Archive

Posts Tagged ‘ดิจิตอล แมกกาซีน’

Think Technology: นักพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน ท้องถิ่นชื่อดังจากขอนแก่น

September 28th, 2011 No comments

ในวงการคนทำสื่อดิจิตอล แมกกาซีน (Digital Magazine) น้อยคนนักจะไม่รู้จักชื่อ Think Technology บริษัทซอฟต์แวร์แห่งขอนแก่นที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 100,000 บาทกับโปรแกรมเมอร์เพียงคนเดียวคือตัวเจ้าของบริษัทนามว่า “อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Think Technology จำกัด และนักพัฒนา Digital Magazine ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

อภิชัย มองว่า การขยายตัวของตลาดดิจิตอลแมกกาซีนในเมืองไทยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทาง Publisher เองยังต้องการเพียง Static Magazine บน iPad เท่านั้น ปัจจัยที่จะทำให้ Digital Magazine ขยายตัวออกไปได้น่าจะเป็นความเข้าใจว่า Digital Magazine คืออะไร ไม่ใช่เพียง PDF ใน App ที่มีไอคอนของบริษัทตนเอง ถ้า Publisher เข้าใจการขยายตัวก็จะมากขึ้น

“หากมองภาพรวมของตลาดดิจิตอล แมกกาซีนนั้นยังไปได้อีกไกลเพราะผู้บริโภคเริ่มมีอุปกรณ์ในการอ่าน และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถสร้างออกไปได้หลากหลายแพลตฟอร์ม แต่การแข่งขันสูงจาก Static Magazine ที่มีต้นทุนต่ำกว่า ส่วนการปรับตัว Publisher ยังปรับตัวช้า อาจต้องทำให้ Publisher เข้าใจก่อนว่า Digital Magazine เป็นอย่างไร เพราะจากสถานการณ์แบบนี้ น่าจะมี Publisher ลงมาเล่นมากกว่านี้”

สำหรับ ดิจิตอล แมกกาซีนที่บริษัทผลิตอยู่ในปัจจุบันจะเน้นรองรับ 3 แพลตฟอร์ม คือ iOS, Android และ BlackBerry Playbook ทั้งนี้ออกแบบเนือ้หาและรูปแบบการนำเสนอมสำหรับรองรับการอ่านบนจอขนาด 7 นิ้ว และ 9.7 นิ้ว จะได้เห็นชัดเจนคงเป็นแมกกาซีนของบริษัทที่จะปล่อยออกมาพร้อมกัน 3 แพลตฟอร์ม

อภิชัย เล่าว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาและผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้กับหลายองค์กร ได้แก่ Bazaar Magazine ดิจิตอล แมกกาซีนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน Bazaar Magazine ได้หยุดผลิตไปแล้ว) และ LIPS Magazine สำหรับยอดดาวน์โหลดนี้ของดิจิตอล แมกกาซีนแต่ละเล่มนั้นทางเจ้าของนิตยสาร หรือ Publisher จะเป็นผู้ดูแลเอง บริษัททำหน้าที่เพียงเหมือนมือปืนรับจ้างในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีนให้เท่านั้น

โดยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่บริษัทใช้ในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีน หลักๆ ได้แก่ Adobe inDesign, Woodwing Solution และ Xcode ปัจจุบันได้เพิ่ม Adobe Dreamweaver ขึ้นมาเพื่อเขียน HTML5 ที่จะทำ Digital Books บน iOS

อภิชัย เรืองศิริปิยะกุล

สำหรับอนาคตอันใกล้บริษัทมีเป้าหมายว่าจะผลิตแมกกาซีนของตัวเอง 2 ปก และจะเริ่มให้เห็นตัวแมกกาซีนในท้องตลาดในปลายไตรมาสที่สาม ซึ่งการพัฒนาชิ้นงานดิจิตอลแมกกาซีนของบริษัทนั้น อภิชัย กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัท คือ การนำงานกลับมาแบ่งให้กับบริษัทในท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น มาให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการในลักษณะนี้มาโดยตลอด และในปัจจุบันบริษัทยังขยายขอบเขตธุรกิจไปรับผลิต Mobile App สำหรับทั้งแพลตฟอร์ม iOS และ Android โดยมีบริษัทท้องถิ่นเป็น Outsource ให้ ส่วนบริษัทก็ทำการตรอจสอบคุณภาพสินค้าและชิ้นงาน หรือ QC (Quality Control) ให้ลูกค้า

“หากถามว่าเป้าหมายทางธุรกิจของ Think Technology คือ เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะเราไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ต้องตั้งเป้าหมายให้เป็นอันดับหนึ่ง ที่ต้องมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ชัดเจนมากกว่าคนอื่น เรารู้ตัวเราดีว่าเล็ก แต่ที่เราทำก็คือทำให้ดีที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา ที่นอกเหนือจากการทำเงินเข้าบริษัทแล้ว เราต้องการดึงงานจากเมืองหลวงเข้ามาสู่ขอนแก่น เพื่อไม่ให้น้องๆ ต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมทำตลอดเวลา”

อภิชัย กล่าวว่า บริษัทเน้นเรื่องการแบ่งปันงานให้กับนักพัฒนาในท้องถิ่น เพราะบริษัท Think Technology เป็นบริษัทที่เกิดจากโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ทางด้านเทคโนโลยี” (Technopreneur) ของศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Computer and Electronics Center: Nectec) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่1 ในปี 2547 จากนั้นตนจึงกลับมาเปิดบริษัทที่บ้านเกิด และในขณะนั้น ก็ได้มี อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค (E-SAAN Software Park) เกิดขึ้น บริษัทจึงเข้าไปสมัครสมาชิกเพื่อรับข้อมูลข่าวสารและรับการสนับสนุนสถานที่ในการทำงาน

ปัจจุบัน บริษัทได้เข้ามามีส่วนสนับสนุน อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค ในรูปแบบของการดึงงานจากกรุงเทพฯ เข้ามาให้บริษัทท้องถิ่น และเป็นวิทยากรในการอบรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟท์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้อบรมรุ่นที่สอง) และได้ร่วมกันทำงานอีกหลายๆ อาทิ งาน Augmented Reality ของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ในโครงการ Khonkaen Augmented Reality Guide Project เนื่องจากธุรกิจของบริษัทนอกจากการผลิตดิจิตอลแมกกาซีนแล้ว บริษัทยังมีบริการรับพัฒนา Augmented Reality โมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) และแอพพลิชั่นด้านอีคอมเมิร์ซบนมือถือ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค (E-SAAN Software Park) บทบาทของบริษัทคือ จัดทำระบบฐานข้อมูลของของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ด้วยระบบ AR โดยบทบาทของ อีสาน ซอฟท์แวร์พาร์ค คือ การพัฒนาบุคคลากรด้านซอฟท์แวร์ ทำให้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยบริษัทจะคัดเลือกนักพัฒนาที่สนใจช่วยทำโครงการระบบฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสิรินธร ด้วยระบบ AR เข้ามาทำงาน

“ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือทั้ง Android และ iPhone อยู่แล้ว เลยคิดจะจับเจ้า AR มาช่วยเหลือจังหวัด ในการให้ข้อมูลต่างๆ ซึ่งผมเป็นคนขอนแก่น ก็คิดว่าผมเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน เลยจะให้น้องๆ ในทีมจัดทำระบบขึ้น ส่วนงบประมาณ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นของบริษัททั้งหมด ที่ทำไปเพราะอยากใช้ความสามารถของบุคลากรในบริษัทช่วยเหลือจังหวัดบ้านเกิด นอกจากนี้บริษัทยังยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ ให้กับคนในท้องถิ่น โดยทำงานร่วมกับสมาคมซอฟท์แวร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อช่วยกันผลักดันการพัฒนาซอฟต์แวร์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

นับว่า Think Technology เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เป็นกำลังหลักในการผลิตชิ้นงานดิจิตอล แมกกาซีน ที่สามารช่วยกระจายงานพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนให้กับนักพัฒนาในท้องถิ่น เพื่อสร้างนักพัฒนาและสร้างตลาดดิจิตอลแมกกาซีนไปในคราวเดียวกันได้….

View :4445

“Andaman 365” …. ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดน

September 19th, 2011 No comments

พลันที่นิตยสารดิจิตอลน้องใหม่นามว่า Andaman 365 ได้รับการโหวตจาก iMonitor บริษัทสำรวจแอพพลิเคชั่นระดับโลกจัดอันดับให้ Andaman 365 ติดอันดับ Top 10 ของดิจิตอล แมกกาซีน ทำให้สายตาทุกคู่ของนักอ่านชาวไทยจับจ้องไปที่ดิจิตอล แมกกาซีนไทยสร้างชื่อไกลในต่างแดนเล่มนี้ทันที

Andaman 365 คือ ดิจิตอล แมกกาซีนของบริษัท ศิริมีเดีย จำกัด บริษัทน้องใหม่ในวงการสื่อดิจิตอล เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ครบวงจรทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้การให้คำปรึกษาและดูแลการผลิตโดย สุปรีย์ ทองเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ ด็อกเตอร์ จำกัด

สุปรีย์ เล่าว่าจุดเด่นที่ทำให้ Andaman 365 เป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านทั่วโลกนั้นมาจากแนวคิดที่ต้องการให้ Andaman 365 เป็นอินเตอร์แอคทีฟ แมกกาซีน (Interactive Magazine)โดยให้ผู้อ่านให้สามารถปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในหน้าหนึ่งหน้าของ Andaman 365 จะมีเนื้อหาทั้งในรูปของตัวอักษร ภาพเคลื่อนไหว และเสียง นอกจากนี้ในเรื่องเดียวกัน หน้าเดียวกัน หากผู้อ่านหมุนจอจากแนวตั้งเป็นแนวนอน หรือจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง วิธีการนำเสนอเนื้อหาก็จะไม่เหมือนกัน และวิธีการนำเสนอในแต่ละเล่มในแต่ละเดือนจะมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ บวกกับความสามารถด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาตอบสนองจินตนาการในการนำเสนอที่หลากหลายได้อย่างลงตัว

“เราเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเล่นกับเนื้อหาได้มากขึ้น ตัวตนจริงๆ ของดิจิตอล แมกกาซีน คือ แอพพลิเคชั่น Andaman 365 คือ แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการดาวน์โหลดฟรีที่ iTunes เป็นแมกกาซีนที่นำเสนอเนื้อหาด้านท่องเที่ยวในจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามัน เราต้องการนำเสนอว่านักท่องเที่ยวสามารถมาท่องเที่ยวทะเลอันดามันได้ทุกวันตลอดทั้งปี และเราต้องการนำเสนอมุมมองของสถานที่และเรื่องราวของการท่องเที่ยวในจังหวัดรอบทะเลอันดามันแบบ 360 องศา ส่วนอีก 5 องศา คือ การนำเสนอมุมมองโลกเสมือน (Virtual) ที่คนอ่านสามารถฟังเพลง ดูวีดีโอคลิป และมีความรู้สึกเหมือนว่าได้เข้าไปยืนอยู่ตรงนั้นๆ”

Andaman 365 เป็นดิจิตอลแมกกาซีนรายเดือนแจกฟรี (ฉบับแรกคือฉบับเดือนกุมภาพันธ์) ภาษาอังกฤษโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการเที่ยวทะเลอันดามัน ผู้อ่านสามารถดาวนโหลด Andaman 365 ขนาดไฟล์ 200 เมกะไบต์มาเก็บไว้ใน iPad เพื่ออ่านได้ทุกทีทุกเวลาที่ต้องการ โดยไม่ต้องต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต

สุปรีย์ บอกว่า เคล็ดลัความสำเร็จของการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน คือ ทีมงานต้องมีความเข้าใจว่าการนำเสนอเนื้อหาสำหรับดิจิตอล แมกกาซีนนั้น เปิดกว้างและมีรูปแบบที่หลากลายมากมายทั้งนี้ขึ้นกับจินตนาการที่จะนำเสนอเนื้อหาในแต่ละแบบได้อย่างหลากหลาย และการเข้าถึงเนื้อหานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบและวิธี ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการอ่านจากซ้ายไปขวา บางหน้ามีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเพลงหรือดนตรี ผู้อ่านก็สามารถกดฟังได้ หรือกดดูวีดีโอคลิป ดูรูปภาพ (ซึ่งดิจิตอลแมกกาซีนสามารถนำเสนอรูปภาพสำหรับเรื่องราวนั้นๆ ได้มากกว่านิตยสารปกติเป็นสิบเป็นร้อยเท่า) แม้กระทั่งจะดูแผนที่และเส้นทางที่จะไปให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเรื่องนั้นๆ ผ่านกูเกิ้ลแม็ป (Google Map) และจีพีเอส (GPS: Global Positioning System) ซึ่งวิธีกานำเสนอแบบผสมผสานเหล่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการอ่านหนังสือให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของเล่มนี้คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยากจะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย Andaman 365 สามารถเป็นข้อมูลการท่องเที่ยวชั้นดีเพื่อช่วยนักท่องเที่ยวเตรียมแผนการเดินทาง นอกจากนี้เรายังมีแผนจะผลิต Andaman 365 ภาษาไทยเพื่อสร้างประสบการณ์ในการอ่านดิจิตอลแมกกาซีนแบบจริงๆ ให้กับคนไทยได้ลองสัมผัสกันในทุกๆ 3 เดือน เราว่าเรามาถูกทางในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีน จากวิจัยพบว่าปกติคนจะมีสมาธิกับการอ่านหรือบริโภคข้อมูลบนสื่ออย่างแท็ปเล็ตครั้งละประมาณต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น เราต้องสร้างเนื้อหาให้มีความน่าสนใจที่จะดึงดูดคนอ่านให้สนุกไปกับการอ่านได้”

สุปรีย์ บอกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตดิจิตอล แมกกาซีน Andaman 365 คือ ซอฟต์แวร์ 2 ชุดหลักได้แก่ WoodWing และ Adobe InDesign ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาดิจิตอล แมกกาซีนที่ขณะนี้ได้รับความนิยม และทั่วโลกมีดิจิตอลแมกกาซีนมากกว่า 200 แบรนด์ใช้เครื่องมือชุดนี้ในการผลิต อาทิ ดิจิตอลแมกกาซีนในเครือ TIMES เป็นต้น

“หน้าที่หลักของเรา คือ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการของ Andaman 365 รวมถึงฝึกอบรมการใช้เครื่องมือในการผลิตดิจิตอลแมกกาซีนให้กับกองบรรณาธิการ”

ดิจิตอลแมกกาซีนมีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างดีเพราะตลาดทั้งในแง่ของตัวอุปกรณ์เครื่องอ่านที่มีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวอย่างมาก กอปรกับพฤติกรรมคนที่เริ่มนิยมการอ่านและบริโภคเนื้อหาจากสื่อชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตงานโฆษณาก็เริ่มมองดิจิตอล แมกกาซีนเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รวมถึง การขยายการขายแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาสู่ดิจิตอลแมกกาซีน เพราะด้วยความสามารถของดิจิตอลแมกกาซีนจะช่วยให้การโฆษณาและการขายจบภายในขั้นตอนเดียวได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้เล่นหลายรายเริ่มกระโดดลงมาชิมลางในสนามนี้กันอย่างคึกคักนั่นเอง….

View :4421