกค้าหรือเป้าหมายรับรู้เรื่องแบรนด์และคุ้นเคยจนนำไปสู่การซื้อขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซที่สมบูรณ์แบบ สร้างรายได้มหาศาลในเวลาไม่นาน นี่คือ พลังของดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในบ้านเรา ทำให้ปี 2012 จะเป็นปีที่นักการตลาดขับเคี่ยวกันบนโลกออนไลน์เข้มข้นกว่าเดิม ด้วยงบประมาณ กลยุทธ์และแผนการตลาดที่สร้างสรรค์อย่างจริงจัง” อุไรพรกล่าว

เพื่อเป็นการแนะนำให้นักการตลาดพร้อมรับศึกการตลาดออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลในปีใหม่นี้ อุไรพร ในฐานะดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งกูรูที่คลุกคลีวงการออนไลน์มากกว่า 10 ปี ได้รวบรวมข้อมูลมาสรุปเป็นดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเทรนด์ของปี 2012 ดังนี้

1) ไล่ให้เจอกลยุทธ์ออนไลน์ที่ “ใช่”

DIGITAL MARKETING STRATEGY – Corporate Wants to Get It Right

กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง – องค์กรต้องคัดสรรกลยุทธ์ที่เหมาะกับตน และทำอย่างไรให้ได้ผลเลิศ

องค์กรเริ่มมีความเข้าใจในการตลาดออนไลน์และโซเชียลมีเดียจากการใช้งานจริงแล้ว แต่นักการตลาดต้องมองหาสูตรสำเร็จที่เหมาะกับสินค้าและบริการของตน อาทิ นโยบายที่กำหนดรูปแบบการสนทนาในเฟซบุ๊ค การสร้างแคมเปญออนไลน์ และข้อปฏิบัติเมื่อเกิดวิกฤตหรือมีข้อความเชิงลบ (Negative Message) เกิดขึ้นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น จนถึงการเชื่อมดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งบนแพลตฟอร์มให้ทำงานได้ครบวงจร เช่น Search, Social Media, e-Mail Marketing, Mobile Marketing ฯลฯ ดังนั้น การกำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์การตลาดออนไลน์นี้ ต้องขยายผลไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้ลูกค้ากลับมาหาอย่างต่อเนื่อง (Repeat Visit) ในเฟซบุ๊ค หรือเว็บไซต์ แล้วพัฒนาความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับลูกค้าสู่การทำการตลาดและการซื้อสินค้าได้จริง

2) ใช้อินติเกรตดิจิตอลแพลตฟอร์มสร้างเครื่องมือทรงพลัง

DIGITAL PLATFORM INTEGRATION – Social Everywhere

การใช้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งให้สอดประสานในทุกช่องทางออนไลน์ เชื่อมโซเชียลในทุกพื้นที่สื่อออนไลน์

หลังจากที่องค์กรใช้และติดตามการทำงานของช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย เพื่อการสื่อสารและการทำธุรกิจในทุกช่องทาง หากมีการนำมาอินติเกรตกันได้เป็นอย่างดีแล้ว จะทำให้การทำงานของออนไลน์แพลตฟอร์มทั้งหมดเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายที่ทรงพลังทางการตลาดได้อย่างคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยงระหว่างเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ แคมเปญออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และ e-CRM เป็นต้น เพราะเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟในแต่ละแพลตฟอร์มเป็นเสมือนตัวช่วยให้นักการตลาดวิเคราะห์ ทำการตลาดและขยายผลด้วยกลไกอัตโนมัติได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

3) วัดผลความสำเร็จของโซเชียลมีเดียด้วยเป้าหมายธุรกิจที่ตั้งไว้

SOCIAL MEDIA FOR BUSINESS RESULT – More Business Focus, More Measurable

โซเชียลมีเดียเป็นที่ยอมรับ แต่จะดีกว่าไหมถ้าผลลัพธ์เหนือความแรงพิชิตเป้าหมายให้นักการตลาดด้วย

แม้ว่าจำนวนสมาชิกในเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ขององค์กร สะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่สร้างฐานการสื่อสารได้ในระยะแรก แต่ในปีหน้าที่มีการแข่งขันสูง เป้าหมายที่แท้จริงจึงไม่ใช่ปริมาณอีกต่อไป เพราะนักการตลาดจะหันมาเรียกร้องบทสรุปที่วัดผลทางการตลาดเชิงคุณภาพ และการสร้าง Sales Lead มากขึ้น นอกจากนี้ การเปรียบเทียบข้อมูลทางการตลาด (Benchmark) กับคู่แข่งและธุรกิจใกล้เคียง ยังเป็นข้อมูลที่ซับซ้อน แต่ระบบอินเตอร์แอคทีฟของโซเชียลมีเดียก็มีคุณสมบัติที่เอื้อให้ผู้เชี่ยวชาญใช้วิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูล หาผลลัพธ์จากแคมเปญหรือการประชาสัมพันธ์ได้

4) สร้างแรงดึงดูดให้ผูกพันธ์กับแบรนด์ด้วย Branded Content

BRANDED CONTENT – Better Quality Reach with Engaging Conversations

ปรากฏการณ์กระชับวงล้อมรอบตัวผู้บริโภคด้วย Branded Content ผ่านสื่อออนไลน์มีเดียที่หลากหลาย

คุณลักษณะเด่นของสื่ออินเตอร์แอคทีฟ คือ การถ่ายทอด Branded Content ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคผ่านเรื่องราว (Story) ในรูปแบบ Web Video, Webisode, Web Movie หรือ การสร้าง Lifestyle App, e-book, หรือ Game ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น และง่ายยิ่งขึ้นเมื่อเนื้อหานั้นอยู่ในระยะประชิดตัวตลอดเวลาอย่างมือถือ แทบเล็ต แถมผู้บริโภคยังพร้อมให้เวลาส่วนตัวและยินดีที่จะแนะนำต่อให้เครือข่ายด้วยเทคโนโลยีในการถ่ายทอดแสนสะดวก การได้อินเตอร์แอคกับเนื้อหาของแบรนด์ จะสร้างการจดจำและเข้าใจแบรนด์ได้ดี

5) ซื้อง่ายขายคล่องบนโลกอีคอมเมิร์ซ

E/F/M-COMMERCE – Anytime & Anywhere

ราคาโดนใจ ช้อปง่าย ได้ของไว จุดเปลี่ยนร้านค้าเพื่อผู้บริโภค ผ่านเครื่องมืออีคอมเมิร์ซที่แสนสะดวก

E-commerce, F-Commerce, M-commerce เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคที่นิยมการช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งแบรนด์ควรให้ความสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มรองรับความต้องการซื้อของผู้บริโภค หากผู้บริโภคสนใจสินค้าที่กำลังค้นหาออนไลน์ ต้องซื้อได้ทันที เทรนด์นี้เป็นที่น่าสนใจของนักการตลาด เพราะเร่งยอดขายได้และถูกใจผู้บริโภค สินค้าที่อยู่ในลิสต์ยอดนิยม ได้แก่ บันเทิง-เพลง-ภาพยนตร์ หนังสือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแฟชั่น ส่วนช่องทางที่น่าลงทุนสร้างระบบมากที่สุด คือ M-Commerce ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายจากสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต

6) เข้าใจดิจิตอลเทคโนโลยีและเลือกช่องทางเพื่อแจ้งเกิดในใจผู้บริโภค

DEVICE + APP + TECHNOLOGY – Consumer Takes Choices; Corporate Takes Chances

อุปกรณ์สื่อสาร แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยี โอกาสที่ท้าทายของนักการตลาด

ตัวแปรที่ผลักดันให้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งในประเทศไทยมีความสำคัญ คือ อุปกรณ์มือถือ แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคต้องเลือก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต หรือค่ายมือถือและแอพที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย เมื่อมีช่องทางและเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น อย่าลืมว่าในมุมมองของผู้บริโภคการมีตัวเลือกเยอะเป็นสิ่งดี เพราะช่วยเรื่องการแข่งขันด้านกลไกราคาและคุณภาพของสินค้าหรือบริการ แบรนด์อื่นก็เข้ามาชิงพื้นที่ได้ นักการตลาดต้องตัดสินใจในเรื่องเงินลงทุนและช่องทางโฆษณาให้เหมาะสม

7) เร่งยอดขายด้วยโปรโมชั่นออนไลน์ที่สดใหม่ได้ทุกวัน

SHORT-TERM PROMOTION – As Hot as Deal!

แคมเปญออนไลน์กระตุ้นใจนักช้อป ด้วยการลดเฉพาะกิจหรือแจกคูปองออนไลน์ ยิ่งซื้อก็ยิ่งมีโปรโมชั่นตามมาอย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ เวลาซื้อของผู้บริโภคไม่ได้เสิร์ชหาข้อมูลหรือถามความเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองหาแคมเปญลดราคาออนไลน์ที่มีทั้งร้านและสินค้าให้เลือกมากมายที่ปลายนิ้ว เพียงแต่นักการตลาดรายใดที่จะสร้างโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดผู้บริโภคได้เร้าใจกว่า ถูกใจกว่า และมีความถี่อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ของห้าง และโซเชี่ยลมีเดียแบรนด์เพจ ก็จะพิชิตยอดขายได้มากกว่า ตัวอย่างเช่น Flash Deal หรือ Deal of the Day เป็นสิ่งที่ทุก e-Shop ควรสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดให้เกิด Daily Visit จากนักช้อป แม้แต่ e-coupon ที่ยังคงมาแรง ดังนั้น แบรนด์หรือองค์กรต้องพึ่งนักการตลาดที่ตัดสินใจรวดเร็วและมีทักษะบริหารจัดการได้ทั้งระบบปฏิบัติการออนไลน์และออฟไลน์คู่ขนานกัน เพื่อสร้างมาตรฐานของร้านค้าให้เป็นที่จดจำและซื้อซ้ำอีก

“ปัจจุบันข้อจำกัดเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่กล้าทดลองการตลาดออนไลน์ลดน้อยลงมาก แต่ปัจจัยที่สำคัญที่นักการตลาดต้องตัดสินใจให้เฉียบขาดก่อนลุยแผนกลยุทธ์ตลาดออนไลน์ คือ นโยบายและวิสัยทัศน์ต่อ Integrated Digital Platform ที่มีทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แบนเนอร์ แอพพลิเคชั่น โมบาย หรือ แคมเปญออนไลน์ ฯลฯ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด การลงทุนกับดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง การพัฒนาศักยภาพของทีมวางแผนและทีมปฏิบัติการ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับส่วนงานขาย ขนส่ง บริการ ฯลฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” อุไรพรเสริมท้าย

“สำหรับงบประมาณการตลาดที่เกี่ยวข้อง คาดว่าดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งผ่านช่องทางที่หลากหลายกว่าเดิมน่าจะได้รับการพิจารณาจากส่วนแบ่งงบการตลาดสูงถึง 5-15% ในขณะที่มูลค่าสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากจำนวนอุปกรณ์ มือถือ พฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยสนับสนุน เช่น ระบบสัญญาณเครือข่าย แหล่งข้อมูลและปริมาณเนื้อหา รวมทั้งความพร้อมของเจ้าของสื่อที่ลงทุนสร้างช่องทางออนไลน์ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ง่ายขึ้น ในปี 2012 เราน่าจะได้เห็นสัดส่วนสื่อออนไลน์มากกว่า 4-5% ของมูลค่าสื่อโดยรวม” อุไรพรสรุป

สำหรับธอมัสไอเดีย ในปีหน้าจะเน้นการให้บริการดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่ครบวงจรทั้งระบบครอบคลุมทุกดิจิตอลแพลตฟอร์ม อาทิ วางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์พร้อมดำเนินการพัฒนาและบริหารแคมเปญออนไลน์ การวางกลยุทธ์ดิจิตอลมีเดีย การบริหารและวิเคราะห์โซเชียลมีเดียพร้อมต่อยอดเต็มรูปแบบ การสร้างสรรค์ระบบอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ และระบบ CRM ดูแลฐานข้อมูลลูกค้า ต่อเชื่อมกับเว็บไซต์ โมบายล์ และแอพพลิเคชั่น รวมไปถึงการเป็นที่ปรึกษาองค์กรขนาดใหญ่เกี่ยวกับกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง

View :3921