Home > Article, Smartphone > 3G พลิกโฉมการสื่อสารไร้สายของไทย คนกรุงกว่าร้อยละ 89 มีแผนใช้งานในอนาคต

3G พลิกโฉมการสื่อสารไร้สายของไทย คนกรุงกว่าร้อยละ 89 มีแผนใช้งานในอนาคต

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปัจจุบัน การสื่อสารโทรคมนาคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคใหม่ นอกเหนือจากการสื่อสารในรูปแบบเสียงแล้ว การสื่อสารในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการสื่อสารที่เน้นข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งภาพและเสียงหรือที่เรียกกันว่ามัลติมีเดียมากยิ่งขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการในการสื่อสารของยุคนี้ คือ ความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูล ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงในยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 3G (Third Generation)

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนรายหลักได้มีการเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม (HSPA) มาตั้งแต่ปี 2552 โดยจำกัดขอบเขตในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความคุ้นเคยและได้ทดลองใช้งานบริการ 3G มาก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz จะต้องรอการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะจัดตั้งได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2554 และการประมูลน่าจะถูกจัดขึ้นได้ในช่วงกลางปี 2555 เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เริ่มทยอยเปิดตัวให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะพลิกโฉมการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจในหัวข้อพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการการใช้งานบริการ 3G และบริการเสริมด้านข้อมูลต่างๆบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

 ผลสำรวจความต้องการใช้บริการ 3G…คนกรุงมีแผนใช้ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5

การเปิดทดสอบให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมตั้งแต่ปี 2552 นับได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความคุ้นเคยในหมู่ผู้บริโภคในการใช้งานบริการ 3G นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผน และกำหนดยุทธวิธีการทำตลาดในช่วงระยะถัดไปที่จะมีการทยอยเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูล หรือแม้แต่การพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานบริการ 3G ในระยะที่ผ่านมา พบประเด็นต่างๆ ดังนี้

 คนกรุงเทพฯกำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ร้อยละ 36.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งานที่มีแผนจะใช้งานในอนาคตมีถึงร้อยละ 89.5

จากการสอบถามถึงการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 36.6 กำลังใช้งานบริการ 3G อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อย ในช่วงที่การเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์เพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 54.4 ให้ข้อมูลว่ายังไม่เคยใช้งานบริการ 3G มาก่อน โดยมีเหตุผลหลัก คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนไม่รองรับระบบ 3G คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.5 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มที่ให้เหตุผลดังกล่าวมีแผนที่จะใช้งานบริการ 3G ในอนาคตสูงถึงร้อยละ 85.2 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าวจะเปลี่ยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่ยังไม่เคยใช้งานบริการ 3G อีกว่า พื้นที่ให้บริการ 3G ยังไม่ครอบคลุม คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.3 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก การเปิดให้บริการ 3G ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังคงเป็นลักษณะการทดสอบให้บริการ ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักมีแผนที่จะเปิดให้บริการ 3G ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ภายในสิ้นปี 2554 นี้ และจะครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 3 ปี ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ให้บริการ 3G มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังไม่เคยใช้บริการ 3G มีแผนที่จะใช้บริการในอนาคตสูงถึงร้อยละ 89.5 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้บริการในปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G รวมไปถึงผู้ให้บริการเสริมด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

 ร้อยละ 80 ของผู้ใช้งานบริการ 3G ในปัจจุบัน ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ปัจจุบัน การเชื่อมต่อเพื่อใช้งานบริการ 3G สามารถกระทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้หลากหลาย ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เน็ตบุ๊ค แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คผ่านแอร์การ์ด 3G จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯราวร้อยละ 80 ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีสัดส่วนการใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 84.8 ของผู้ใช้บริการ 3G ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในการถือครองสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่มีสมรรถนะสูง และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับการพัฒนาบริการเสริมทางด้านข้อมูลใหม่ๆในอนาคตมากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทแท็บเล็ต ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานบริการ 3G ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวถึงร้อยละ 13.0 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจาก ฟังก์ชั่นการทำงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมาร์ทโฟน แต่ด้วยความเร็วในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่า ขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ และสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาสำหรับสมาร์ทโฟนได้ ประกอบกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอซีทีในไทยเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจใช้งานแท็บเล็ตในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

 ผลสำรวจบริการด้านข้อมูล…คนกรุงต้องการช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่ที่เน้นมัลติมีเดีย

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้งานบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 บริการด้านข้อมูลมีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 24.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล ในขณะที่ปี 2554 บริการด้านข้อมูลมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงสนับสนุนจากการทยอยเปิดตัวการให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ประกอบกับการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยม ซึ่งจะมีส่วนผลักดันการใช้งานบริการด้านข้อมูลให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น โดยในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.8 ของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯต่อบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 71.6) รองลงมาคือ ชมทีวีออนไลน์ (ร้อยละ 64.7) บริโภคข่าวสาร (ร้อยละ 59.3) และฟังเพลงออนไลน์ (ร้อยละ 54.7) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการใช้งานเครือข่าย 3G เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ในการส่งผ่านข้อมูลปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง ทั้งนี้ เพื่อการอัพเดทข้อมูลกิจกรรมที่ตนทำอยู่ให้แก่เครือข่ายเพื่อนฝูง หรือเพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว รวมไปถึงการบริโภคข่าวสารในรูปแบบมัลติมีเดีย ซึ่งบริการกลุ่มนี้ค่อนข้างเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่บริการที่ค่อนข้างมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ธนาคารบนมือถือ การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะมีผู้สนใจในสัดส่วนที่น้อยกว่า

เมื่อพิจารณาความต้องการใช้งานบริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G แยกตามช่วงอายุ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี มีความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลบนระบบ 3G ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ และบริการเพื่อความบันเทิงต่างๆ ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มีความสนใจบริการด้านข่าวสารเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น แต่ก็มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56.1

สำหรับกลุ่มที่มีอายุอยู่ในช่วง 30 ถึง 44 ปี ให้ความสนใจกับบริการด้านข้อมูลทุกประเภท และมีสัดส่วนปานกลางเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น ยกเว้น บริการที่เกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจสูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น สำหรับกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 44 ปี ให้ความสนใจใช้บริการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร และธนาคารบนมือถือในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น และไม่ค่อยให้ความสนใจในการจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการมากนัก

 ผลสำรวจบริการด้านความบันเทิงออนไลน์…คนกรุงต้องการบริการที่มีคอนเทนต์หลากหลาย

ปัจจุบัน การบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่นั้น มักจะเป็นไปเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ ไม่ว่าจะเป็นการชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม โดยบริการเหล่านี้รวมเรียกว่า โมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (Mobile Entertainment) สำหรับประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมา บริการดังกล่าวมักมีข้อจำกัดจากความเร็วของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งอยู่ระหว่าง 80 ถึง 200 กิโลบิตต่อวินาที ทำให้คุณภาพการให้บริการไม่ค่อยเป็นที่พอใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดให้บริการ 3G ในช่วงครึ่งหลังของปี ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ให้มีทั้งคุณภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อน จึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคต่อลักษณะเนื้อหาและการชำระเงินในการใช้บริการความบันเทิงแบบออนไลน์บนระบบ 3G โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 ผู้บริโภคสนใจชมภาพยนตร์มากที่สุด และอยากจะจ่ายรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการไม่อั้น

บริการทีวีออนไลน์เป็นบริการลักษณะมัลติมีเดียซึ่งมีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการให้บริการดังกล่าว คือ ขนาดของข้อมูลมักจะใหญ่ ทำให้ความเร็วของโครงข่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดถึงคุณภาพของการให้บริการ โดยความเร็วขั้นต่ำที่พอจะเปิดให้บริการแบบออนไลน์ คือ 64 ถึง 80 กิโลบิตต่อวินาที จึงทำให้มีผู้ให้บริการบางรายเปิดให้บริการดังกล่าวบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปจากการที่ต้องรับส่งข้อมูลจำนวนมาก เมื่อเทียบกับอรรถรสของการชมที่ได้รับ ทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมไม่ค่อยสูงนัก ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ 3G จะมีส่วนช่วยผลักดันให้คุณภาพของการให้บริการดีขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรับส่งข้อมูลที่ลดลง ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้บริการดังกล่าวขยายตัวยิ่งขึ้น

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับรายการทีวีออนไลน์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการชม พบว่า มีผู้ต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.6 รองลงมาคือ รายการข่าวและมิวสิกวีดีโอ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราวร้อยละ 52 และเมื่อสอบถามถึงรูปแบบการชำระค่าชมรายการที่ต้องการจะเลือกชำระ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราวร้อยละ 50 เลือกที่จะชำระแบบรายเดือนเพื่อชมหนึ่งช่องรายการแบบไม่อั้น ในขณะที่การจ่ายรายเดือนเพื่อชมหลายช่องรายการตามที่กำหนดไว้แบบไม่อั้น ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่านั้น กลับมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดคือร้อยละ 22.2 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยากจะเลือกชมทีวีเฉพาะประเภทรายการที่ตนโปรดปรานจริงๆ และพร้อมที่จะจ่ายเฉพาะช่องรายการที่ชอบ เพื่อสามารถรับชมได้แบบไม่จำกัดในรอบเดือนนั้น

 ผู้บริโภคราวร้อยละ 30.5 ชอบเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้และซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบ

ธุรกิจเพลงดิจิทัลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของไทยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สืบเนื่องจาก ความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สายยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ทำให้ธุรกิจเพลงดังกล่าวถูกจำกัดอยู่แต่เพลงที่ได้รับการตัดต่อความยาวประมาณ 30 ถึง 60 วินาที เพื่อนำมาใช้เป็นเพลงในบริการเสียงรอสาย หรือติดตั้งเป็นเพลงเสียงเรียกเข้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถ้าเป็นเพลงฉบับเต็มก็จำเป็นต้องดาวน์โหลดมาไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนก่อนแล้วฟังแบบออฟไลน์ สำหรับธุรกิจบริการฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกฟังเพลงและเก็บเพลงไว้บนอินเทอร์เน็ตได้นั้น ยังคงถูกจำกัดอยู่แต่บนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการ 3G จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดบริการดังกล่าวได้

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับลักษณะการชำระค่าบริการฟังเพลงออนไลน์ที่ผู้บริโภคต้องการ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการชำระเป็นรายเพลงและเลือกเพลงจากค่ายใดก็ได้ เป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30.5 สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลงที่มักจะเลือกเฉพาะเพลงที่ชอบจริงๆ จากความหลากหลายที่นำเสนอโดยค่ายต่างๆ โดยไม่อยากจะชำระแบบรายเดือน ซึ่งโดยรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายโดยเปรียบเทียบที่สูงกว่า ถ้าจำนวนเพลงที่ตนชื่นชอบมีไม่มากนัก

 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและราคาของเกมออนไลน์มากกว่าแหล่งพัฒนาเกม

ลักษณะของรูปแบบธุรกิจเกมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การขายเกมโดยให้ผู้บริโภคดาวน์โหลดเกมที่ต้องการมาไว้ที่อุปกรณ์คลื่อนที่ก่อนแล้วเล่นแบบออฟไลน์ ไม่ได้เล่นกันแบบออนไลน์เหมือนเกมออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีขนาดเกมที่ใหญ่และซับซ้อนกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความเร็วของโครงข่ายสื่อสารไร้สาย อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไปเมื่อมีการเปิดให้บริการ 3G

จากการสอบถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเกมออนไลน์บนระบบ 3G พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 58 ต้องการเกมออนไลน์ที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเกม ได้แก่ ต้องเป็นเกมต่างประเทศมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 7.8 และชื่อเสียงบริษัทเกมมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 13.0 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเนื้อหา และราคาเป็นสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาเป็นลำดับรองลงมา

บทสรุป
การเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมของผู้ให้บริการเอกชนรายหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการสื่อสารไร้สายของไทยให้เข้าสู่ยุคการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริการด้านข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดบริการด้านข้อมูลที่เกี่ยวกับความบันเทิงแบบออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯเกี่ยวกับการใช้บริการ 3G ซึ่งผู้ให้บริการเอกชนรายหลักได้เปิดทดสอบการให้บริการมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ในเขตกรุงเทพฯมีผู้ที่กำลังใช้บริการ 3G อยู่ราวร้อยละ 36.6 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการ 3G ในปัจจุบันส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนที่เหลือเป็นการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เน็ตบุ๊ค และแท็บเล็ต ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานเลยมีอยู่ราวร้อยละ 54.4 อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ใช้งาน 3G ในปัจจุบันราวร้อยละ 89.5 มีแผนที่จะใช้งานในอนาคต สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดอันสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโครงข่าย 3G และเครื่องลูกข่าย/ตัวเครื่อง รวมถึงผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์ และนักพัฒนาโมบายล์แอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาบริการเสริมหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยการสื่อสารความเร็วสูง

ความต้องการใช้งานบริการ 3G ของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ประกอบกับกระแสการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนจะมีส่วนผลักดันให้บริการด้านข้อมูลมีการขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 บริการด้านข้อมูลจะมีมูลค่าราว 3.3 ถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0 ถึง 34.6 คิดเป็นสัดส่วนราว 20.8 ของมูลค่ารวมบริการด้านเสียงและข้อมูล

จากผลการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการใช้งานบริการเสริมด้านข้อมูลบนระบบ 3G พบว่า บริการที่มีผู้ต้องการใช้ผ่านระบบ 3G มากที่สุด ได้แก่ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ชมทีวีออนไลน์ บริโภคข่าวสาร และฟังเพลงออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ของผู้บริโภค ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลในปริมาณมาก ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพและเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่อยู่ในลักษณะความบันเทิงแบบออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอการดาวน์โหลดเนื้อหามาเก็บไว้ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ก่อนจึงจะสามารถบริโภคเนื้อหาดังกล่าวได้

ความสนใจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของบริการด้านความบันเทิงแบบออนไลน์ หรือโมบายล์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์บนระบบ 3G ในอนาคต ซึ่งจากแบบสอบถาม พบว่า ผู้ที่ต้องการใช้บริการทีวีออนไลน์ มีความต้องการชมรายการภาพยนตร์มากที่สุด รองลงมาเป็น ข่าว มิวสิกวีดีโอ ละคร เป็นต้น และส่วนใหญ่อยากใช้บริการแบบรายเดือน โดยสามารถชมเฉพาะช่องประเภทรายการที่ตนโปรดปรานได้แบบไม่อั้น ซึ่งแตกต่างจากบริการฟังเพลงออนไลน์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการความหลากหลายของเพลง โดยสามารถเลือกได้จากหลายๆค่าย และต้องการซื้อเฉพาะเพลงที่ตนชอบจริงๆ ในขณะที่บริการเกมออนไลน์นั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเกมที่เล่นง่ายและสนุก ประกอบกับราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก

จากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความบันเทิงรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถสร้างความบันเทิงแบบพกพาได้ทุกที่ทุกเวลา และยังพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการ เพื่อสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตนชื่นชอบได้จากคลังคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่จะเข้ามาพัฒนาบริการด้านความบันเทิงบนช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากช่องทางให้บริการความบันเทิงแบบดั้งเดิมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใช้เวลากับอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น และฐานผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายสื่อสาร (Coverage) ที่มีโอกาสขยายออกไปกว้างขึ้นในอนาคต อาจเป็นทิศทางที่ธุรกิจต่างๆต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาด และโอกาสทางธุรกิจผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น

——————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

View :4593
Categories: Article, Smartphone Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.
You must be logged in to post a comment.